ยกฟ้อง! ม.112 คดีทำลายรูป ร.10 ศาลเห็นว่า “แต้ม” ไม่ได้ดูหมิ่น-อาฆาตกษัตริย์ แต่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 เดือน ก่อนรอลงอาญา 5 ปี

15 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่ง “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชวัย 33 ตกเป็นจำเลยจากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 หลังการสืบพยานรวม 4 นัด ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ราว 08.30 น. แต้มเดินทางมาถึงศาลพร้อมแม่ดังเช่นทุกครั้ง ก่อนเข้าไปนั่งรอที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ในวันนี้นอกจากคู่ความในคดีอันได้แก่ แต้ม ทนายจำเลย อัยการ และตัวแทนเทศบาลตำบลตระการพืชผล ผู้เสียหาย แล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลฯ เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

เวลา 09.40 น. ศิษฏากร สวัสดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ออกนั่งอ่านคำพิพากษา โดยสรุปได้ว่า ศาลยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของแต้มไม่ได้แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า แม้แต้มจะเป็นโรคจิตเภท ที่มีอาการเรื้อรังมา 10 ปี แต่ขณะก่อเหตุแต้มไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ลงโทษสถานเบาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,440 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ สิ้น

ผลคำพิพากษาทำให้ตำรวจประจำศาลที่มารอควบคุมตัว กลับออกจากห้องพิจารณาไป เหลือเพียงกระบวนการที่แต้มต้องไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติ และนายประกันยื่นคำร้องขอคืนเงินประกันของกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 90,000 บาท ที่วางไว้กับศาลในระหว่างพิจารณาคดี

หลังทนายความอธิบายคำพิพากษาให้แต้มฟังอีกครั้งจนเข้าใจ แต้มกล่าวด้วยความดีใจว่า “แต้มจะได้อยู่กับแม่ได้อีกนานๆ” 

อ่านข้อมูลคดีและบันทึกสืบพยาน>> ย้อนดู “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวช สู้คดี 112 จากเหตุทำลายรูป ร.10 ยืนยันไม่เจตนา ทำเพราะ “สวรรค์สั่ง” หลังขาดยา ขอศาลอุบลฯ ยกฟ้อง

อ่านเรื่องราวของแต้ม>> “ถ้าจะเอาโทษกับผีบ้า ผีบ้าก็ยอมติดคุกให้” เรื่องของ ‘แต้ม’ จำเลยผู้ป่วยจิตเวช คดี ‘112’ เหตุทุบป้าย ร.10 ที่อุบลฯ

.

รายละเอียดคำพิพากษาโดยสรุปมีดังนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จุดเกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล มีพยานโจทก์ปาก ไพโรจน์ วรรณวัตร อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 100 เมตร เห็นจำเลยเข้าทุบทำลายป้ายใช้เวลา 4-5 นาที ก่อนขับมอเตอร์ไซค์ออกไป ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ส่วนจุดเกิดเหตุหน้าปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ มีพยานโจทก์ปาก ชินกาญ อินทรปัญญา เห็นเหตุการณ์ และเคยให้การในชั้นสอบสวนไว้ว่า ผู้ก่อเหตุเป็นชายใส่เสื้อแจ็คเก็ตแขนยาวสีน้ำเงิน กางเกงขาสั้นสีดำ คล้ายบุคคลที่ปรากฏในภาพจากกล้องวงจรปิด

และที่จุดเกิดเหตุหน้า บขส.ตระการพืชผล พ.ต.ท.พีรพล บุญศรัทธา เบิกความว่า พบจำเลยยืนอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อสอบถามจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ สอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่รับว่าเป็นผู้กระทำการทำลายป้ายในทั้ง 3 จุดจริง

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากลักษณะการลงมือทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 แห่ง โดยแต่ละแห่งห่างไกลกัน หากจำเลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลายเป็นสิ่งใดคงยากที่จะทำสิ่งนี้ แม้จำเลยมี นพ.สิปณัฐ ศิลาเกษ จิตแพทย์ชำนาญการผู้ให้การตรวจรักษามาเบิกความว่า จำเลยเป็นจิตเภท ที่อาจเกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว แล้วก่อเหตุดังกล่าว แต่พยานก็ไม่ได้เบิกความว่า จำเลยสามารถเห็นภาพหลอนกับวัตถุบางอย่างเป็นการเฉพาะ ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยมีอาการเช่นนี้มาก่อน พยานหลักฐานโจทก์มีความหนักแน่นมั่นคง เชื่อว่า ขณะก่อเหตุจำเลยรู้สำนึกและสาระสำคัญของสิ่งที่ทุบทำลายว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ครบองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

ส่วนจำเลยจะรู้สึกผิดชอบและบังคับตนเองได้ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ จากการเบิกความของ นพ.สิปณัฐ ได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยมีอาการทางจิตเภทที่เข้ารับการรักษามาตั้งแต่ปี 2556 และดื่มสุรามาเป็นระยะเวลา 10 ปี บางครั้งจำเลยกินยาไม่สม่ำเสมอจนเกิดอาการได้ยินเสียงแว่ว เห็นภาพหลอน ก่อนเกิดเหตุมีการทานยาไม่สม่ำเสมอ ภายหลังถูกจับกุมดำเนินคดีพนักงานสอบสวนได้ส่งจำเลยไปตรวจสอบความสามารถในการต่อสู้คดี พยานได้จัดทำรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี เห็นว่า เอกสารมีความน่าเชื่อถือ เป็นการตรวจวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14

สอดคล้องกับความเบิกความของ นพ.สิปณัฐ ที่ว่า โรคจิตเภทเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดแตกแยกออกไป ทำให้หลุดจากความจริง ควบคุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งหวาดระแวง กลัว หูแว่ว ประสาทหลอน บางครั้งผู้กระทำรู้ว่ากำลังกระทำสิ่งใดลงไป แต่ควบคุมไม่ให้กระทำการดังกล่าวไม่ได้ และในบางครั้งผู้กระทำไม่รู้สึกตัวก็มี การรักษาทำได้โดยการทานยาทุกวัน หากมีการใช้สารเสพติดก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นได้

เมื่อดูประวัติการรักษาของจำเลย จำเลยขาดการรักษามาระยะหนึ่ง ประกอบกับมีการดื่มสุราและลักษณะของโรคเป็นโรคที่เรื้อรังไม่หายขาด จึงอนุมานได้ว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยมีอาการจิตเภท นพ.สิปณัฐ มีความรู้เชี่ยวชาญ นับเป็นพยานคนกลางที่เชื่อถือได้ คำเบิกความของจำเลยและ นพ.สิปณัฐ สอดคล้องต้องกันว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขาดยา ประกอบกับมีการดื่มสุรา กระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น 

ทั้งพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.พีรพล เบิกความว่า ขณะเชิญตัวจำเลยมาที่ สภ.ตระการพืชผล จำเลยให้การว่าเป็นผู้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์จริง โดยบอกว่าสวรรค์เป็นคนสั่งให้ทำ และในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า หูแว่ว เข้ากับอาการจิตเภทที่ นพ.สิปณัฐ เบิกความเอาไว้ข้างต้น รวมทั้งเบิกความด้วยว่า โรคจิตเภทมีอาการหลายระดับตั้งแต่อยู่นิ่งๆ ไม่แสดงอาการอะไร จนถึงมีพฤติกรรมหวาดระแวงมากๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้ 

เมื่อพิจารณาจากประวัติการรักษาของจำเลย จำเลยเคยมีอาการหูแว่วได้ยินเสียงสั่งให้กระโดดลงจากตึก แต่จำเลยก็ไม่ได้กระโดดตามที่มีเสียงสั่ง ประกอบกับ นพ.สิปณัฐ เบิกความตอบศาลว่า จำเลยไม่เคยทำร้ายตนเอง และ พ.ต.ท.พีรพล เบิกความว่าตั้งแต่พบจำเลยที่หน้า บขส. และนำตัวไปสอบปากคำที่ สภ.ตระการพืชผล จำเลยไม่แสดงอาการผิดปกติ ทั้งที่มีระยะเวลาห่างจากเวลาเกิดเหตุไม่มาก และจำเลยยังขาดยาเช่นเดิม เชื่อว่า แม้จำเลยจะได้ยินเสียงสั่งให้ทำลายรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยก็สามารถปฏิเสธเสียงสั่งการนั้นได้ 

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการทางจิตไม่รุนแรงถึงขนาดไม่สามารถบังคับตนเองได้ จำเลยจึงยังต้องรับโทษในการกระทำของตนเอง ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  358 แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรค 2

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่

คำว่า ดูหมิ่น ตามพจนานุกรม หมายถึง แสดงกิริยาท่าทาง พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะตํ่าต้อย หรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริง อาฆาต หมายถึง ผูกใจเจ็บและอยากแก้แค้น พยาบาท การพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่แวดล้อมขณะเกิดเหตุ รวมถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุของจำเลยด้วย 

โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยทำลายพระบรมฉายาลักษณ์โดยใช้ไม้ไผ่ เหล็กแหลม แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยมีกิริยาอาการในเชิงดูถูกหรืออื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีจิตใจผูกใจเจ็บ อยากแก้แค้น ประกอบกับ พ.ต.ท.พีรพล ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า  พยานได้เข้าตรวจค้นที่พักอาศัยของจำเลยไม่พบเอกสารหรือข้อความและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหามีการอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ หรือสื่อให้เห็นถึงการดูหมิ่น เหยียดหยาม เกลียดชังแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดโดยผิดกฎหมาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 พยานผู้ร้อง อภิชิต ทองประสม นิติกร เทศบาลตำบลตระการพืชผล เบิกความถึงค่าเสียหายเป็นจำนวน 20,440 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่นายกเทศมนตรี อนุมัติให้เบิกจ่ายได้จริงตามฎีกาเบิกจ่าย และเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยละเมิดของจำเลย 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ไม่มีโทษขั้นต่ำ เห็นควรลงโทษสถานเบา 

ประกอบกับ นพ.สิปณัฐ เบิกความว่า หากจำเลยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ขาด เชื่อว่าจำเลยจะอาการดีกว่านี้ เห็นว่า การปล่อยตัวจำเลยไม่น่าจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชน และไม่สมควรที่จะส่งตัวจำเลยไปรักษาอยู่ในสถานพยาบาล เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยไม่ทานยา แม้แม่จะตักเตือน จำเลยก็ไม่เชื่อฟัง เห็นว่าแม่ไม่สามารถตักเตือนจำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้จำเลยกระทำความผิดขึ้นอีก จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง ให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับรอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยเข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับเทศบาลตำบลตระการพืชผลจำนวน 20,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2565 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก 

.

X