ศาลเยาวชนฯ ยกฟ้อง ม.112 “สายน้ำ” กรณีถูกฟ้องแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูปร.10 ชี้หลักฐานไม่ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ

ในวันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ “CANCEL LAW 112” และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทําเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564

คดีนี้ อัยการคดีเยาวชนฟ้อง “สายน้ำ” ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามมาตรา 217, “ทำให้เสียทรัพย์” มาตรา 358 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า จำเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  โดยใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCEL LAW 112” จำนวน 1 แผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์ และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว

อีกทั้งจำเลยยังจุดไฟเผา จนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่ม พร้อมกรวยธูปเทียนถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ย้อนอ่านประมวล>> เปิดประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “สายน้ำ” กรณีถูกฟ้องแปะกระดาษ CANCEL LAW 112-พ่นสีสเปรย์บนรูป ร.10

.

เช้าวันนี้ บรรยากาศที่ห้องพิจารณา 13 เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 7-8 นาย มาเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย โดย “สายน้ำ” แม่และน้องชาย พร้อมทนายความได้ทยอยเข้ารออยู่ในห้องพิจารณา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้ที่มาให้กำลังใจรออยู่ด้านนอก

เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนอ่านคำพิพากษา “สายน้ำ” ได้ยื่นคำร้องประสงค์ขอให้บุคคลภายนอกร่วมเข้าฟังคำพิพากษาจำนวนหนึ่ง ด้านศาลชี้แจงว่า ตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังคำพิพากษา ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอด้านนอก 

พร้อมกันนี้ศาลชี้แจงว่า ศาลตัดสินคดีนี้อย่างเป็นธรรม ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือศาล และตลอดการพิจารณาคดีก็ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยตลอด ต่อให้มีบุคคลภายนอกหรือไม่มีเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ก็ไม่ได้ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด 

เมื่อ “สายน้ำ” ได้รับฟังเช่นนั้น จึงลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาล ยืนยันจะขอให้เพื่อนที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา พร้อมแสดง “อารยะขัดขืน” ด้วยการลงไปนั่งบนพื้นกลางห้องพิจารณาแล้วหันหลังให้ผู้พิพากษา โดยยืนยันว่า หากศาลไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าฟังก็จะขอนั่งหันหลัง ไม่ให้ศาลเห็นใบหน้าเช่นนี้ต่อไป ตลอดการฟังคำพิพากษา

เมื่อศาลเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ศาลก็ได้ชี้แจงกับสายน้ำว่า การกระทำดังกล่าวไม่เรียบร้อยเหมาะสม ไม่เคยมีใครนั่งฟังคำพิพากษาในลักษณะนี้มาก่อน จึงขอให้สายน้ำปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายให้ดีก่อน แต่จำเลยก็ยืนยันที่จะแสดงอารยะขัดขืนต่อไป ทำให้ศาลต้องขอเวลาปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษา

เวลา 11.12 น. ศาลกลับมานั่งพิจารณาอีกครั้ง พร้อมกับชี้แจงว่า เนื่องจากห้องพิจารณาคับแคบ ศาลจึงจะอนุญาตให้ประชาชนบางส่วนเข้ามาร่วมฟัง แต่จะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ และให้เจ้าหน้าที่ศาลยืนยันตัวบุคคลที่มาร่วมเข้าฟังคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด

จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ ที่เป็นรูปภาพชายชุดดำกำลังทำอากัปกิริยาพ่นสีและจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นภาพที่เห็นเพียงด้านหลัง ไม่เห็นหน้าตา หรือด้านหน้าอย่างชัดเจน แม้รูปพรรณสัณฐานและเสื้อผ้าจะคล้ายกับจำเลยที่เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวก็ตาม อีกทั้งในวันดังกล่าวก็มีผู้ชุมนุมหลายคนที่แต่งกายในลักษณะเดียวกัน จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่

ที่สำคัญภาพหลักฐานดังกล่าว เป็นภาพมาจากเพจเฟซบุ๊ก “ปราชญ์ สามสี” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้มีการนำตัวผู้โพสต์ภาพดังกล่าวมาสอบสวนให้การ จึงมีเหตุให้สงสัยว่า ข้อมูลภาพดังกล่าวถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่

นอกจากนี้ในส่วนคำให้การของพยานความเห็นของโจทก์จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เห็นว่า พยานโจทก์กลุ่มนี้ประสงค์จะเข้ามาให้การกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก และคำให้การในชั้นศาลที่เบิกความว่า ดูภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดสดการชุมนุม เห็นหน้าจำเลยตอนเปิดผ้าปิดปากออก เป็นการให้การเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ปรากฏไว้ในคำให้การเดิมตั้งแต่ชั้นสอบสวนแต่อย่างใด จึงทำให้ยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยต่อคำให้การดังกล่าว 

ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบวัตถุพยาน ศาลรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานได้เก็บกระดาษ “CANCEL LAW 112” กับฝากกระป๋องสเปรย์ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุไปเพื่อตรวจพิสูจน์ แม้จะมีการเก็บหลักฐานดังกล่าวไปตรวจลายนิ้วมือ แต่ไม่ได้มีการตรวจเทียบเคียงว่าใช่ลายนิ้วมือของจำเลยจริงหรือไม่ อีกทั้งคำให้การของพนักงานสอบสวนก็เบิกความสับสน ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่แน่ใจว่าได้ส่งตรวจเทียบเคียงหรือไม่ จึงไม่สามารถรับฟังได้ 

คดีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพยานหลักฐานพบว่า จำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 

จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ 17 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกในศาลเยาวชนฯ ซึ่งจำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษาใน 2 คดี ของ “เพชร ธนกร” กรณีปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่วงเวียนใหญ่ และการชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่ท่าน้ำนนทบุรี โดยวินิจฉัยว่ามีความผิดในทั้งสองคดี และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

.

อ่านความคิด-ความเห็นของสายน้ำต่อการต่อสู้คดีในศาลเยาวชน

เปิดเผย ปลอดภัย เป็นธรรมหรือไม่: บทสนทนากับ “สายน้ำ” กับประสบการณ์พิจารณาคดีในศาลเยาวชนครั้งแรก

X