ตามที่ “หยก” เด็กหญิงวัย (เพิ่งจะ) 15 ปี ถูกจับกุมพร้อมศิลปินอิสระที่พ่นสีข้อความบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมอ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้แจ้งความไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ หยกได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่ควรออกหมายจับเธอ นำไปสู่การควบคุมตัวหยกไว้ที่บ้านปรานี หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยังได้ขอผัดฟ้อง จนปัจจุบันหยกถูกควบคุมตัวมาแล้ว 46 วัน
กรณีดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามต่อพนักงานสอบสวนและศาลเยาวชนฯ ในการออกหมายจับหยก “ทั้งที่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายทำหนังสือเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน” เหตุในการเลื่อนของหยกนั้นเกี่ยวกับ “การเตรียมสอบและสอบวัดผลปลายภาคเรียนในระดับชั้น ม.3 และเพื่อรายงานตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4” อันเป็นเหตุผลจำเป็นตามสมควร เนื่องจากหยกยังอยู่ในวัยที่กำลังศึกษา
ศาลเยาวชนฯ ได้ออกหนังสือชี้แจงลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 มีประเด็นสำคัญที่ว่า หยกทำหนังสือเลื่อนพบพนักงานสอบสวนไปเป็นวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. แต่กลับปรากฏว่าหลังจากขอเลื่อนเพียง 3 วัน คือ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. หยกได้ไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ อันแสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนในครั้งที่ 2 เป็นการประวิงเวลา ศาลพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 และ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 67 แล้ว เห็นว่ากรณีมีเหตุให้ออกหมายจับ จึงอนุญาตให้ออกหมายจับตามขอ อันเป็นการออกหมายจับโดยชอบนั้น
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบดังนี้
1. ศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากหยกและผู้ปกครองให้ทำหนังสือเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากหยกได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ให้ไปพบพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เนื่องจากขณะนั้นหยกกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมสอบและวัดผลปลายภาคเรียนในระดับชั้น ม.3 และเตรียมรายงานตัวเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 เพื่อให้หยกได้อ่านหนังสือสอบและเข้าสอบปลายภาคอย่างเต็มที่ เพราะผลสอบในครั้งนี้มีผลต่อการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 รวมถึงได้มีเวลาตามสมควรในการรายงานตัวศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา จึงได้ทำหนังสือเลื่อนเป็นวันที่ 9 เมษายน 2566 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับทราบและรับหนังสือเรียบร้อยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเหตุขอเลื่อนดังกล่าวถือเป็นเหตุจำเป็นอันสมควรที่พนักงานสอบสวนย่อมให้เลื่อนนัดได้ หาใช่การประวิงเวลาหรือประวิงคดีแต่อย่างใด
2. การอ่านแถลงการณ์ของหยกเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก และเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามมาตรา 34 และ 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ข้อ 19 และ 21 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 13 และ 15 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ดังนั้น ศาลจึงไม่สามารถนำการอ่านแถลงการณ์ของหยกมาเป็นเหตุในการออกหมายจับตาม มาตรา 66 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ มาตรา 67 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ได้
ไม่เพียงเท่านี้ เนื่องจากหมายจับดังกล่าวมีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของหยก มาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า กฎหมายและหมายจับที่ออกตามกฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
3. ตามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ผู้ไว้วางใจของหยกส่งมอบให้ศูนย์ทนายความฯ พบว่า เหตุที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นเหตุในการออกหมายจับตามที่ปรากฏในหมายจับและคำร้องตรวจสอบการจับระบุเพียงว่า “กรณีมีหลักฐานสมควรว่า ได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี” เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสอบอ้างเหตุว่า “หลังจากขอเลื่อนเพียง 3 วัน คือ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. เด็กหญิง ธ. ได้ไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ อันแสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนในครั้งที่ 2 เป็นการประวิงเวลา” แต่อย่างใด
4. การดำเนินการออกหมายจับในคดีกับเด็กหรือเยาวชนมีความแตกต่างจากการออกหมายจับในคดีผู้ใหญ่ที่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ศาลก็มีอำนาจออกหมายจับได้ แต่กรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 67 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ว่าแม้เหตุในออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนจะให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ก็ตาม แต่ก็ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า “ศาลต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ ในเรื่องอายุ เพศ สวัสดิภาพและอนาคตของ เด็กหรือเยาวชนในอันจะได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง หากการออกหมายจับมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรง ให้ศาลหลีกเลี่ยงการออกหมายจับ โดยให้เปลี่ยนเป็นวิธีติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วยวิธีอื่นก่อน”
ในทางข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าคดีของหยกได้มีการเปลี่ยนวิธีจับด้วยหมายจับ เป็นวิธีการติดตามตัวเด็กหรือเยาวชนมาด้วยวิธีอื่นก่อนแต่อย่างใด การกำหนดให้ภาครัฐใช้วิธีการที่จำกัดเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชนน้อยกว่าการจับกุมนั้น สอดคล้องกับ ข้อ 37 (b) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งบัญญัติไว้ว่า การจับกุม คุมขัง หรือจำคุกเด็กนั้น ต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (last resort) เท่านั้น
5. นอกเหนือจากกระบวนการการออกหมายจับที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้ว วิธีการและพฤติการณ์การจับกุมหยกในวันที่ 28 มีนาคม 2566 ยังมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย
จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับ ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการ “ขอกำลัง” จาก “สายตรวจ” ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการใช้กำลังกระชากหยกเข้าไปในห้องสอบสวนที่ สน.พระราชวัง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่หลายคนได้ทำการค้นตัวหยกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเธอ ทั้งมีเจ้าหน้าที่นั่งทับตัวเธออีกด้วย การกระทำดังกล่าวขัดกับมาตรา 69 วรรค 3 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ซึ่งกำหนดว่าในการจับกุมและควบคุมเด็กหรือเยาวชนต้องกระทําโดยละมุนละม่อม โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งหยกก่อนทำการจับกุมว่าหยกต้องถูกจับ ตามมาตรา 69 วรรค 1 ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดในการตรวจสอบการจับกุมตามมาตรา 73 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลจึงเห็นว่าการจับและปฏิบัติต่อหยกเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หากศาลเห็นว่าการจับนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถออกคำสั่งให้ปล่อยตัวหยกได้ทันที
6. ในคำสั่งควบคุมตัวหยก ลงวันที่ 29 มีนาคม 2566 เหตุที่ศาลอ้างเป็นเหตุในการออกคำสั่งควบคุมระบุเพียงว่า “การกระทำของผู้ต้องหาอาจเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้อื่น หรือเกรงว่าจะหลบหนี ถือว่ามีเหตุสมควร เมื่อศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของผู้ต้องหาแล้ว จึงมีคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในสถานพินิจ 30 วัน แล้วจึงจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” เท่านั้น
ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงตามที่ได้มีการอ้างในเอกสารชี้แจงของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในกรณีหยก ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 หน้า 2 ที่อธิบายว่า “ในวันตรวจสอบการจับ เด็กหญิง ธ. ไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วยมาศาล … ศาลย่อมไม่อาจมอบตัวเด็กหญิง ธ. ให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลซึ่งเด็กหญิง ธ. อาศัยอยู่ด้วยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 73 ได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งเด็กหญิง ธ. ไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านปรานี” แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาคือ การที่หยกถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความและปราศรัยเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 อาจเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้อื่นได้อย่างไร หรือศาลอ้างอิงพยานหลักฐานใดในการพิจารณาว่าหยกมีความเสี่ยงที่จะหลบหนี
7. ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การคุมขังตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุกๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ
เหตุผลหลักที่คณะทำงานฯ ได้อธิบายไว้คือ หนึ่ง มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overly broad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตัดสินว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดมากจนเกินไป มาตรา 112 จึงขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) การคุมขังจับกุมภายใต้มาตรา 112 จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย คณะทำงานฯ แนะนำให้รัฐไทยยกเลิก (repeal) หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
และ สอง มาตรา 112 และโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยขัดต่อความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับเป้าหมายที่กฎหมายต้องการบรรลุ กล่าวคือ การปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุข หรือศีลธรรม
.
อนึ่ง แม้ในทางข้อเท็จจริงจะปรากฏต่อสังคมว่าหยกปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เพราะเห็นว่าตนเองไม่ควรถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น และไม่ควรถูกออกหมายจับก็ตาม แต่เมื่อกระบวนการในการออกหมายจับยังเป็นที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงความชอบด้วยกฎหมายและหลักการว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างกว้างขวาง บุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเด็กหรือเยาวชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงจำเป็นต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ ประการสำคัญที่สุดต้องตอบคำถามของหยกว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีของเธอได้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปตามหลักการว่าด้วยสิทธิเด็กและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือไม่ เพียงใด เพราะหยกปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้ปฏิเสธความยุติธรรม
.