ศาลอาญาให้ประกันตัว “สมยศ-ไผ่” กำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

23 เม.ย. 2564 ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณา 914 มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ภายหลังมีการยื่นขอให้ไต่สวนคำร้องวานนี้ โดยมีการไต่สวนพยาน 5 ปาก ก่อนนัดฟังคำสั่งในเวลา 15.00 น. โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนในวงเงินคนละ 2 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ทั้งสองทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

 

คำร้องประกันตัวระบุ “จำเลยทั้งสองจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด”

คำร้องขอประกันตัวซึ่งนายประกันได้ยื่นเอกสารไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ระบุว่าจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว โดยจำเลยทั้งสองยืนยันว่าหากได้รับการปล่อยตัว จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ได้แถลงต่อศาลไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี และหากศาลมีข้อกำหนดอื่นใดตามกฎหมายเพื่อให้ปฏิบัติตาม จำเลยทั้งสองก็จะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด 

ในคำร้องยังกล่าวถึงเหตุที่จำเลยถอนทนายความ เนื่องจากจำเลยได้รับความกดดันและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างเต็มที่ในห้องพิจารณาคดี 

อนึ่ง จำเลยมีความประสงค์จะแต่งตั้งทนายความเพื่อปรึกษาและว่าความคดีของจำเลยในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

>> “ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”: จำเลยคดีชุมนุม 19 ก.ย. แถลงขอถอนทนาย เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

 

นอกจากนี้คำร้องยังระบุว่า จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ สมยศประกอบสัมมาอาชีพรับจ้างทั่วไป และจตุภัทร์เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้โจทก์ก็ได้รวบรวมและอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วทั้งสิ้น

อีกทั้ง จำเลยมีถิ่นที่อยู่ภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามตัวจำเลยได้โดยง่าย หากศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย จำเลยก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยโดยไม่คิดจะหลบหนี

ในคำร้องยังระบุเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ฉบับที่ 6 ในเดือนเมษายน 2564 ของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ฉบับที่ 3 ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่า “การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 และเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลยหรือเงื่อนไขอื่นใด เช่น การให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของจำเลย หรืออาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลย ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 การรายงานตัวต่อศาล ศาลควรกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายงานตัวทางโทรศัพท์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด แทนการเดินทางมาศาล” 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวจำเลยทั้งสองคนมาเพื่อไต่สวนและสอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าว

 

ไต่สวนพยาน 5 ปาก ก่อนนัดฟังคำสั่ง 15.00 น.

วันนี้ เวลา 09.20 น. ณ ห้องพิจารณา 914 ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายประกันในคดี และ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ของไผ่ จตุภัทร์ เดินทางมาเป็นพยานในการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และยังมีน้องสาวของไผ่เดินทางมาฟังการไต่สวนด้วย 

บรรยากาศในห้องพิจารณาไม่ได้มีการจัดเก็บมือถือหรือต้องฝากมือไว้หน้าบัลลังก์เหมือนนัดพิจารณาคดีในวันที่ผ่านมาและไม่ได้การจดชื่อผู้เข้าฟัง

09.55 น. จตุภัทร์และสมยศถูกนำตัวเข้ามาพร้อมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 8 นาย ทางราชทัณฑ์ได้มีการนำบุคลากรในชุดแพทย์มา แต่ไม่ได้ขึ้นเบิกความในวันนี้ ศาลได้กล่าวกับคู่ความว่า การไต่สวนวันนี้มีประเด็นซึ่งจำเลยทั้งสองขอประกันตัว โดยศาลเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาในคดีหลัก

10.05 น. สมยศขึ้นเบิกความ ระบุถึงอาการป่วยข้อเข่าเสื่อมของตน เนื่องจากเคยเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ใช้ชีวิตในเรือนจำได้ลำบาก เนื่องจากห้องคุมขังอยู่บริเวณชั้น 2 ต้องเดินขึ้นลง อีกทั้งในห้องขังไม่มีเก้าอี้ ต้องนั่งในท่าที่ทําให้ข้อเข่าเสื่อมโดยตลอด และต้องกินยาแก้ปวดทุกวันมาประมาณเดือนครึ่งแล้ว

ศาลถามสมยศเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในเรือนจำ สมยศกล่าวว่า ตนถูกกักตัวเพื่อคัดกรองโควิดเนื่องจากการออกศาลมาแล้ว 3 รอบ รอบละ 14 วัน โดยต้องกินข้าว ขับถ่าย อาบน้ำ ใช้ชีวิตในห้องเพียงอย่างเดียว ตลอดเวลาที่ต้องกักตัวในแดน 2 ปัจจุบันทราบว่าแดนนี้เหมือนโรงพยาบาล พบว่ามีนักโทษติดเชื้อโควิด 3 คน และผู้คุมอีก 1 คน สภาพความเป็นอยู่ในห้องขังของตนนั้น ต้องอยู่รวมกัน 20 กว่าคน และใส่หน้ากากตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับคำแถลงว่าจะไม่ออกไปพูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์นั้น สมยศยืนยันตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีวันที่ 5 เม.ย. โดยในวันนี้ตนได้แต่งตั้งทนายกลับเข้ามา หากได้รับการปล่อยตัวจะกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลอย่างเคร่งครัด 

พนักงานอัยการได้ถามสมยศเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันตัวว่าเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาเองหรือไม่ โดยสมยศตอบว่าเป็นเงื่อนไขที่ตนสมัครใจ

เวลา 10.15 น. จตุภัทร์ขึ้นเบิกความ โดยแถลงว่าขณะนี้ ตนกำลังเรียนระดับปริญญาโทอยู่ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันอยู่ในช่วงใกล้สอบ โดยตนขอยืนยันที่เคยแถลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งระบุว่าจะไม่กล่าวพาดพิงสถาบันกษัตริย์หรือทำอะไรให้สถาบันเสื่อมเสียโดยไม่มีใครบังคับขู่เข็ญ 

ปัจจุบันตนได้แต่งตั้งทนายความกลับเข้ามาเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณา หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยศาลได้ถามจตุภัทร์ว่ามีคดีมาตรา 112 ที่อื่นอีกหรือไม่ หลังถูกดำเนินคดีนี้ จตุภัทร์ตอบว่าไม่มี มีเพียงคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ

อัยการได้ถามจตุภัทร์ เกี่ยวกับการถอนทนายความ จตุภัทร์ระบุว่าเพราะมีบรรยากาศอึดอัดในการพิจารณาคดี เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาควบคุมการพูดคุยระหว่างตนกับทนายอย่างมาก จนรู้สึกไม่ปลอดภัย

อัยการได้ถามเน้นย้ำเรื่องการลงนามในเอกสารไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของพวกจำเลยในวันที่ 8 เม.ย. จตุภัทร์ตอบว่าตนไม่ได้เซ็นเอกสารซึ่งเป็นคำแถลงด้วยลายมือ เซ็นเพียงเอกสารถอนทนายความ 

อัยการถามต่อไปว่า ตอนที่ท่านเซ็นเอกสารมีคำว่า “ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมหรือไม่” จตุภัทร์ตอบว่าไม่แน่ใจ อัยการจึงถามต่อว่าแล้วในความรู้สึกของท่านคิดอย่างไร จตุภัทร์ยืนยันว่าหากได้รับการประกันตัวก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและสมัครใจจะรับเงื่อนไข

ทนายความได้เปิดเอกสารให้ดูจตุภัทร์อ่านว่าคำร้องขอถอนทนายในวันดังกล่าวนั้น เป็นการถอนทนายคนละคนกันกับวันนี้ ทั้งคำร้องขอถอนทนายในวันที่ 8 เม.ย. ไม่มีข้อความที่เขียนว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด เพียงบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี ส่วนการถอนทนายวันนั้นเป็นการถอนทนายเมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มีการกำหนดวันนัดสืบแล้วไม่ได้กระทบต่อการพิจารณาคดีแต่อย่างใด 

10.30 น. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ขึ้นเบิกความว่า ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเกี่ยวข้องกับจตุภัทร์ในฐานะผู้สอนใน 2 รายวิชาที่จะต้องสอบภายในเทอมนี้  หากจตุภัทร์ไม่ได้มาสอบจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะหลักสูตรที่เรียนให้จบภายใน 1 ปีครึ่ง จึงต้องสอบจบวิชาหลักในเทอมนี้ให้ได้  พัทธ์ธีรารับว่าจะพยายามควบคุมดูแลให้จตุภัทร์ปฎิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด

พัทธ์ธีราได้ตอบอัยการ ซึ่งสอบถามว่าท่านจะกำกับจำเลยด้วยวิธีใด ว่าโดยปกติในการเรียนอาจารย์จะต้องติดตามพูดคุยกับนักศึกษา จตุภัทร์จะต้องมาพบอาจารย์หลายสิบครั้งอยู่แล้ว และด้วยปริมาณงานที่ต้องทำส่งในช่วงเวลานี้ อาจารย์เชื่อว่าจตุภัทร์คงต้องใช้เวลากับการเรียนและติดตามงานเพื่อให้สามารถเรียนจบตามหลักสูตร 

เวลา 10.40 น. ชลิตา บัณฑุวงศ์ ขึ้นเบิกความระบุว่า ตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รู้จักคุ้นเคยกับสมยศและจตุภัทร์ เนื่องจากเคยร่วมงานในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยตนรับปากจะช่วยกำกับดูแลสมยศให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ โดยจะใช้การพูดคุยกันด้วยเหตุผล

อัยการยังถามชลิตา เกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 8 เม.ย. ในห้องพิจารณา ซึ่งมีการขอถอนทนายความว่าทราบเรื่องหรือไม่ ชลิตาระบุว่าทราบว่าเนื่องจากมีบรรยากาศในห้องพิจารณาที่ไม่สามารถคุยกับทนายความได้สะดวก  

นอกจากนี้อัยการยังถามชลิตา เกี่ยวกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งได้อ้างเอกสารของวันที่ 8 เม.ย. ว่าพยานเข้าใจคำร้องอย่างไร ชลิตาตอบว่าจตุภัทร์และสมยศรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในวันนั้น เวลานั้นจึงมีการถอนทนายความ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ยอมรับกระบวนยุติธรรม 

10.55 น. ผู้แทนผู้บัญชาการเรือนจำ ธีระศักดิ์ พยัคฆ์รังสี หัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องขังแดน 2 ขึ้นเบิกความ โดยศาลถามถึงพฤติกรรมของจตุภัทร์และสมยศในเรือนจำ โดยอธิบายว่าการสอบถามนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมจำเลยในห้องพิจารณา แต่เป็นช่วงที่อยู่ในเรือนจำ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยหรือไม่ นายธีรศักดิ์ตอบว่าพวกจำเลยไม่เคยทำผิดวินัยและเชื่อฟังให้ความร่วมมือในการควบคุม 

ศาลยังถามถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิดในเรือนจำ โดยธีรศักดิ์กล่าวว่า แดน 2 เป็นแดนกักตัวเพื่อคัดกรองโควิด ปัจจุบันมีนักโทษแดน 2 ติดเชื้อ 3 คน และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว 

ธีรศักดิ์อธิบายกับศาลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเรือนจำยังสามารถดูแลและยังพอสร้างกฎการเว้นระยะห่างให้นักโทษได้ แต่รับว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ จะช่วยลดความแออัด และทำให้เรือนจำบริหารจัดการได้ง่ายขึ้นในช่วงนี้ 

 

ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว “ไผ่-สมยศ” กำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

เวลา 15.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้อ่านคำสั่ง โดยท้าวความถึงคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ว่าสมยศมีอาการข้อเข่าเสื่อม ใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างยากลำบาก ส่วนไผ่มีสถานะเป็นนักศึกษาที่หากไม่ได้รับการประกันตัวจะกระทบต่อการเรียน

ศาลพิเคราะห์เห็นว่าเหตุในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 คือ 1) จำเลยจะหลบหนี 2) จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3) จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4) หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ  5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีนี้ จำเลยเดินทางมาศาลตามนัดโดยตลอด จึงเชื่อว่าจะไม่หลบหนี ส่วนกรณีพยานหลักฐานนั้น ส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงาน และส่วนใหญ่อยู่ในครอบครองของโจทก์ จึงเชื่อว่าจำเลยจะไปยุ่งเหยิงไม่ได้ สำหรับกรณีการก่อเหตุร้ายประการอื่นนั้น พนักงานสอบสวนและโจทก์ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยจะไปก่อเหตุร้ายหรือภยันตรายประการอื่นแต่อย่างใด 

หลักประกันในวันนี้ ผู้ขอประกันไม่เคยทำผิดสัญญาประกัน และมีเงินสดจำนวน 200,000 บาท จึงเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ และในวันนี้จำเลยทั้ง 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาร่วมต่อสู้คดีแล้ว การปล่อยชั่วคราวไปจะไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อการพิจารณาคดี 

กรณีจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 4 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้จำเลยมาศาลตามนัด หากผิดสัญญาปรับคนละ 200,000 บาท

ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้สมยศและจตุภัทร์จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในช่วงค่ำนี้ โดยสมยศถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 รวมระยะเวลาทั้งหมด 74 วัน โดยมีการยื่นขอประกันตัวสมยศมาแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง (รวมครั้งนี้) 

ส่วนไผ่ จตุภัทร์ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 รวมระยะเวลาทั้งหมด 47 วัน โดยมีการยื่นขอประกันตัวไผ่มาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง (รวมครั้งนี้)

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทนายคดีชุมนุม 19 กันยา ยื่นหนังสือร้องเรียนอธิบดีศาลอาญา ขอให้ไต่สวน-ทบทวนมาตรการ ยึดหลักพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เป็นธรรม

บันทึกสังเกตการณ์ 16 ชั่วโมง ก่อน “ราษฎร” 21 คน ประกาศถอนทนายความคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ศาลให้ประกันเฉพาะ “หมอลำแบงค์” ด้าน “สมยศ-ไผ่” ถูกยกคำร้อง แม้แถลงรับเงื่อนไขเช่นเดียวกัน ระบุเหตุคำแถลงไม่น่าเชื่อถือ

“ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”: จำเลยคดีชุมนุม 19 ก.ย. แถลงขอถอนทนาย เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

 

X