เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 เวลา 13.00 น.“สินธุ” (นามสมมติ) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจังหวัดจันทบุรีวัย 27 ปี พร้อมกับทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง โดยตำรวจแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มเติม จากที่เคยแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2566 สินธุได้เดินทางมาจากจันทบุรีไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.ตะโหมด มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังได้รับหมายเรียกในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยตำรวจแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ข้อหาเดียว เหตุจากข้อกล่าวหาว่าได้ไปคอมเมนต์ท้ายโพสต์ในเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 พร้อมข้อความอักษรประกอบภาพ ระบุว่า “‘ในหลวง-พระราชินี’ ไม่เคยรับเงินเดือน หรือ ‘ทรงไม่รับเงินปี’ ที่รัฐบาลถวายองค์ละ 60 ล้านต่อปี เงินทั้งหมดคืนให้ประชาชนทุกบาททุกสตางค์”
.
หลังจากนั้น ทางพนักงานสอบสวนในคดีได้สรุปสำนวนส่งให้กับคณะทำงานของภูธรจังหวัดพัทลุง แต่ทางคณะกรรมการของตำรวจได้มีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้พนักงานสอบสวนติดต่อเรียกให้สินธุเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกครั้ง
ในการเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา สินธุต้องใช้เวลาถึงสองวันในการเดินทาง จากจันทบุรี นั่งรถเข้ามาต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ มาลงที่หาดใหญ่ และเช่ารถจักรยานยนต์ขี่มายังอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งห่างจากหาดใหญ่ราว 65 กิโลเมตร ในเส้นทางที่ไม่รู้จักและไม่เคยไปมาก่อน ทั้งยังมีฝนตกมาตลอดทาง
“ครั้งที่แล้วที่มา ฝนก็ตก วันนี้ก็ตก” คำทักทายแรกจากพนักงานสอบสวน
ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ ได้แจ้งข้อหาและสอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีพนักงานสอบสวนอีกนายหนึ่งร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย โดยมีการยกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายภาพผู้ต้องหา และทนายความระหว่างสอบสวนด้วย สินธุได้รับทราบข้อหา และยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยไม่ขอให้การใดๆ เพิ่มเติม ก่อนตำรวจให้เดินทางกลับไป
ก่อนหน้านี้ สินธุเคยเปิดเผยว่า เขายืนยันจะต่อสู้คดีที่เกิดขึ้น แต่การถูกดำเนินคดึไกลถึงพัทลุง ก็สร้างความกังวล เนื่องจากเขาทำงานเป็นลูกจ้าง และมีข้อจำกัดในการลางาน ไม่สามารถลาได้บ่อยๆ ไม่แน่ใจว่าอาจจะส่งผลกระทบถึงขั้นต้องออกจากงานหรือไม่ ทั้งการเดินทางไกล ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ไป-กลับเที่ยวหนึ่งเกือบหนึ่งหมื่นบาท ทำให้กังวลเรื่องภาระในการต่อสู้คดีในส่วนนี้ด้วย
———————————
* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”
.