“ข้าพเจ้านายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เวลาที่ผ่านมาทั้งตัวผมและประชาชนจำนวนมากถูกปิดปาก ถูกทำร้ายโดยมาตรา 112 ผมถูกคุมขังทั้งในเรือนจำ ทั้งในบ้านของตนเองนานกว่า 7 เดือน
“ดังนั้น ผมจึงขอ ‘ปฏิเสธอำนาจศาล’ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเพียงคนเดียว แต่ผมพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จนกว่าศาลจะคืนสิทธิประกันตัวและยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องขัง 112 ทุกคน ขอบคุณครับ”
ถ้อยแถลงข้างต้นเกิดขึ้นในวันที่ 4 ก.ย. 2566 ภายหลัง “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ต้องถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 เป็นครั้งที่ 3 ในคดีที่สืบเนื่องมาจากที่ถูกฟ้องจากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565
เบื้องหลังกำแพงสูงชัน ไกลริบจากสายตาของคนในสังคม เก็ทเป็นหนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 ที่มักจะถูกจองจำซ้ำ ๆ ในคดีความเดิม ๆ ที่เรือนจำ แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา การต้องเดินเข้าเดินออกในเรือนจำเช่นนี้ กำลังเริ่มก่อร่างความรู้สึกบิดเบี้ยว และความสิ้นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของเขามากขึ้นทุกที
ก่อนหน้านี้ ในระหว่างวันที่ 2 พ.ค. – 31 พ.ค. 2565 เป็นครั้งแรกที่ชีวิตของเก็ทได้สัมผัสกับเรือนจำ จากการถูกคุมขังในชั้นสอบสวนในคดีเดียวกันนี้ โดยในระหว่างที่ถูกคุมขังเก็ทประท้วงอดอาหารนานกว่า 20 วัน จนร่างกายทรุดโทรม ก่อนได้รับการประกันตัว
ต่อมาในครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 ม.ค. – 20 ก.พ. 2566 เก็ทถูกศาลอาญาสั่งถอนประกัน เขาถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี เป็นเวลากว่า 43 วัน โดยในครั้งนี้ เก็ทได้ทำการฝืนตื่นประท้วง หรืออดนอน เพื่อประท้วงเอาความยุติธรรมให้เพื่อน ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกันในเวลานั้นที่บางรายไม่ได้รับการประกันตัวนานข้ามปี เป็นเวลากว่า 14 วัน ซึ่งสร้างผลกระทบกับระบบประสาท ทำให้ร่างกายสั่นผิดปกติ จนขาดการควบคุมอยู่เป็นระยะเวลานาน ก่อนภายหลังได้รับการประกันตัว
อย่างไรก็ตาม ชื่อของเก็ท โสภณ มักจะอยู่ในเรื่องราวของจำเลยคดี ม.112 ที่ทำการประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างต่อเนื่อง และอาจกล่าวได้ว่าวิถีทางต่าง ๆ ที่เก็ททำทุกครั้งที่สองเท้าของเขาต้องย่างกรายเข้าไปในเรือนจำก็เป็นการกระทำที่เรียกได้ว่า ‘ชีวิตแลกชีวิต’ เลยก็ว่าได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนสำรวจย้อนร่องรอยการต่อสู้ การตัดสินใจปฏิเสธอำนาจศาลและกระบวนการยุติธรรมของเก็ท โสภณ จากบันทึกห้องพิจารณาคดีที่ศาลอาญาธนบุรี ในนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565
แม้ตัวจะถูกคุมขัง แต่เก็ทยังคงมุ่งมั่นทำงานทางความคิดให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำอยู่เสมอ เขายังคงต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อเพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมืองทุกคน
บันทึกวันที่ 4 ก.ย. 2566 : ประกาศแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาล และกระบวนการยุติธรรม
เช้าของวันที่ 4 ก.ย. 2566 เก็ทถูกเบิกตัวมาพิจารณาคดีที่ถูกฟ้องจากการปราศรัยในกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน เนื่องในวันจักรี ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565
ในคดีนี้มีจำเลย 3 คน ได้แก่ เก็ท โสภณ จำเลยที่ 1, โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 2 และมิ้นท์ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ จำเลยที่ 3 ปัจจุบันเหลือจำเลยเพียง 2 ราย คือ โสภณและโจเซฟ เนื่องจากมิ้นท์ได้ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสแล้วเมื่อปลายปี 2565
ส่วนโสภณ ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปราศรัยพาดพิงราชินี ในม็อบ #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
เก็ทถูกเบิกตัวมาที่ศาลได้ในเวลาช่วงบ่าย 13.30 น. ก่อนแถลงศาลเพื่อขอถอนทนายความในคดีนี้และปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันแก่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง รวมถึงยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ ดังนี้
“ข้าพเจ้านายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เวลาที่ผ่านมาทั้งตัวผมและประชาชนจำนวนมากถูกปิดปาก ถูกทำร้ายโดยมาตรา 112 ผมถูกคุมขังทั้งในเรือนจำ ทั้งในบ้านของตนเองนานกว่า 7 เดือน
“มีคนจำนวนมากที่ยังคงสู้เรื่องสิทธิประกันตัว ทั้งเวหาเอง วารุณีเอง ที่กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ให้สิทธินี้กับผู้ต้องขัง ผมขอน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสเอาไว้ว่า ‘ไม่อยากให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชน’ แต่สุดท้ายก็มีการเอามาใช้กับประชาชน ซึ่งตอนนี้มีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก
“ดังนั้น ผมจึงขอ ‘ปฏิเสธอำนาจศาล’ ผมไม่ได้พูดถึงท่านเพียงคนเดียว แต่ผมพูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จนกว่าศาลจะคืนสิทธิประกันตัวและยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องขัง 112 ทุกคน ขอบคุณครับ”
การแถลงขอถอนทนายความในคดีและปฏิเสธอำนาจศาลดังกล่าว โสภณมี 2 ข้อเรียกร้องด้วยกัน ได้แก่
1) ขอให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
2) เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด
ส่วนโจเซฟ จำเลยที่ 2 แสดงความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีต่อไป โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานออกไปก่อน เนื่องจากวันนี้มีพยานโจทก์ปากที่ 1 มาศาลเพียงปากเดียว แต่ฝ่ายจำเลยประสงค์ที่จะให้สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 และปากที่ 2 ในนัดเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองปากเป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์ด้วยกัน
ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นนวันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
บันทึกวันที่ 18 ก.ย. 2566 : ปรากฏตัวต่อหน้าด้วยวิธีนั่งหันหลังประท้วงศาลตลอดการพิจารณาคดี
ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เก็ทถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลเช่นเคย แต่เมื่อมาถึง เขาได้ ‘นั่งหันหลัง’ ให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของศาลตลอดการพิจารณาคดี ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้ว่าไม่ขอยอมรับอำนาจศาลและไม่ต้องการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี
กระทั่งในเวลา 15.00 น. การสืบพยานได้เสร็จสิ้นลง เก็ทได้เดินขึ้นมาที่คอกพยาน โดยแถลงยืนยันข้อเรียกร้องทั้ง 2 ประการที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ว่าขอให้ศาลคืนสิทธิประกันตัว และยุติการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชน ซึ่งมีรายละเอียดคำแถลง ดังนี้
“ผม โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่ผมปฏิเสธอำนาจศาล ประกาศถอนทนาย และไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาใด ๆ ของศาล ข้อเรียกร้องของผมยังคงชัดเจน คือ
“‘หนึ่ง’ คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
“และ ‘สอง’ ยุติการดำเนินคดี 112 ทั้งหมด
“ผมขอบคุณศาลอาญาธนบุรีที่ให้สิทธิในการประกันตัวกับผมและจำเลยคนอื่น ๆ แต่การประท้วงของผมเป็นการประท้วงต่ออำนาจศาลทั้งหมด ตอนนี้มีคนอยู่ในคุก 32 คน 2 คนกำลังอดอาหารประท้วง หลายคนอาการย่ำแย่ ทั้งเวหา วารุณี เอกชัย รวมถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่น ๆ ที่ต้องถูกพรากสิทธิประกันตัวไป
“ในประวัติศาสตร์การปฏิเสธอำนาจศาลนั้น ล้วนเป็นการปฏิเสธอำนาจศาลในนามพระปรมาภิไธย ดังนั้นผมไม่รู้ว่าเราจะหาความเป็นธรรมได้ไหม เพราะศาลเป็น ‘ศาลในนามของกษัตริย์’
“ผมเคยแถลงไปแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดี ม.112 กับประชาชน ท่านเคยทวงถามถึงเพื่อนอัยการ เพื่อนตุลาการของพวกท่านหรือไม่ว่า ‘สิ่งที่พวกท่านกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่’ การที่พวกท่านทำแบบนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับแค่ตัวผม แต่มันส่งผลเสียต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แม้แต่ตัว ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
“ขอให้รู้ไว้ว่า การประท้วงของผมไม่ได้ประท้วงต่อท่านเพียงคนเดียว แต่ผมประท้วงต่ออำนาจในกระบวนการยุติธรรม ‘ทั้งหมด’ ทำไมพวกท่านไม่ช่วยกันแก้ปัญหา เวลามีคนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ศาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ท่านไม่รู้สึกอะไรกันบ้างเลยหรือที่มีคนโดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากมายขนาดนี้ พวกท่านทำอะไรกันอยู่
“สุดท้าย ผมขอฝากไปถึงตำรวจศาลด้วย ท่านไม่ให้พ่อแม่ของจำเลยเข้ามาฟังการพิจารณาคดี แต่สัปดาห์ที่แล้วท่านกลับปล่อยให้พยานโจทก์ปากที่ 2 เข้ามาฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ปากที่ 1 ได้ยังไง แล้วแบบนี้ความน่าเชื่อถือของพยานอยู่ตรงไหน”
เมื่อกล่าวคำแถลงเสร็จสิ้น ศาลไม่ได้กล่าวโต้กลับแต่อย่างใด เพียงแต่ทำการบันทึกข้อเรียกร้องทั้งสองข้อเก็บไว้ในเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาคดี
บันทึกวันที่ 6 พ.ย. 2566 : ถอดเสื้อผู้ต้องขังประท้วง ทวงถามความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม
ห้องพิจารณาคดีที่ 11 เวลา 09.00 น. เก็ทถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยชุดนักโทษพร้อมเครื่องพันธนาการ คือ กุญแจข้อเท้าเช่นเคย เมื่อมาถึงเขาได้นั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ เหมือนในนัดสืบพยานครั้งก่อน ๆ ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้
ในระหว่างการสืบพยานช่วงเช้า เก็ทได้ถอดเสื้อนักโทษของตนเองออกในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีและนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษา จนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามเข้ามาควบคุมตัวเขาให้กลับไปใส่เสื้อนักโทษตามเดิม แต่ก็มีปากเสียงกันเกิดขึ้น จนสุดท้ายศาลต้องกล่าวอนุญาตให้เขาสามารถทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการได้
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีปากเสียงกันเก็ทได้กล่าวเหตุผลของการกระทำของตัวเองว่า “บอกว่าผมถอดเสื้อแบบนี้ไม่ได้ มันผิดปกติ แล้วคุณว่ามันปกติหรือที่ผมถูกขังแบบนี้ การสืบพยานแบบนี้มันปกติไหม การใช้ 112 กับประชาชนจำนวนมาก การไม่ให้ประกันมันปกติไหม เห็น ๆ กันหมดว่ากระบวนการมันไม่ปกติ การประท้วงของผมมันสันติวิธีมาก ๆ แต่คุณกลับบอกว่ามันไม่ปกติ
“ผมขอประท้วงต่อศาล และต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พวกคุณพูดแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ ๆ แต่คุณไม่เคยทักท้วงต่อระบบที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่ามันผิดปกติ
“หน้าที่ของพวกคุณคือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนพร่ำบอกแต่ว่า ตัวเองทำตามหน้าที่ ๆ ซึ่งมันทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว แทนที่เราทุกคนในระบบนี้จะช่วยกัน แต่เรากลับปล่อยให้มันแย่กว่าเดิม”
ต่อมาในเวลาช่วงบ่าย 15.00 น. เก็ทได้ทำการลุกขึ้นไปยืนที่คอกพยาน ในลักษณะที่ยังคงเปลือยร่างกายท่อนบนของตัวเอง เขาแถลงต่อศาลเพื่อทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาและเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมืองอีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่อีกครั้ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
“ก่อนอื่นผมต้องขอโทษศาล ขอโทษทุก ๆ คนด้วยที่ต้องมาเห็นผมอยู่ในสภาพแบบนี้ ต้องมาเห็นผมทำตัวเหมือนลิง ทำอะไรที่แปลกประหลาด ผิดปกติ ผมทราบดีว่าการที่ผมถอดเสื้อออกในวันนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะได้กระทำต่อศาลหรือไม่ได้กระทำต่อศาลก็ตาม แต่เหตุที่ผมต้องทำแบบนี้เพราะผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมที่ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่
“ตัวผมเองก็อยากเรียกร้องให้มันสันติที่สุด แต่ผมมีเพียงตัวเปล่า ผมก็ทำเท่าที่ผมจะทำได้ ผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมถามท่านหน่อยว่า ประชาชนที่ออกมาตั้งคำถาม ออกมาต่อสู้เรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรจะมีชะตากรรมแบบนี้หรือไม่ พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว พวกเขาไม่ควรถูกล่ามโซ่ตรวนและทำกับเค้าเหมือนหมูเหมือนหมา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการพิพากษาด้วยซ้ำว่ามีความผิด นี่หรือคือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
“ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ ร.9 กับ ร.10 ท่านก็เคยตรัสไว้ว่า ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี 112 กับประชาชน แต่การที่ 112 ถูกใช้แบบนี้ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมหรือที่ได้รับผลกระทบ
“ผมอยากให้ท่านได้รับรู้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ เพราะท่านเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านไม่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้นกว่านี้หรือครับ ผมมันเป็นเพียงแค่คนนอก ลำพังแค่ตัวผมเพียงคนเดียวมันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าหากพวกท่านช่วยกัน ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไปได้ไกลกว่านี้ครับ
“ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนาย ตำรวจศาล และบุคลากรอื่น ๆ ผมอยากให้พวกท่านช่วยกันออกมาทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ อยากให้พวกท่านออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของพวกท่านเองในอนาคต เท่านี้แหละครับสิ่งที่ผมอยากจะพูด”
อย่างไรก็ตาม ทุกคำแถลงที่เก็ทได้กล่าวต่อศาลที่คอกพยาน ในทุกนัดสืบพยานที่เขาได้เบิกตัวมาข้างต้น ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาคดีไม่ได้ตอบรับใด ๆ แต่ได้บันทึกข้อเรียกร้องทั้งสองข้อของเขาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี
ส่วนการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ หลังจากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายเสร็จสิ้น โจทก์แถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคลของฝ่ายจำเลยที่ 2 คดีจึงเสร็จการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ เก็ทถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นระยะเวลากว่า 79 วันแล้ว โดยปัจจุบัน (10 พ.ย. 2566) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 27 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 จำนวน 15 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน และยังมีผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่คดีสิ้นสุดแล้ว ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 4 ราย
.
ย้อนอ่านบันทึกการประท้วงวันที่ 4 ก.ย. 66 ‘เก็ท’ ถอนทนาย คดี 112 เหตุปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” พร้อมปฏิเสธอำนาจศาล เรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง – ยุติคดี ม.112 ทั้งหมด
ย้อนอ่านบันทึกการประท้วงวันที่ 18 ก.ย. 66 “คนโดน 112 มากขนาดนี้ ท่านไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือ” ‘เก็ท’ ลุกแถลงขอให้ศาลยุติคดี ม.112 เหตุทุกฝ่ายเสียหาย แม้แต่กับ ‘สถาบันฯ’
ย้อนอ่านบันทึกการประท้วงวันที่ 6 พ.ย. 2566 “เก็ท” ถอดเสื้อประท้วง ระหว่างสืบพยานคดี #ใครฆ่าพระเจ้าตาก นัดสุดท้าย เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันทวงถามถึงความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม