10 พ.ค. 2565 เวลา 12.15 น. และ เวลา 17.20 น. ตามลำดับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า “โจเซฟ” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมทางการเมือง และ “มิ้นท์” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมกลุ่ม “นาดสินปฏิวัติ” ถูกตำรวจับกุมตามหมายจับข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งออกโดยศาลอาญาธนบุรี กรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ซึ่งจัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่
เวลา 14.00 น. ทนายความได้เข้าพบโจเซฟ ซึ่งถูกนำตัวจากศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี มาควบคุมไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนตำรวจจะเริ่มทำบันทึกจับกุม
จากนั้น พ.ต.ท.ยุทธนา มังคลา พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า โจเซฟได้ปราศรัยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าตากถูกนายทองด้วงประหาร ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน มีการฆ่าฟันพระญาติ 131 คน ทั้งนี้ การปราศรัยไม่ได้มีข้อความใดที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน
ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาโจเซฟว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยโจเซฟให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2565
โจเซฟยังให้การไว้ด้วยว่า หนังสือต่างๆ เขียนกันถึงเหตุการณ์ที่ตนปราศรัยไว้มากมาย เช่น หนังสือศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีนักคิดนักเขียนหลายรายที่มีการตั้งประเด็นวิเคราะห์เรื่องการถูกประหาร หรือลี้ภัยของพระเจ้าตากไว้หลายท่าน เช่น ส.ศิวรักษ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรือสุจิตต์ วงษ์เทศ และได้กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลที่ว่า มาตรา 112 ไม่คุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์
ต่อมา ในเวลา 15.30 น. พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวโจเซฟเดินทางไปยังศาลอาญาธนบุรีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน และคัดค้านการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขัง และให้ประกันตัวในเวลา 17.00 น. ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลกำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีกหรือกระทำการอันเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
หลังโจเซฟได้ประกันไม่นาน ราว 17.20 น. ศูนย์ทนายฯ ก็ได้รับแจ้งอีกว่า มีผู้ถูกจับกุมตามหมายจับเพิ่มเติมจากเหตุเดียวกัน ทราบชื่อภายหลังคือ “มิ้นท์” นักกิจกรรมกลุ่ม “นาดสินปฏิวัติ” โดยถูกจับกุมที่ร้านส้มตำแห่งหนึ่งแถวแจ้งวัฒนะ ขณะกำลังเดินทางออกจากร้าน หลังเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ มิ้นท์ได้ขอขับรถไปเอง โดยมีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรม ร่วมเดินทางไปพร้อมกับชุดจับกุม 2 นาย เจ้าหน้าที่แจ้งให้ขับรถไปยัง บช.ปส. เช่นเดียวกับโจเซฟ เมื่อไปถึงตำรวจได้เร่งทำบันทึกจับกุมเสร็จก่อนทนายความจะเดินทางไปถึง
จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ได้แจ้งพฤติการณ์คดีให้มิ้นท์ทราบ ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 16.00 – 17.15 น. มีการชุมนุมของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ หัวข้อ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ ในระหว่างการชุมนุม มีโสภณ หรือเก็ท สุรฤทธิ์ธํารง ผู้ต้องหาที่ 1, โจเซฟ ผู้ต้องหาที่ 2 และมิ้นท์ ผู้ต้องหาที่ 3 ขึ้นปราศรัย โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้ปราศรัย มีข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ในส่วนของมิ้นท์ พนักงานสอบสวนได้ยกคำปราศรัย ที่กล่าวถึงการเสียชีวิตของพระเจ้าตากว่า ไม่ได้โดนทุบด้วยท่อนจันทร์ หรือหนีไปบวช ตามที่มีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ แต่ถูกทองด้วงสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดคอ รวมทั้งกล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5
พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตามหมายจับเช่นเดียวกับโจเซฟ โดยมิ้นท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 หลังสอบปากคำ มิ้นท์ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. 1 คืน ก่อนถูกควบคุมตัวไปยังศาลอาญาธนบุรีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.
หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลกำหนด 3 เงื่อนไข เช่นเดียวกับโจเซฟ
คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกราย คือ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจับกุมและไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนในคดี 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว โดยเก็ทถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2565 โดยตำรวจจะเดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้กับเก็ทในเรือนจำในวันที่ 17 พ.ค. 2565
.