ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ‘วารี’ จากสมุทรปราการ กรณีถูกฟ้อง ม.112 ทางไกลที่นราธิวาส ศาลชี้พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอ

วันที่ 26 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ ‘วารี’ (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระ ปัจจุบันอายุ 25 ปี ถูกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงการโพสต์รูปการ์ตูนล้อเลียนตำรวจในคอมเมนต์ และการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ประยุทธ์ที่สั่งปิดกั้นเพลงของ R.A.D 

คดีนี้มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 โดยได้มอบเอกสาร ‘หมาย จ.1’ ประกอบการร้องทุกข์ด้วย ซึ่งในคดีนี้มีจำนวน 3 หน้า มีรายละเอียด ดังนี้ 

แผ่นที่ 1 คือ หนังสือคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่นายพสิษฐ์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้จัดทำขึ้นเองและนำมาร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก 

แผ่นที่ 2 คือ รูปภาพแคปหน้าจอมือถือ จำนวน 2 ภาพ ได้แก่ 1) หน้าบัญชีเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นของจำเลย และ 2) รูปโพสต์เฟซบุ๊กเป็นข้อความและภาพจากทวิตเตอร์เรื่องตำรวจเลือกปกป้องกษัตริย์มากกว่าประชาชน (เหตุที่ 1 ตามฟ้อง)

แผ่นที่ 3 คือ รูปภาพแคปหน้าจอมือถือ จำนวน 3 ภาพ ได้แก่ 1) ภาพแสดงการคอมเมนต์ที่อ้างว่าทำโดยบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย (ในภาพไม่แสดงต้นโพสต์ที่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น) คอมเมนต์ด้วยภาพการ์ตูนล้อเลียนตัวคนหัวสุนัขในท่าหมอบกราบ (เหตุที่ 2 ตามฟ้อง) 2) ภาพการแชร์โพสต์เกี่ยวกับการวิจารณ์หลังเพลงปฏิรูปของวง R.A.D. ถูกปิดกั้นบนยูทูป และ 3) เป็นภาพแสดงลิงค์โปรไฟล์เฟซบุ๊กหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของจำเลย 

การถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้วารีต้องเดินทางจาก จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เธออาศัยและทำงานอยู่ไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดียัง จ.นราธิวาส ต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยการนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 7 แล้วที่วารีและคู่ครองต้องเดินทางมายังนราธิวาส ที่ผ่านมาสูญเสียค่าใช้จ่ายไปโดยประมาณเกือบ 1 แสนบาทแล้ว

คดีนี้วารียืนยันต่อสู้ในชั้นศาล ศาลจึงดำเนินการสืบพยานเมื่อระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 ต่อมา เมื่อวันที่  6 ต.ค. 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้เหตุผลโดยสรุปว่า พยานโจทก์ยังไม่พอให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าโพสต์ดังกล่าวจริง เพราะพยานโจทก์มีเพียงผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวที่เป็นผู้เบิกความว่าจำเลยโพสต์ อีกทั้งภาพที่นำมาแจ้งความก็ไม่ปรากฏ URL ประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นว่า ภาพที่นำมาแจ้งความถูกตัดต่อมา พยานโจทก์จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามฟ้อง

.

โจทก์อุทธรณ์ ‘คัดค้าน’ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ยืนยันพยานโจทก์มีน้ำหนัก ฟังได้ว่าจำเลยกระทำจริง

หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อมูลเป็นข้อความและภาพตามฟ้อง ตามเอกสารที่นำไปร้องทุกข์กล่าวโทษร้องทุกข์ของผู้กล่าวหา

โจทก์ยืนยันว่า ภาพตามนั้น ผู้กล่าวหาได้มาโดยวิธีการจับภาพหน้าจอ (Capture) ด้วยโทรศัพท์มือถือของตัวเอง และนำภาพที่ได้ไปลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อ ‘ปรับแต่ง’ ขนาดภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการจัดทำเอกสารสำหรับนำไปแจ้งความกับตำรวจเท่านั้น 

เมื่อภาพตามถูกปรับแต่งขนาดภาพ ทำให้ภาพบางส่วนถูกตัดออกไป จึงไม่มีรายละเอียดระบุวันที่และเวลาของภาพถ่าย ซึ่งหากเป็นภาพจับหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือปกติจะมีข้อมูลวันและเวลาแสดงผลที่อยู่บริเวณขอบด้านบนของภาพ 

อย่างไรก็ตาม โจทก์ยืนยันว่าแม้จะไม่มีรายละเอียดข้อมูลวันและเวลาดังกล่าว แต่รายละเอียดภาพและข้อความนั้นก็ยังคงเหมือนกับต้นฉบับที่แสดงผลในหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โจทก์จึงคัดค้านว่า พยานหลักฐานนั้น ‘มีน้ำหนัก’ รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

.

ศาลอุทธรณ์ ‘ยกฟ้อง’ ตามศาลชั้นต้น ชี้พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอ พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดจริง

ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งมีคณะผู้พิพากษา 3 คนเป็นผู้จัดทำคำพิพากษา ได้แก่นภาพร ถาวรศิริ, วราภรณ์ สุระพัฒน์พิชัย และสุชาติ อินประสิทธิ์ โดยพิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น เนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง โดยมีประเด็นสำคัญในคำพิพากษา ดังนี้ 

  1. พสิษฐ์พบบัญชีเฟซบุ๊กจากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง และคิดว่าน่าจะเป็นความผิดจึงได้ทำการจับภาพหน้าจอ (Capture) ไว้ จากนั้นได้นำข้อมูลภาพดังกล่าวไป ‘ปรับแต่ง’ ด้วยโปรแกรม Microsoft Word Processor ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดพิมพ์ภาพดังกล่าวออกมาเป็นหลักฐาน และนำไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก

ศาลเห็นว่าการที่พสิษฐ์นำภาพไปปรับแต่งด้วยโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วจัดพิมพ์ออกมานั้น ไม่อาจมั่นใจได้ว่าข้อมูลภาพที่ถูกปรับแต่งจะยังคงเหมือนกันกับ ‘ต้นฉบับ’ ที่แสดงในหน้าจอโทรศัพท์มือถือดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำร้องอุทธรณ์หรือไม่

  1. พสิษฐ์เบิกความตอบคำถามค้าน รับว่าเอกสารนั้น ไม่ได้ถูกสั่งพิมพ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ถูกปรับแต่งผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เอกสารที่ได้จึงไม่ปรากฏ URL ให้ตรวจสอบต้นทางข้อมูล จึงไม่อาจระบุได้ว่าภาพโพสต์ดังกล่าวมีต้นทางมาจากแหล่งใด ใช่จากบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยหรือไม่
  2. เมื่อพสิษฐ์นำเอกสารส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน พสิษฐ์ไม่ได้มอบ ‘ไฟล์ภาพต้นฉบับ’ ที่ Capture ไว้ในโทรศัพท์มือถือแก่พนักงานสอบสวนด้วย สอดคล้องกับที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้เบิกความว่า หลังจากรับแจ้งความร้องทุกข์ ไม่เคยได้ตรวจสอบภาพถ่ายตามเอกสารในโทรศัพท์ของพสิษฐ์ และไม่ได้ขอไฟล์รูปภาพต้นฉบับจากพสิษฐ์ไว้ด้วย 
  1. พ.ต.ต.นที ไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ และก็ไม่มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อมาตรวจสอบ จึงไม่ทราบว่าการกระทำตามฟ้องที่จะตรงกับข้อความต้นโพสต์หรือไม่
  1. ตามรายงานการสอบสวนหาตัวผู้จดทะเบียนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไม่มีรายงานว่าพบโพสต์ตามฟ้องบนบัญชีเฟซบุ๊กที่กล่าวหา

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นอกจากพยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนแล้ว พยานโจทก์ปากอื่น ๆ ล้วนเป็นพยานโจทก์ที่นำมาเบิกความเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อความและภาพว่ามีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม ม.112 หรือไม่เท่านั้น

พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังคงมีความเคลือบแคลงอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย 

____________________

คดีของวารีนับเป็นคดี 112 คดีที่ 3 ซึ่งมีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความไว้ และมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์ออกมา โดยก่อนหน้านี้มีคดีของ “อุดม” และ “กัลยา” ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุกคนละ 4 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ ต่อมาทั้งสองคดี ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา ทำให้ขณะนี้ ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

อุดมถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ปัจจุบันคิดเป็นเวลา 58 วัน หรือเกือบ 2 เดือนแล้ว ส่วนกัลยาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่  20 ต.ค. 2566 ปัจจุบันคิดเป็นเวลา 7 วัน

.

อ่านเรื่องคดี ม.112 ที่นราธิวาสเพิ่มเติม

6 ข้อสังเกตชุดคดี ม.112 ที่นราธิวาส หลังศาลทยอยนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์

.

X