23 มิ.ย. 2565 เวลา 08.41 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “ใบปอ” (นามสมมติ) และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เป็นครั้งที่ 5 ในคดีจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โดยขอวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 200,000 บาท
ก่อนหน้านี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้น ศาลมีคำสั่งให้ประกันจำเลย 6 คนระหว่างพิจารณาคดี โดยกำหนดเงื่อนไข ติดกำไล EM ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ แต่ไม่ให้ประกันตัวบุ้งและใบปอ ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกถอนประกันไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 แม้พนักงานอัยการจะไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งแปด
.
อ่านคำฟ้องเพิ่มเติม >>> ยื่นฟ้อง “ม.112 – ม.116” 8 นักกิจกรรม – สื่ออิสระ แล้ว กรณีทำ “โพลขบวนเสด็จ” ที่พารากอน ก่อนศาลต่อประกัน 6 ราย โดยติด EM แต่ยังไม่ให้ประกัน “ใบปอ – บุ้ง” จากกลุ่มทะลุวัง
.
โดยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ มีใจความสำคัญ ระบุว่า
1.จำเลยทั้งสองถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 ตามหมายขังของศาลอาญากรุงเทพใต้มาเป็นระยะเวลากว่า 50 วันแล้ว และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลยทั้งสอง โดยทั้งสองมีอาการปวดท้อง เวียนหัว ร่างกายอ่อนเพลีย โดยเฉพาะบุ้ง จำเลยที่ 3 ที่มีอาการอาเจียนร่วมด้วยหลายครั้ง ประกอบกับก่อนที่จะถูกคุมขัง แพทย์เฉพาะทางที่รักษาบุ้งเป็นประจำได้วินิจฉัยพบว่าบุ้งมีก้อนเนื้อที่มดลูก ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องกินยาเป็นประจำเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการที่ก้อนเนื้อดังกล่าวจะกำเริบต่อไป การที่ถูกคุมขังในคดีนี้ทำให้จำเลยไม่สามารถรักษาตัวได้อย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับการต่อสู้คดีนั้น จำเลยทั้งสองจำเป็นต้องได้ติดต่อขอความยินยอมต่อประจักษ์พยานและพยานบุคคลอื่นด้วยตนเอง เพื่อให้มาเป็นพยานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในชั้นศาล
2.การที่จำเลยทั้งสองถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 50 วัน ยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของจำเลยทั้งสอง กล่าวคือ ใบปอ จำเลยที่ 2 ในฐานะนิสิต นักศึกษาประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วยอึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขาดสอบวัดผลตามกำหนดการที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ใบปอยังตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในการศึกษาที่จะส่งผลต่ออนาคตของตัวเอง จึงได้ดำเนินเรื่องขออนุญาตภาควิชาในการดำเนินการสอบวัดผลย้อนหลังหากได้รับอนุญาตในการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของจำเลยไม่ให้ต้องพ้นสภาพนักศึกษา
ในส่วนของบุ้งนั้น ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ บุ้งมีอาชีพรับจ้างสอนพิเศษ เพื่อเลี้ยงดูมารดาของตัวเอง ซึ่งมีอาการป่วยหนัก และมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมทำให้จำเลยมีโอกาสกลับไปเลี้ยงดูและจัดการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรคของมารดาได้
ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของจำเลยทั้งสอง ที่มีความประสงค์ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย และค้นหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง รวมถึงสามารถกลับไปสอบวัดผลและศึกษาต่อในสถานศึกษาได้ ตลอดจนกลับไปประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูมารดาได้ จำเลยทั้งสองได้ให้คำยืนยันว่า หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติขณะปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลอย่างเคร่งครัด
หากศาลเกรงว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลซ้ำอีก ก็ขอให้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีกำหนดระยะเวลา 60 วัน ซึ่งหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลอาจสั่งเพิกถอนประกันหรือไม่อนุญาตให้ประกันจำเลยต่อไปในภายหลัง
.
ต่อมาในเวลา 11.57 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 และ 3 อ้างว่ามีอาการปวดท้อง ร่างกายอ่อนเพลียนั้นเนื่องจากในเรือนจำมีแพทย์และโรงพยาบาลที่สามารถดูแลรักษาอาการดังกล่าวได้ กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา บุ้งได้มีอาการทรุดหนักจนต้องถูกส่งตัวเข้าสถานพยาบาลกลางดึก อีกทั้งการที่บุ้งไม่ได้รักษาก้อนเนื้อในมดลูกจากแพทย์เฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อสุขภาพของเธอในระยะยาว และการที่ใบปอไม่สามารถรักษาสิทธิทางการศึกษาของเธอไว้ได้ อาจส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษาของเธอในภายภาคหน้าอีกด้วย
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
อดอาหารวันที่ 21 “บุ้ง” อาการทรุดหนัก ต้องออกไปสถานพยาบาลกลางดึก |