ก่อนพิพากษาคดีติดป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” สืบสู้เป็นข้อความทั่วไป สื่อถึงการบริหารงานรัฐบาล ไม่เข้า ม.112

พรุ่งนี้ (31 ม.ค. 2566) เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

จำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เป็นจำเลยที่ 1, “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 2, ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจำเลยที่ 3, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำเลยที่ 4  และ ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง เป็นจำเลยที่ 5  โดยนอกจากสองข้อหาข้างต้น เฉพาะพินิจ จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มอีกหนึ่งข้อหาด้วย เนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำภาพถ่ายป้ายดังกล่าวเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก

การสืบพยานในคดีนี้ทั้งหมด 8 นัด มีขึ้นเมื่อวันที่ 19-22 ก.ค., 5 ก.ย., 3, 10 ต.ค. และ 14 พ.ย. 2565

บรรยากาศการสืบพยานโจทก์และจำเลยผ่านไปด้วยความเข้มข้น โดยที่ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานบุคคลเข้าเบิกความต่อศาลทั้งหมด 20 ปากด้วยกัน ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวนภาพรวม และตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าติดตามจำเลยรายบุคคล, เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ ไปจนกระทั่งประชาชนทั่วไปที่เคยก่อตั้งชมรมคนรักในหลวงในจังหวัดลำปาง และอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่เบิกความให้ความเห็นต่อป้ายข้อความ

ด้านฝ่ายจำเลยได้นำจำเลยที่ 1 และ 2 ขึ้นเบิกความ เนื่องจากเห็นว่าหากต้องให้จำเลยทั้งหมดขึ้นเบิกความจะเป็นการเล่าเรื่องซ้ำไปมา และจำเลยบางคนได้ข้อเท็จจริงจนครบถ้วนจากปากคำของพยานโจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ได้นำนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ขึ้นเบิกความให้ความเห็นต่อองค์ประกอบมาตรา 112 เป็นปากสุดท้าย

สำหรับข้อต่อสู้ที่สำคัญในคดีนี้ของจำเลยทั้งห้าคือ พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันกระทำตามที่ถูกฟ้อง และอธิบายไม่ได้ว่าจำเลยแต่ละคนได้มีพฤติการณ์ร่วมกันอย่างไร อีกทั้งข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริง  นอกจากนี้ข้อความที่เขียนอยู่บนป้ายก็เป็นเพียงถ้อยคำทั่วๆ ไป ฝ่ายจำเลยเข้าใจว่าเป็นการสื่อถึงการบริหารงานของรัฐบาล และข้อความไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย สุดท้ายคือพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก “พิราบขาวเพื่อมวลชน”

ก่อนที่ศาลจังหวัดลำปางจะอ่านคำพิพากษา ชวนอ่านสรุปปากคำของพยานระหว่างการต่อสู้คดีนี้

.

.

ตำรวจผู้รวบรวมพยานหลักฐานและกล่าวหาจำเลยทั้งห้า เชื่อว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำ แต่กลับไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนในศาล

พยานโจทก์ปากแรกคือ ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลำปาง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความถึงภาพรวมการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ ทั้งการติดตามและลำดับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุที่รวบรวมจากภาพกล้องวงจรปิด

เริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีความเคลื่อนไหวการเมืองในพื้นที่จังหวัดลำปาง ได้มีคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกๆ ช่องทางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตำรวจชุดสืบสวน รวมทั้งพยาน ได้ติดตามเฟซบุ๊กเพจชื่อ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ที่เปิดเป็นสาธารณะ มีการลงภาพกิจกรรมทางการเมือง และเชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและยกเลิกกฎหมายต่างๆ

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมผ่านเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว จะมีพินิจ จำเลยที่ 1 เอาข้อความมาโพสต์ แม้ตรวจสอบไม่พบว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจ แต่จากการสืบสวนของตำรวจได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเพจ เพราะจะปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 แจ้งจัดการชุมนุมมาโดยตลอด และจะปรากฎภาพจำเลยที่ 1 ในเพจตลอด

วิธีการสืบสวนของตำรวจทำโดยการลงพื้นที่ติดตามตัวบุคคล ส่งสายข่าวไปติดตาม “เป้าหมาย” ตามชื่อสกุล และติดตามตรวจสอบยานพาหนะที่ใช้งาน โดยกลุ่มที่เคลื่อนไหวในจังหวัดลำปางหลักๆ คือ กลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ที่มีแกนนำคือจำเลยที่ 1 และมักจะมารวมกลุ่มทำกิจกรรมที่สำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง พร้อมกับจำเลยอีก 4 คน ในคดีนี้

สำหรับคดีนี้ พยานทำหน้าที่ร้อยเวรระหว่างวันที่ 30-31 ธ.ค. 2563  โดยคืนวันที่ 30 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 22.00 น. พยานได้ตรวจพบว่าเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” โพสต์ภาพการติดป้ายข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ก่อนได้รับคำสั่งให้ไปตรวจสอบว่ามีป้ายติดอยู่จริงหรือไม่และติดอยู่ที่ใด ได้มีชุดตำรวจสืบสวนไปตรวจสอบที่สะพานรัษฎาภิเศก พบป้ายข้อความติดอยู่ที่ราวสะพาน และพยานได้ติดตามไปด้วย แต่ไม่พบบุคคลใดในบริเวณดังกล่าว จึงได้ทำการปลดป้ายลงมาตรวจสอบ

จากนั้นวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ผู้บังคับบัญชาได้สั่งพยานให้ตรวจสอบว่าใครเป็นคนนำป้ายไปติด โดยพยานได้เห็นภาพป้ายผ่านเฟซบุ๊กเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” เป็นครั้งแรก พยานจึงมุ่งประเด็นไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าว นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่สอบถามผู้เห็นเหตุการณ์และตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียง พบว่าเวลาประมาณ 21.34 น. มีกลุ่มบุคคล 5 คน นำป้ายข้อความที่มีตัวอักษรบางอย่างไปติด มีบุคคลที่จำได้ชัดเจนคือจำเลยที่ 1 เพราะพยานได้สืบสวนติดตามจำเลยที่ 1 มาตลอด

ต่อมาเวลาประมาณ 21.45 น. กลุ่มบุคคลทั้งห้าได้กลับลงมาจากสะพานและเลี้ยวไปบริเวณใต้สะพาน แต่บริเวณดังกล่าวไม่มีกล้องวงจรปิดจึงไม่เห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวทำอะไร ก่อนจะมีกลุ่มบุคคลเดินกลับออกมาจากใต้สะพานผ่านกล้องวงจรปิดอีกครั้ง พยานเห็นเป็นจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ในคดีนี้ โดยจำเลยที่ 5 เด่นชัดสุดเพราะมีรูปร่างท้วมและมีกระเป๋าสะพายด้านข้าง พยานเห็นว่าจำเลยที่ 5 ขับรถมอเตอร์ไซต์ออกไป ส่วนผู้หญิงที่เหลือประมาณ 4 คน เดินกลับไปขึ้นรถยนต์สีขาวที่จอดไว้และขับออกไป

พยานได้เบิกความต่อโดยไล่เลียงถึงการทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของโรงเรียนกวดวิชาใกล้ที่ทำการของคณะก้าวหน้า โดยมีการไล่เลียงเหตุการณ์ย้อนกลับไปถึงช่วงกลางวัน ที่พบภาพที่อ้างว่าเป็นจำเลยที่ 1-5 เข้าออกจากสำนักงาน และนำอุปกรณ์ที่ดูเหมือนเป็นการเขียนป้ายข้อความดังกล่าว

พยานระบุว่าตามการสืบสวนตั้งแต่เวลากลางวัน จะเห็นว่าจำเลยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ บางคนเตรียมอุปกรณ์ บางคนเขียนป้ายข้อความ บางคนมารับป้าย บางคนรอที่จุดเกิดเหตุ อีกทั้งก่อนหน้านี้กลุ่มจำเลยยังเคยมีการนำป้ายข้อความไปแสดงออกตามจุดต่างๆ พยานจึงเชื่อว่ากลุ่มจำเลยทำเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง อีกทั้งจากภาพกล้องวงจรปิดไม่มีกลุ่มอื่นที่มีพฤติกรรมลักษณะเดียวกันนี้ จึงเชื่อว่าทั้งห้าเป็นผู้ก่อเหตุในคดีนี้ และได้จัดทำรายงานการสืบสวนคดี มีความยาวกว่า 100 หน้า

หลังจากนั้นพยานและตำรวจคนอื่นๆ จึงได้ทำการขอหมายค้นไปตรวจค้นที่ทำการคณะก้าวหน้า และทำการตรวจยึดป้ายผ้าที่มีข้อความเช่น ยกเลิก 112, กระป๋องสี, แปรงทาสี และเสื้อผ้าที่เปื้อนสีบางส่วนไปตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ต่อไป

หลังพยานได้เบิกความเสร็จสิ้น ทนายความจำเลย 3 คน ที่แบ่งออกเป็นทนายจำเลยที่ 1, 2 ทนายจำเลยที่ 3 และทนายจำเลยที่ 4, 5 ได้เข้าถามค้านพยาน โดยพยานตอบคำถามในประเด็นที่สำคัญโดยสรุปดังนี้

ตอบทนายจำเลยที่ 1, 2 เรื่องเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” นั้นพยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าวและไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความหรือภาพลงในเพจ พยานไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยแต่ละคนในคดีนี้มีพฤติการณ์ที่ร่วมกันหรือไม่อย่างไร ไม่มีพยานหลักฐานเรื่องที่จำเลยทั้งห้าจะมีการปรึกษาหารือกันหรือไม่ ที่เบิกความต่อศาลเป็นเพียงสมมติฐานจากการตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิด  อีกทั้งภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุที่มีกลุ่มบุคคลขึ้นไปบนสะพานนั้นเป็นเวลากลางดึก ไม่สามารถเห็นหน้าตาของบุคคลในกล้องวงจรปิดได้ชัดเจน

ส่วนทนายจำเลยที่ 3 พยานได้ตอบคำถามเรื่องพยานเอกสารที่พยานได้รวบรวมมานั้น ไม่ปรากฏจำเลยที่ 3 ในการชุมนุมอื่นๆ ที่พยานเบิกความว่าจำเลยที่ 3 เข้าร่วมการชุมนุมทุกครั้งและพยานได้ติดตามใกล้ชิดนั้น ก็ไม่ปรากฎหลักฐานที่เป็นเอกสารในคดีนี้ ทั้งเอกสารที่เป็นรายงานการสืบสวนก็ยังมีข้อมูลที่ผิดพลาด เช่น ชื่อของจำเลยที่ 3 และสถานที่ศึกษา ก็ไม่ถูกต้องด้วย และคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเองยังขัดแย้งกับคำให้การในชั้นศาลด้วย เนื่องจากคำให้การชั้นสอบสวน ระบุว่าจำเลยที่ 3 ได้ขึ้นไปบนสะพานที่เกิดเหตุด้วย แต่ที่เบิกความในศาล กลับไม่สามารถยืนยันจำเลยที่ 3 ได้

ส่วนทนายจำเลยที่ 4, 5 ถามค้านเรื่องที่พยานอ้างว่าเป็นผู้จัดทำและรวบรวมเอกสารเข้ามาในคดี มีหลายส่วนที่จัดทำโดยกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรเมืองลำปาง พยานและชุดตำรวจสืบสวนไม่ได้จัดทำเอง อีกทั้งยังได้ตอบคำถามค้านยอมรับว่าจากการติดตามของชุดสืบสวน กลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ไม่ได้เคลื่อนไหวเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดแย้งกับรายงานการสืบสวนที่พยานรวบรวมมา ที่ระบุว่าจำเลยทั้งห้ามีการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ โดยไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้จากหลักฐานในคดีที่มีวิดีโอจากกล้องวงจรปิดนั้นมีเพียงแค่ภาพ แต่ไม่มีเสียง ดังนั้นการที่พยานเบิกความเล่าความเชื่อมโยงต่างๆ เกิดจากการดูรูปภาพและคาดเดาว่าเป็นเช่นนั้น แต่จะถูกต้องหรือเป็นจริงหรือไม่ พยานไม่อาจยืนยันได้

ในการตอบคำถามค้านของทนายช่วงหนึ่ง พยานยังยอมรับว่าในคำให้การชั้นสอบสวนนั้น ที่พบป้ายครั้งแรกนั้น เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเพียงถ้อยคำทั่วไป พยานจึงเห็นว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากการสรุปของคณะทำงานคดีความมั่นคงและให้พยานมาร้องทุกข์กล่าวโทษ

สุดท้ายเมื่ออัยการได้ถามติง พยานเบิกความว่ามีบุคคลอื่นๆ ปรากฏในภาพกล้องวงจรปิดอีกด้วย นอกจากกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นกลุ่มจำเลย แต่พยานไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีด้วยเพราะไม่มีข้อมูล และบุคคลอื่นไม่เคยมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน

.

.

พยานจากกองพิสูจน์หลักฐานลำปาง 7 ปาก จากการตรวจสอบหลักฐาน ไม่พบความเชื่อมโยงถึงจำเลยทั้ง 5 คน

ต่อมา ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐาน 5 จังหวัดลำปาง จำนวน 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.อัครเดช วงศ์บุญตัน, ร.ต.ท.หญิง โปรดปราน เพ็งน้อย, พ.ต.ต.หญิง เรือนทรัพย์ เจริญผล, ว่าที่พ.ต.ต.หญิง สุณัฎฐา ตันปลูก, พ.ต.อ.หญิง กิ่งกมล ตะยะพงค์, ร.ต.ท. นภัสสร เรืองประเสริฐ และ ร.ต.ท.ภาสกร สายเครือ ขึ้นเบิกความ โดยพยานแต่ละปากเบิกความสั้นๆ ถึงการทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง ได้นำส่งมาตรวจสอบเกี่ยวกับคดีนี้ตามแต่ละแผนกที่รับผิดชอบ

สำหรับหลักฐานที่ถูกรวบรวมในคดีนี้และทำการส่งไปยังกองพิสูจน์หลักฐานนั้น ประกอบไปด้วยหลักฐาน 3 ส่วนด้วยกัน 1. ป้ายผ้าข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” ที่เก็บจากสะพานรัษฎาภิเศก 2. แผ่นป้ายไวนิล, ถังสีแดงและเหลือง, ขวดน้ำพลาสติกที่ใช้ผสมสี, แปรงทาสี, เชือกฟาง และเสื้อกับกางเกงที่เปื้อนสี ซึ่งได้จากการตรวจค้นจากที่สำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง 3. ตัวอย่าง DNA ของจำเลยทั้ง 5 ที่ตรวจเก็บในวันรับทราบข้อกล่าวหา ผลการตรวจสอบของหลายแผนก ได้ข้อสรุปดังนี้

1. ไม่พบลายนิ้วมือแฝงบนป้ายผ้าของกลางที่ใช้กล่าวหาในคดีนี้ นอกจากนี้ยังไม่พบลายนิ้วมือและลายฝ่าเท้าแฝงในสถานที่เกิดเหตุ

2. จากการเปรียบเทียบ DNA ของจำเลยทั้งห้า ไม่ตรงกับป้ายผ้าของกลางในคดีนี้

3. จากการตรวจสอบทางเคมี สีในถังสีที่ตรวจยึด กับป้ายผ้าของกลางในคดีเป็นสีชนิดเดียวกัน แต่ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานยืนยันได้เพียงว่าโครงสร้างทางเคมีของสีเป็นชนิดเดียวกัน แต่ไม่สามารถยืนยันว่ามาจากถังสีที่ทำการตรวจยึดมาตรวจสอบหรือไม่

4. ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่มีการยื่นส่งต่อศาลไม่มีการตัดต่อ แต่พยานมีการปรับความสว่างและความคมชัดของวิดีโอกล้องวงจรปิดและทำรายงานส่งให้พนักงานสอบสวน

ด้านทนายความได้ถามค้านพยานเรื่องรายงานที่พยานเบิกความนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีนี้ พร้อมกับให้พยานดูเอกสารในคดี พยานยอมรับว่าไม่เห็นรายงานที่พยานจัดทำในเอกสารคดีนี้

.

พยานตำรวจ บก.ปอท. ไม่ทราบรายละเอียดในเฟซบุ๊กเพจ เนื่องจากฐานข้อมูลอยู่อเมริกา

จากนั้นฝ่ายโจทก์ได้นำพยานจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จำนวน 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.สัญญา นิลนพคุณ และ พ.ต.ท.ประยุทธ สอนสวาท เข้าเบิกความ โดย พ.ต.ท.ประยุทธ จะเป็นผู้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ตามที่ได้รับการร้องขอจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง ส่วน พ.ต.ท.สัญญา เพียงแต่ได้รับรายงานเท่านั้น

จากการตรวจสอบของพ.ต.ท.ประยุทธ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ยืนยันได้เพียงว่าเพจดังกล่าวมีผู้ดูแลหรือแอดมินจำนวน 6 คน และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งเพจ แต่รายละเอียดอื่นๆ ว่าใครทำอะไรในเพจ หรือใครเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้นั้นไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากบริษัทเฟซบุ๊กและฐานข้อมูลอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถขอข้อมูลมาได้ จากนั้นได้จัดทำรายงานส่งให้กับพนักงานสอบสวนรับทราบ

ทนายความได้ถามค้านเกี่ยวกับรายงานที่พยานจัดทำ ซึ่งมีการระบุข้อมูลของจำเลยแต่ละคนในคดีว่าเป็นแกนนำต่างๆ พยานเบิกความรับว่าไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ เพียงแต่ได้รับข้อมูลมาเช่นนั้น

.

ตำรวจฝ่ายสืบสวนอ้างติดตามจำเลยทั้ง 5 มาต่อเนื่อง ชี้ตัวยืนยันจากภาพกล้องวงจรปิด

ต่อมาฝ่ายโจทก์ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนของ สภ.เมืองลำปาง จำนวน 4 ปาก เข้าเบิกความเกี่ยวกับการได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์ โดยพยานแต่ละคนมีหน้าที่ติดตามสืบสวนจำเลยแต่ละคนในคดีนี้ ได้แก่ ด.ต.วิชิต โพธิกระสังข์ ทำการสืบสวนติดตามจำเลยที่ 1 และ 2, ส.ต.ท.ธีรภัทร์  ลือชัย ทำการสืบสวนติดตามจำเลยที่ 3, ส.ต.ต.ณัฐพงศ์ อยู่คง ทำการสืบสวนติดตามจำเลยที่ 4 และ ด.ต.วีระพงศ์ วุฒิธา ทำการสืบสวนติดตามจำเลยที่ 5

พยานทั้ง 4 ปากได้เข้ามาเบิกความถึงประวัติเบื้องต้นของจำเลยแต่ละคนว่า มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด กำลังศึกษาหรือจบการศึกษาจากที่ใด ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพอะไร และเน้นย้ำการเป็นสมาชิกกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและทำกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนสุดท้ายคือพยานแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ทำการชี้ตัวจำเลยที่ทำการติดตาม จากภาพวิดีโอในกล้องวงจรปิด ยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกับที่พยานติดตาม

แต่ในการตอบคำถามค้าน พยานทั้งหมดกลับไม่มีพยานหลักฐานในคดี หรือหลักฐานอื่นๆ มายืนยันว่าจำเลยแต่ละคนเคยทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ตามที่ได้เบิกความไป อีกทั้งคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยังไม่ได้ระบุให้ติดตามจำเลยแต่ละคนโดยตรง แต่เป็นการให้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยภาพรวมในจังหวัดลำปาง

ประเด็นที่น่าสนใจคือพยานปาก ส.ต.ท.ธีรภัทร์ ที่เบิกความว่าติดตามจำเลยที่ 3 เมื่อทนายความได้ถามค้าน พยานก็ยอมรับว่าในเอกสารคดีนี้นั้นไม่ปรากฏชื่อหรือภาพของจำเลยที่ 3 ในการชุมนุมครั้งอื่นๆ เลย อีกทั้งรายงานการสืบสวนก็มีข้อมูลที่ผิดพลาดอยู่ด้วย เช่น ชื่อเล่นของจำเลยที่ 3 ที่ระบุในเอกสารไม่ถูกต้อง เป็นต้น และพยานยังเบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับการแขวนป้ายหรือไม่ แต่ในคำให้การชั้นสอบสวนที่เป็นเอกสาร กลับมีข้อความอ้างว่ามีจำเลยที่ 3 ขึ้นไปติดป้ายด้วย

นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์ยังได้นำ ร.ต.อ.ประพันธ์ สีติวัน สังกัดกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เข้ามาเบิกความยืนยันประวัติจำเลยทั้งห้าคนตามที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.เมืองลำปาง ได้เบิกความ โดย ร.ต.อ.ประพันธ์ ระบุว่าเคยได้ทำความรู้จักกับจำเลยทั้งห้าตั้งแต่ช่วงปี 2563 และได้มีการจัดทำประวัติและข้อมูลของจำเลยทั้งห้าไว้ก่อนแล้ว

หลังจากนั้นในการตอบคำถามค้าน พยานยอมรับว่าจากเอกสารเกือบครึ่งหนึ่งในคดีนี้ การชุมนุมครั้งต่างๆ เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบัน ทั้งกรณีของจำเลยที่ 3 พยานก็ไม่ทราบชัดเจน ว่าได้ร่วมขึ้นไปติดป้ายในที่เกิดเหตุหรือไม่  ในเรื่องที่จำเลยที่ 4 ไม่ได้อยู่กลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” มาก่อน และจำเลยที่ 5 ก็เป็นเพียงประชาชนทั่วไปที่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” นั้น พยานก็ไม่ทราบรายละเอียด

พยานโจทก์คนสุดท้ายที่เข้ามายืนยันตัวจำเลย ได้แก่ ด.ต.เสฎศิษฎ์ กองเชียว เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เบิกความระบุว่า จำเลยที่ 1 มาเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พยานได้พบเจอครั้งแรกปี 2563 ที่มาจัดกิจกรรมนักศึกษา ส่วนจำเลยที่ 2 พยานมารู้จักกันทีหลังช่วงกลางปี 2563 โดยทราบว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน และเป็นแฟนของจำเลยที่ 1  ส่วนจำเลยที่ 3 พยานไม่รู้รายละเอียดมากเพราะเพิ่งจะมาเคลื่อนไหว เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, จำเลยที่ 4 ออกมาร่วมกิจกรรมพร้อมๆ กับจำเลยที่ 3 ทราบว่าเป็นคนจังหวัดลำปาง และจำเลยที่ 5 พยานรู้จักตอนสืบสวนติดตามการเมืองกลุ่ม นปช. ทำอาชีพค้าขายเสื้อผ้าที่ตลาดในจังหวัดลำปางและมักมาร่วมกิจกรรมทางการเมือง

พยานยังได้เบิกความว่าก่อนหน้านี้ในจังหวัดลำปางมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม แต่ตอนหลังมีเพียงกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ที่เคลื่อนไหวอยู่ แต่ไม่มีเรื่องสถาบันกษัตริย์

.

.

รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองลำปาง นำตรวจค้นคณะก้าวหน้า

พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนคนสุดท้าย ได้แก่ พ.ต.ท.ประสิทธิ หล้าสมศรี รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองลำปาง ที่ได้เบิกความสั้นๆ เกี่ยวกับการสืบสวนหลังพบป้ายข้อความและการรวบรวมพยานหลักฐาน จนนำไปสู่การขอออกหมายค้นที่ทำการคณะก้าวหน้าดังกล่าว

พยานระบุว่าได้นำทีมเข้าตรวจค้น และมีการตรวจยึดเสื้อยืด กางเกงที่เปื้อนสี, กระป๋องสี, แปรงทาสี และป้ายผ้าข้อความที่ใช้สีเขียน พร้อมกับจัดทำบันทึกการตรวจยึดส่งให้พนักงานสอบสวน โดยพยานมีความเห็นว่าของกลางที่ยึดนั้นมีความเชื่อมโยงกับป้ายผ้าของกลางที่ยึดจากสะพานที่เกิดเหตุ โดยเห็นว่าป้ายเป็นแบบเดียวกัน มีสีเดียวกัน

พยานตอบคำถามค้าน ยอมรับว่าตอนแรกหมายค้นมีการระบุเลขที่บ้านผิดพลาด และตำรวจได้เข้าไปแสดงหมายแล้ว จึงมีการเดินทางไปขอหมายค้นใหม่ และพยานไม่ทราบว่าจากการตรวจพิสูจน์หลักฐานผลออกมาเป็นเช่นไร จะตรงกับที่พยานสันนิษฐานหรือไม่ ก็ไม่ทราบ อีกทั้งในวันตรวจค้น พยานก็ไม่ได้พบกับจำเลยที่ 3, 4, 5 ในคดีนี้

.

อดีตประธานชมรมคนรักในหลวง และอาจารย์ ม.ราชภัฏลำปาง ให้ความเห็นจากป้ายข้อความ

พยานโจทก์อีกชุดหนึ่งที่ถูกนำเข้าเบิกความต่อศาล ได้แก่ พยานที่มาให้ความเห็นต่อป้ายข้อความ โดยคนแรกได้แก่ จันทร์สม เสียงดี ข้าราชการบำนาญและอดีตกลุ่มผู้ก่อตั้งชมรมคนรักในหลวงจังหวัดลำปาง

พนักงานสอบสวนได้เข้าไปพบพยานที่บ้าน พร้อมนำข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>งบวัคซีนCOVID19” ให้ดู และสอบถามความคิดเห็นของพยาน พยานเห็นว่าเด็กๆ คงไม่เข้าใจ เรื่องการตั้งงบประมาณของหน่วยงานรัฐและงบสถาบันกษัตริย์ โดยส่วนนี้จะเป็นงบประมาณที่ถูกตั้งไว้ในวาระการพิจารณาปกติ แต่งบเรื่องโรคโควิด-19 นั้นเพิ่งเป็นเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น นำมาเทียบกันไม่ได้ เด็กๆ คงไม่เข้าใจ แต่พยานเห็นว่าข้อความเป็นการก้าวล่วง ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนเสื่อมความนับถือต่อสถาบันได้

ในการตอบคำถามค้าน ในเรื่องที่มีการสอบสวนพยานไว้จำนวน 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งที่ 2 พนักงานสอบสวนได้สอบถามเพิ่มเติมเรื่องเครื่องหมาย “ > มากกว่า” พยานระบุว่าในครั้งแรกพนักงานสอบสวนไม่ได้ถามเรื่องดังกล่าวไว้ จึงมาสอบถามเพิ่มเติม

พยานตอบคำถามรับว่า สถาบันกษัตริย์นั้นไม่ได้ประกอบด้วยกษัตริย์และราชินีอย่างเดียว แต่รวมถึงราชนิกุลคนอื่นๆ ด้วย และงบประมาณสถาบันกษัตริย์รัฐบาลเป็นผู้จัดการ ประโยคข้อความที่ว่า “งบสถาบันกษัตริย์>งบวัคซีนCOVID19” หมายถึงรัฐบาลไม่ใช่กษัตริย์

ในการตอบทนายช่วงหนึ่ง พยานพยายามระบุว่าในข้อความดังกล่าวมีคำว่า “กษัตริย์” โดยสามัญสำนึกแล้ว ก็ถือเป็นการก้าวล่วง แม้ว่าในป้ายข้อความจะไม่มีลักษณะเป็นการชักชวนหรือจูงใจให้เกลียดชัง แต่เป็นการล่วงละเมิด ทนายความจึงได้สอบถามว่าป้ายข้อความไม่ได้ระบุถึงตัวกษัตริย์พระองค์ใด พยานตอบว่า ตอนนั้นรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์แล้ว จึงหมายถึงรัชกาลที่ 10 ทนายความได้ถามย้ำว่าจากข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>งบวัคซีนCOVID19” ไม่มีการระบุตัวกษัตริย์

พยานยังพยายามอธิบายว่าตนเข้าใจได้ว่าข้อความในป้ายหมายถึงใคร จนกระทั่งศาลต้องช่วยสอบถามพยานว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีคำว่าพระมหากษัตริย์เลย พยานจึงรับว่า ใช่ ไม่มีการระบุตัวบุคคล สุดท้ายในการตอบคำถามทนาย พยานระบุว่าในการให้ความเห็นต่อป้ายข้อความ พยานไม่ได้ใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ แต่เป็นการให้ความเห็นในฐานะประธานชมรมคนรักในหลวง

พยานปากถัดมา ได้แก่ ผศ.ภานุวัฒน์ ชัยชนะ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่ถูกพนักงานสอบสวนไปสอบถามความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ว่าป้ายข้อความดังกล่าวมีลักษณะหมิ่นเหม่ ดูหมิ่นหรือไม่ พยานได้ให้ความเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ล่วงละเมิดมิได้ ป้ายข้อความนี้อาจทำให้คนเกลียดชังสถาบันฯ คนทั่วไปอ่านแล้วอาจเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เอาเปรียบประชาชนได้

ทนายความจึงได้ถามค้านพยาน ใสนเรื่องที่ “งบประมาณสถาบันกษัตริย์” และ “งบประมาณเรื่องโควิด-19” เป็นเรื่องของรัฐบาลใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ ทนายความถามต่อว่าข้อความดังกล่าวไม่มีการอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มี แต่การเปรียบเทียบคือการวิพากษ์วิจารณ์ ตอนที่พยานให้ความเห็นนั้น พยานได้ให้ความเห็นเฉพาะเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ใช่ตัวกษัตริย์หรือราชินี และคำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นโครงสร้างทางสังคม คล้ายสถาบันการศึกษา ไม่ได้ระบุตัวบุคคลเป็นการเฉพาะไว้ อีกทั้งประชาชนสามารถมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ความเห็นของพยานเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

.

.

พนักงานสอบสวนทำงานร่วมหลายฝ่าย สรุปความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 5 มาจากการประชุม

พยานโจทก์ปากสุดท้ายที่ขึ้นเบิกความ ได้แก่ พ.ต.ท.วิเชียร ใจสันกลาง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เกี่ยวกับคดีนี้ตั้งแต่ตอนที่เกิดเหตุ พยานรับทราบรายละเอียดเบื้องต้นและทำการตรวจยึดป้ายผ้าลงบันทึกประจำวันไว้ ต่อมาได้รับคำสั่งแต่งตั้งคณะทำการสืบสวนสอบสวน พยานจึงได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุทั้งกลางวันและกลางคืน, โพสต์ที่มีการโพสต์ลงในเฟซบุ๊กและเรื่องการยึดของกลางในคดี

นอกจากนี้พยานได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ จินดา วงศ์สวัสดิ์ เกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นตามมาตรา 112, กมล ถาน้อย ประธานสภาทนายความในประเด็นข้อกฎหมาย, ผศ.ภานุวัฒน์ ชัยชนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, จันทร์สม เสียงดี ข้าราชการระดับสูง, กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จากนั้นได้จัดทำบันทึกของกลางและการส่งตรวจพิสูจน์หลักฐาน

จากการที่พยานรวบรวมพยานบุคคล วัตถุและเอกสารได้ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1-5 ได้เตรียมการและจัดทำป้ายผ้าขึ้นที่ที่ทำการคณะก้าวหน้า และพยานเห็นว่าเป็นความผิดตามาตรา 112, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทนายความได้ถามค้านในประเด็นที่พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กและโพสต์ภาพข้อความในคดีนี้ พยานระบุว่าทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเพจ และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ในจังหวัดลำปาง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์, ประเด็นงบประมาณสถาบันกษัตริย์และงบประมาณเรื่องโควิด-19 รัฐบาลเป็นผู้จัดการ พยานรับว่าใช่, ประเด็นที่ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือและยืนยันความบริสุทธิ์มาตลอดกระบวนการชั้นสอบสวน,

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่พยานปาก ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เป็นความหมายโดยทั่วไป แต่กษัตริย์หมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง และเกี่ยวกับป้ายผ้าก็เป็นการบ่งบอกข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่เป็นการดูหมิ่น พยานรับว่า ใช่

ตอนท้ายของการถามค้าน พยานยืนยันว่าการสรุปความเห็นควรสั่งฟ้องในคดีนี้มาจากที่ประชุมคดีความมั่นคง ไม่ใช่ความเห็นของพยานเพียงคนเดียว

หลังสืบพยานโจทก์ปากนี้เสร็จสิ้น ฝ่ายโจทก์ยังเหลือพยานบุคคลอีก 2 ปากที่ไม่ได้นำมาเบิกความต่อศาลเนื่องจากพยานยังไม่มีวันว่างที่ตรงกับนัดหมายในคดีนี้และยังคงติดใจที่จะสืบ แต่ศาลมีคำสั่งให้ตัดพยานบุคคลของโจทก์อีก 2 ปาก เนื่องจากเห็นว่าได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว

.

.

จำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันไม่ใช่ผู้ทำป้าย เพียงไปร่วมแขวน และเห็นว่าป้ายข้อความไม่มีความผิด

พยานจำเลยปากแรกที่ขึ้นเบิกความ ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เบิกความเล่าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ว่าในวันดังกล่าวช่วงประมาณ 8.00 น. จำเลยที่ 4 ได้นัดหมายจำเลยที่ 1 และแฟนคือจำเลยที่ 2 ไปร้านกาแฟในช่วงบ่ายวันนั้น และจะไปกินหมูจุ่มกันต่อในช่วงเย็น โดยนัดเจอกันที่สำนักงานคณะก้าวหน้า ต่อมาเวลาประมาณ 8.15 น. ได้มีเพื่อนนักกิจกรรมจากกรุงเทพฯ แจ้งว่าจะทำกิจกรรมในจังหวัดลำปาง กำลังเดินทางมาจากกรุงเทพฯ จะถึงในช่วงเย็นวันนั้น โดยให้พยานช่วยเตรียมอุปกรณ์ในการเขียนป้ายผ้าให้ ซึ่งปกติจะมีอยู่แล้ว แต่เกรงว่าจะไม่เพียงพอ จึงออกไปซื้อมาเพิ่ม

จำเลยที่ 1 เดินทางไปเจอจำเลยที่ 4 ที่สำนักงานคณะก้าวหน้าเวลาประมาณ 13.15 น. จากนั้นก็ออกไปร้านกาแฟด้วยกันระหว่างอยู่ร้านกาแฟก็ได้พูดคุยกันเรื่องเพื่อนที่จะมาจากกรุงเทพฯด้วย จนเวลาประมาณ 14.30 น. ก็แยกกันออกไปซื้ออุปกรณ์ และกลับมาถึงที่สำนักงานเวลาประมาณ 15.00 น. จำเลยที่ 1, 2, 4 ก็ได้อยู่ในสำนักงานเพื่อเขียนป้ายข้อความในการทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน แต่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้

จากนั้นประมาณ 16.00 น. เพื่อนจากกรุงเทพฯ ได้โทรมาบอกให้ไปรับที่โรงแรม จำเลยที่ 1 ก็ได้เดินทางไปรับเพื่อนมาที่สำนักงาน ซึ่งคือชายที่สวมเสื้อสีขาวในภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดของตำรวจ โดยบอกว่าจะมีเพื่อนจากกรุงเทพฯเดินทางตามมาอีกประมาณ 5-6 คน โดยเพื่อนจะทำการเขียนป้ายข้อความเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณและจะนำไปติดที่บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก ต่อมาเพื่อนให้ช่วยขึงผ้าด้านหน้าของสำนักงานด้วยเพราะมีคนพลุ่กพล่าน แต่จำเลยที่ 1, 2, 4 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเขียนป้ายดังกล่าวและไม่ทราบข้อความทั้งหมด ทราบแค่เป็นเรื่องงบประมาณ จนเวลาประมาณ 19.00 น. จำเลยที่ 1, 2, 4 และเพื่อนคนดังกล่าวก็ได้ออกไปกินหมูจุ่มด้วยกันเสร็จแล้วก็แยกย้าย

ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น.จำเลยที่ 1, 2 ได้กลับมาที่สำนักงานคณะก้าวหน้า เพื่อดูป้ายข้อความของเพื่อน แต่ป้ายยังไม่แห้ง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ที่สำนักงาน ส่วนจำเลยที่ 1 ออกไปหากลุ่มเพื่อนที่มาจากกรุงเทพฯ ซึ่งตอนแรกจะกลับไปรับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ได้โทรมาบอกว่าจำเลยที่ 3 ได้มาเข้าห้องน้ำที่สำนักงาน จำเลยที่ 2 จึงได้พูดคุยกับจำเลยที่ 3 ว่าจะเดินทางไปที่บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จำเลยที่ 3 จึงจะไปส่ง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องมารับจำเลยที่ 2 แล้ว

เวลาประมาณ 21.30 น. จำเลยที่ 1 จึงเดินทางไปที่บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก ได้พบเพื่อนกลุ่มต่างๆ พร้อมกับจำเลยที่ 3 และบังเอิญเจอจำเลยที่ 5 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 มาถึง ก็นำป้ายมาให้เพื่อนๆ จากกรุงเทพฯ จึงมีการกางป้ายข้อความออกมาดูกัน จำเลยที่ 1 จึงได้เห็นข้อความทั้งหมดในป้าย ตอนนั้นจำเลยที่ 1 เห็นว่าก็เป็นข้อความทั่วๆ ไป เรื่องงบประมาณของฝ่ายบริหารกับรัฐสภา ไม่ได้คิดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์เลย และไม่คิดว่าจะเป็นการดูหมิ่นหมิ่นประมาทแต่อย่างใด

จากนั้นกลุ่มเพื่อนจากกรุงเทพฯ และมีจำเลยที่ 1, 4 ขึ้นไปแขวนป้ายข้อความ เมื่อเสร็จสิ้นก็ได้แยกย้ายกัน แต่เพื่อนจากกรุงเทพฯ ลืมของไว้ที่สำนักงาน จำเลยที่ 1 จึงพาเพื่อนกลับมา โดยมีจำเลยที่ 2, 3, 4 กลับมานั่งเล่นที่สำนักงานด้วย ก่อนที่สักพักจะแยกย้ายกัน

สำหรับป้ายข้อความ จำเลยที่ 1 เข้าใจว่างบประมาณสถาบันกษัตริย์นั้น ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอเข้ารัฐสภา แล้วมีการลงมติออกมาเป็น พ.ร.บ.งบประมาณฯ ส่วนงบโควิด-19 เป็นเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลที่จัดการได้ โดยมีการใช้เงินจากงบประมาณกลางฉุกเฉิน ตามความเห็นชอบของรัฐบาล ข้อความทั้งหมดบนป้ายสื่อถึงรัฐบาลที่มีการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ส่วนเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงคนเดียว โดยอ้างว่าเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ภาพดังกล่าว แต่รับว่าเป็นคนก่อตั้งเพจดังกล่าวจริง โดยผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กนั้นมีหลายคนด้วย

.

จากนั้นฝ่ายจำเลยได้นำ “หวาน” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จำเลยที่ 2 และเป็นแฟนของจำเลยที่ 1 ขึ้นเบิกความ โดยเล่ารายละเอียดทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่กำลังจะเดินทางออกจากสำนักงานคณะก้าวหน้า แต่จำเลยที่ 5 ผ่านมาพอดีและสอบถามว่าจะไปที่ไหน เมื่อบอกว่าจะไปบริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จำเลยที่ 5 จึงบอกว่าจะไปด้วย เนื่องจากใกล้กับบ้านพักของจำเลยที่ 5 อยู่แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 3, 5 ไม่เคยเห็นป้ายข้อความมาก่อน จนกระทั่งมีการกางป้าย

อัยการได้ถามค้านจำเลยที่ 1,2 เพียงสั้นๆว่า การเคลื่อนไหวของจำเลยที่ 1,2 นั้นเป็นการเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกับพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ จำเลยที่ 1, 2 ยืนยันว่าไม่ใช่ จากนั้นอัยการก็ได้สอบถามว่าพยานโจทก์ในคดีนี้ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งหมดมาก่อนใช่หรือไม่ ทั้งสองตอบว่าใช่

.

.

อาจารย์นิติศาสตร์ย้ำ รัฐธรรมนูญ ม.6 ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความ ม.112 ผู้ใช้กฎหมายต้องตีความเคร่งครัดห้ามขยายความ

ฝ่ายจำเลยได้นำพยานปากสุดท้ายขึ้นเบิกความผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ได้แก่ รศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพยานได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือประกอบ และทนายความได้ยื่นส่งต่อศาลแล้ว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

พยานได้รับทราบคำฟ้องและพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้แล้ว มีความเห็นโดยพิจารณาตามหลักกฎหมายประกอบความเห็นออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการกำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์” อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ปรากฏเรื่องนี้อยู่ใน หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6  ซึ่งบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

และไม่เพียงแต่มาตรา 6 เท่านั้น มาตราอื่นในหมวดเดียวกันนี้ก็ล้วนแล้วแต่บัญญัติถึงฐานะและพระราชอำนาจของ “องค์พระมหากษัตริย์” ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏถ้อยคำใดที่กล่าวถึงหรือสื่อความหมายไปถึงตำแหน่งอื่น หรือองค์กรอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

จึงย่อมแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า รัฐธรรมนูญมุ่งหมายกล่าวถึงและคุ้มครอง “ตัวบุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ซึ่งเป็น “ประมุขของรัฐ” ที่รัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้ดำรงอยู่ได้ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หาได้กล่าวถึงหรือคุ้มครองไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งหมายถึง โครงสร้าง หรือองค์กรที่ประกอบด้วยบุคคลหลายคน ซึ่งครอบคลุมไปถึงตำแหน่งอื่นอย่างพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ อย่างหม่อมเจ้า หม่อมหลวง ฯลฯ ด้วยไม่ เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้ ไม่ใช่ประมุขของรัฐที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษในทางกฎหมายยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป

หลักการในมาตรา 6 ของปฐมรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 ปรีดี พนมยงค์ ได้อ้างอิงมาจากหลัก “The King can do no wrong” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ และมีสาระสำคัญว่า การกระทำของกษัตริย์จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขว่าการกระทำเหล่านั้นต้องเป็นไปตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี กล่าวอีกอย่างก็คือ หลักการนี้หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ (จึงไม่อาจมีใครฟ้องร้องพระองค์ได้) เนื่องจากมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้วนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างแท้จริง

ดังนั้น มาตรา 6 หรือหลักการของมาตราดังกล่าว จึงไม่ได้มุ่งหมายคุ้มครองไปถึงกรณีที่กษัตริย์ทรงกระทำอะไรด้วยตัวพระองค์เอง โดยไม่มีการรับสนองพระบรมราชโองการจากผู้อื่น เพราะการกระทำใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในทางการเมือง หรือการกระทำที่อาจส่งผลทางกฎหมาย ผู้กระทำนั้นล้วนสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้เสมอ และโดยนัยของมาตรา 6 เอง ก็หาได้กำหนดห้ามบุคคลวิพากษ์วิจารณ์ด้วยไม่ หากแต่ห้ามเฉพาะ “การกล่าวโทษหรือฟ้องร้อง” พระองค์เท่านั้น เนื่องจากพระองค์ไม่ได้ทรงทำอะไรเองที่จะมีผลในทางกฎหมาย

นอกจากนี้ มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะและอำนาจของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดฐานความผิดหรือบทลงโทษทางอาญา จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวพันหรือจะนำไปเชื่อมโยงกับความผิดใดๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาได้ เช่นนี้ มาตรา 6 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้และการตีความมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย

.

ประเด็นที่ 2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของ “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงเพียง 4 ตำแหน่งเท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หาได้บัญญัติคุ้มครองตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ รวมทั้งไม่มีถ้อยคำใดที่จะสื่อความหมายไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่ “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งใดได้

องค์ประกอบความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับ “การกระทำ” ตามมาตรา 112 ประกอบด้วยการกระทำ 3 ลักษณะเท่านั้น คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย โดยการกระทำที่จะถือเป็นการ “หมิ่นประมาท” พระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ได้ ผู้กระทำต้องกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องประกอบด้วย

1.) มีการ “ใส่ความ” หมายถึง การกล่าวร้าย หรือการแสดงพฤติการณ์อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง (ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นความจริงหรือความเท็จ) ประการใดประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ด้วยวาจา ตัวอักษร ท่าทาง หรือวิธีอื่นใดต่อบุคคลที่สาม

2.) ข้อเท็จจริงที่นำมาใส่ความนั้น เมื่อพิจารณาอย่างวิญญูชน หรือผู้ที่มีเหตุมีผลแล้ว น่าจะกระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความ หรือน่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

3.) การใส่ความนั้นต้องสามารถ “ระบุเจาะจง” ตัวผู้ถูกใส่ความได้ ว่าหมายถึงบุคคลใด และต้องมิใช่เพียงการ “แสดงความคิดเห็น” ลอยๆ หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่อาจเป็นจริงหรือพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ดังนั้น การกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงว่าเป็นคนเลว เป็นคนชั่ว แต่ไม่อธิบายว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด หรือมีพฤติกรรมเช่นไรประกอบ จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ในขณะที่การ “ดูหมิ่น” มีความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำหยาบคาย ด่าทอให้เสียหาย หรือการแสดงท่าทางบางอย่าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้กระทำต่อหน้า หรือโดยการโฆษณา (และตามนัยแห่งมาตรา 112 หมายรวมทั้งกระทำลับหลัง แม้ไม่ได้ด้วยการโฆษณาด้วย)  และการ “อาฆาตมาดร้าย” หมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยา หรือวาจาว่าในอนาคต หรือในภายหน้าจะมีการใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อนั้นเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน ทำนองเดียวกับความผิดตามมาตรา 392 ประมวลกฎหมายอาญาที่กระทำต่อบุคคลทั่วไป               

ฉะนั้น ในทางกฎหมายอาญาแล้ว การหมิ่นประมาทก็ดี การดูหมิ่นก็ดี การอาฆาตมาดร้ายก็ดี ย่อมไม่ได้กินความหรือหมายรวมไปถึง การนิ่งเฉย การไม่แสดงความเคารพ การวิพากษ์วิจารณ์ การประชดประชัน รวมทั้งการกล่าวถึงหรือกระทำใด ๆ ต่อบุคคล ต่อสิ่งแทนตน สัญลักษณ์ รูปถ่าย หรือต่อสิ่งอื่นใด เนื่องจากการแสดงอาการเหล่านี้มิได้ทำให้ผู้อื่นที่ได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็นการกระทำหรือข้อความรู้สึกดูหมิ่น ดูถูก หรือเกลียดชังบุคคลที่ถูกกระทำ

และเมื่อการกระทำตามมาตรา 112 เป็นความผิดอาญาซึ่งกำหนดโทษไว้รุนแรง และให้ผลเป็นการจำกัดตัดทอนอิสรภาพของบุคคลโดยตรง จึงต้องตกอยู่ภายใต้หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ซึ่งหมายความว่า การกระทำใด ๆ จะเป็นความผิดอาญาได้ ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้เป็นความผิดในขณะที่มีการกระทำนั้น และโทษที่จะลงก็ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย และโดยผลของหลักการดังกล่าว การบังคับใช้กฎหมายอาญาจึงนอกจากไม่อาจย้อนหลังในทางที่เป็นโทษกับบุคคลแล้ว ผู้บังคับใช้กฎหมายยังต้อง “ตีความโดยเคร่งครัด” ห้าม “เทียบเคียง” กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง (Analogy) ห้าม “ขยายความ” ไปจนเกินทั้ง “ถ้อยคำ” และ “เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” รวมทั้งห้ามหยิบยกเอา “จารีตประเพณี” หรือกฎเกณฑ์อื่นใดที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนมาตีความกฎหมายอาญาด้วย

.

เมื่อนำหลักการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมาพิเคราะห์กับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถกล่าวได้เลยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้ามีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายกฎหมายอาญาได้ ทั้งนี้เนื่องจาก

1. ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าใช้คำว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่หมายถึง งบประมาณแผ่นดินรายการหนึ่งที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีฯ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยงบสถาบันพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายฉบับนี้ จะมีทั้งส่วนที่เป็นงบประมาณโดยตรงที่จัดสรรให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้ในกิจการของสถาบันพระมหากษัตริย์เอง และงบประมาณโดยอ้อม คือ งบประมาณที่แฝงอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งระบุว่าเป็นงบประมาณที่จะนำไปใช้ในกิจการเพื่อสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ได้ใช้งบประมาณทางอ้อมนี้เอง หากแต่กระทรวง ทบวง กรมที่เสนอจะเป็นผู้ใช้ 

เช่นนี้จึงย่อมชัดเจนว่า คำว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรม หรือการกระทำของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งใน 4 ตำแหน่ง กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 แต่อย่างใดเลย การกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งด่าทอ “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ย่อมเป็นการกล่าวถึง วิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าทอการทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการเสนองบประมาณดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเท่านั้น อันเป็นเรื่องปกติวิสัยที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีพึงกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย หากประชาชนเห็นว่างบประมาณรายการใดรายการหนึ่ง หรือหลายรายการที่รัฐบาลเสนอขึ้นไปนั้นไม่เหมาะสม หรือมากเกินไป ไม่แตกต่างจากกรณีที่เคยมีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้เงินภาษีของพวกเขาไปซื้อเรือดำน้ำ แทนที่จะเอาไปใช้เพื่อการอย่างอื่นที่จำเป็นกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งสามารถจัดทำโดย “อิสระ” เมื่อพิจารณาตามเหตุผลความจำเป็นที่กระทรวง ทบวง กรม นำเสนอขึ้นมาให้พิจารณาในแต่ละปี รัฐบาลไม่ได้ทำงานภายใต้คำสั่งการ หรือความต้องการของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ

การที่โจทก์ผู้ฟ้องคดีตีความว่า เมื่อจำเลยกล่าวถึง “งบสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เท่ากับ หรือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยกำลังวิพากษ์วิจารณ์ หรือต่อว่าพระมหากษัตริย์ด้วย จึงเป็นการตีความที่เกินเลย และแสดงให้เห็นว่า โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีขาดความเข้าใจอย่างมากในเรื่องการเสนองบประมาณแผ่นดิน ทั้งยังคิดเอาเองด้วยว่า “พระมหากษัตริย์คือผู้สั่งการให้รัฐบาลกำหนดงบสถาบันพระมหากษัตริย์ตามใจชอบ” ซึ่งไม่เป็นความจริง และความคิดลักษณะนี้ของโจทก์เองย่อมไม่เป็นประโยชน์ หรือสะท้อนว่าเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

2.) ดังกล่าวมาแล้วว่าคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” นั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ถูกบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญทุกมาตรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 6 ตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง) และในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น การตีความแบบขยายความออกไปจนเกินเลยไปกว่าถ้อยคำและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีองค์ประกอบกว้างขวาง ครอบคลุมตำแหน่งและหน่วยงานจำนวนมาก ทั้งไม่อาจ “ระบุเจาะจง” ได้ว่าหมายถึงบุคคลใดกันแน่ ล้วนได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 ไปด้วย จนทำให้เพียงการเขียนข้อความเช่นนี้ลงในป้ายผ้าของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และขัดกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายอาญา

3.) แม้ข้อความในแผ่นป้ายที่ว่า ‘งบสถาบันพระมหากษัตริย์ > วัคซีน COVID 19’ จะทำให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นอ่านแล้วเข้าใจได้ว่า งบสถาบันพระมหากษัตริย์ มีจำนวนมากกว่า งบที่ใช้เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งกำลังระบาดร้ายแรงและสร้างปัญหากับประชาชนไทยอย่างมาก ก็จริง

แต่ปัญหาในเรื่องการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ ประชาชนผู้มีเหตุมีผลอย่างวิญญูชน ย่อมต้องรู้สึกโกรธเคือง ไม่พอใจ หรือถึงขั้นเกลียดชังการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำหนดและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในภาพรวมต่างหาก หาได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือการกระทำใดๆ ขององค์พระมหากษัตริย์ฯ แต่อย่างใดไม่ ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะที่จะเข้าข่ายทั้งการ “ใส่ความ” “ดูหมิ่น” หรือ “อาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์ฯ ตามความหมายที่อธิบายมาแล้วข้างต้น

.

หลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลยังได้แจ้งว่าคดีนี้ จะต้องมีการการส่งสำนวนคดีและร่างคำพิพากษาไปยังสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ตรวจสอบก่อน และได้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 ม.ค. 2566 นี้

.

X