ศาลยกคำร้องขอประกัน “จัสติน” ครั้งที่ 5 เหตุผู้ต้องหาเป็นโควิด ไต่สวนไม่ได้ แม้เจ้าตัวชี้ต้องได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พี่สาวของ จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ เดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติเป็นครั้งที่ 5 โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยระบุเหตุผลสำคัญว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่กล่าวพาดพิงถึงและไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด พร้อมทั้งเหตุผลว่า ชูเกียรติซึ่งปัจจุบันป่วยด้วยเชื้อไวรัสโควิด 19 จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากศาลเห็นสมควรจะไต่สวนผู้ต้องหาเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ก็ขอให้ไต่สวนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ 

ต่อมาในช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้นเอง พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้อง ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหารายนี้ ผู้ต้องหาป่วยด้วยโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส โควิด-19 การขอไต่สวนตามคำร้องขอผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ของผู้ขอประกันในขณะนี้ย่อมอาจมีผลกระทบต่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องและไม่ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงมากนัก เท่าที่ควรที่จะนำมาพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้องไปก่อน” 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตประการหนึ่งต่อกรณีที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงในวันนี้ (6 พฤษภาคม 2564) ว่า ทนายอานนท์ นำภา เองก็เป็นผู้ต้องขังอีกรายที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แม้จะมีการยื่นขอประกันตัวจำเลยหลายครั้ง และในทุกครั้งก็ได้ให้เหตุผลในเรื่องความสุ่มเสี่ยงของการที่ผู้ต้องขัง ซึ่งศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริง อาจจะต้องเผชิญกับความแออัดในเรือนจำ จนเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อตามมา 

ขณะเดียวกัน หลังชูเกียรติติดเชื้อโควิดในเรือนจำก็ได้ยื่นคำร้องขอประกันมาแล้ว 2 ครั้ง (รวมครั้งนี้) ระบุเหตุผลสำคัญประกอบการใช้ดุลพินิจให้ประกันของศาลว่า “ผู้ต้องหาติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในเรือนจำ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด สภาพอาการป่วยของผู้ต้องหาควรจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม  หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะช่วยทำให้ลดความแออัดในสถานที่ดังกล่าวได้ และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสำหรับผู้ต้องหาขังรายอื่น ๆ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำของผู้ต้องหาเองด้วย” แต่ศาลกลับยกคำร้องระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง รวมทั้งยกคำร้องครั้งล่าสุด ด้วยเหตุเพียงว่า ไม่สามารถไต่สวนผู้ต้องหาได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านการลดการแพร่ระบาดของโรค หรือคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขัง แม้ว่าจะมีแนวคำแนะนำของประธานศาลฎีกา จนกระทั่งมีการติดเชื้อของผู้ต้องขังรายอื่นอีก รวมทั้งทนายอานนท์   

คดีนี้ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจังหวัดสมุทรปราการวัย 30 ปี ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวในคดีมาตรา 112 ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 7 ข้อกล่าวหาที่ สน.ห้วยขวาง ในช่วงกลางดึกวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า ติดกระดาษพร้อมข้อความบนรูปของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปขอศาลอาญาฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ชูเกียรติถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นวันที่ 45 แล้ว 

อย่างไรก็ตาม เหตุจากการเผชิญกับความแออัดในเรือนจำ ทำให้ชูเกียรติกลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนจะถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 จนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว

>>> ชูเกียรติ คดี 112 ติดกระดาษบนรูป ร.10 ชุมนุม 20 มีนา

>>> เปิดสถิติการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง 2564

 

+++ เปิดคำร้องยื่นประกันชูเกียรติครั้งที่ 5 ชี้ ผู้ต้องหาติดโควิด จำเป็นต้องได้รับการประกันตัวเพื่อลดความแออัดในคุก +++

คำร้องขอปล่อยตัวที่ยื่นต่อศาลอาญาฯ ล่าสุดนี้ ระบุเหตุผลข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาได้ กล่าวคือ

1. ผู้ต้องหาขอแถลงต่อศาลว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหา ขอศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ และหากศาลเห็นสมควรจะทำการไต่สวนผู้ต้องหาก็ขอศาลให้ไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาป่วยด้วยโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19)

ทั้งนี้ หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและเพื่อให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด ผู้ต้องหาได้รับความกรุณาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือ และผู้ร้องซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ต้องหาจะเป็นผู้รับรองและดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งของศาล  

2. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

โดยเป็นที่ปรากฏว่าในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาในคดีนี้ก็ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในเรือนจำ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด สภาพอาการป่วยของผู้ต้องหาควรจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะช่วยทำให้ลดความแอดอัดในสถานที่ดังกล่าวได้ ทำให้การบริหารจัดการเรื่องสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสำหรับผู้ต้องหาขังรายอื่น ๆ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำของผู้ต้องหาด้วย ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาตามแนวปฏิบัติดังกล่าวด้วย ในประเด็นดังกล่าวนี้หากต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติมศาลอาจออกหมายเรียกผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาไต่สวนประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจได้

 

X