“เก็ท” ถอดเสื้อประท้วง ระหว่างสืบพยานคดี #ใครฆ่าพระเจ้าตาก นัดสุดท้าย เรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันทวงถามถึงความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดสืบพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 ของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “โจเซฟ” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องจากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน เนื่องในวันจักรี ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 

โสภณถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในชุดนักโทษพร้อมเครื่องพันธนาการ คือ กุญแจข้อเท้าเช่นเคย ในช่วงหนึ่งของการสืบพยาน โสภณได้ถอดเสื้อนักโทษของตนเองออกระหว่างนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษา จนมีปากเสียงกับทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาคุมตัวเขา เมื่อเสร็จการพิจารณาคดี โสภณได้เดินไปยืนแถลงต่อหน้าศาลในลักษณะเปลือยร่างกายท่อนบน เพื่อทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาและนักโทษอีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่

ก่อนหน้านี้ ศาลดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปเมื่อวันที่ 4, 11, 18 และ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ในนัดนี้โจทก์นำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ก่อนแถลงหมดพยาน และทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานจำเลย คดีจึงเสร็จการพิจารณา และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

ย้อนกลับไปในการสืบพยานนัดแรก โสภณได้ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเขาได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลเพื่อขอถอนทนายความในคดีนี้ รวมถึงปฏิเสธอำนาจศาลทั้งหมด และได้แถลงข้อเรียกร้อง 2 ข้อต่อศาลไว้ ได้แก่ 1.คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน 2.ยุติการดำเนินคดี 112 ทั้งหมด

บันทึกจากห้องพิจารณาคดี

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 11 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โสภณถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลในชุดนักโทษพร้อมเครื่องพันธนาการ คือ กุญแจข้อเท้าเช่นเคย เมื่อมาถึงเขาได้นั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะตอบคำถามใด ๆ ของศาลเหมือนในนัดสืบพยานครั้งก่อน ๆ  ตามเจตจำนงที่เคยได้แถลงไว้ว่า ไม่ขอยอมรับอำนาจศาลและไม่ต้องการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี

ในช่วงหนึ่งของการสืบพยาน โสภณได้ถอดเสื้อนักโทษของตนเองออกระหว่างนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษา จนมีปากเสียงกับทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ควบคุมตัวเขา แต่สุดท้ายศาลยังอนุญาตให้สืบพยานต่อไปได้ โดยที่เขายังคงนั่งหันหลังและถอดเสื้อต่อไป

ระหว่างการมีปากเสียงกัน โสภณกล่าวว่า “บอกว่าผมถอดเสื้อแบบนี้ไม่ได้ มันผิดปกติ แล้วคุณว่ามันปกติหรือที่ผมถูกขังแบบนี้ การสืบพยานแบบนี้มันปกติไหม การใช้ 112 กับประชาชนจำนวนมาก การไม่ให้ประกันมันปกติไหม เห็น ๆ กันหมดว่ากระบวนการมันไม่ปกติ การประท้วงของผมมันสันติวิธีมาก ๆ แต่คุณกลับบอกว่ามันไม่ปกติ

“ผมขอประท้วงต่อศาล และต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พวกคุณพูดแต่ว่ามันเป็นหน้าที่ ๆ แต่คุณไม่เคยทักท้วงต่อระบบที่เป็นอยู่ ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่ามันผิดปกติ

“หน้าที่ของพวกคุณคือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกคนพร่ำบอกแต่ว่า ตัวเองทำตามหน้าที่ ๆ ซึ่งมันทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้กระบวนการยุติธรรมมันบิดเบี้ยว แทนที่เราทุกคนในระบบนี้จะช่วยกัน แต่เรากลับปล่อยให้มันแย่กว่าเดิม”

หลังจากเสร็จการสืบพยานในช่วงเช้า โสภณไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเขาไปที่ห้องควบคุมตัวของศาล เนื่องจากมีความกังวลว่าตนเองอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย จึงขอนั่งอยู่ในห้องพิจารณาจนกว่าจะถึงช่วงบ่ายที่มีการสืบพยานต่อ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาต โดยหลังจากการโต้เถียงเป็นระยะเวลาหนึ่ง เก็ทก็ยอมใส่เสื้อและยอมให้เจ้าหน้าที่คุมตัวไปที่ห้องควบคุมตัว ภายใต้เงื่อนไขว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ทำอันตรายใด ๆ กับเขา

โสภณได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ในช่วงหนึ่งของการพูดคุยว่า เขาไม่ได้มีปัญหากับเจ้าหน้าที่หรือทางราชทัณฑ์ แต่เขามีข้อพิพาทกับกระบวนการยุติธรรมที่มันดำเนินอยู่ เขาไม่อยากให้เจ้าหน้าที่กระโดดเข้ามาแทรกในความขัดแย้งตรงนี้ เพราะเขากำลังประท้วงต่อศาล ต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ไม่ได้ประท้วงเจ้าหน้าที่

โสภณนั่งหันหลังให้ผู้พิพากษาและถอดเสื้อตลอดทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยบางช่วงได้ใช้เวลาพูดคุยกับกลุ่มคนที่เดินทางมาให้กำลังใจ ทั้งครอบครัว เพื่อน และประชาชน 

กระทั่งการสืบพยานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 15.00 น. โสภณได้เดินไปที่แท่นสำหรับพยานเบิกความ ในลักษณะเปลือยร่างกายท่อนบน และยืนแถลงต่อศาลเพื่อทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาและอีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่ โดยมีรายละเอียดของถ้อยคำโดยสรุปดังนี้

“ก่อนอื่นผมต้องขอโทษศาล ขอโทษทุก ๆ คนด้วยที่ต้องมาเห็นผมอยู่ในสภาพแบบนี้ ต้องมาเห็นผมทำตัวเหมือนลิง ทำอะไรที่แปลกประหลาด ผิดปกติ ผมทราบดีว่าการที่ผมถอดเสื้อออกในวันนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะได้กระทำต่อศาลหรือไม่ได้กระทำต่อศาลก็ตาม แต่เหตุที่ผมต้องทำแบบนี้เพราะผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรมที่ผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่

“ตัวผมเองก็อยากเรียกร้องให้มันสันติที่สุด แต่ผมมีเพียงตัวเปล่า ผมก็ทำเท่าที่ผมจะทำได้ ผมอยากให้ท่านทั้งหลายรู้สึกถึงความผิดปกติที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมถามท่านหน่อยว่า ประชาชนที่ออกมาตั้งคำถาม ออกมาต่อสู้เรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรจะมีชะตากรรมแบบนี้หรือไม่ พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว พวกเขาไม่ควรถูกล่ามโซ่ตรวนและทำกับเค้าเหมือนหมูเหมือนหมา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการพิพากษาด้วยซ้ำว่ามีความผิด นี่หรือคือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

“ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ ร.9 กับ ร.10 ท่านก็เคยตรัสไว้ว่า ไม่อยากให้มีการดำเนินคดี 112 กับประชาชน แต่การที่ 112 ถูกใช้แบบนี้ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมหรือที่ได้รับผลกระทบ

“ผมอยากให้ท่านได้รับรู้ถึงความผิดปกติเหล่านี้ เพราะท่านเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านไม่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมมันดีขึ้นกว่านี้หรือครับ ผมมันเป็นเพียงแค่คนนอก ลำพังแค่ตัวผมเพียงคนเดียวมันไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าหากพวกท่านช่วยกัน ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไปได้ไกลกว่านี้ครับ

“ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนาย ตำรวจศาล และบุคลากรอื่นๆ ผมอยากให้พวกท่านช่วยกันออกมาทวงถามถึงความไม่เป็นธรรมที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ อยากให้พวกท่านออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของพวกท่านเองในอนาคต เท่านี้แหละครับสิ่งที่ผมอยากจะพูด”

เมื่อโสภณแถลงเสร็จ ศาลไม่ได้กล่าวถ้อยคำใด ๆ ตอบ แต่บันทึกคำแถลงของโสภณลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย จากนั้นไม่นานโสภณก็ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวออกจากห้องพิจารณาไปยังห้องควบคุมตัวอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวกลับเรือนจำในเวลาประมาณ 17.00 น. 

ส่วนการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ หลังจากการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายเสร็จสิ้น โจทก์แถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคลของฝ่ายจำเลยที่ 2 คดีจึงเสร็จการพิจารณา ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. และยกเลิกวันนัดสืบพยานในวันที่ 13 พ.ย. 2566

จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 โสภณถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 75 วันแล้ว เป็นคดีจากการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้น 3 ปี 6 เดือน โดยในความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุกถึง 6 เดือน ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ กำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

‘เก็ท’ ถอนทนาย คดี 112 เหตุปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” พร้อมปฏิเสธอำนาจศาล เรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง – ยุติคดี ม.112 ทั้งหมด

“คนโดน 112 มากขนาดนี้ ท่านไม่รู้สึกอะไรบ้างหรือ” ‘เก็ท’ ลุกแถลงขอให้ศาลยุติคดี ม.112 เหตุทุกฝ่ายเสียหาย แม้แต่กับ ‘สถาบันฯ’ 

ยื่นฟ้อง ม.112 คดี 3 นักกิจกรรมร่วมปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ก่อนศาลยกคำร้องขอถอนประกัน “มิ้นท์” นาดสินปฏิวัติ

X