คำว่า “ลับ” หมายความว่าอย่างไร?
“ลับ” เป็นคำวิเศษณ์ ในความหมายของคนทั่วไปหมายถึงเรื่องที่ต้องปกปิดไม่อาจเปิดเผยได้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า (ว.) ที่อยู่ในที่พ้นตา ที่อยู่ในที่ซึ่งแลไม่เห็น เช่น ที่ลับ ประตูลับ หายลับ ที่ปกปิดหรือควรปกปิด เช่น ความลับ หนังสือลับ ห้องลับ
เหตุที่ต้องกล่าวถึงนิยามของถ้อยคำ “ลับ” เพราะตลอดห้วงยามที่ผันผ่านนับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศล่วงจนถึงเหตุการณ์สวรรคตของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนล่วงถึงปัจจุบัน การพิจารณาคดีอาญาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยส่วนใหญ่ศาลจะสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกันว่า เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงการพิจารณาคดีมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จึงไม่อาจเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปล่วงรู้ได้
ตัวอย่างการพิจารณาคดีเป็นการลับที่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง คือ กรณีของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ซึ่งแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทย เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” และคัดลอกข้อความบางส่วนมาใส่ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยก่อนที่จตุภัทร์จะรับสารภาพ และศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ศาลได้สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ อ้างตามรายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 301/2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 ความว่า “การพิจารณาคดีนับแต่นี้จนถึงวันอ่านคำพิพากษาให้พิจารณาเป็นการลับ เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และห้ามสื่อมวลชนหรือบุคคลใดๆ พิมพ์หรือเผยแพร่ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใดๆแห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177, 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (1)” (อ่านต่อที่นี่)
หลักการสากลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาว่าไว้อย่างไร? กฎหมายไทยว่าด้วยการพิจารณาเป็นการลับว่าไว้อย่างไร? คำสั่งของศาลที่สั่งให้พิจารณาคดีโดยลับนั้นอาศัยอำนาจจากแห่งหนใด? การพิจารณาคดีโดยลับสามารถกระทำได้เพียงใด? หากศาลสั่งพิจารณาลับใครบ้างที่สามารถเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้? บุคคลผู้สามารถเข้าฟังการพิจารณาจำต้องเก็บงำความลับนั้นไว้เพียงใด? และผลของการพิจารณาคดีเป็นการลับคืออะไร? บทความนี้มุ่งอธิบายต่อคำถามเหล่านี้
.
ความสำคัญของหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย
1. หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาว่ากระบวนพิจารณาในคดีนั้นเป็นไปโดยบริสุทธ์ยุติธรรมหรือไม่ และยังเป็นการกระทำที่ให้ประชาชนมีความเชื่อถือและศรัทธาในองค์กรตุลาการ เพราะการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยคือมาตรฐานที่ใช้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการในฐานะผู้ควบคุมการดำเนินคดีและวิธีการปฏิบัติต่อคู่ความในคดี
2. หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการดำเนินคดีอาญาในระบบกล่าวหา ซึ่งเป็นระบบหลักของในการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย ระบบดังกล่าวเรียกร้องให้การพิจารณาคดีและการสืบพยานต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาและสื่อมวลชนสามารถรายงานสถานการณ์การพิจารณาคดีได้
3. ปัจจุบัน หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยได้รับการบัญญัติและถือปฏิบัติเป็นหลักการทั่วไปในคดีอาญามากกว่าคดีแพ่ง เนื่องด้วยหลักการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) ของผู้ถูกกล่าวในคดีอาญา ตลอดทั้งยังเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหรือประโยชน์สาธารณะมากกว่าคดีแพ่งด้วยเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น
.
มาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย
หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย หรือหลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย เป็นส่วนหนึ่งของหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial Principle) ซึ่งได้รับการรับรองไว้เป็นบทบัญญัติทั่วไปในมาตรฐานและกฎหมายบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชน (International Bill of Human Rights) ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant of Civil Rights and Political Rights) ตราสารดังกล่าวสร้างพันธกรณีแก่รัฐภาคีซึ่งรวมทั้งรัฐไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้และจำกัดสิทธิเท่าที่กระทำได้
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 บัญญัติถึงสิทธิของจำเลยที่ได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยปิดเผยไว้ในข้อ 11 (1) ความว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี”
ส่วนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในข้อ 14 (1) ความว่า “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง สื่อมวลชนและสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคดีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประเทศหรือความมั่นคงของประเทศในสังคมประชาธิปไตย หรือเพื่อความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญาหรือคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นต้องเปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชนหรือเป็นกระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามบริบทของกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยและหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมที่เรียกร้องให้รัฐกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาและจำเลย ผลของรัฐที่เคารพพันธกรณีดังกล่าว คือการค้ำจุนให้กระบวนพิจารณาคดีนั้นให้ชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) และชอบด้วยหลักนิติรัฐ (Rule of Law)
.
กฎหมายรัฐธรรมนูญกับการรับรองหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย
ภารกิจหลักประการหนึ่งของรัฐไทยในฐานะรัฐภาคี คือการประกันหรือการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านการใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางบริหารและมาตรการทางตุลาการ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงบริบทของการรับรองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ พบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนับตั้งแต่พุทธศักราช 2492 ถึงพุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติหลายประการที่คุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญาไว้ เช่น หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิทธิที่จะร้องขอต่อศาลว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิที่จะได้พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยกลับมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจนกระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมาตรา 40 (2) บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่ง”
หลังการกระทำรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ตลอดทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มิได้บัญญัติรับรองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมในหลายประการ โดยเฉพาะสิทธิของจำเลยในคดีอาญาในชั้นพิจารณาคดี ซึ่งรวมทั้งสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยด้วย
.
หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา
แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมิได้บัญญัติรับรองหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยไว้ แต่หลักการดังกล่าวได้รับการบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องกระทำโดยเปิดเผย ความว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
อย่างไรก็ตาม อาจมีกรณีที่กฎหมายบัญญัติข้อยกเว้นเพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผยหรือ “พิจารณาคดีเป็นการลับ” ได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันหรือรักษาผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เช่น จำเลย พยาน โจทก์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ การพิจารณาคดีเป็นการลับย่อมต้องถือว่าเป็นเพียงข้อยกเว้น โดยจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันต้องตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายเท่านั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 บัญญัติหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีอาญาเป็นการลับไว้ ความว่า “ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”
แม้ในมาตราดังกล่าวจะให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับได้ อย่างไรก็ตาม การตีความว่ากรณีใดถึงขนาดจะต้องพิจารณาคดีเป็นการลับ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มาตรา 177 บัญญัติไว้ คือ (ก) เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ (ข) เพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน และเป็นหน้าที่ของศาลโดยตรงที่ต้องตีความถ้อยคำดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ส่วนใหญ่การใช้ดุลพินิจของศาลในการสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับเพื่อคุ้มครองความสงบเรียบร้อยเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมักเกิดในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เพราะการนำผู้เสียหายมาเบิกความถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายในขณะที่พิจารณาโดยเปิดเผยและปล่อยให้ประชาชนเข้าฟังการพิจารณาได้ ผู้เสียหายอาจเกิดความอาย ไม่ยอมให้การในสิ่งที่ควรเปิดเผย หรือการใช้ดุลพินิจของศาลในการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน ปรากฏตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2518 ความว่า “ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณานำสืบจำเลยบางคนเป็นการลับ ห้ามมิให้ออกโฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่างๆ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องลับที่สุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และความปลอดภัยของราชอาณาจักรไทย จึงไม่กล่าวถึงรายละเอียดเรื่องราวต่างๆ บุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องไว้ในคำพิพากษา”
เมื่อศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 แล้วจะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณา ซึ่งตามมาตรา 178 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนุญาตให้เฉพาะบุคคลเหล่านี้มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ (1) โจทก์และทนาย (2) จำเลยและทนาย (3) ผู้ควบคุมตัวจำเลย (4) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ (5) ล่าม (6) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล และ (7) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาล
.
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการพิจารณาคดีเป็นการลับไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550
ภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยตลอดทั้งการมีสิทธิได้รับทราบเหตุผลประกอบคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อปี 2554 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในคำโต้แย้งของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล จำเลยในคดีที่พนักงานอัยการกล่าวหาว่านางสาวดารณีกระทำการอันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนางสาวดารณีโต้แย้งว่าการที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นการใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ซึ่งวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทตามคำโต้แย้งของนางสาวดารณีว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) ด้วยเหตุผลที่ว่า
“…แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) จะบัญญัติให้การพิจารณาคดีต้องกระทําโดยเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมแต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ก็กําหนดให้มีการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ แต่ต้องกระทําเท่าที่จําเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าว กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรานี้เป็นข้อยกเว้นของการพิจารณาและสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักประกันการอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และให้มีการตรวจสอบการดําเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความและของศาล แต่ลักษณะคดีอาญาบางประเภทหากมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าถ้ามีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว จะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความปลอดภัยของประเทศ ศาลมีอํานาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับเพื่อคุ้มครองคู่ความและบุคคลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นได้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักประกันขั้นพื้นฐานที่อารยประเทศพึงให้เป็นสิทธิแก่บุคคลในกระบวนพิจารณาของศาล อนึ่ง การพิจารณาเป็นการลับ ก็มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมและมิได้จํากัดสิทธิของจําเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กําหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความของโจทก์จําเลย และทนายความของจําเลย ผู้ควบคุมตัวจําเลย พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จําเป็นมิได้กระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)”
เหตุผลประกอบการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ว่า ศาลรัฐธรรมตีความว่าการพิจารณาคดีเป็นการลับเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็นซึ่งมิได้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแต่ประการใด
.
สถานการณ์การพิจารณาคดีเป็นการลับในคดี 112 หลังรัฐประหาร 2557
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รัฐประหารและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พบว่าสถิติการดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยเฉพาะมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งองค์กร International Federation for Human Rights รายงานว่า นับแต่ตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2560 มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 90 คดี และเป็นที่น่าสังเกตว่าสถิติการพิจารณาคดีเป็นการลับในฐานความผิดดังกล่าวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลการสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งศูนย์ทนายความฯ รวบรวมข้อมูลได้ พบว่าหลังการรัฐประหารปี 2557 มีการสั่งพิจารณาลับอย่างน้อย 21 คดี เป็นคดีที่จำเลยซึ่งเป็นพลเรือนได้รับการพิจารณาคดีในเขตอำนาจศาลทหารจำนวน 17 คดี และอีก 4 คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม โดยสามารถจัดกลุ่มเหตุผลประกอบคำสั่งของศาลที่ให้พิจารณาคดีลับ ได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
(1) เหตุผลเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
(2) คดีมีเนื้อหาที่จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
(3) คดีมีการพาดพิงสถาบันเบื้องสูงหรือเป็นความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
(4) คดีมีเนื้อหาที่เป็นความลับของทางการที่ไม่สมควรเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปล่วงรู้เพราะอาจเกิดผลในทางร้าย และ
(5) ในคดีเป็นการพิจารณาเป็นข้อเท็จจริงที่อาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
.
ผลของการพิจารณาคดีเป็นการลับ การอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ
เมื่อเหตุผลประกอบคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับในคดี 112 เกี่ยวพันกับ “ความมั่นคงของชาติ” “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” และ “กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน” ดังนั้น ตลอดทั้งกระบวนการพิจารณาคดี ศาลจึงสามารถใช้เหตุผลนี้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้ตั้งแต่การสอบคำให้การ การตรวจพยานหลักฐาน การสืบพยาน และบางคดียังสั่งให้การอ่านคำพิพากษากระทำเป็นการลับ นอกจากนี้ ในคดีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ศาลยังได้ขยายการพิจารณาลับไปในกระบวนการไต่สวนคำร้องขอฝากขังอีกด้วย
ในประเด็นการอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า หากพิจารณาคำนิยามของ “การพิจารณา” ในมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติให้การพิจารณา หมายความถึง “กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง” อีกทั้งมาตรา 182 และมาตรา 188 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังรับรองการอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยไว้แยกต่างหากจากเรื่องการพิจารณา ดังนั้น “การอ่านคำพิพากษา” จึงเป็นกระบวนการที่ไม่อยู่ในคำนิยามของคำว่าการพิจารณา เพราะการอ่านคำพิพากษาเป็นกระทำการในวันที่ศาลนั้นชี้ขาดตัดสินคดีและคำพิพากษานั้นมีผลตั้งแต่การอ่านโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ศาลจึงไม่อาจสั่งให้การอ่านคำพิพากษาเป็นการลับได้ การอ่านคำพิพากษาในทุกกรณีต้องกระทำโดยเปิดเผย
นอกจากนี้ เหตุผลที่ให้ดุลพินิจศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษา เนื้อความทั้งหมดในคำพิพากษาก็ต้องได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนนั่นเอง ดังนั้น หลักการพิจารณาคดีเป็นการลับจึงควรจำกัดให้ใช้บังคับเป็นข้อยกเว้นเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น มิควรตีความขยายให้ครอบคลุมถึงหลักการทั่วไปที่มิได้อยู่ในขอบข่ายการพิจารณา ดังเช่นการอ่านคำพิพากษาตามที่กล่าวมาข้างต้น
ส่วนในประเด็นการไต่สวนการฝากขังเป็นการลับนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า การไต่สวนคำร้องขอฝากขัง เป็นเพียงขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี ที่ผู้ต้องหาใช้สิทธิคัดค้านเรื่องความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือขอให้ศาลตรวจสอบว่าการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวนชอบหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่กระบวนพิจารณาคดีที่มีเนื้อหาที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเป็นความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะเห็นเองโดยพลการ หรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใดสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังเป็นการลับ ศาลจึงมิควรขยายขอบเขตการ “พิจารณาลับ” ออกไปโดยที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเน้นย้ำว่า เมื่อรัฐมีภารกิจในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่นอกจากจะปราบปรามการกระทำความผิดและรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว ในภารกิจดังกล่าว รัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำเพื่อสังคมด้วย ดังนั้น การพิจารณาเป็นการลับจึงเป็นการกระทำที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยวินิจฉัยว่ามิได้ขัดกับหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สาธารณชนไม่สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบกระบวนการที่ดำเนินการโดยศาลว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ในคดี 112 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการดำเนินคดีเพิ่มสูงขึ้น สาธารณชนยังไม่มีสิทธิล่วงรู้เลยว่า การกระทำใดหรือถ้อยคำใดคือองค์ประกอบของความผิดในมาตรานี้ การไม่มีสิทธิได้รับรู้รับทราบ จึงเป็นการสร้างสภาวะสับสนจนกระทั่งเกิดความหวาดกลัวในกลุ่มสาธารณชนด้วยเหตุที่บุคคลไม่สามารถ “รู้” ได้เลยว่าการกระทำของตนเป็นความผิดหรือไม่และอย่างไร
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้การสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ “อาจจะ” ไม่กระทบกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งหมายถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม แต่ผลของการพิจารณาคดีเป็นการลับย่อมกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการแสดงความเห็นของสาธารณชนอย่างแน่นอน
.
เมื่อความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคือภาคต่อการพิจารณาคดีเป็นการลับ
นอกจากการสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นหลักทั่วไปสำหรับคดี 112 แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในระยะหลังศาลมักจะออกข้อกำหนดให้คู่ความในคดีตลอดทั้งสื่อมวลชนมิให้เผยแพร่รายละเอียดการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แม้ว่าจะไม่ใช่คดี 112 ก็ตาม
เมื่อการขยายฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ปิดลับเริ่มออกมานอกกระบวนการพิจารณา กรณีการเรียกร้องของประชาชนหรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนบางกรณี จึงนำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 30 – 32 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง- เช่น การดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลต่อกลุ่มนักศึกษาหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” หรือกรณีของนายวัฒนา เมืองสุข อดีตนักการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเหตุเพราะส่งเอกสารหมายนัดคดีทางแอพพลิเคชั่นไลน์และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในรายละเอียดคดีของตนบริเวณบันไดหน้าศาลอาญารัชดา
ในบทความต่อไป ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงจะนำเสนอถึงหลักการและรายละเอียดในความผิดฐานละเมิดอำนาจ ซึ่งเป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษและศาลไม่จำต้องประกันหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ ตลอดทั้งแนวโน้มของการหยิบยกความผิดในฐานดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในบริบทใดหลังการรัฐประหาร และเหตุผลของคำสั่งมีแนวโน้มจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามในตอนต่อไป