ศาลทหารไม่ให้ประกันคดี 112 ช่างตัดแว่นเชียงรายโพสต์ภาพพระบรมฯ

ศาลทหารไม่ให้ประกันคดี 112 ช่างตัดแว่นเชียงรายโพสต์ภาพพระบรมฯ

photo_2016-10-11_19-26-39

11 ต.ค. 59 พนักงานสอบสวน สภ. เมืองเชียงราย แจ้งข้อกล่าวหานายสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นใน จ.เชียงราย ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา14 ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลทหาร มทบ.37 จ.เชียงราย ศาลอนุญาตฝากขังและไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน ระหว่างวันที่ 11-22 ต.ค. 2559

09.00 น. สราวุทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย หลังได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้คิดจะหลบหนีและให้ความร่วมมือโดยตลอดมา ตั้งแต่ที่ถูกเข้าตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559

เมื่อไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จ.เชียงราย แจ้งว่า เฟซบุ๊กชื่อเดียวกับสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร พร้อมข้อความบรรยายภาพ ก่อนถูกลบภายใน 2-3 นาที แต่เจ้าหน้าที่ กกล.รส. บันทึกภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ไว้ จากนั้น เฟซบุ๊กชื่อสราวุทธิ์ได้โพสต์ภาพชลาตัน อิบราฮิโมวิช นักฟุตบอลชาวต่างประเทศ ที่มีรอยสักตามร่างกายสวมเสื้อกล้ามสีดำและสีขาว พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบภาพ

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ กกล.รส. มทบ.37 ผู้กล่าวหาคดีนี้ ได้เฝ้าติดตามสราวุทธิ์ เนื่องจากสราวุทธิ์แสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง เมื่อนำเรื่องราวไปปรึกษากับอัยการศาลทหาร มทบ.37 และรายงานผู้บัญชาการ กกล.รส. มทบ.37 แล้ว จึงได้รับมอบหมายให้มากล่าวโทษดำเนินคดีกับสราวุทธิ์ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) และ (5)

เบื้องต้นสราวุทธิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นการสอบปากคำ ตำรวจได้นำตัวสราวุทธิ์ไปยังศาลทหาร มทบ.37 เพื่อขอฝากขังใระหว่างสอบสวน ซึ่งศาลทหารอนุญาตฝากขังสราวุทธิ์เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ต.ค. 2559 ที่เรือนจำกลางเชียงราย ตามคำขอขอพนักงานสอบสวน

ต่อมาทนายความของสราวุทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้โฉนดที่ดิน มีชื่อน้องชายสราวุทธิ์และภรรยาเป็นเจ้าของ มูลค่ากว่า 400,000 บาทเป็นหลักประกัน พร้อมให้เหตุผลว่า สราวุทธิ์ ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งมีบุตรคนเล็กพึ่งคลอดได้ 3 เดือน แต่ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายอย่างอื่น จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559 เวลาประมาณ 6.30 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เดินทางไปที่บ้านของสราวุทธิ์ อ้างว่ามีผู้กล่าวหาว่าสราวุทธิ์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พร้อมกับขอเข้าตรวจค้นบ้าน แต่ไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นการโพสต์ในเรื่องใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแฟลชไดรฟ์ 1 อัน พร้อมพาตัวสราวุทธิ์ไปยัง สภ.เมืองเชียงราย โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นการจับกุมหรือไม่

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสราวุทธิ์ไปตรวจค้นบ้านอีกหลังหนึ่งของเขา ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่า และบ้านของมารดาที่ อ.พาน จ.เชียงราย แต่ไม่ได้ตรวจยึดสิ่งใดเพิ่มอีก ในการตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้มีการขอหมายค้นจากศาล มทบ.37 ค้นบ้าน 2 หลังใน อ.พาน แต่บ้านหลังแรกที่ถูกค้น เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ในบันทึกการตรวจค้น

เจ้าหน้าที่ ปอท. ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมาจากบ้านของสราวุทธิ์ที่ สภ.เมืองเชียงราย สราวุทธิ์จึงทราบว่าการถูกนำตัวมาในวันที่ 26 ส.ค. 2559 ยังไม่ได้เป็นการจับกุม และยังไม่มีการแจ้งข้อหา แต่อยู่ในขั้นตอนการตรวจค้นและหาพยานหลักฐานอยู่ เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้สราวุทธิ์เดินทางกลับได้ โดยแจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมของผู้บังคับบัญชาต่อไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนว่าการแสดงความคิดเห็นใดของเขาที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเข้าข่ายมาตรา 112 กระทั่งหลังการตรวจค้นราวหนึ่งเดือนเศษ จึงมีการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น

สราวุทธิ์ ปัจจุบันอายุ 32 ปี เปิดกิจการรับตัดแว่นและขายแว่นตาในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยเขาและภรรยามีลูก 2 คน คนโตอายุ 5 ปี และคนเล็กเพิ่งคลอดอายุ 3 เดือน สราวุทธิ์เคยเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 หลังจากนั้นก็ติดตามการเมืองมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สังกัดกลุ่มใด ส่วนมากสราวุทธิ์มักใช้วิธีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ทำคลิปวีดีโอล้อเลียน เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาจึงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

หลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในค่ายเม็งรายมหาราชเป็นเวลา 7 วัน ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวว่า หาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่เขากับเพื่อนไปชูป้ายในพื้นที่ จ.เชียงราย เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเขาไปเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 คดีนี้ ศาลทหาร มทบ.37 จ.เชียงราย พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2557 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท และคดีมีเหตุอันควรปราณีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ศาลจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี และให้จ่ายค่าปรับ 5,000 บาท

ตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์ยังถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านอีกมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเฟซบุ๊กส่วนตัว และการเข้า “พบปะ” ที่ทหารอ้างว่าทำตามหน้าที่

X