ศาลยกคำร้องอัยการขอถอนประกัน “โจเซฟ” อ้างไปร่วมชุมนุม-สาดสีในงานรำลึก 2 ปี วาฤทธิ์ สมน้อย ที่ สน.ดินแดง ชี้ยังไม่ผิดเงื่อนไขประกัน

28 ก.ย. 2566 ศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำสั่งขอเพิกถอนการประกันตัว “โจเซฟ” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมทางการเมือง ในคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 กรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 โดยอัยการเป็นผู้ร้อง อ้างเหตุขอถอนประกันมาจากกรณีเข้าร่วมชุมนุม-สาดสีในงานรำลึก 2 ปี วาฤทธิ์ สมน้อย ที่หน้า สน.ดินแดง เมื่อเดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา 

ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนยังไม่พอฟังได้ว่าพฤติการณ์ของจำเลยจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

สำหรับคดี “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ปัจจุบันมีจำเลย 2 ราย ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยที่ 1, โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 2 คดีอยู่ระหว่างสืบพยานในชั้นศาล โดยเก็ทซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ยังได้แถลงปฏิเสธอำนาจศาลด้วย

ส่วนการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นนัดสืบพยานครั้งแรกพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของโจเซฟ อ้างเหตุที่เขาไปร่วมชุมนุมและสาดสีในงานรำลึกครบรอบ 2 ปี การเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย หน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลเคยกำหนดไว้ว่า “ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องไปเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566

ภาพรวมการไต่สวน: ผู้ร้องกล่าวหาจำเลยสาดสีศาลพระภูมิ ทำให้เสียทรัพย์ – ด้านจำเลยสงสัย ‘รำลึกวาฤทธิ์เกี่ยวอะไรกับสถาบันฯ’ ตนแค่ไม่อยากให้สังคมลืมเด็กอายุ 14 ที่ถูกยิงตายหน้าสน.ดินแดง

วันที่ 25 ก.ย. 2566 เวลาประมาณ 10.00 น. อัยการนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 2 ปาก คือ 1. ร.ต.ท.ชูศักดิ์ บุญทอง สน.ดินแดง และ 2.พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน 

พ.ต.ท.ศุภวุฒิ ตอบศาลถามว่า ตนได้รับรายงานการสอบสวนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดินแดง ซึ่งรับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุชุมนุมและจัดทำรายงานการสืบสวนประกอบคำร้องมา แต่ไม่ได้รู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. จึงขอยืนยันข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบสวนที่ได้รับมา  

ส่วน ร.ต.ท.ชูศักดิ์ ตอบศาลถามว่า ตนกับทีมงานเป็นผู้จัดทำรายงานการสอบสวน โดยเมื่อวันพุธที่ 16 ส.ค. 2566 ผู้ชุมนุมได้มาขออนุญาตหัวหน้าสถานีตำรวจเพื่อจัดงานรำลึกให้กับวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สน.ดินแดง ซึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำเลยอยู่ด้วย 

จนพอถึงเวลาประมาณ 18.50 น. จำเลย ได้ใช้สีผสมเลือดสาดไปที่ศาลพระภูมิ จากนั้นตนจึงได้รับมอบหมายจากผู้กำกับการ สน.ดินแดง ให้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และก่อให้เกิดความรำคาญ โดยมีการจุดพลุส่งเสียงดัง  โดยตอนนี้คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และจะมีการออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ ตนไม่ทราบ

ร.ต.ท.ชูศักดิ์ เบิกความต่อว่า จำเลยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาเข้าร่วมชุมนุมในวันนั้น โดยนอกเหนือจากการสาดสีใส่ศาลพระภูมิแล้ว จำเลยก็ไม่ได้กระทำการใด ๆ อีก

จากนั้นจำเลยลุกขึ้นแถลงต่อศาลโดยมีรายละเอียดดังนี้

“ผมขออนุญาตแถลงแบบนี้ครับท่าน ผมเนี่ยเป็นจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคดี 112 และผมยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ผมยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด 

“ผมไม่รู้ว่าการที่ตำรวจกับอัยการมาถอนประกันผมโดยไม่เกี่ยวอะไรเลยกับ 112 มันเป็นไปตามหลักกฎหมายรึเปล่า ยกเว้นเสียแต่ว่าท่านอัยการจะมองว่า สน.ดินแดง เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

“ด้วยความเคารพนะครับท่าน การที่ท่านทำแบบนี้ ตำรวจส่งอะไรมาให้ท่านก็รับหมดโดยไม่มีการกลั่นกรองก่อน ถ้าท่านไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพคนที่ต้องโดนยิงตายหน้าสน. ก็ช่วยให้เกียรติชุดครุยที่ท่านใส่อยู่ด้วยเถอะครับ

“มันเป็นเรื่องน่าตลกมากที่เด็กอายุ 14 โดนยิงตายหน้า สน.ดินแดง จนเวลาผ่านมากว่า 2 ปี ตำรวจยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น 

“แต่การที่ผมไปสาดสีหน้า สน. ตำรวจกลับมีพยานหลักฐานทุกอย่างทั้งภาพทั้งคลิป เพื่อที่จะมาเอาผิดผมและถอนประกันผม 

“ในวันนั้นมี ‘คนตาย’ ทั้งคนนะครับ และเขาเป็นเพียงแค่เด็กอายุ 14 ปี ผมไม่อยากให้สังคมลืมวาฤทธิ์ สมน้อย ผมไม่อยากให้สังคมลืมเด็กที่ถูกยิงตายหน้า สน.ดินแดง ผมอยากให้สังคมจดจำเขาได้ครับ”

โจเซฟ ยังตอบศาลถามต่อว่า ตนเป็นผู้ที่ไปร่วมชุมนุมวันนั้นจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และได้มีการสาดสีใส่ศาลพระภูมิจริง แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความเสียหาย เพราะน้ำที่ใช้สาดเป็นน้ำผสมน้ำหวาน สามารถล้างออกได้ และเหตุที่ตนกระทำการดังกล่าวลงไปก็เนื่องจากต้องการให้สังคมได้รำลึกถึงผู้ตายซึ่งยังเป็นเด็ก โดยจนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถสืบหาการตายของเขาได้ การกระทำของตนจึงมีความมุ่งหมายให้สังคมได้หันมาย้อนดูถึงการตายของเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกยิงตายหน้า สน.ดินแดง เท่านั้น

ต่อมา ร.ต.ท.ชูศักดิ์ แถลงต่อศาลว่า เกี่ยวกับน้ำหรือของเหลวสีแดงที่สาดไปที่ศาลพระภูมิ ต่อมาได้มีการล้างแต่ยังมีคราบสีแดงหลงเหลืออยู่ไม่สามารถล้างออกจนหมดได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีหลักฐานภายหลังจากที่ล้างเสร็จมายืนยันต่อศาลและไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวการล้างมานำเสนอในวันนี้ เพียงแต่ต้องการแจ้งให้ศาลทราบ ศาลจึงบันทึกไว้ และได้นัดหมายอ่านคำสั่งต่อการไต่สวนนี้ในวันที่ 28 ก.ย. 2566

ในวันนี้ (28 ก.ย.) ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวของโจเซฟในคดีนี้ รายละเอียดคำสั่งโดยสรุประบุว่า เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมขออนุญาตใช้พื้นที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดง เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะ ไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์ความรุนแรง และการเสียชีวิตของเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปีนรั้วสถานีตำรวจ และใช้ของเหลวสีแดงสาดศาลพระภูมิของสถานีตำรวจ ทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ได้รับความเสียหายควรใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป

พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยังไม่พอฟังได้ว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง กำชับจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาลนี้อย่างเคร่งครัด

ผลจากคำสั่งดังกล่าว โจเซฟจึงยังคงได้รับอิสรภาพต่อไปจากคำสั่งของศาลที่เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ตั้งแต่ตอนต้น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ก่อนหน้านี้ โจเซฟเคยถูกไต่สวนถอนประกันในคดีนี้มาแล้ว 1 ครั้ง กรณีที่เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน โดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนยังฟังไม่ขึ้นว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวายอย่างไร

X