เปิดเผย ปลอดภัย เป็นธรรมหรือไม่: บทสนทนากับ “สายน้ำ” กับประสบการณ์พิจารณาคดีในศาลเยาวชนครั้งแรก 

ผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้วหลังการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ที่ประชาชนผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีคป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

“ผมไม่คิดเลยว่าจะโดนคดี 112 จากการไปเรียกร้องวัคซีน” สายน้ำเด็กหนุ่มวัย 19 ปี พูดแล้วหัวเราะออกมา จากนั้นก็บอกสาเหตุที่เขาจำเป็นต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างหนักแน่นว่า ‘ทุกคนควรจะได้วัคซีนที่ดีมีคุณภาพและฟรีจากภาครัฐ’ และหากย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็เลือกที่จะออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเดิม 

สำหรับคดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกกล่าวหาว่า “พ่นสีสเปรย์-แปะกระดาษ CANCEL LAW 112” บนพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ ได้สืบพยานต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา และก่อนที่จะถึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 มี.ค. นี้ สายน้ำได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การขึ้นศาลและบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีที่เขาได้ประสบพบมา

.

ปัญหาที่พบเจอในการพิจารณาคดีศาลเยาวชนฯ 

“ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนคือ มันไม่ได้ดูเฟรนลี่สำหรับเด็ก”

สายน้ำเล่าถึงบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีให้ฟังว่า ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กแคบ มีแค่ ‘ตัวเขา’ แม่ ที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) และผู้พิพากษาทั้งหมด 4 คน ที่มองเขาลงมาจากบัลลังก์ คล้ายจับตามองและตรวจดูพฤติกรรมเขาอย่างเคร่งครัด

“ผมรู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมในคดีเยาวชนเหมือนไม่ได้ใช้หลักการ Presumption of innnocent ที่ต้องสันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ซึ่งผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องปฎิบัติกับเด็กๆ เหมือนว่าพวกเขาไม่ได้กระทำผิด” 

“ผมรู้สึกว่าผู้พิพากษามองเด็กที่กระทำผิดเหมือนกันหมดเลย เขาไม่ได้มองว่าที่เด็กทำไปมันคือคดีอะไร เขามองว่าเด็กที่เป็นแบบนี้คือกระทำความผิด ต้องเอาไปปรับเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะว่าคดีนี้ที่เกิดขึ้นของผมเนี่ย มันเป็นคดีทางการเมือง เป็นคดีที่แสดงออกถึงสิทธิและเสรีภาพ มันไม่ใช่คดีแทงกัน หรือทำร้ายร่างกายกัน” 

.

.

พิจารณาคดีลับในห้องเดียวกันกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

ตลอดการขึ้นศาลของสายน้ำ ตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐานจนถึงวันสืบพยาน สายน้ำเล่าให้ฟังว่า เขาเคยบอกผู้พิพากษาไปหลายครั้งแล้วว่า ประสงค์ให้คนนอก เช่น เจ้าหน้าที่สถานทูต ผู้สังเกตการณ์คดีหรือเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้าร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วย แต่ศาลก็ปฎิเสธอยู่เรื่อยไป อ้างว่าเป็นคดีความมั่นคงและเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก 

“ผมรู้สึกว่าถ้าเด็กเรียกร้อง ผู้ปกครองโอเค ที่ปรึกษากฎหมายโอเค การพิจารณาคดีสามารถทำให้มันเป็นเรื่องเปิดได้ เพราะมันเป็นคดีการเมือง เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ไม่ใช่คดีที่ต้องพิจารณาเป็นความลับ การเปิดคดีให้เป็นสาธารณะอาจจะเป็นผลดีกับเด็กมากกว่า” 

“รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรม เด็กไม่มีส่วนร่วมเลย” สายน้ำกล่าวอย่างผิดหวัง  

.

.

ในการสืบพยานคดีนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความหลายปาก ส่วนมากเป็นกลุ่มพยานที่มีความคิดเห็นหรือทัศนคติทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเขา เช่นกลุ่ม ‘อาชีวะปกป้องสถาบัน’ หรือ ‘นักร้อง’ อย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้กล่าวหาคดีมาตรา 112 ในหลายคดี 

สายน้ำออกความเห็นว่า การพิจารณาคดีในลักษณะนี้ ไม่ได้มีความปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชนเลยสักนิด  

.

.

“อีกด้านหนึ่งผมรู้สึกว่า มันเป็นการเอาพวกเห็นต่าง เอาพวกศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) มานั่งเผชิญหน้ากันในห้อง ซึ่งบางครั้งรู้สึกว่ามันเป็นการคุกคามตัวเด็กด้วยซ้ำ อย่างมากล่าวหาผมมั่วๆ ลอยๆ ว่าผมทำผิดในคดีนี้ เห็นผมจากในไลฟ์สดการชุมนุม บางครั้งก็ทำให้ศาล กลายเป็นที่ไม่ปลอดภัยได้นะ” 

สายน้ำเล่าย้อนกลับไปว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2565 ช่วงเย็น ที่สนามหลวง เขาเคยถูกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันทำร้ายมาก่อน

“กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันที่มาเบิกความชั้นศาล ผมเคยโดนกลุ่มนั้นต่อย ตอนนั้นมีคนเดินเข้ามาหาผม ใส่หมวกดำกับใส่เสื้อเหลือง ผมไม่รู้ว่าเป็นสืบหรือเป็นทหาร แต่ท่าทางเดินมาเหมือนหาเรื่องแล้วก็รุมผมเลย เขาต่อยผมที่คิ้ว คิ้วแตกต้องเย็บสิบเข็มเลย”

“อะไรคือความปลอดภัยในศาล ถ้าเกิดวันหนึ่ง ผมไปศาลและโดนอีกจะทำไง ศาลจะทำยังไงให้ผมปลอดภัยกว่านั้นได้ บางครั้งการมานั่งเผชิญหน้ากันกับเยาวชนในห้องเลย มันดูไม่ปลอดภัย อาจจะมีวิธีอื่นๆ เช่น แยกห้องพิจารณาไหม ถ้ามันมีพยานโจทก์ที่เป็นปฎิปักษ์ เป็นคู่ขัดแย้งกับเราอย่างชัดเจน แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐส่วนตัวผมไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา แต่นี่เป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง” 

“แต่ส่วนตัวผมไม่กลัวนะ นั่งในห้องเดียวกันได้” สายน้ำเล่าแล้วหัวเราะ

.

.

ถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย คิดว่าชีวิตวัยรุ่นของ ‘สายน้ำ’ จะเป็นยังไง?

“โห…มันลืมนึกไปเลยนะ” 

สายน้ำนิ่งคิดไปสักพัก เมื่อถูกถามว่าชีวิตวัยรุ่นของตัวเองจะเป็นอย่างไร หากประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบและรัฐพร้อมจะโอบอุ้มเด็กๆ และเยาวชนด้วยความเข้าใจ 

“ผมไม่ได้คิดถึงตัวเองในชีวิตวัยรุ่นเลย รู้สึกว่าตัวเองอาจจะไปเที่ยวในที่ที่อยากไป ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ คงไม่ต้องมาวุ่นวายอยู่กับศาลทุกวัน ได้ไปเรียนหนังสือด้วย”

“ทุกวันนี้ ผมก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่เรือนจำ ไปศาลคดีตัวเอง ไปศาลคดีของเพื่อน ไปม็อบ ไม่ได้ทำอย่างอื่นจริงๆ 

อย่างศาลหรือเรือนจำเนี่ย ในชีวิตนี้เราก็ไม่คิดว่าจะต้องมาข้องเกี่ยวเลยนะ หรืออย่างไป สน. มันเป็นที่ที่ไม่ต้องคิดว่าต้องไป แต่ตอนนี้ไปจนชิน ไปจนเหมือนเป็นบ้านอีกหลัง” 

.

ผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีกลายเป็นแรงใจให้ออกมาเคลื่อนไหว 

“ตอนนี้ผมโดนกี่คดีแล้วก็จำไม่ได้แล้ว แต่มีคดี 112 สองคดี คือคดีนี้ กับคดีใส่ชุดครอปท็อปในม็อบแฟชั่นโชว์ การโดนคดีเยอะๆ เนี่ย ไม่ได้ทำให้ผมท้อแท้นะ เพราะตอนนี้กลายเป็นแรงแค้นไปแล้ว ผมเลยต้องออกมาสู้ เพราะสิ่งที่รัฐต้องการจะทำเนี่ยคือเพื่อให้คนหยุดเคลื่อนไหว เราก็ตอบกลับไปว่า ‘เราไม่หยุดหรอก’”

“สาเหตุที่ผมออกมาเคลื่อนไหวเพราะผมเห็นความไม่ถูกต้องแหละ และก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ลำบาก ไม่ได้ทำงาน ต้องส่งตัวเองเรียน ส่วนบางคนเนี่ยลำบาก ต้องทำงาน ต้องส่งตัวเองเรียน แต่ก็ยังหาตังค์ไปม็อบ ส่วนตัวเรายังมีที่อยู่ เรายังมีบ้านนอน มีข้าวกิน ทำไมเราจะไม่ออกมาสู้ล่ะ” 

.

.

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของสายน้ำในช่วงวัย 17 ปี ขณะเริ่มถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นคดีแรก >> “สายน้ำของการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ไหลหวนกลับ”

X