ศาลให้ฝากขัง “เก็ท” โมกหลวงริมน้ำ ครั้งที่ 2 ต่ออีก 7 วัน เป็นครั้งสุดท้าย ตร. อ้างเหตุเดือนนี้งานพระราชพิธีเยอะ เกรงผู้ต้องหาจะไป “กระทำผิดซ้ำ” อีก

วันที่ 12 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในผัดที่ 2 ในคดีตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นขอฝากขังต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างว่าต้องสอบสวนพยานอีก 3 ปาก ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ฝากขังโสภณต่อไปอีก 7 วัน 

สำหรับโสภณ ถูกจับกุมตามหมายจับในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ในคดีตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 วันถัดมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาและศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว โสภณจึงถูกฝากขังระหว่างชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. เป็นต้นมา ทั้งนี้ระหว่างถูกคุมขังเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 โสภณได้เริ่มต้นการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน

ก่อนครบกำหนดฝากขัง เช้าวันนี้พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังโสภณต่อเป็นผัดที่ 2 ขณะที่ทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อ ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้อง

ศาลไม่เบิกตัวผู้ต้องหามาศาลอ้างโควิด ทนายแถลงคอนเฟอร์เรนซ์มีปัญหา ทั้งสัญญาณช้า ทำคุยไม่เข้าใจ เสียสิทธิ์การต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มิหนำซ้ำ “เน็ตศาลล่ม” บ่อยครั้งทำให้ร่วมไต่สวนไม่ได้  

ในการไต่สวน ศาลได้ไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม้ทนายความจะยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวผู้ต้องหามาร่วมการไต่สวนที่ศาลก็ตาม โดยอ้างถึงมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความในคดีแล้ว ซึ่งศาลเห็นว่า ทนายผู้ต้องหาสามารถคัดค้านการขอฝากขังแทนผู้ต้องหาได้ทุกประการ โดยไม่เสียสิทธิและผลประโยชน์ในการต่อสู้คดี

เมื่อจะเริ่มการไต่สวน พบว่าระบบอินเทอร์เน็ตของศาลมีปัญหา จึงไม่สามารถให้ผู้ต้องหาเข้าร่วมการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ศาลจึงจะทำการไต่สวนโดยไม่มีผู้ต้องหารับฟัง แม้ทางออนไลน์ก็ตาม

จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลว่า หากในวันนี้ศาลรับฝากขัง และครั้งหน้าพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาอีก ขอให้ศาลพิจารณาเบิกตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำมาเข้าร่วมการไต่สวนที่ศาลด้วย เนื่องจากการเบิกตัวผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ครั้งที่ผ่านๆ มาที่ศาลนี้ ผู้ต้องหาและทนายพบปัญหาการไม่ได้ยินเสียงหรือได้ยินไม่ชัดเจนจนจับใจความไม่ได้ อีกทั้งและภาพเสียงยังกระตุก ล่าช้า (Delay) กว่าความเป็นจริง ทำให้การสื่อสารไปเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งกระทบโดยตรงต่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ศาลตอบว่า หากศาลอนุญาตให้ฝากขังในวันนี้ และผู้ร้องขอให้ศาลฝากขังผู้ต้องหาอีกในครั้งหน้านั้น การไต่สวนครั้งดังกล่าวอาจเป็นผู้พิพากษาท่านใดก็ได้ จึงไม่สามารถรับรองในครั้งนี้ได้ว่าจะเบิกตัวผู้ต้องหามาศาล  เนื่องจากเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาท่านนั้นๆ ที่จะทำการไต่สวนในวันดังกล่าว

ทนายแถลงต่อว่า ขอเพียงให้ศาลบันทึกข้อเท็จจริงส่วนนี้ตามที่ได้ร้องขอ แม้การไต่สวนครั้งหน้าจะเป็นผู้พิพากษาท่านอื่น แต่ทนายจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลได้บันทึกลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ไปเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพื่อประกอบการตัดสินใจให้ผู้พิพากษาท่านอื่นๆ เพื่อมีดุลยพินิจให้เบิกตัวผู้ต้องหามาศาล

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภายหลังทนายความให้ความเห็นว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยแล้ว ทั้งทางเรือนจำและศาลเองก็ได้มีมาตรการในการป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดของโรคนี้ โดยที่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหามาศาลได้ โดยทราบว่าเรือนจำมีการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งไป-กลับจากศาลอยู่แล้ว และให้ผู้ต้องหาแยกไปกักตัวเป็นเวลา 14 วันหลังกลับจากศาล ซึ่งผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวหากถูกเบิกตัวมาศาล 

ทนายยังเน้นย้ำอีกว่า กรณีที่จะไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แต่กลับประสบปัญหาทางเทคนิคของศาลนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจส่งผลเป็นการปิดกั้นโอกาสและสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาโดยสิ้นเชิง 

“ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจกลายเป็นการทำให้ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการที่จะตัดสินว่าตัวเองจะถูกขังต่อไปหรือไม่ ไม่สามารถออกเสียงคัดค้าน โต้แย้งผู้ที่จะทำให้ตนเองถูกขังต่อ”

ตำรวจร้องศาลขอฝากขัง อ้างเพราะพฤษภาคมมี ‘งานพระราชพิธีเยอะ’ เกรงผู้ต้องหาไป “กระทำผิดซ้ำ” อีก

ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เบิกความต่อศาลให้อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก ได้แก่ 

  1. พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เพื่อให้ความเห็นด้านกฎหมาย
  2. พยานประชาชนทั่วไป เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำปราศรัยของผู้ต้องหา
  3. เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้จัดทำรายงานการสอบสวนและบันทึกจับกุม

นอกจากนี้ตำรวจยังอ้างว่าต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะผู้ต้องหาขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุ รอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ รวมถึงประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

จากนั้น ร.ต.อ.โยธี ได้ตอบคำถามทนายความของผู้ต้องหาถามค้านว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องยื่นต่อพนักงานอัยการ ผู้ร้องไม่ทราบว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวน และไม่ได้มีข้อมูลส่วนนี้อยู่ในรายงานการสืบสวน 

ร.ต.อ.โยธี เบิกความตอบอีกว่า การตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีนั้น ผู้ร้องได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ยังกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ส่วนการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ตนจะเป็นผู้ทำการตรวจด้วยได้ตัวเอง แต่ต้องรอทราบผลตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีก่อน

ด้านพยานอีก 3 ปากที่อ้างว่าจะต้องทำสอบปากคำนั้น ผู้ร้องได้ติดต่อไปยังพยานปากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและพยานปากประชาชนทั่วไปแล้ว เหลือเพียงนัดหมายวันและเวลาเพื่อทำการสอบปากคำเท่านั้น ส่วนพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนผู้จัดทำรายงานการสืบสวนและบันทึกจับกุมนั้นเป็นพยานที่รับราชการอยู่ที่เดียวกัน คือ สน.สำราษราษฎร์ 

พยานยอมรับว่าผู้ต้องหา อายุ 23 ปี และเป็นเพียงนักศึกษาเท่านั้น ไม่มีอิทธิพลที่จะสามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ในคดีนี้ได้จับกุมผู้ต้องหาที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ คดีนี้ไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน โดยได้ขอออกหมายจับผู้ต้องหาเลย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษเกินกว่า 3 ปี 

ทนายสอบถามว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โดยอาศัยอยู่กับพ่อดังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งมีพ่อเป็นเจ้าของบ้าน แต่ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องนี้

ร.ต.อ.โยธี ยอมรับว่า คดีนี้หากไม่ขังผู้ต้องหาไว้ก็ยังสามารถทำสำนวนการสอบสวนเพื่อเสนอต่อพนักงานอัยการได้ แต่ทว่าที่ได้ขอให้ศาลขังผู้ต้องหาไว้ต่อไป เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และในเดือนพฤษภาคม มีงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พิธีสมโภชเครื่องราชกุธภัณฑ์ พระราชพิธีพืชมงคล และงานพระราชพิธีต่างๆ เกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะไป “กระทำผิดซ้ำ” ในลักษณะนี้อีก และหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

สุดท้ายทนายความได้แถลงสรุปข้อเท็จจริงในการคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา ต่อศาล 4 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้

  1. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของพนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง
  2. ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีอายุ 23 ปี และเป็นเพียงนักศึกษาภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ไม่จำเป็นจะต้องออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 66 
  3. แม้ศาลไม่รับฝากขังผู้ต้องหาในผัดนี้ พนักงานสอบสวนก็สามารถทำสำนวนคดีจนแล้วเสร็จได้
  4. กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ขอฝากขังต่อไปเพราะผู้ต้องหาจะไป “กระทำผิดซ้ำ” นั้น เป็นเพียงคำกล่าวหาของผู้ร้อง ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ จะยืนยันคำกล่าวหาดังกล่าวได้

หลังดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ในช่วงบ่าย 

ศาลสั่งให้ฝากขังเก็ทต่อ 7 วัน และให้ฝากขังเป็นครั้งสุดท้าย ระบุ ตร.ทำสำนวนใกล้เสร็จแล้วไม่ควรขังผู้ต้องหาไว้เกินเหตุและความจำเป็น

เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโสภณต่อไปอีก 7 วัน มีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุป ดังนี้ 

ผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดูหมิ่นศาลของศาลนี้ไปแล้ว แต่ยังไปก่อเหตุจนถูกดำเนินคดีในคดีนี้อีก จึงเกรงว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปกระทำการในลักษณะนี้ซ้ำอีก และเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 และมาตรา 66 ซึ่งกล่าวไว้ว่า ไม่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินเหตุและความจำเป็นอันสมควรนั้น เมื่อพิจารณาคำร้องของผู้ร้องที่อ้างจะต้องทำการสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก ศาลเห็นว่าพยานปากผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายและพยานปากประชาชนทั่วไปเป็นเพียงพยานความเห็นไม่ใช่ประจักษ์พยาน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอความเห็นมาประกอบสำนวนคดี 

ส่วนพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จัดทำรายงานการสืบสวนและบันทึกจับกุมนั้น ศาลเห็นว่าเป็นพยานที่อยู่หน่วยงานเดียวกับผู้ร้อง สามารถขอความเห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา ส่วนการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหานั้น ผู้ร้องสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ทำให้การสอบสวนเหลือเพียงรอผลตรวจพิสูจน์ของกลางซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีและลายพิมพ์นิ้วมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ศาลจึงเห็นว่าการทำสำนวนคดีใกล้จะแล้วเสร็จแล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้เพียง 7 วันเท่านั้น โดยจะอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขังต่อ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวโสภณอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ทันที โดยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน ต่อมาศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

ทั้งนี้ โสภณ เป็นนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ขณะถูกคุมขังในคดีนี้ เขาได้ทำการ “อดอาหาร” เพื่อประท้วงต่อกระบวนการยุติธรรมและเรียกร้องสิทธิประกันตัวร่วมกับ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยจนถึงวันนี้โสภณอดอาหารเข้าสู่วันที่ 8 แล้ว ส่วนตะวันอดอาหารเข้าวันสู่วันที่ 22 แล้ว  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บันทึกเยี่ยมเก็ท โสภณ: โมกหลวงในเรือนจำ  อดอาหารวันแรกขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เรียกร้องสิทธิประกันตัว 

“เก็ท” #โมกหลวงริมน้ำ : จากนักศึกษาแพทย์รังสี สู่ผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงของรัฐ

ตร.ล้อมจับ “เก็ท โสภณ” คดี 112 เหตุปราศรัย #ทัวร์มูล่าผัว ก่อนศาลไม่ให้ประกัน เข้าเรือนจำเป็นรายที่ 9

X