“ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก”: จำเลยคดีชุมนุม 19 ก.ย. แถลงขอถอนทนาย เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี

8 เม.ย. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณา 704 มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น 22 คน ในหลายข้อหา โดยมีแกนนำ 7 คน ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งเจ็ดไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี แม้ยื่นประกันมาแล้วหลายครั้ง 

ณ ห้องพิจารณา  จำเลยซึ่งถูกแจ้งข้อหาหลักตามมาตรา 116 จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัทพัช อัคฮาด, ธนชัย เอื้อฤาชา, ธนพ อัมพะวัติ, ธานี สะสม, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, ณัฐชนน ไพโรจน์ , “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และอะดิศักดิ์ สมบัติคำ ทยอยเดินทางเข้ามาในห้องพิจารณา  

ขณะที่ในเวลาประมาณ 10.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังได้นำตัวจำเลยอีก 9 คน ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำต่างๆ ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากทัณฑสถานหญิงกลาง และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมทั้ง “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จากเรือนจำพิเศษธนบุรี เข้ามาในห้องพิจารณา ​


ญาติไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ ทั้งที่ศาลไม่ได้สั่งพิจารณาลับ

ในช่วงเช้า บริเวณตรงข้ามธนาคารกรุงไทยมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนเหมือนเช่นทุกวันที่มีการพิจารณาคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยผู้ที่จะเข้ามายังบัลลังก์ 704 จะถูกแยกโต๊ะลงทะเบียนต่างหาก มีการจดชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน มีการแจกบัตรให้แขวน โดยในบัตรระบุชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน 

ก่อนหน้านี้ในนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้ต้องขัง 1 คน สามารถให้ญาติเข้าฟังการพิจารณาได้ 2 คน โดยญาติจะได้รับบัตรสีม่วง แต่ทั้งในวันที่ 7-8 เม.ย. ซึ่งเป็นนัดหมายตรวจพยานหลักฐานใหม่นั้น ตำรวจศาลบริเวณโต๊ะลงทะเบียน แจ้งในทันทีว่าญาติต้องไปอยู่ห้องเวรชี้ ไม่สามาถเข้าฟังการพิจารณาในห้องได้ เนื่องจากศาลเจ้าของสำนวนสั่งเช่นนั้น โดยไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

บรรยากาศของเช้าวันที่ 7 และ 8 เม.ย. เต็มไปด้วยความสับสนของญาติผู้ถูกคุมขังที่เดินทางมาศาล มารดาของบางคนถึงกับร้องไห้ เนื่องจากเกรงว่าหากวันนี้ตนไม่ได้เข้าฟังการพิจารณาสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป 

ในเช้าวันที่ 8 เม.ย. ญาติของทั้งหมดถูกห้ามไม่ให้เดินเข้าตั้งแต่หน้าศาล โดยมีตำรวจศาลคอยเฝ้าอยู่ที่บันได คอยเจรจาถึงเหตุผลที่ญาติไม่ควรมาที่ชั้น 7 เพราะอย่างไรก็เสียเวลาเปล่า ญาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาอยู่ดี การไปรอเป็นเรื่องเสียเวลา เจ้าหน้าที่ยังแจ้งว่าญาติๆ จะต้องไปที่ห้องเวรชี้ในทันที ทำให้ญาติส่วนหนึ่งนั่งคอยอยู่ตรงบันไดศาล เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการขอความร่วมมือเช่นนี้ 

เมื่อผ่านไปพักใหญ่ ญาติจึงได้เดินผ่านประตูศาล และขึ้นมารอที่ชั้น 7 ของอาคารศาล โดยแม่ของไมค์ ภาณุพงศ์ ได้เดินทางมาถึงในเวลา 10.45 น. ไม่ได้ขึ้นมาพร้อมกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องรออยู่ที่บันไดศาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศาล (รปภ.) ต้องใช้วิทยุสื่อสาร เพื่อขออนุญาตให้แม่ของไมค์ได้ขึ้นลิฟต์มายังชั้น 7  แม่ของไมค์ยังได้นำแว่นตามาให้ลูกชาย แต่ตำรวจศาลแจ้งว่าจะต้องนำไปฝากที่เรือนจำ ผ่านเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เท่านั้น

สำหรับบรรยากาศบริเวณชั้น 7 ห้องน้ำหญิงถูกปิด เช่นเดียวกับวันที่ 29 มี.ค. โดยอนุญาตให้เดินเข้าเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในศาล มีรั้วสีเหลือง 3 แผง ถูกนำมากั้นตั้งแต่ลิฟต์เป็นต้นมา รปภ. นายหนึ่งกล่าวว่า “นี่เป็นรั้วที่หนาที่สุดแล้วที่เอามากั้น” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ศาล และรปภ. จำนวนหนึ่ง คอยตรวจตราความเรียบร้อยภายในและภายนอกห้องพิจารณา ญาติบางส่วนยืนและบางส่วนนั่งอยู่ที่บริเวณพื้นหน้าลิฟต์ชั้น 7 ทั้งที่ห้องรับรองพยานอยู่ตรงข้ามกับที่ที่พวกเขายืนอยู่ โดยเป็นห้องที่มีที่นั่งและมีเครื่องปรับอากาศ แต่ทั้งหมดไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่ง เนื่องจากห้องดังกล่าวอยู่ติดกับทางเดินห้อง 704 

ในวันที่ 7 เม.ย. มีการปิดใต้ถุนศาลไม่ให้ซื้ออาหาร และไม่ให้จำเลยเดินลงไปกินข้าวในห้องขังใต้ถุนศาล แต่เจ้าหน้าที่ซื้ออาหารนำขึ้นมาให้กินในห้องพิจารณา โดยอ้างว่าเพราะมีโควิด และมีการพิจารณาคดีต่อเนื่อง ส่วนในวันที่ 8 เม.ย. จำเลยถูกนำตัวไปกินอาหารด้านล่าง แต่ไม่อนุญาตให้ญาติซื้ออาหารให้

.

จำเลย 21 ราย แถลงขอถอนทนาย เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือตามกฎหมาย

ในวันนี้เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนตรวจดพยานหลักฐานในคดี จําเลยทั้ง 22 คน ยกเว้น ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม จำเลยที่ 3 ได้แถลงความประสงค์ขอถอนทนายความ เนื่องด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย โดยอธิบายเหตุผลประกอบเนื่องจาก

1. จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ ระหว่างทนายความและลูกความ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการออกมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายส่วน 

ทั้งการตรวจเช็ครายชื่อทนายจําเลยและจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด การทําร้ายร่างกายทนายความที่กําลังใช้สิทธิปรึกษากับจําเลยเป็นการเฉพาะตัว การยึดโทรศัพท์ของทนายจําเลย การไม่เปิดโอกาสให้จําเลยและทนายได้ปรึกษากันเป็นการเฉพาะตัว 

อานนท์ นำภา และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังได้แถลงต่อศาล เพื่อขอให้ศาลซึ่งมีอํานาจควบคุมการพิจารณาคดี พิจารณาสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติโดยเคารพสิทธิดังกล่าว ซึ่งศาลแจ้งว่าจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร โดยไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติโดยเคารพสิทธิของจําเลยและทนายความแต่อย่างใด

2. จําเลยที่ต้องขังและจําเลยที่ได้รับการประกันตัวไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดี ไม่อนุญาตให้พูดคุยหารือกันอย่างเพียงพอ

3. คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีลับ แต่กลับมีคําสั่งหรือมาตรการต่างๆ ในการไม่อนุญาตให้ครอบครัว และ/หรือ ญาติของจําเลย รวมทั้งบุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส จําเลยและทนายความได้แถลงต่อศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา โดยอ้างถึงพฤติการณ์เดิม

ดังนั้นจําเลยทั้งหมด ยกเว้นปติวัฒน์ จึงขอถอนทนายความ และทนายความของจําเลยดังกล่าวขอถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่สามารถยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่คํานึงสิทธิของจําเลยนี้ได้

แต่ในวันนี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอถอนทนายดังกล่าว

.

อานนท์แถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม ชี้ห้องพิจารณาถูกทำให้เป็นเสมือนคุก

นอกจากนี้ อานนท์ นำภา ยังได้เขียนคำแถลงต่อศาลในคดี โดยเป็น “คำแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม” มีข้อความดังนี้

ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ จำเลยที่ 2 ประสงค์ขอถอนทนายความทั้งหมด เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. นับแต่จำเลยถูกฟ้อง จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อสู้คดี ถูกกระทำด้วยการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างๆ  นานา ทั้งที่จำเลยยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย เพียงเพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 อันเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมปฏิเสธจะให้ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ด้วยการขังเยี่ยงสัตว์ระหว่างพิจารณา ไม่ให้มีโอกาสในการประกันตัว อันเสมือนการพิพากษาไปล่วงหน้าแล้ว

กระบวนการยุติธรรมที่เคยดำรงความเป็นธรรม เป็นหลักให้สังคม พอเจอเรื่องมาตรา 112 ก็พากันเสียสติกันไปเสียหมด ปล่อยให้คนที่มีอำนาจนอกกระบวนการยุติธรรมชี้นำ และดำเนินกระบวนการยุติธรรมไปด้วยความกลัว ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากจำเลยยังคงร่วมกระบวนการเช่นนี้ ก็เสมือนสนับสนุนกระบวนการอันวิปริต ซึ่งจำเลยมิอาจยอมรับได้

2. การขังเพื่อบังคับให้จำยอมต่อมโนธรรมสำนึกผิดชอบชั่วดี ใช้การจำขังขึงพืดจำเลยในนามกฎหมาย เพื่อให้การต่อสู้เพื่อความถูกต้องถูกทำลาย อันเป็นผลให้สังคมแช่แข็งตัวเองไว้ในความมืดมิดและความกลัว ไม่กล้าที่จะพูดความจริงกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางออกให้สังคม ทุกอย่างถูกทำไปในนามของกฎหมาย จำเลยในนามของคนเรียนกฎหมายไม่อาจจะยอมรับความอัปยศนี้ได้อีกต่อไป

3. ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในนามราษฎรถูกหยิบยกและหล่อหลอมเป็นกระบวนทัศน์อันแหลมคม จนทำให้แสบแก้วหูของคนในสังคมเก่า แต่นั่นคือความจริง และต้องการความกล้าหาญของคนรุ่นเก่าที่ต้องยอมรับ เปิดใจ และพูดคุยอย่างอารยะ แต่จากที่ผ่านมา คนรุ่นเก่ากลับให้กฎหมายปิดปาก แจ้งความดำเนินคดีลูกหลานตนเอง ซ้ำร้ายยังใช้กำลังเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่น การทุบตี ใช้สารพิษฉีดทำร้ายเยาวชนของชาติอย่างเลือดเย็น นี่หรือคือคำว่า “สามัคคี” คำว่า ปรองดอง และคำว่า คนในชาติเดียวกัน

4. ในการดำเนินคดี พวกเราถูกตัดสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ถูกทำให้ห้องพิจารณาเป็นเสมือนคุก ทนายความถูกกดดัน และจำกัดการทำหน้าที่ อันมิใช่กระบวนพิจารณาอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อจำเลยและทนายความได้ประชุมและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า หากร่วมกระบวนพิจารณาต่อไปรังแต่จะสร้างบรรทัดฐานอันบิดเบี้ยว และส่งเสริมกระบวนการอยุติธรรมต่อไป

5. ในการพิจารณาประกันตัว จำเลยทราบข่าวว่ามีการแทรกแซงจากศาลฎีกา ซึ่งจำเลยอยากขอให้ศาลส่งเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) พิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ ที่สำคัญที่มีข่าวว่ามีบุคคลภายนอกสั่งศาลได้ จริงหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อความบริสุทธิ์ของศาลเอง

6. การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้กฎหมายปิดปาก และทั้งหมดทั้งมวลของความอยุติธรรมในคดีนี้ จำเลยในฐานะคนเรียนกฎหมาย อาชีพทนายความ และในฐานะหนึ่งในราษฎรที่มีจุดยืนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงมิอาจร่วมกระบวนการทั้งหมดต่อไปได้ จำเลยที่มีรายชื่อท้ายคำร้องนี้จึงขอถอนทนายความ และปฏิเสธขบวนการนี้

ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานคดีนี้ต่อไปในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมยาวไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม 2564 โดยเริ่มการสืบพยานช่วงแรกในวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2564 

.

X