“เจมส์” ณัฐกานต์ นักกิจกรรมฝั่งธนฯ ถูกจับกุมถึงบ้านคดี ม.112 ของ สภ.เมืองพัทลุง ก่อนถูกส่งตัวดำเนินคดี-ศาลไม่ให้ประกันตัว

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 เวลาประมาณ 14.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีประชาชน 1 ราย ถูกจับกุมในคดีตามมาตรา 112 และถูกนำตัวไปที่ สน.ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ทนายความจึงได้ติดตามไป ก่อนพบว่าผู้ถูกจับกุมชื่อ “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ นักกิจกรรมฝั่งธนบุรี อายุ 37 ปี ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลจังหวัดพัทลุง ในคดีที่ถูก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

ตามบันทึกจับกุมซึ่งจัดทำที่ สน.ตลิ่งชัน ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 เวลา 11.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2, สน.ตลิ่งชัน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมกันประมาณ 7 นาย ได้ร่วมกันจับกุมณัฐกานต์ที่บ้านพักแห่งหนึ่งย่านตลิ่งชัน พร้อมกับตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาจำนวน 1 เครื่องไว้ด้วย

บันทึกจับกุมระบุถึงพฤติการณ์การจับกุมมีรายละเอียดโดยสรุปว่า เจ้าหน้าที่สืบสวน กก.2 บก.ส.2 ตรวจพบความเคลื่อนไหวทางสังคมออนไลน์ พบผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งมีพฤติการณ์เผยแพร่ข้อความ รูปภาพ มีลักษณะลดทอนคุณค่าและให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ โดยตรวจพบว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 19 พ.ค. 2566 ในคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ต่อมา ในวันที่ 6 พ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่าผู้ต้องหาพักอยู่ที่ใด จึงได้นำกำลังชุดจับกุมเข้าจับกุมที่บ้านพัก และนำตัวไปที่ สน.ตลิ่งชัน เพื่อจัดทำบันทึกจับกุมในช่วงประมาณ 14.00 น.

ณัฐกานต์ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังของ สน.ตลิ่งชัน ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวไปถึงในช่วงบ่ายของวันที่ 6 พ.ย.  จนถึงเช้าวันที่ 7 พ.ย. 2566 ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง เดินทางมารับตัวเขาเพื่อนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทลุง

นาทีถูกจับกุม ปากคำของ “เจมส์”

ในช่วงเช้าของวันที่ 6 พ.ย. เจมส์นำรถมอเตอร์ไซค์ไปซ่อมทิ้งไว้ที่อู่แห่งหนึ่ง และเมื่อกลับถึงบ้านประมาณ 11.00 น. เขาก็ถูกตำรวจเข้าล้อมจับ ตำรวจแสดงหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุงให้ดู จากนั้นรีบยึดโทรศัพท์มือถือเขาทันที 

เจมส์พยายามยืนยันสิทธิของตัวเองว่าจะต้องได้โทรหาทนายความและผู้ไว้วางใจก่อนเป็นอย่างแรก แต่เจ้าหน้าที่พยายามดึงโทรศัพท์ออกไปจากมือและยึดไว้ ตำรวจแจ้งว่าเจมส์ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังจากได้รับการยืนยันจากเจมส์ว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง ตำรวจหลายคนก็สลับกันเข้ามาคุยกับเขา ทำให้เขาสับสน จากนั้นตำรวจนำภาพโพสต์เฟซบุ๊กหลายภาพมาให้เขาเซ็นรับรองว่า เป็นเฟซบุ๊กของเขาจริง

เจมส์บอกว่าจำไม่ได้ว่ากี่ภาพ แต่มีหลายภาพมาก เขาสังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นข้อความและภาพที่โพสต์เมื่อหลายปีมาแล้ว จากนั้นตำรวจขอให้มอบ ‘รหัสปลดล็อกหน้าจอ’ โทรศัพท์มือถือ โดยอ้างว่าต้องการจะตรวจดูหน้าบัญชีเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว แต่เขาก็ไม่รู้ว่าตำรวจทำอะไรกับโทรศัพท์ของเขาบ้าง จนกระทั่ง 14.00 น. ตำรวจถึงคืนโทรศัพท์กลับให้เขา เจมส์จึงใช้โอกาสนั้นโทรติดต่อหาบุคคลใกล้ชิดเพื่อให้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

พบแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหาอีกคดี

ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 7 พ.ย. เจมส์ได้ถูกตำรวจนำตัวมาถึง สภ.เมืองพัทลุง โดยมีทนายความอาสา และนักศึกษาจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) ติดตามไปพบในเบื้องต้น ทราบว่าเจมส์ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องยารักษาโรคซึมเศร้า โดยได้แจ้งกับทางพนักงานสอบสวนเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับ

ทางตำรวจได้ระบุด้วยว่าคดีนี้ได้เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหาไปสองครั้ง แต่ผู้ต้องหายังไม่ได้เดินทางมา ทำให้มีการร้องขอออกหมายจับจากศาล และคดีนี้ทางผู้กำกับการของสถานีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในส่วนของตำรวจในชั้นสอบสวน โดยเจมส์ยืนยันว่าไม่เคยเห็นหมายเรียกมาก่อน เนื่องจากอาศัยอยู่ที่บ้านเช่า และคาดว่าหมายเรียกอาจจะถูกส่งไปที่บ้านพักหลังเดิมในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

เจมส์ได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองพัทลุง จนบ่ายวันนี้ 8 พ.ย. 2566 ทาง ร.ต.ท.สุภัทร์ ขุนนุ้ย พนักงานสอบสวน ได้นัดหมายทนายความ เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนเจมส์ โดยพบว่าคดีมี ทรงชัย เนียมหอม แกนนำของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้กล่าวหาได้เล่นเฟซบุ๊กอยู่ที่บ้าน และเข้าไปดูบัญชีสาธารณะที่เคยติดตามดูเรื่องเกี่ยวกับการเมือง พบข้อความจำนวน 3 โพสต์ ที่ผู้กล่าวหาเชื่อว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐฯ เป็นเหตุให้กษัตริย์ได้รับความเสียหาย ผู้กล่าวหาจึงร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี

เจมส์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่ สภ. อีกหนึ่งคืน 

ศาลไม่ให้ประกันตัว ระบุว่าคดีโทษสูง-ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง แม้ยืนยันถึงการประกอบอาชีพทำให้ต้องไปเช่าบ้านอยู่ ไม่เคยเห็นหมายเรียก

เช้าวันที่ 9 พ.ย. จะนำตัวไปขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วันที่ศาลจังหวัดพัทลุง โดยอ้างเหตุยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือและประวัติผู้ต้องหา ทั้งยังได้ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี 

ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว โดยขอวางหลักทรัพย์จำนวน 150,0000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

คำร้องยืนยันว่าผู้ต้องหาประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ทำให้ต้องเช่าบ้านพักอยู่ใกล้บริเวณที่ทำงาน จึงไม่ได้รับหมายเรียกของพนักงานสอบสวน โดยหากได้รับหมายเรียก ผู้ต้องหาก็จะเดินทางมาตามนัดหมาย โดยไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้มีพฤติการณ์ขัดขืนการจับกุมที่เกิดขึ้น และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

ต่อมาเวลาประมาณ 15.24 น. ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอาจไปกระทำในลักษณะเดิมอีก ทำให้ในวันนี้เจมส์จะถูกนำตัวไปยังเรือนจำกลางพัทลุง

ภาพศาลจังหวัดพัทลุง จากผู้ใช้งานบัญชี Google ชื่อ Tomorn Boonnok

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เจมส์นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายที่ 5 ที่ถูกแจ้งข้อหาโดยมีแกนนำของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันรายนี้เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้มีคดีกระจายไปในหลายสถานีตำรวจในภาคใต้ ทั้งคดีของ “สินธุ” ที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, คดีของ “ดลพร” ที่ สภ.เมืองกระบี่, คดีของธีรเมธ ที่ สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง และคดีของณัฐพล ที่ สภ.คอหงส์ จ.สงขลา แต่เจมส์เป็นรายแรกที่ถูกคุมขังจากกรณีเหล่านี้ ทำให้มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูลไม่น้อยกว่า 15 คน แล้ว

X