ศาลสั่งไม่ถอนประกัน “โจเซฟ” กรณีร่วมปราศรัยประท้วง APEC ไล่ประยุทธ์ ชี้ยังไม่ผิดเงื่อนไขประกัน 

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการในการขอเพิกถอนการประกันตัว “โจเซฟ” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมทางการเมือง ในคดีที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 โดยอ้างเหตุขอถอนประกันมาจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน โดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนยังฟังไม่ขึ้นว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวายอย่างไร 

การนัดไต่สวนคำร้องถอนประกันในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 พ.ต.อ.รัตน์เกล้า อาณานุการ ผู้กำกับการ สน.บุปผาราม ได้ส่งหนังสือถึง นายธวัชชัย จิตต์ขันติวงศ์ อัยการโจทก์เจ้าของสำนวนคดีนี้เพื่อขอให้ยื่นคำร้องเพิกถอนประกันโจเซฟต่อศาล โดยระบุว่า สน.บุปผาราม ได้รับรายงานการสืบสวนจาก สน.ลุมพินี ว่าโจเซฟและพวกได้เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่บริเวณแยกอโศกมนตรี ต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ย่านคลองเตย 

ในรายงานการสืบสวนของ สน.ลุมพินี ที่แนบประกอบมาด้วยระบุว่า ในเวลาประมาณ 14.10 น. ของวันที่ 17 พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นการระหว่างการชุมนุมนั้น โจเซฟได้ใช้โทรโข่งประกาศปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ (ไม่ได้ระบุเนื้อหาคำปราศรัย) ก่อนการชุมนุมจะยุติลงในเวลาประมาณ 15.10 น. ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้  

ต่อมา อัยการโจทก์ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาธนบุรีเพิกถอนประกันโจเซฟ และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องเป็นวันนี้ โดยจะมีพยานเข้าเบิกความ รวม 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีนี้, นายประกันอาสา และจำเลย

ภาพรวมการไต่สวน: คำร้องขอถอนประกันระบุไม่ชัดเจน – ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานเข้าเบิกความ อีกทั้งเหตุขอประกันไม่ร้ายแรง ศาลซัด “ตอนแรกจะไม่นัดไต่สวน เพราะคำร้องไม่มีน้ำหนักเลย”

ศาลตำหนิอัยการ-ตำรวจ ต้องกลั่นกรองคำร้องก่อนยื่นให้ศาลวินิจฉัย ชี้พฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไขประกันจะต้องร้ายแรง ‘เทียบเท่า’ พฤติการณ์ในคดีที่ถูกฟ้องเท่านั้น 

เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 5 ศาลอนุญาตให้เพียงคู่ความเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ แม้ประชาชนและสื่อพลเมืองประมาณ 7-8 คน ที่เดินทางมาให้กำลังโจเซฟจะขออนุญาตนั่งรอหน้าห้องพิจารณาคดีแทน ศาลก็ไม่ได้อนุญาตแต่อย่างใด ภายในห้องพิจารณาจึงมีเพียงคู่ความและพยานที่จะเข้าเบิกความเท่านั้น

ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้กล่าวตำหนิพนักงานอัยการในทำนองว่า ศาลได้ตรวจสอบคำร้องขอถอนประกันแล้ว พบว่าในคำร้องระบุกว้างๆ เพียงว่าจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมแนบรายงานการสืบสวนของตำรวจมาให้ศาลอ่านเท่านั้น อัยการไม่ได้ระบุในคำร้องเลยว่าพฤติการณ์ใดของจำเลยที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว และเงื่อนไขที่ว่าคือข้อใดกันแน่ เพราะในคดีนี้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย 3 เงื่อนไขด้วยกัน ได้แก่

  1. ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีกหรือกระทำการอันเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง 
  3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ศาลเน้นย้ำว่า การยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้กระทำการที่มีลักษณะความรุนแรงเทียบเท่ากับพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องเป็นคดีความในตอนแรกเท่านั้น

โดยศาลได้ยกตัวอย่างมาว่า หากจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีความในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 แต่ต่อมาได้ไปก่อเหตุขับรถชนผู้อื่นขณะมึนเมา พฤติการณ์เช่นนี้ไม่สามารถมาร้องขอให้ศาลถอนประกันได้ เพราะพฤติการณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในคดีแม้แต่น้อย 

ศาลกล่าวกับอัยการอีกว่า ต่อไปนี้ขอให้ตรวจสอบเนื้อหาในคำร้องและกลั่นกรองข้อเท็จจริงให้ดีเสียก่อนที่จะยื่นคำร้องมาให้ศาลวินิจฉัย โดยคำร้องจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การขอเพิกถอนประกันตามกฎหมาย และจะต้องมีรายละเอียดว่าพฤติการณ์ใดของจำเลยที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่จะได้เข้าใจและเบิกความคัดค้านได้ถูกประเด็น อีกทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานของการยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันในอนาคตของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนคนอื่นๆ ด้วย

ต่อมา อัยการแถลงว่า เดิมทีจะนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน อีกปากหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ซึ่งรู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 แต่พยานปากหลังนี้ติดกิจราชการจึงไม่สามารถเดินทางมาได้ วันนี้ฝั่งโจทก์จึงมีพยานเพียงปากเดียวเท่านั้น

พ.ต.ท.ศุภวุฒิ ตอบศาลถามว่า ตนไม่ใช่ประจักษ์พยาน ไม่ได้รู้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในขณะเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมาเลย พยานผู้ที่รู้เห็นข้อมูลส่วนนี้คือเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ลุมพินี ซึ่งรับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุชุมนุมและจัดทำรายงานการสืบสวนประกอบคำร้อง พยานกล่าวอีกว่า

“ยังรู้สึกงงอยู่ว่าเหตุใดต้องให้ผมมายื่นคำร้องขอถอนประกันด้วย เพราะผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

จากนั้นศาลจึงได้กล่าวว่า แสดงว่าในการไต่สวนครั้งนี้ฝั่งผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานเลยสักปาก แล้วศาลจะดำเนินการไต่สวนได้อย่างไร พร้อมตำหนิการทำงานของอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งว่าทำให้คู่ความเสียเวลา พร้อมเน้นย้ำว่าต่อไปขอให้ทำงานอย่างรอบคอบและใส่ใจมากกว่านี้ด้วย

จำเลยแถลงยึดหลักชุมนุมโดยสงบ ตั้งใจอยู่ในกรอบเงื่อนไขศาล เหตุที่ถูกร้องขอศาลประกันเพียงเพราะปราศรัยภาษาอังกฤษวิจารณ์ประยุทธ์ไม่เหมาะเป็นนายกฯ ไทย ในประชุมเอเปค

จากนั้นจำเลยแถลงต่อศาลว่า เหตุที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ตนได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงการประชุมเอเปค 2022 ก่อนเข้าร่วมการชุมนุมจำเลยตระหนักอยู่เสมอถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวและได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

จำเลยได้ตรวจสอบคำร้องขอให้ถอนประกันแล้ว สิ่งเดียวที่จำเลยได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา คือ การปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าไม่มีความเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของประเทศเข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022 

ส่วนในรายงานการสืบสวนประกอบคำร้องขอเพิกถอนประกัน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจำเลยถือป้ายประท้วงบางอย่างซึ่งเห็นไม่ชัดนั้น จำเลยได้แถลงว่าป้ายดังกล่าวเป็นป้ายกระดาษที่เขียนข้อความว่า “ไล่ไอ้ทรราชประยุทธ์” และ “ยกเลิก 112” การเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวจำเลยยืนยันว่าได้ยึดถือหลักการชุมนุมโดยสงบ ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ

สุดท้ายศาลกล่าวว่า ในตอนแรกศาลคิดว่าจะไม่นัดไต่สวนคำร้องในครั้งนี้ด้วยซ้ำไป เพราะเนื้อหาในคำร้องนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสั่งเพิกถอนประกันจำเลยได้ แต่สาเหตุที่นัดไต่สวนในวันนี้เป็นเพราะศาลต้องทำหน้าที่ตามกระบวนยุติธรรมในการรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย พร้อมเน้นย้ำกับจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอย่างเคร่งครัดด้วย

ภาพจากไข่แมวชีส

ศาลสั่งไม่ถอนประกัน ชี้ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดเงื่อนไขประกันอย่างไร

ต่อมา เวลา 11.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่ถอนประกันตัวโจเซฟในคดีนี้ รายละเอียดคำสั่งโดยสรุประบุว่า พิเคราะห์ตามคำแถลงและพยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวาย แต่เงื่อนไขอย่างหนึ่งในคดีนี้ คือ “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง” จึงได้เน้นย้ำให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดแล้ว

ผลจากคำสั่งดังกล่าว โจเซฟจึงยังคงได้รับอิสรภาพต่อไปจากคำสั่งของศาลที่เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ตั้งแต่ตอนต้น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมเงื่อนไข 3 ประการ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงการประชุมเอเปค 2022 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีกหลายรายถูกยื่นคำร้องขอเพิกประกัน โจเซฟถือว่าเป็นรายแรกที่ศาลนัดไต่สวนที่ศาลนี้ โดยกรณีอื่นๆ จะดำเนินการไต่สวนที่ศาลอื่นต่อไป อาทิ ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ ศาลอาญานัดไต่สวนขอถอนประกัน “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “ใบปอ” ในคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามมาตรา 112 เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ยื่นฟ้อง ม.112 คดี 3 นักกิจกรรมร่วมปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก”

X