30 พ.ย. 2563 “เพนกวิน” พริษฐ์, ทนายอานนท์, “รุ้ง” ปนัสยา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ เดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ทั้งหมดให้การปฏิเสธและจะให้การเป็นหนังสือในภายหลัง
เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ สน.ชนะสงคราม พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563
รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมทั้งห้าในความผิดฐาน “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยแจ้งพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเบื้องต้นเช่นเดียวกับที่เคยแจ้งไปแล้ว ซึ่งระบุอยู่ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมมีเนื้อหาโดยสรุปคือ
ก่อนเกิดเหตุได้มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” นําโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวก ได้ประกาศนัดหมายกันผ่านสื่อออนไลน์ และมีการแถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะมีการจัดกิจกรรม “19 กันยา ทวงอํานาจคืนราษฎร” ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ต่อมาในวันเกิดเหตุ มีการปราศรัยเชิญชวนให้กลุ่มผู้มาชุมนุมมารวมตัวกันให้มากที่สุด และเข้าไปปราศรัยบนรถเวทีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนต่อไปยังสนามหลวง มีการจัดตั้งเวทีปราศรัย และจัดกิจกรรมบนเวทีปราศรัยใหญ่สลับกับการปราศรัยของแกนนํา
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการทําพิธีปักหมุดคณะราษฎร์ โดยการขุดเจาะพื้นปูนฝังหมุดดังกล่าวลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และได้เคลื่อนขบวนออกจากท้องสนามหลวงเพื่อไปยื่นหนังสือให้กับตัวแทนที่จะมารับหนังสือของมวลชนส่งต่อให้กับองคมนตรีต่อไป ภายหลังแกนนํากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวจึงได้ประกาศยุติการชุมนุม โดยยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ จากการสืบสวนมีการพิสูจน์ตัวบุคคลและถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำที่ขึ้นเวที
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุเพิ่มเติมจากบันทึกเดิมว่า “คำปราศรัยของผู้ต้องหาแต่ละคน เป็นข้อความที่เป็นการใส่ความต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการพูดกล่าวหาพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียว โดยพูดลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน และเป็นการพูดในทางที่ทําให้องค์พระมหากษัตริย์อาจได้รับความเสียหาย และมีเจตนาให้ประชาชนผู้ร่วมรับฟังเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์”
ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา นักกิจกรรมทั้งห้าได้ในการปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ให้การรับรองในเอกสารถอดเทปคำปราศรัย โดยจะขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นอกจากนี้ ทั้งหมดยังไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยเขียนหมายเหตุไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และไม่ยอมรับมาตรา 112 เป็นกฎหมาย”
กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 มีการดำเนินคดีผู้ร่วมชุมนุมและแกนนำใน 2 คดี คือ กรณีที่ ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม กับพวก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และกรณีที่กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร มอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ
ก่อนหน้านี้มีการเข้าจับกุมแกนนำและผู้ปราศรัยรวม 7 ราย แจ้งข้อกล่าวหาแล้วในหลายข้อหาแตกต่างกัน หลักๆ คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น), มาตรา 215 (มั่วสุมตั้ง 10 คนขึ้นไป), มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์), ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ โดยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยชั่วคราวจตุภัทร์ ส่วนอีก 6 คน ศาลได้ยกคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 2 หรือ 3 ของพนักงานสอบสวน ทำให้ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว
ภายหลังพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม ทั้ง 7 ราย แต่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังไม่สะดวกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันเดียวกันนี้
——————
“เพนกวิน” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 4 คดีในวันเดียว
นอกจาก พริษฐ์จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม ตามหมายเรียกของ สน.ชนะสงคราม จากกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แล้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี และ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ยังได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์เพิ่มเติมในข้อหาเดียวกันนี้เช่นกัน นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สน. ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีล่าสุดจากการปราศรัยบริเวณเวทีแยกคอกวัวใน #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ Mob Fest เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 อีก 1 คดี ทำให้พริษฐ์ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 แล้วถึง 4 คดี
สภ.เมืองอุบลราชธานี
พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุบลฯ และ พ.ต.ท.เฉลิมยศ พรหมสุวรรณ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองอุบลฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์เพิ่มเติม กรณีการชุมนุม “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ที่ทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยบรรยายพฤติการณ์ในคดีว่า
มีการถอดเป็นเอกสารคําพูดของผู้ต้องหาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาได้กล่าวคําพูดปราศรัยในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยมีเจตนาที่จะใส่ความ ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและเทิดทูลของประชาชนเสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม หรือเกิดความอับอาย พฤติการณ์และการกระทําของผู้ต้องหากับพวกเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”
พริษฐ์ให้การปฏิเสธ โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ทนายความผู้ต้องหาเขียนหมายเหตุไว้ว่า “ผู้ต้องไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และไม่ยอมรับมาตรา 112 เป็นกฎหมาย”
คดีนี้พริษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563
สภ.เมืองร้อยเอ็ด
ภายหลังเสร็จสิ้นจากการรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจาก สภ.เมืองอุบลฯ พ.ต.ท.นรินทร์ นามบ้านค้อ, พ.ต.ท.ศราวุฒิ โยชน์เมืองไพร และ พ.ต.ท.อดุลย์ จุดศรี คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด เข้าแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติมแก่พริษฐ์ จากกรณีจากชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดโดยสรุปว่า จากการที่ผู้ต้องหาปราศรัย เมื่อ วันที่ 3 ก.ย. 2563 ระหว่างเวลา 20.15 – 22.00 น. ที่ลานสาเกตุนคร หน้าบึงพลาญชัย ปรากฏว่าคําปราศรัยของผู้ต้องหามีข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์รวม 4 ประเด็น การที่ผู้ต้องหาขึ้นกล่าวปราศรัยให้ผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน ฟัง โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงคําปราศรัยทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟัง ในลักษณะที่ไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาที่จะใส่ความเพื่อให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหาและคำให้การ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ยอมรับอำนาจศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และข้อหามาตรา 112 ไม่เป็นธรรม” ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้บันทึกเหตุผลดังกล่าวลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย
เพนกวินปราศรัยงานชุมนุม “เจาะกะลาตามหาบักคำผาน”
คดีนี้มีพ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับ (สืบสวน) สภ.เมืองร้อยเอ็ด เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ขณะพริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ซึ่งเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อหาเช่นกัน
สน.ชนะสงคราม
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์อีก 4 ข้อหา จาก #ม็อบ14พฤศจิกา โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดโดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมกิจกรรมทางการเมือง “Mob Fest” “นักเรียนเลว” “ผู้หญิงปลดแอก” ได้จัดกิจกรรมเรื่อยมาทั้งบริเวณถนนด้านหน้าร้านแม็คโดนัลด์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณหน้าด้านหน้าศูนย์ภาษา สี่แยกคอกวัว
กลุ่มผู้ชุมนุมได้นําผ้าขาวที่เขียนไว้เมื่อช่วงบ่ายน้ำขึ้นไปพันโดยรอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทวงคืนเป็นของประชาชน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปราศรัยสลับกับการแสดงดนตรีเรื่อยมา จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.51 น. ของวันเดียวกัน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องหา ได้ขึ้นเวทีด้านหน้าศูนย์ภาษาเวทีคอกวัว ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้าผู้ชุมนุม โดยเนื้อหาปราศรัยได้กล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมคล้อยตามและเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
Mob Fest บริเวณสี่แยกคอกวัว (ภาพโดย ประชาไท)
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 นายสุเทพ ศิลปงาม และนายวราวุธ สวาย ได้ฟังคําปราศรัยของพริษฐ์ จึงได้มาแจ้งความ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หลัง สน.ชนะสงครามรับคำร้องทุกข์ไว้ ได้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์รวม 4 ข้อหา ดังนี้
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า พริษฐ์มีการกล่าวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสม ในลักษณะใส่ความให้ประชาชนที่ได้ฟังหลงเข้าใจผิด เป็นการพูดกล่าวหาพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียว โดยไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน และเป็นการพูดในทางที่ทําให้องค์พระมหากษัตริย์อาจได้รับความเสียหาย และมีเจตนาให้ประชาชนผู้ร่วมรับฟังเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับ อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนบันทึกหมายเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่ขอลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ยอมรับในอำนาจของศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และไม่ยอมรับว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมาย