ก่อน “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จะตัดสินใจเริ่มอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องอิสรภาพถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองและยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ในทางการเมือง ตั้งแต่ในวันที่ 21 ก.พ. 2568 เขาได้เขียนบทความ “ย้อนทัศนา: ปรากฏการณ์อดอาหารและความรุนแรงจากรัฐ” ทบทวนถึงปฏิบัติการอดอาหารของผู้ต้องขังทางการเมืองในประเทศไทยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และอธิบายว่าทำไมเหล่าผู้ถูกคุมขังถึงยังเลือกใช้เครื่องมือประท้วงเช่นนี้
——————————
.
หากเอ่ยถึงการอดอาหารคงมีความเห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอาแต่ใจ ทำผิด แต่ไม่ยอมรับฟัง จะทรมานตัวเองไปทำไม ไม่เห็นแก่พ่อแม่บ้างเหรอ ฯลฯ แต่เราเคยย้อนหาสาเหตุหรือไม่ว่าเหตุใดพวกเขาจึงเลือกหนทางที่อาจนำไปสู่ความเจ็บปวดและการสูญเสีย นับตั้งแต่เพนกวิน รุ้ง ตะวัน แบม ใบปอ เก็ท และคุณบุ้ง ผู้ล่วงลับ จากความรุนแรงที่เขามอบให้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่อ้างว่าชอบธรรม? เพื่อไม่ให้ความสูญเสียนี้จางหาย การทบทวนจึงมีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าผมจะอยู่ในสถานะใด เพราะการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด
นับแต่ปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปยังแก่นของโครงสร้างรัฐทั้งที่เป็นทางการและจารีต รวมถึงความอยุติธรรมที่ดำเนินอยู่อย่างเป็นระบบในสังคม ปรากฏการณ์นับแต่ปี 2563 อันเป็นปีแห่งการแสดงออกอย่างสันติของนักเรียนนักศึกษา ทั้งภาคประชาชนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะ 3 ข้อ ไปยัง 10 ข้อเรียกร้อง ทั้งหมดนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงจากกฎหมายที่ถูกใช้อย่างไร้ขอบเขต ความรุนแรงทางกายภาพ (สลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ และรถฉีดน้ำ เป็นต้น) จนเกิดการพรากอิสรภาพผ่านการคุมขัง หากเปรียบเทียบกับสำนวนคงเป็น “การเชือดไก่ให้ลิงดู” คงไม่ผิดแปลกเสียเท่าไหร่
โลกภายนอกเรามียุทธวิธีมากมายเพื่อแสดงออกและผลักดันข้อเรียกร้องของตน อย่างการชุมนุม การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ งานเสวนา เขียนบทความ หรือไปยืนเฉย ๆ ที่รัฐสภาเช่นผม ยังไม่พูดถึงวิธีที่เป็นทางการอย่างการยื่นคำร้อง การแถลงข่าวและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในยามที่เราถูกจองจำเครื่องมือที่ว่ามาแทบจะสูญสิ้น แม้ไม่ทั้งหมด แต่เราถูกตีกรอบอยู่ในที่คุมขัง ที่รายล้อมไปด้วยกำแพงสูงทุกทิศ และการสอดส่องพฤติกรรมตลอด 24 ชั่วโมง คงเป็นการยากที่จะดำเนินการบางอย่าง ทั้งยังต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาจากการกระทำ (ทำไมต้องทำการอารยะขัดขืน การแสดงสัญลักษณ์) เช่น กรณีผมที่ชูสามนิ้วเพื่อเรียกร้องความเป็นมนุษย์ ในแดน 6 นำมาสู่การคุกคามและความหวาดระแวงจากผู้ต้องขัง (ใช้การลงโทษหมู่เป็นวิธีหลักในการบีบบังคับ)
เราทำอะไรได้บ้างจากภาวะบีบคั้นที่รัฐบังคับใช้ รัฐที่ว่าหมายถึงโครงสร้างที่ถูกสถาปนาอย่างเป็นระบบจนแนบเนียน นำมาสู่หนทางพยายามทำลายกรอบ นำมาสู่การเลือกดำเนินการบางอย่าง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่จะเรียกร้อง อิสรภาพ หรือข้อเรียกร้องที่แสนยิ่งใหญ่อย่างการปฏิรูป มันไม่ใช่เพียงแค่เพื่อตนเอง แต่เพื่อส่วนรวม ไปจนถึงประเทศชาติ มันไม่ใช่เพียงแค่การเอาแต่ใจ แต่คือความพยายามให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา การอดอาหารจึงถูกพูดถึงในฐานะการใช้เครื่องมือที่ตนเองถือครองมาแต่ต้น นั่นคือ “ชีวิต” ของเราแต่ละคน
ไม่มีใครอยากตาย หรือลาจากครอบครัวและคนรัก ทุกคนอยากเป็นดังอนาคตที่วาดหวัง แต่การอดอาหารถูกเลือกมาใช้เพื่อประท้วงเรียกร้อง เช่น คานธีทำเพื่อเรียกร้องเอกราชจากบริเตน พลตรีจำลองทำเพื่อขับไล่รัฐบาลทหารในปี 2535 ผู้ต้องขังการเมืองในแอฟริกาใต้ภายในเรือนจำร็อบเบน ทำเพื่อให้ได้อาหารที่ดีขึ้น และล่าสุดในไทยปี 2564 เพนกวิน รุ้ง เรียกร้องอิสรภาพ 2565-67 ตะวัน แบม ใบปอ เก็ท บุ้ง เรียกร้องทั้งอิสรภาพ และทางสู่การแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง
จากความพยายามกำราบให้หลาบจำของรัฐนำมาสู่การต่อต้านและขัดขืนอย่างรุนแรง จนเกิดความสูญเสียที่ยากจะยอมรับ หากมองด้วยใจอันเป็นธรรม จะพบว่าเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างรัฐ จากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จากรัฐที่ขาดเสรีภาพ พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงเสียมากกว่าการมุ่งร้าย หรือเพียงเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน อย่างการประกันตัว ไปจนถึงอิสรภาพที่ถาวร
การนำชีวิตมาเดิมพัน จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะคิดอย่างตื้นเขินว่า เป็นเพียงการกระทำของเด็กเอาแต่ใจ หรือดูรุนแรง ต้นตอมาจากรัฐที่บีบบังคับเขามากกว่า รัฐไม่ใช่คนบอกให้อดอาหาร แต่รัฐปิดกั้นในทุกหนทางที่เขาจะสามารถใช้ในการสื่อสารได้จากการจองจำ และตัดสิทธิจนหนทางที่ว่าให้ลดน้อยถอยลง เช่นนี้แล้วการปิดกั้นการใช้สิทธิและเสรีภาพ การปราบปรามและการจองจำ จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรงที่รัฐมอบให้แก่พลเมืองที่ท่านนิยามว่าเป็น “คนรุ่นใหม่”
หากย้อนมองทัศนะที่ว่านี้แล้วยังรู้สึกว่าเป็นเพียงแค่คำแก้ตัว ลองมองว่าผู้ต้องขังทางการเมืองต้องเผชิญกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ผู้ต้องขังจำนวนมากคดียังไม่ถึงที่สุด สิทธิประกันตัวควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ แม้จะเป็นเพียงการได้รับอิสรภาพเพียงชั่วคราว แต่พวกเขาก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการที่ดำเนินอยู่ เช่นนี้อาจทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นถึงสิ่งที่ผมกล่าวถึง ไม่มีใครอยากเจ็บตัว เพียงแค่คิดสนุกหรอกครับ!!
สุดท้ายการคุมขังโดยไร้เหตุผล อาจนำมาซึ่งการกระทำภายใต้ภาวะบีบบังคับของรัฐอีกก็ได้ ไม่ว่าผมหรือใครก็ตาม ไม่มีใครทนได้หรอกกับความอยุติธรรมที่ดำเนินอยู่ บทเรียนมากมายจากเครื่องมืออย่างการอดอาหารให้ทั้งข้อคิดและแง่มุมอย่างมาก แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นควรนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงและการถอดบทเรียนของรัฐ มากไปกว่าการให้เวลาลบเลือนทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มิใช่มีเรื่องที ก็ประชุมที มันไม่ควรมีใครต้องสูญเสียตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุกอย่างจะไม่จบ ถ้ารัฐยังคงเป็นเช่นนี้
ไม่ควรมีใครต้องเสียสละ จากการเรียกร้องสิทธิแสนพื้นฐานหรือความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่คงเป็นทั้งการถอดบทเรียน (คำที่ชอบใช้) ตลอดเวลาการสังเกตการณ์ของผมตลอดห้าปีที่ผ่านมา หวังว่ารัฐบาลเพื่อไทย ตุลาการ กระบวนการยุติธรรม และรัฐสภาที่มาจากประชาชน จะมีสามัญสำนึกมากพอที่จะไม่นำพาชาติไปสู่ทางตัน
ด้วยความเคารพ
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
ผู้ต้องขังทางการเมือง แดน 4
.