ทนายคดีชุมนุม 19 กันยา ยื่นหนังสือร้องเรียนอธิบดีศาลอาญา ขอให้ไต่สวน-ทบทวนมาตรการ ยึดหลักพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เป็นธรรม

22 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทนายความเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักกิจกรรม “ราษฎร” รวม 21 ราย ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีที่ทนายความประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีดังกล่าว ในนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 15 และ 29 มีนาคม, 7 และ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

หนังสือร้องเรียนดังกล่าวขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทำการไต่สวนและทบทวนมาตรการต่างๆ อย่างสมเหตุสมผลและเป็นการทั่วไป มิใช่การดำเนินการใดๆ เพียงเฉพาะคดี โดยยึดถือหลักการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ 

ทีมทนายความได้ระบุถึงปัญหาอุปสรรคหลายประการ ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพของจำเลย ส่งผลต่อสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial Right) อาทิ การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย 8 ราย, การคัดกรองบุคคล, การควบคุมจำเลยโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ศาลอย่างเข้มงวด, การที่ทนายความไม่สามารถพูดคุยกับลูกความได้เป็นการส่วนตัว, การยึดโทรศัพท์มือถือระหว่างการพิจารณา ตลอดจนการดำเนินการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล 

หนังสือร้องเรียนยังระบุด้วยว่า ผู้แทนทนายความได้แจ้งสภาพปัญหานี้ต่อเลขานุการศาลอาญาแล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 และเลขานุการศาลแจ้งว่าจะดำเนินการปรับปรุง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่ง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 1, อานนท์ นำภา จำเลยที่ 2 และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม และจำเลยรวม 21 ราย ยื่นคำร้องขอถอนทนายความ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 

     >> “ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”: จำเลยคดีชุมนุม 19 ก.ย. แถลงขอถอนทนาย เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

พร้อมกันนี้  “ทนายจูน” ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายจำเลยในคดีนี้ ยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเฉพาะของตนถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนการดำเนินการเพื่อประกันสิทธิจำเลย กรณีการละเมิดสิทธิของจำเลยและทนายความประสบอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ในศาล

ศิริกาญจน์ ได้ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความจำเลยในนัดพร้อมและสอบคำให้การจำเลยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 นาย คุกคามและขัดขวางการให้การปรึกษาทางกฎหมายแก่ลูกความ ทั้งโดยการจับแขนและดึงตัวทนายออกจากจำเลย, ใช้ท่าทีแข็งกร้าวเข้าตรวจสอบข้อความในสมุดบันทึกของทนายที่ให้ “รุ้ง” ปนัสยา เขียนเรียบเรียงประกอบการแถลงต่อศาล  ตลอดจนยึดสมุดบันทึกดังกล่าว ไม่ให้นำสมุดออกไปนอกห้องพิจารณาคดี โดยไม่มีอำนาจและฐานทางกฎหมาย

หนังสือร้องเรียนของทนายศิริกาญจน์ยังชี้ด้วยว่า มาตรการที่ศาลอาญาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เกินกว่าเหตุ และเกินความได้สัดส่วน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งในสังกัดศาลอาญาและกรมราชทัณฑ์บังคับใช้มาตรการเข้มงวดแต่กับเฉพาะฝ่ายจำเลย ญาติ ประชาชนที่มาติดตามคดีของจำเลย และทนายความจำเลย เป็นการสร้างสภาวะกดดัน และไม่เอื้อต่อการร่วมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในคดีนี้อย่างรู้สึกปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม

 

ทีมทนายความร้อง ไม่สามารถประกันสิทธิจำเลย ทั้งทนายและจำเลยถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

หนังสือร้องเรียนของคณะทนายความในคดีที่ยื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีรายละเอียดดังนี้

…..

เนื่องจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 22 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 287/2564 ของศาลอาญา และศาลได้นัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 15 มีนาคม, 29 มีนาคม, 7 เมษายน และ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทนายความที่ลงชื่อด้านท้าย พบอุปสรรคในการทำหน้าที่ทนายความจนยากแก่การทำหน้าที่ เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพของจำเลยในคดีนี้ ส่งผลต่อสิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial Right)

1. คดีนี้จำเลย 8 รายได้แก่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 1 นายอานนท์ นำภา จำเลยที่ 2  นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่ 5 นายภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 6 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ 7  ซึ่งถูกฟ้องในฐานความผิดมาตรา 112 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จำเลยที่ 17 ถูกฟ้องในฐานความผิดมาตรา 116​   ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาในคดีนี้ และนายชูเกียรติ แสงวงศ์ จำเลยที่ 12 ซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นโดยจำเลยทั้งหมดมิได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ  หรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนแต่อย่างใด

อีกทั้งคดีดังกล่าวก็ยังมิได้เริ่มสืบพยานและยังมิได้มีคำพิพากษา จำเลยทั้งแปดรายซึ่งไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นทำให้จำเลยไม่ได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ส่งผลต่อโอกาสของจำเลยในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และหากในอนาคตจำเลยต่อสู้จนชนะคดี แต่หากจำเลยยังมิได้ปล่อยตัวชั่วคราวก็เสมือนหนึ่งว่าศาลได้ตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้ว

2. จากการที่จำเลยที่ 1​ ถึงจำเลยที่ 7 จำเลยที่ 12 และจำเลยที่ 17 ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นทำให้ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 1 ประสงค์จะแถลงต่อศาลถึงการอดข้าวเพื่อแสดงออกว่าตนไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยแถลงเหตุคับข้องดังกล่าว อันนำมาสู่เหตุซึ่งต่อมาศาลได้ไต่สวนและลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานละเมิดอำนาจศาลโดยการกักขังเป็นเวลา 15 วัน

3. ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 ศาลอาญาได้กำหนดมาตรการในการพิจารณาคดีโดยอนุญาตเพียงจำเลย ทนายความ และญาติจำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวรายละสองคนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าห้องพิจารณาหลัก และได้เปิดห้องซึ่งถ่ายทอดวงจรปิดให้ผู้สังเกตการณ์บางส่วนร่วมรับฟังในอีกห้องแทน แต่ในวันที่ 7 และ 8 เมษายน 2564 ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้ารับฟังการพิจารณาเลย ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลมิได้สั่งให้พิจารณาคดีลับแต่อย่างใด

และแม้จะเปิดห้องถ่ายทอดการพิจารณา แต่ก็มีการคัดเลือกบุคคลในการเข้าห้องพิจารณาโดยผู้สื่อข่าวรายหนึ่งยืนยันว่าไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้ เนื่องจากศาลอนุญาตเฉพาะนักข่าวที่ผ่านการอบรมจากศาลอาญาเท่านั้น โดยภายในห้องถ่ายทอดได้ยินเสียงจากห้องพิจารณาเป็นบางช่วงในวันที่ 29 มีนาคม และวันที่ 8 เมษายน เท่านั้น

ส่วนวันที่ 7 เมษายน นั้น ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถฟังเสียงการถ่ายทอดการพิจารณาได้เลย คงเห็นแต่ภาพเท่านั้น ซึ่งการกำหนดมาตรการดังกล่าวย่อมขัดต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปมีสิทธิในการเข้าร่วมการพิจารณาไม่ว่ามีความเกี่ยวข้องในคดีหรือไม่ก็ตาม

4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอเรียนต่อศาลว่าเหตุในการจำกัดบุคคลเข้าฟังการพิจารณานั้นไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากห้องพิจารณา 704 นั้นเป็นห้องขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถรองรับบุคคลได้พอสมควรแม้จะต้องรักษาระยะห่าง (social distancing)

ภายในห้องพิจารณาในวันที่ 7 และ 8 เมษายน 2564 ศาลไม่อนุญาตให้ญาติของจำเลยเข้าฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณา 704 โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) ทั้งที่ห้องพิจารณา 704 เป็นห้องพิจารณาขนาดใหญ่ และได้มีการจัดที่นั่งสำหรับญาติและบุคคลอื่นที่จะเข้ารับฟังการพิจารณาคดีไว้อย่างเป็นสัดส่วนแล้ว ซึ่งศาลสามารถวางมาตรการป้องกันได้อย่างเหมาะสมและไม่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้ โดยไม่ต้องจำกัดสิทธิญาติของจำเลยไม่ให้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีในห้องพิจารณา 704

ในทางกลับกัน ศาลได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจศาล (Court Marshall) เข้ามาควบคุมในห้องพิจารณา รวมกันมากกว่า 30 คน และนั่งประกบจำเลยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตลอดเวลาโดยไม่มีระยะห่าง

5. ในระหว่างการพิจารณาคดี บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปพูดคุย ญาติซึ่งได้เข้าร่วมพิจารณาในวันที่ 29 มีนาคม 2564 ต้องขออนุญาตเป็นคราวๆ เพื่อพูดคุย และจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ก็ไม่สามารถพูดคุยปรึกษาคดีกับจำเลยที่ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวได้หากประสงค์จะพูดคุย ศาลต้องอนุญาตเป็นคราวๆ ไปเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทนายความต้องการพูดคุยเพื่อปรึกษาคดีกับจำเลย ก็ไม่สามารถพูดคุยกับจำเลยเป็นการส่วนตัวได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะยืนหรือนั่งประกบในระยะประชิด และเมื่อทนายความนำเอกสารไปให้ลูกความลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องตรวจสอบเอกสารก่อน ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการพิจารณาทั้งสามวัน

ทั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2564 ยังเกิดกรณีของทนายความศิริกาญจน์ เจริญศิริ เข้าไปพูดคุยกับจำเลยที่ 12 แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ชายได้ดึงแขนและแทรกตัวมาฟังบทสนทนาระหว่างทนายความและลูกความ รายละเอียดปรากฎตามหนังสือร้องเรียนของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ลงวันที่ 21 เมษายน 2564 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1

6. การกำหนดมาตรการในการยึดโทรศัพท์ทนายความ อัยการ และจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยอ้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564  เหตุการณ์ดังกล่าว ทนายความจำเลย อัยการ และจำเลยอื่น มิได้เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งกรณีที่มีบุคคลใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเหตุการณ์ในห้องพิจารณา ก็มีภาพจากกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาบันทึกไว้ชัดเจน ซึ่งทนายความจำเลย อัยการ และจำเลยอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

มาตรการที่ศาลกำหนดดังกล่าวจึงเป็นมาตรการที่เกินจำเป็น และเป็นการลิดรอนสิทธิของทนายความจำเลย อัยการ และจำเลยเกินสมควร ซึ่งโดยปกติการพิจารณาคดีในศาลอาญานั้นจะไม่มีการยึดโทรศัพท์มือถือของผู้เข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด

7. นอกจากนี้ในวันที่ 8 เมษายน 2564 ยังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินไปแจ้งผู้พิพากษาองค์คณะ ซึ่งคณะทนายความไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้พูดคุยกับผู้พิพากษาในเรื่องใด ทราบเพียงว่าศาลจะตรวจสอบกล้องวงจรปิดและตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 18 แถลงต่อศาลว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนบังการพิจารณาทำให้ไม่ทราบว่ามีการพูดคุยอะไรกันระหว่างพิจารณา จึงเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้น

8. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียนต่อท่านว่า การตั้งจุดคัดกรองบุคคลตั้งแต่บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย, หน้าบันไดศาลอาญา, หน้าลิฟท์ทางเดินไปห้องพิจารณาชั้น 7 และด้านในห้องพิจารณา รวม 4 จุด ที่เพิ่มมาจากการตรวจตราปกติบริเวณชั้น 2 ประตูทางเข้าศาลอาญา และการนำกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมาควบคุมพื้นที่ การปิดกั้นทางเดินหน้าห้องควบคุม และร้านอาหารด้านล่างของศาลอาญาไม่ให้บุคคลอื่นเข้า นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพเกินจำเป็นและกระทบสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยของจำเลยในคดีนี้แล้ว มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิผู้ต้องขังและประชาชนคนอื่นๆซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ไปด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียนต่อท่านว่า การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และบรรยากาศในการพิจารณาตลอดระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่การคัดกรองบุคคล, การควบคุมจำเลยโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ศาลอย่างเข้มงวด, การดำเนินการตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล รวมถึงการที่ทนายความไม่สามารถพูดคุยกับลูกความได้เป็นการส่วนตัว, การยึดโทรศัพท์มือถือระหว่างการพิจารณา นอกจากจำเลย 7 ใน 22 ราย จะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว มาตรการที่กำหนดขึ้นและได้รับการปฏิบัติเพียงเฉพาะคดีนี้ เพื่อควบคุมการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาลหรือสถานการณ์โควิด ส่งผลให้จำเลยทุกคนไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และทนายความไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของจำเลย หากกระบวนการพิจารณาคดียังเป็นเช่นนี้ต่อไป 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 7 เมษายน 2564 ผู้แทนทนายความได้แจ้งสภาพปัญหานี้ต่อเลขานุการศาลอาญาแล้ว และเลขานุการศาลแจ้งว่าจะดำเนินการปรับปรุง แต่ปรากฏว่าในวันต่อมายังมิได้มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม ฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2564 และคำร้องขอถอนทนายความลงวันที่ 8 เมษายน 2564 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 และหมายเลข 3 ตามลำดับ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทนายความที่ลงชื่อข้างท้าย ในฐานะคณะทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีนี้ จึงขอร้องเรียนมายังท่าน เพื่อทำการไต่สวนและทบทวนมาตรการต่างๆ อย่างสมเหตุสมผลและเป็นการทั่วไป มิใช่การดำเนินการใดๆ เพียงเฉพาะคดี โดยยึดถือหลักการพิจารณาคดีที่เปิดเผยและเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ 

ในภาวะที่บ้านเมืองเกิดช่องว่างแห่งความสมดุลของอำนาจ ประชาชนถูกจำกัด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่ชอบธรรม สถาบันตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติทั้งปวง ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ อันเป็นบทบาทสำคัญของสถาบันตุลาการตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม (rule of law) ในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทที่ศาลพึงกระทำเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์แห่งสถาบันตุลาการที่สังคมและประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างสง่างามและเป็นธรรม 

…..

 

“ทนายจูน” ร้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุกคาม จนท.ศาล-ราชทัณฑ์ ละเมิดสิทธิฝ่ายจำเลยตั้งแต่ทนายยันประชาชน

หนังสือร้องเรียนของ “ทนายจูน” ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่ยื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีรายละเอียดดังนี้

…..

สืบเนื่องจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาในศาลนี้ คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) กับ พริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คน คดีอาญาหมายเลขดำที่ 287/2654 ซึ่งศาลได้นัดพร้อมสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 และนัดพร้อมอีกในวันที่ 29 มีนาคม 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 7 และ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จากการที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความจำเลยที่ 13 นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก และเป็นหนึ่งในคณะทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก 

ในคดีนี้ ข้าพเจ้าประสบอุปสรรคปัญหาในการทำหน้าที่ทนายความจำเลยและถูกขัดขวางการให้การปรึกษาทางกฎหมายแก่ลูกความในระหว่างการพิจารณาคดี อันเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิจำเลยในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยเปิดเผยและโดยตุลาการที่เป็นอิสระ รวมทั้งละเมิดสิทธิและหน้าที่ของทนายความที่มีต่อลูกความอย่างร้ายแรง ตามเหตุการณ์และรายละเอียดต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ระหว่างกระบวนการที่ศาลนัดพร้อมและสอบคำให้การจำเลยทั้ง 22 คน   ในห้องพิจารณาคดีที่ 704 ข้าฯ ได้นำเอาเอกสารใบแต่งทนายความไปให้นายชูเกียรติ แสงวงค์ จำเลยที่ 12 ลงชื่อในใบแต่งตั้งทนายความ ซึ่งนายชูเกียรติ จำเลยที่ 12 นั่งบนเก้าอี้ม้านั่ง โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำผู้ชายสองคนนั่งควบคุมข้างซ้ายและขวาของจำเลยที่ 12 เมื่อข้าฯ ได้เอาเอกสารให้จำเลยที่ 12 ลงชื่อแล้ว จำเลยต้องการคุยกับข้าฯ เป็นการส่วนตัวโดยไม่ประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ยิน ข้าฯ จึงขยับเข้าใกล้จำเลยโดยโน้มตัวเพื่อให้จำเลยสามารถพูดใกล้ๆ เพื่อให้ข้าฯ ได้ยิน 

แต่ข้าฯ กลับถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผู้ชาย ชื่อ นายทวีชัย มากสำราญกุล ซึ่งนั่งประกบด้านขวามือของจำเลย แตะต้องตัวข้าฯ โดยการจับแขนและดึงข้าฯ ออกจากจำเลย เพื่อแทรกตัวเองเข้ามาระหว่างข้าฯและจำเลย โดยพูดทำนองว่าจะสนทนาอะไรกัน ข้าฯ ได้โต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่นายนั้นไม่มีสิทธิมาจับแขนข้าฯ และข้าฯ ในฐานะทนายความจะพูดคุยอะไรกับลูกความก็ย่อมทำได้ 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่นายนั้นไม่ได้แสดงการขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่และใช้กำลังในการละเมิดทั้งสิทธิในการปรึกษาหารือและสื่อสารระหว่างทนายความและลูกความ และกระทำการให้ข้าฯ ตกใจและกังวลจากการถูกจับเนื้อต้องตัว ซึ่งเป็นการคุกคามข้าฯ ขณะทำหน้าที่ทนายความเพื่อรักษาประโยชน์ลูกความในห้องพิจารณาคดี

ต่อมา ก่อนศาลพักการพิจารณาคดี เวลาเที่ยงวัน ภายหลังที่ผู้พิพากษาได้พูดคุยกับนางสาวปนัสยา     สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่ 5 โดยบอกให้จำเลยเรียบเรียงและร่างข้อความที่ต้องการสื่อสารกับศาลก่อนแล้วจึงมาแถลงต่อศาล จำเลยที่ 5 จึงยืมสมุดบันทึกส่วนตัวและปากกาของข้าฯ เพื่อร่างถ้อยคำเพื่อประกอบการแถลงต่อศาล 

ข้าฯ ได้อธิบายเหตุผลให้เจ้าหน้าที่หญิงสองคนจากทัณฑสถานหญิงกลางซึ่งควบคุมจำเลยที่  5 โดยการนั่งประกบทั้งสองข้างของจำเลย จนเจ้าหน้าที่ทั้งสองยอมให้จำเลยที่ 5 ใช้ปากกาเขียนข้อความลงในสมุดบันทึกของข้าฯ แต่ได้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผู้ชายนายหนึ่ง ชื่อ นายวิชาญ สาระตา ตำแหน่ง นักทัณฑวิทยา เข้ามาตรวจสอบด้วยท่าทีแข็งกร้าวไม่ต้องการให้จำเลยที่ 5 เขียนข้อความใดๆ ข้าฯ ต้องยืนยันว่าศาลสั่งให้จำเลยเขียนเรียบเรียงข้อความเพื่อแถลงต่อศาล เจ้าหน้าที่จึงให้จำเลยที่ 5 เขียนข้อความในสมุดข้าฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลลงจากบัลลังก์เพื่อพักการพิจารณาคดีในช่วงกลางวัน โดยนัดหมายอีกครั้งเวลา 13.30 น. ปรากฏว่า นายวิชาญ สาระตา ได้นำเอาสมุดบันทึกของข้าฯ ไปยึดถือไว้ ข้าฯ สอบถามเพื่อขอคืนสมุดของข้าฯ แต่ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่ให้นำสมุดออกไปนอกห้องพิจารณาคดี ข้าฯ และเพื่อนทนายความโต้แย้งว่าสมุดเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของข้าฯ เหตุใดจะเอาออกไปข้างนอกไม่ได้ นายวิชาญ สาระตา ยังยืนยันว่าให้ข้าฯ วางสมุดไว้ในห้องพิจารณาคดี แต่ข้าฯ ไม่ยินยอมตามคำสั่งของนายวิชาญ สาระตา อันไม่มีอำนาจและฐานทางกฎหมายใดมายึดเอาสมุดส่วนตัวของข้าฯ ซึ่งเป็นสมุดที่มีข้อความส่วนตัวและข้อมูลทางคดีอันถือเป็นหนึ่งในข้อมูลและเอกสารระหว่างทนายความและลูกความที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

เมื่อศาลเริ่มการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย ข้าฯ ให้จำเลยที่ 5 ใช้ปากกาเขียนสมุดบันทึกของข้าฯ เล่มเดิม เพื่อเขียนข้อความที่จำเลยประสงค์ให้เรียบเรียงก่อนแถลงต่อศาล หลังจากจำเลยเขียนเสร็จ จึงได้เรียกข้าฯ ไปพบ ปรากฏว่านายวิชาญ สาระตา ขอตรวจข้อความที่จำเลยที่ 5 เขียนก่อน โดยยึดเอาสมุดข้าฯ ไปอ่านข้อความของจำเลย ก่อนอนุญาตคืนสมุดให้ข้าฯ และจำเลยที่ 5 ซึ่งกระดาษข้อความดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบท้ายรายงานกระบวนพิจารณาคดีวันที่ 29 มีนาคม 2564

การกระทำของนายวิชาญ สาระตา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในห้องพิจารณาคดีในวันที่ 29 มีนาคม 2564 นั้น เป็นการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ทนายความจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีและเกิดเหตุขึ้นในห้องพิจารณาคดีภายในพื้นที่ภายใต้อำนาจศาลอาญาแห่งนี้

ทั้งนี้ มาตรการที่ศาลอาญาบังคับใช้อย่างเข้มงวด เกินกว่าเหตุ และเกินความได้สัดส่วน กลายเป็นการจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย สิทธิในการเข้าถึงทนายความ สิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีความอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมาตรการละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น การจำกัดสิทธิและขัดขวางญาติ ครอบครัว เพื่อนของจำเลย สื่อ ผู้สังเกตการณ์ และประชาชนทั่วไป ไม่ให้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ต้องดำเนินอย่างเปิดเผยและโปร่งใส หรือการยึดโทรศัพท์มือถือของทนายความจำเลย และญาติจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าจำนวนจำกัด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งในสังกัดศาลอาญาและกรมราชทัณฑ์บังคับใช้มาตรการเข้มงวดแต่กับเฉพาะฝ่ายจำเลย ญาติ ประชาชนที่มาติดตามคดีของจำเลย และทนายความจำเลย เป็นการสร้างสภาวะกดดัน ควบคุมจำกัดสิทธิเกินกว่าเหตุ และไม่เอื้อต่อการร่วมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในคดีนี้อย่างรู้สึกปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนการดำเนินการเพื่อประกันสิทธิจำเลยในการพิจารณาคดีของศาลอาญาต่อไป

…..

 

X