“ถ้าจะเอาโทษกับผีบ้า ผีบ้าก็ยอมติดคุกให้” เรื่องของ ‘แต้ม’ จำเลยผู้ป่วยจิตเวช คดี ‘112’ เหตุทุบป้าย ร.10 ที่อุบลฯ

ไกลออกไปจากตัวเมืองอุบลราชธานี ราว 60 กิโลเมตร เมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว ที่หมู่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล ปรากฏ ‘กบฏผีบุญ’ หรือ ‘ผีบ้าผีบุญ’ กลุ่มต่อต้านรัฐในช่วงรัชกาลที่ 5 ในนามศึกโนนโพธิ์ที่เป็นความทรงจำบอกต่อของชาวบ้าน ครั้งนั้นขบวนการต่อสู้หวังปลดแอกและให้ผู้คนวาดฝันถึงชีวิตใหม่ที่หนีพ้นไปจากความทุกข์ยาก ก่อนถูกรัฐปราบปราม มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย

ในหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีเรื่องบอกเล่าประวัติศาตร์แห่งนี้ ยังมีเรื่องราวของ แต้ม (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช มีบัตรผู้พิการประเภท 4 (ด้านจิตใจ) และอดีตทหารเกณฑ์ วัย 33 ปี ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 จากการทำลายพระยรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่แต้มแทนตัวเองว่าเป็น ’ผีบ้า’ คนหนึ่ง มักจะย้ำเสมอในทุกคราวที่ถามว่า ทำไปเพราะมีเสียงสั่งการให้ทำ ถ้าตอนนั้นเขามีสติ แล้วรู้ว่าเป็นรูปใคร เขาจะไม่ทำลงไปเด็ดขาด 

ตั้งแต่วันแรกที่พบเจออันมีเหตุจากการถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แต้มมีลักษณะนิ่ง แทบไม่อยากปริปากพูดกับใครนอกจากแม่ของเขา ส่วนกับคนอื่น ๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นทนายความหรือตำรวจ แต้มมีท่าทีหวาดหวั่น บทสนทนาเป็นเพียงการพยักหน้าและยกมือไหว้ทั้งตอนพบเจอและจะร่ำลา จนเมื่อเวลาผ่านไปที่แต้มค่อย ๆ ปรับสภาพการรับรู้ของตัวเองได้ โดยเฉพาะการเดินทางไกลจากบ้านสะพือ ไปยังที่ต่าง ๆ  ทั้งสถานีตำรวจที่ต้องไปรายงานตัวมากกว่า 10 ครั้ง สำนักงานอัยการ ไปศาล หรือไปตรวจอาการทางจิตอยู่หลายครั้ง จนแต้มเริ่มเข้าใจถึงกระบวนการอันมาจากการกระทำของเขาในช่วงที่ไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไป 

ถึงอย่างนั้นเมื่อต่อสู้คดีมา 2 ปี จนถึงก่อนศาลจะพิพากษา แต้มก็สะท้อนถึงชะตาชีวิตว่า  “ถ้าเขาจะเอาโทษกับผีบ้า ก็โอเค ผีบ้ายอมติดคุกให้”

.

บ้านสะพือ- กรุงเทพฯ

เมื่อให้ย้อนเล่าถึงวันวาน แต้มเล่าด้วยความทรงจำที่ค่อย ๆ กลับมาเพราะได้กินยาตามที่หมอสั่งมาอย่างต่อเนื่อง แต้มเกิดในครอบครัวชาวนา มีพี่น้อง 3 คน พี่ชายคนโตอาศัยอยู่กรุงเทพฯ และมีน้องชายอีกคนที่ปัจจุบันมีครอบครัวแยกไปอาศัยอยู่อีกหมู่บ้าน หลังเรียนจบชั้น ม.3 แม้จะอยากเรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย แต่ด้วยความยากจนทำให้เขาต้องดิ้นรนเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำตั้งแต่อายุได้ 14 ปี งานแรกที่คนยังไม่พ้นวัยเด็กชายจะถูกว่าจ้าง คงจะหนีไม่พ้นการเป็นแรงงาน แต้มเริ่มเลี้ยงชีพจากงานเข็นผ้าไปส่งตามร้านขายเสื้อผ้าที่ย่านประตูน้ำ รับเงินเดือน 4,500 บาท ในปี 2547 แต้มเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นว่า ก็ทำใจทำไป

กระทั่งอายุได้ 16 ปี แต้มขยับงานเป็นช่างซักรีดไอน้ำส่งตามตลาดโบ๊เบ๊ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 400-500 บาท หลังรีดผ้าได้ราว 1-2 ปี ที่พอมีรายได้ส่งให้ทางบ้านบ้าง เมื่อพบเจอสังคมเพื่อนที่หลากหลายขึ้นแต้มจึงตัดสินใจเปลี่ยนงานอีกครั้ง เพราะเพื่อนแนะนำว่าจะมีรายได้มากขึ้น คราวนี้แต้มทำงานเป็นคนอบขนมปังที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ก่อนจะมีเหตุถูกให้ออกจากงานเพราะมีเรื่องกับวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง แต้มย้อนภาพว่า ถ้าย้อนไปได้เขาจะหลบเลี่ยงการมีเรื่อง แต่คงเป็นเพราะความคึกคะนองเกินไป จึงทำให้แต้มถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หลังรักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี อยู่ 3 เดือน พี่ชายของแต้มจึงส่งตัวให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน และทำกายภาพเป็นหลักโดยเฉพาะทางด้านปอด

.

ชีวิตทหารเกณฑ์ ไปด้วยความหวัง แต่กลับมาหมดพลังใจ

เมื่ออายุได้ 21 ปี เช่นเดียวกับชายไทยในวัยเดียวกันที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่กับแต้มที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มาก เขาตั้งใจสมัครไปเป็นทหารเรือที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในปี 2554 โดยเป็นผลัด 1 หวังใจไว้ว่าจะเรียนต่อเพื่อที่จะได้ติดยศรับราชการ จากศูนย์ฝึกทหารใหม่ 3 เดือน ชีวิตที่มีนกหวีดเป็นคำสั่งทำให้แต้มรู้สึกกระตือรือล้นในการงานและเป็นระเบียบมากขึ้น มีบางช่วงที่แต้มถูกส่งไปภาคใต้ ก่อนจะกลับมาประจำการที่ค่ายสัตหีบ แต้มเล่าถึงชีวิตทหารเกณฑ์ว่า ใครมีความสามารถตรงไหนก็จะถูกส่งไปอยู่ในส่วนงานนั้น ๆ เช่นตนมีความสามารถทางด้านซ่อมแอร์ เพราะเคยไปเป็นลูกมือช่างแอร์อยู่บ้าง ตอนว่างเว้นจากงานที่ทำ ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ   

เวลาเกือบ 2 ปี ที่ชีวิตแต้มผูกติดกับค่ายทหาร ด้วยความเป็นคนนอบน้อมและตั้งใจฝึกฝนตัวเอง ผู้บังคับบัญชาจึงแนะนำแต้มให้เตรียมสอบเข้าเป็นนักเรียนจ่า หากผ่านการเป็นทหารเกณฑ์ก็จะมีคะแนนพิเศษเพิ่มให้ แต่แล้วโชตชะตาก็เล่นตลกกับแต้ม 

ก่อนปลดประจำการในเดือนพฤษภาคม 2556 ทางค่ายมีการปล่อยทหารเกณฑ์ผลัดที่จะปลดประจำการให้กลับบ้านก่อน 1 เดือน ก่อนจะกลับมาทำพิธีสวนสนามและได้รับการปลดประจำการอย่างเป็นทางการ คืนก่อนเดินทางแต้มติดตามผู้บังคับบัญชาไปที่สโมสรทหารแห่งหนึ่งในค่าย ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารให้กับผู้บังคับบัญชา กระทั่งตอนจะกลับ กำลังเดินไปที่ลานจอดรถ แต้มสังเกตเห็นมีกลุ่มคนจะเข้ามาทำร้ายผู้บังคับบัญชาโดยไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มไหน แต้มจึงเอาตัวเข้าป้องกัน ก่อนจะถูกตีด้วยเหล็กแหลมบริเวณศีรษะ หลังเกิดเหตุแต้มถูกพาไปรักษาตัวที่ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ นั่นเองเป็นจุดเริ่มที่ทำให้แต้มมีอาการทางจิตเวชจากการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน 

หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต้มได้รับการชักชวนจากเพื่อนที่เป็นทหารเกณฑ์ด้วยกันให้ไปเที่ยว จ.พิจิตร จึงตัดสินใจไปด้วย และคาดว่าอยู่ไม่กี่วันก็จะกลับบ้านที่ จ.อุบลราชธานี แต่เกิดเหตุขึ้นก่อน ที่พิจิตรแต้มเริ่มมีอาการทางสมอง พูดจาไม่รู้เรื่อง เพื่อนจึงส่งแต้มขึ้นรถที่ บขส. หวังว่าแต้มจะหาทางกลับบ้านได้ถูก 

แต้มย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ที่สติหลุดระหว่างทางจากพิจิตร เขาบอกให้คนขับรถโดยสารจอด โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน เสื้อผ้าหายไปหมด สิ่งยืนยันตัวตนทั้งหลักฐานประจำตัวและหลักฐานทหารก็ไม่ปรากฏ จนรู้ตัวอีกทีที่ จ.สิงห์บุรี เปลือยกายล่อนจ้อน เดินไปเดินมา ทั้งเดินขึ้นบ้านคน เพียงเพราะคิดว่าตนเป็นพระเจ้าอยู่หัว ต้องการให้คนในบ้านเคารพกราบไว้ ก่อนคนในบ้านจะแจ้งตำรวจให้มาจับ คุมตัวไปที่สถานีตำรวจ ที่เขาพยายามหลีกหนีออกมา จนมีตอนที่แต้มยกตุ่มน้ำหวังจะทำลายห้องขัง แต่กลับหล่นใส่เท้าตัวเอง เป็นแผลและเอ็นน่องขาด 

ขณะอยู่ในห้องขังมีบางช่วงที่แต้มจำตัวเองได้ว่าเป็นใคร และจำเบอร์โทรศัพท์คนที่บ้านได้จึงติดต่อให้ทางบ้านรู้ได้ว่า เขาอยู่ที่ไหน และกำลังต้องการอะไร ในเวลาที่ผ่านไป 2 สัปดาห์ ช่วงที่เขาไม่อาจควบคุมตัวเองได้ แต่แต้มคิดว่าเป็นเพียง 3 วันที่หายไปจากชีวิตทหารเกณฑ์ 

เมื่อทางบ้านได้ข่าวคราวจึงไปรับแต้มที่สิงห์บุรี ในวันนั้นแต้มถูกคุมตัวขึ้นรถฉุกเฉินไปที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ก่อนรักษาตัวอยู่ที่นั่นราว 2 เดือน จึงถูกส่งตัวกลับไปที่บ้านอีกครั้งเพื่อฟื้นฟูจิตใจ 

กับชีวิตครั้งนั้นแต้มคิดว่าคงไม่เจอเรื่องราวที่หนักหนาไปกว่านี้ ด้วยหลังจากเอ็นเท้าฉีกทำให้เดินไม่ได้ไปร่วมปี จึงพักรักษาตัวอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่กับอาการทางสมอง แต้มเล่าว่า มีหลายครั้งที่เขาเดินไปมาในบ้านสะพือโดยไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้า เจอใครก็ทักทายและเดินเข้าไปหาเพราะคิดว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า บางครั้งก็หลงไปว่าเป็นราชองครักษ์

แต่ภายหลังได้รับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี จนมีอาการดีขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนอื่น แต้มก็กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยไปอาศัยอยู่กับพี่ชาย ครั้งนี้แต้มรับหน้าที่เป็น รปภ. ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ด้วยงานหน้าที่ทั้งรักษาความปลอดภัย ทั้งดูแลให้บริการใบฝากถอนแก่ลูกค้าธนาคาร แต้มเล่าว่าเป็นช่วงชีวิตที่ได้ฝึกทักษะหลายอย่าง 

แต่แล้วเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เคลื่อนมาถึง แม่รับยาจากโรงพยาบาลมาส่งให้แต้มได้ยากขึ้น ประกอบกับแต้มได้แบ่งปันยาให้เพื่อนที่มีปัญหานอนไม่หลับ กระทั่งเกิดปัญหาว่าเพื่อนเอายาติดกลับไปบ้านด้วย ทำให้แต้มขาดยา กระทั่งพี่ชายสังเกตเห็นว่าเขามีอาการตาลอย ทั้งหงุดหงิด ประกอบกับคิดว่าอาการป่วยจิตเวชอาจกำเริบขึ้นอีกตอนไหนก็ได้ พี่ชายจึงตัดสินใจส่งแต้มกลับบ้าน

.

คดี ‘112’ ที่หากรู้ว่าภาพนั้นเป็นใครก็จะไม่ทุบทำลาย

ปลายปี 2564 เมื่อแต้มถูกส่งกลับมาบ้านเพียงไม่กี่วัน เขาก็มีความคิดอยากจะหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัว ตอบแทนที่พ่อแม่ดูแลเขา จึงขับรถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านในเช้าวันหนึ่ง หวังจะไปสมัครงานก่อสร้างที่บ้านนักการเมืองคนหนึ่งใน อ.ตระการพืชผล แต่ด้วยวาบความคิดบางอย่าง ก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่ทำให้ชีวิตแต้มเปลี่ยนไปอีกครั้ง แต้มเล่าว่า “วันนั้นมีอาการขาดยา แล้วด้วยความคิดผีบ้า เมื่อขับไปถึงหน้าโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ผมได้ยินเสียงสวดมนต์ บอกว่ามาจากสวรรค์ และเขาบอกผมเป็นพระพุทธเจ้า ต้องทำตามคำสั่ง ถ้าไม่ทำสิ่งนี้จะมีอันเป็นไป”   

อาจเพราะความหลอนระแวง จากสิ่งที่เห็นเป็นป้ายสีดำ ๆ ก่อนเห็นข้อความปรากฏว่าให้ทำลายสิ่งที่กีดขวาง จึงใช้ไม้ไผ่ฟาดไป ขณะนั้นแต้มไม่ได้เห็นเป็นรูป ร.10 แล้วหลังจากนั้นแต้มก็จำอะไรไม่ได้เลย ตอนไปขึ้นศาลที่มีผู้พิพากษาบอกว่า เขาทำลายไป 3 ป้าย แต้มก็ยังจำไม่ได้เลยว่า เขาได้ทำลายป้ายทั้งหมดนั้น 

แต้มเล่าในฐานะอดีตทหารเกณฑ์ว่า 3 สถาบันหลัก ทั้ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เขายึดถือตลอด ไม่มีเหตุผลที่เขาจะทำสิ่งนั้นลงไป 

กับโทษตามมาตรา 112 ที่มีบทลงโทษจำคุก 3-15 ปี  แต้มก็สะท้อนถึงตัวเองว่า “หากจะลงโทษให้ผีบ้าติดคุก ก็โอเค ผีบ้ายอมติดคุกให้” ก็ยอมไป ก็อยากเห็นเหมือนกัน อยากให้ประชาชนเห็นว่า มีการเอาผีบ้าเข้าคุก 

แต้มกล่าวถึงเหตุในคดีอีกว่า เขาจะทำไปทำไม ในเมื่อโทษมันหนักขนาดนั้น และย้ำด้วยว่า ถ้ามีสติสัมปชัญญะแบบที่นั่งอยู่ตอนนี้ เขาจะไม่มีทางทำเลย   

กับชีวิตทุกวันนี้ แต้มไปทำงานก่อสร้าง เป็นคนงานให้เถ้าแก่ที่รับเหมางานมา ค่าแรงวันละ 320 บาท เขายังคงกินยาทุกวัน ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์และโรงพยาบาลตระการพืชผลตามนัดทุกครั้ง แต้มเล่าว่าอาการของเขาดีขึ้น สามารถพูดจาตอบโต้ได้ ไม่ได้ยินเสียงสั่งการให้ทำอะไรอีก 

ส่วนการตัดสินคดีก็คงแล้วแต่ศาลจะเมตตา แต้มกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า “ผมไม่ได้หมิ่น ถ้ารู้ว่าเป็นรูปใครก็จะไม่ทำ ตอนนี้ลึก ๆ ก็รู้สึกผิด แล้วแต่ศาลจะพิจารณาโทษ” 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ย้อนดู “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวช สู้คดี 112 จากเหตุทำลายรูป ร.10 ยืนยันไม่เจตนา ทำเพราะ “สวรรค์สั่ง” หลังขาดยา ขอศาลอุบลฯ ยกฟ้อง

คดี 112 “แต้ม” อดีตทหารเกณฑ์ป่วยจิตเวช ทำลายรูป ร.10 ที่อุบลฯ

ฟ้อง “ม.112” ผู้ป่วยจิตเวชทำลายรูป ร.10 ที่อุบลฯ อ้าง “กระทำไม่สมควร” แม้ทนายขอความเป็นธรรม เหตุไม่เข้าองค์ประกอบ 112 

แจ้ง ‘112’ ผู้ป่วยจิตเวชอุบลฯ ทำลายรูป ร.10 แม้เจ้าตัวยืนยัน มีเสียงสั่งการจากเบื้องบนให้ทำลงไป

X