หนุ่มกรุงเทพฯ ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ถึง สภ.คอหงส์ เหตุแกนนำกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ ไปกล่าวหาข้อความในทวิตเตอร์ปี 64

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ที่สถานีตำรวจภูธรคอหงส์ จังหวัดสงขลา ‘ณัฐพล’ (สงวนนามสกุล) หนุ่มจากกรุงเทพฯ วัย 27 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากถูกแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันแจ้งความกล่าวหาไว้ จากภาพและข้อความในทวิตเตอร์ตั้งแต่ปี 2564

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ณัฐพลเคยได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้มาสอบปากคำในฐานะพยาน ในคดีที่ระบุว่ามี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหา ในข้อหาตามมาตรา 112 เขาได้ยื่นขอให้พนักงานสอบสวนเดินทางมาสอบปากคำสถานีตำรวจในกรุงเทพฯ ตามภูมิลำเนาของเขาแทน

จนวันที่ 9 มิ.ย. 2566 พ.ต.ท.ชยพล เฮงถาวรเจริญ รองผู้กำกับสอบสวน กลุ่มงานสอบสวนภูธรจังหวัดสงขลา ได้เดินทางมาสอบปากคำณัฐพล โดยมีทนายความเดินทางไปร่วมด้วย

หลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณัฐพลได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ให้เดินทางไปรับทราบข้อหาที่ สภ.คอหงส์ และเขาได้นัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้

.

เวลาประมาณ 10.20 น. ณัฐพล พร้อมกับทนายความ ญาติ และผู้ไว้วางใจ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.สุวโรจน์ ลุนหวิทยานนท์ รองผู้บัญชาตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา พร้อมคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งได้สลับกันเข้าไปภายในห้องสอบสวน พร้อมรบันทึกวิดีโอระหว่างสอบสวน โดยที่ตำรวจได้ให้ผู้สังเกตการณ์จากกลุ่ม Law Long Beach ออกจากห้องสอบสวนด้วย โดยระบุว่ามีพื้นที่ในห้องสอบสวนไม่เพียงพอ 

ตำรวจระบุว่าคดีนี้ทางภูธรจังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนสำหรับดำเนินการ โดยคณะมีตำรวจประมาณ 15-16 นาย มีทั้งชุดพนักงานสอบสวนและชุดสืบสวน จาก สภ.คอหงส์ สภ.เมืองสงขลา และภูธรจังหวัดสงขลา 

สำหรับข้อกล่าวหาที่ณัฐพลถูกกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. ทรงชัย เนียมหอม ผู้กล่าวหา อยู่ที่สวนสาธารณะหาดใหญ่ ได้เข้าใช้งานทวิดเตอร์ที่ใช้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับบุคคลที่หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ชื่อประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน และได้ตรวจสอบพบบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่โพสต์สาธารณะที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ต้นโพสต์มีใจความว่า “เคยได้ยินตอนเด็กๆ มีครูมาเม้าให้ฟัง สรุปมันจริงหวะ”

ในหน้าโพสต์เดียวกัน ใต้ข้อความดังกล่าว มีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ คู่กับบุคคลเพศหญิง พร้อมมีเนื้อหาบรรยายที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จ มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกล้อเลียน ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ และเข้าใจต่อรัชกาลที่ 10 ไปในทางที่ผิดอย่างร้ายแรง จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว และผู้กดไลค์กดแชร์ข้อความดังกล่าว

ณัฐพล ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทางตำรวจยังได้ขอตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ของเขา โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเขาก็ยินยอมให้ตำรวจเปิดดูแอพพลิเคชั่นในการสื่อสารต่างๆ ด้วยตนเอง และตำรวจได้ถ่ายภาพทั้งหมดเอาไว้ 

ตำรวจได้ให้ณัฐพลพิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวัน ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยใช้เวลาสอบสวนประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ และจะนัดหมายมาส่งสำนวนให้อัยการต่อไป

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อนหน้าคดีนี้ มีประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ราย ถูกแจ้งข้อหาคดีมาตรา 112 โดยมี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหา กระจายไปในพื้นที่สถานีตำรวจทางภาคใต้ ทั้งกรณีของ “สินธุ” ที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, “ดลพร” ที่ สภ.เมืองกระบี่ และ ธีรเมธ ผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งถูกดำเนินคดีที่ สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง โดยมีรายงานว่าแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าวได้แจ้งความคดีต่างๆ ไว้อีกนับสิบคดีในพื้นที่ 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 นับแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 277 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 256 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหากันเองจำนวน 134 คดี พบว่าโดยส่วนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะปกป้องสถาบันฯ เป็นหลัก

.

X