ต้องคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา: ศาลยกคำร้องฝากขังไมค์-เพนกวิน-รุ้ง-แบงค์ หลังสูญอิสรภาพ2อาทิตย์

30 ต.ค. 63 เวลา 16.15 น. ศาลอาญายกคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามและออกหมายปล่อย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หลังทั้งสี่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาเป็นเวลาราว 2 อาทิตย์ 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวจากกรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร* เมื่อ 19-20 ก.ย. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาฯ ทั้งสี่คนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเย็นนี้ (*หมายเหตุ: ขณะถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ/กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 พริษฐ์ ปนัสยาและภาณุพงศ์นั้นยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย) 

วันนี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ต่อมาเวลา 16.15 น. ศาลอาญาได้พิจารณาคำร้องคัดค้านฝากขังและให้ยกร้องคำร้องขอฝากขัง โดยนายสันติ บุตรดี ผู้พิพากษาให้เหตุผลในกรณีของพริษฐ์ ปนัสยา และภาณุพงศ์ อย่างคล้ายคลึงกันว่า 

“พิเคราะห์คําร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ของผู้ร้อง ประกอบคําคัดค้านของทนายผู้ต้องหาแล้วเห็นว่า ในการขอให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปนั้น สืบเนื่องจากยังสอบสวนพยานทั้งบุคคลและเอกสารไม่แล้วเสร็จ ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ขังผู้ต้องหาทั้งสองมาแล้ว 2 ฝาก เป็นเวลา 10 วัน เป็นเวลานานเพียงพอที่ผู้ร้องจะสามารถสอบพยานบุคคลที่อ้างในคําสั่งขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า มีจํานวนทั้งหมด 5 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติอาชญากรของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรให้เสร็จสิ้นได้” 

“ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ว่าการสอบสวนมีความยุ่งยากจนต้องขอให้ศาลฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งศาลต้องคํานึงและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเป็นประการสําคัญ มิให้มีการขังเกินกว่าความจําเป็น จนกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ หากมีการสอบสวนเสร็จในภายหลังสามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาสั่งฟ้องได้ จึงไม่มีความจําเป็นใดๆ ที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 อีกต่อไป จึงให้ยกคําร้องขอฝากขังครั้งที่ 3”

ส่วนกรณีของปติวัฒน์ นายเทวัญ รอดเจริญ ผู้พิพากษาให้เหตุผลในการยกคำร้องขอฝากขัง ดังนี้

“พิเคราะห์คําร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ของผู้ร้อง ประกอบคําร้องคําคัดค้านของทนายผู้ต้องหาแล้ว ไม่ปรากฏรายละเอียดว่า พยานที่พนักงานสอบสวนจะสอบปากคําเพิ่มเติมเป็นใคร เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์การกระทําความผิดของผู้ต้องหาอย่างไร อีกทั้งเหตุผลเพื่อรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนมีความคืบหน้าอย่างไร” 

“การจะขังบุคคลใดตามคําร้องขอฝากขังของผู้ร้องนั้น ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นสิ่งสําคัญที่สุดในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เหตุผลในการขอฝากขังของผู้ร้องจึงไม่พอฟังว่ามีเหตุจําเป็นที่จะต้องฝากขังผู้ต้องหารายนี้ต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้ยกคําร้องขอฝากขังครั้งที่ 3” 

พริษฐ์และปนัสยา ปัจจุบันเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 15 ต.ค. 63 ตามหมายจับกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 โดยศาลจังหวัดธัญบุรีให้ประกันตัวแล้วเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 แต่ทั้งสองถูกอายัดตัวตามหมายจับกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกทั้งศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังไว้ในระหว่างสอบสวน รวมทั้งไม่ให้ประกันตัว ทำให้ทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิง ตามลำดับ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 ทั้งสองสูญเสียอิสรภาพเป็นเวลา 16 วัน

ก่อนศาลจะไม่อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังต่อและออกหมายปล่อยนักศึกษาทั้งสองคน ทนายความได้ยื่นประกันตัวไปทั้งหมด 2 ครั้ง โดยในการยื่นประกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 500,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว อ้างเหตุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ที่เคยสั่งไม่ให้ประกัน 

นอกจากนี้ ทนายยังได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 63 ทว่าศาลอุทธรณ์กลับยกคำร้อง โดยอ้างว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาก่อให้เกิดความเสียหายหรือวุ่นวาย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ชักนำให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้วยังปรากฏว่า ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายคดีในหลายท้องที่ ถ้าหากได้รับประกันตัวอาจก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นและน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี

ส่วนภาณุพงศ์นั้น ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามหมายจับกรณีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการเข้าร่วมชุมนุม #15ตุลาไปแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ขณะถูกคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ภาณุพงศ์ยังถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เหตุปักหมุดคณะราษฎร 2563 ในการชุมนุมเดียวกัน ภาณุพงศ์สูญเสียอิสรภาพรวมเป็นเวลา 14 วัน

ทนายความยื่นประกันตัวภาณุพงศ์ในวันที่ 19 ต.ค. 63 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันคดีละ 100,000 บาท รวม 200,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวและระบุว่า ถ้าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมืองหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นอีก เมื่อทนายความยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 22 ต.ค. 63 ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับกรณีของพริษฐ์และปนัสยา

ด้าน “หมอลำแบงค์” หรือปฏิวัฒน์ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 63 ที่บริเวณหอพัก จังหวัดขอนแก่น ตามหมายจับในคดีการชุมนุม  #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทนายความของพรรคเพื่อไทยได้ยื่นประกันตัวในวันที่ 20 ต.ค. 63 โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยเป็นหลักประกัน ทว่าศาลอาญากลับไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้ว่าทนายความจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ในวันที่ 23 ต.ค. 63 แต่ศาลอุทธรณ์กลับยกคำร้อง โดยอ้างเหตุผลคล้ายกับกรณีของพริษฐ์ ปนัสยาและภาณุพงศ์ ปติวัฒน์สูญเสียอิสรภาพรวมเป็นเวลา 12 วัน

ก่อนศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ฝากขังประชาชนและนักศึกษาทั้ง 4 คน โดยอ้างถึงสิทธิของผู้ต้องหา ทั้งหมดต้องสูญเสียอิสรภาพให้กับเรือนจำราว 2 อาทิตย์

แม้ว่ากระบวนการพิจารณาคดียังคงอยู่ในชั้นสอบสวน ซึ่งยังไม่มีการตัดสินว่าผู้ต้องหานั้นมีความผิดหรือไม่และควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับมีการขออนุญาตศาลฝากขังและไม่ให้ประกันตัว ทั้งๆ ที่ประชาชน-นักศึกษามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ได้มีเจตนาหลบหนี นอกจากนี้ พริษฐ์และปนัสยายังจำเป็นต้องเดินทางไปเรียนหนังสือ เตรียมสอบปลายภาคอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และปนัสยา กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอายัดตัวตามหมายจับคดีการชุมนุมที่นนทบุรี, อยุธยา และอุบลฯ อีก ทั้งที่คดีเหล่านี้ได้แจ้งกล่าวหาขณะทั้งสามถูกคุมขังที่ บก.ตชด.ภาค 1 และเรือนจำแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 หมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปแล้ว เท่ากับว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ยังเหลือประชาชนอีก 4 คนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ แบ่งเป็นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 3 คน ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน (ถูกคุมขังตั้งแต่ 16 ต.ค. 63 รวม 15 วัน), อานนท์ นำภา (ถูกคุมขังตั้งแต่ 15 ต.ค. 63 รวม 16 วัน) และสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ถูกคุมขังตั้งแต่ 16 ต.ค. 63 รวม 15 วัน) ที่เรือนจำบางขวางอีก 1 คน ได้แก่ “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ (ถูกคุมขังตั้งแต่ 21 ต.ค. 63 รวม 10 วัน)

X