รู้จัก “บุ้ง ทะลุวัง” ผู้ต้องหา 112 และลูกตุลาการผู้อดอาหารประท้วงขอคืนความยุติธรรม 

“บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) ติวเตอร์และนักกิจกรรม วัย 26 ปี ซัปพอร์ตเตอร์ผู้เป็นฉากหลังคอยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางการเมืองของน้องๆ เกิดขึ้นได้นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ประเด็นการศึกษาของกลุ่มนักเรียนเลว มาจนถึงการตั้งคำถามดันข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ของกลุ่มทะลุวังในปัจจุบัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของเยาวชนว่า เป็นพลังแห่งความบริสุทธิ์ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และพลังแห่งอนาคต

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก บุ้งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวตุลาการ พ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ มี “ศาล” เป็นสนามเด็กเล่น และได้ผู้พิพากษาที่ให้ความเอ็นดูมาเป็นเพื่อนเล่นเช่นกัน เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย บุ้งสารภาพว่า สมัยเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย เธอมีมุมมองต่อสังคมการเมืองตรงข้ามกับในตอนนี้มากนัก บุ้งเคยเข้าร่วมม็อบ กปปส. และเมื่อครั้งที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อย เธอในชุดเครื่องแบบนักเรียนก็เห็นดีเห็นงามด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอเติบโตขึ้น ได้รับสารหลายทางมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุล้อมปราบคนเสื้อแดง เขาคนนั้นเป็นเพียง “คนไร้บ้าน” ที่ถูกสไนเปอร์ยิง สิ่งนี้เปลี่ยนความคิดและมุมมองทางเมืองทั้งชีวิตที่ผ่านมา ความรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงในฐานะ 1 เสียงที่สนับสนุนให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศจนมีผู้เสียชีวิตนับไม่ถ้วน นำทางเธอเข้าสู่สนามการเคลื่อนไหวการเมือง

แม้บุ้งจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้คอยสนับสนุนกิจกรรมของทะลุวัง แต่ทว่าเธอถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองถึง 3 คดี โดยเป็นคดีตามมาตรา 112 จากการทำโพลของทะลุวัง 2 คดี หนึ่งในนั้นคือ กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่ทำให้เธอและ “ใบปอ” ต้องถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันและส่งไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565  

จนถึงขณะนี้ ศาลก็ยังคงไม่ให้ประกันตัว บุ้งและจึงเริ่มต้นอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2565 โดยยืนยันว่าจะอดอาหารต่อไปจนกว่าจะศาลจะให้ประกันตัว 

ชวนรู้จักตัวตน ชีวิต และเส้นทางการต่อสู้ ของ “บุ้ง” ผ่านบทสนทนาสั้นๆ จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ ขณะเธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนานกว่า 1 เดือน และทำอดอาหารประท้วงนาน 1 สัปดาห์แล้ว 

โตมาในครอบครัวตุลาการ

บุ้งเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในครอบครัววงการตุลาการ พ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ ตัวบุ้งเองก่อนหน้านี้ก็ถูกคาดหวังว่าให้เรียนกฎหมายเหมือนพ่อ เติบโตมากับการวิ่งเล่นที่ศาล เลิกเรียนมาก็จะไปที่ศาล 

เคยมีผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่หลายคนรู้จักชื่อดี เคยบอกว่า ‘มีอะไรให้บอกเขานะ บอกได้ เพราะเราเป็นลูกหลานตุลาการ’ บุ้งไม่คิดเหมือนกันว่าสถานที่ที่บุ้งเติบโตวิ่งเล่นมา วันนี้จะเป็นที่ที่ตัดสินให้บุ้งมาอยู่ในคุก เพียงเพราะบุ้งช่วยน้องทำโพลตั้งคำถาม กล่าวหาว่าบุ้งเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ เหมือนว่าสิ่งที่บุ้งทำร้ายแรงมาก 

บุ้งเห็นว่าลูกหลานตุลาการคนอื่นๆ ก็จะออกมาอีกในอนาคต ไม่ใช่แค่บุ้ง เพราะเขาจะเห็นว่าความยุติธรรมเหลือน้อยลงทุกทีในประเทศเผด็จการนี้ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะพูด แม้จะเติบโตมาในศาล ต้องนับถือผู้พิพากษาเป็นลุง เป็นอา นับถือกันเป็นญาติ แต่ไม่มีผู้พิพากษาคนไหนเลยที่จะยืนเคียงข้างบุ้งและเรียกร้องให้บุ้งออกไปเลย

เริ่มสนใจการเมืองและเข้ามาเคลื่อนไหวได้ยังไง

ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าสมัยมัธยมปลายบุ้งเคยเป็นสลิ่ม เคยไปร่วมม็อบ กปปส. มาก่อน เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่นั้น เราอัปเดตข้อมูลมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเราตาสว่างเพราะ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ตอนนั้นคุณช่อเอารายชื่อคนที่ตายจากการเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 มาให้ดูว่ามีใครบ้าง แล้วปรากฏว่าหนึ่งในนั้นเป็นแค่ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกสไนเปอร์ยิง

จากข้อเท็จจริงนั้นทำให้สิ่งที่บุ้งเคยเชื่อในอดีตกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดหมดเลย หลังจากนั้นบุ้งก็หาข้อมูลมากขึ้น จนรู้สึกว่าตัวเองตาสว่าง แล้วก็รู้สึกผิดมากต่อคนเสื้อแดง (ร้องไห้) ตอนนั้นพอวันรุ่งขึ้นมันมีการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ด้วย แต่บุ้งไม่ได้ไปกับเขาด้วยนะ ตอนนั้นเราก็รับรู้ในแบบที่รัฐบาลต้องการให้เรารู้ (สะอึกและร้องไห้)

มารู้เอาตอนหลังว่า Big Cleaning Day มันคือการทำลายหลักฐาน ทำให้หลายคนที่สูญเสียญาติ เสียพี่น้อง เสียคนรักไปไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่ากระสุนถูกยิงมาจากตรงไหน เพราะหลักฐานมันถูกทำลายไปหมดแล้ว

เราก็เลยรู้สึกผิดมาตลอด คิดว่าจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเขา บุ้งคิดว่ากลับกันถ้าเป็นเราที่สูญเสีย เป็นคนที่เรารักถูกยิงตายอยู่ตรงนั้น เราจะหาหลักฐานมาเรียกร้องหาความยุติธรรมให้คนเขาไม่ได้เลย มันจะรู้สึกแย่ขนาดไหน (ร้องไห้และเสียงสั่นเครือตลอดเวลา) 

ทำไมถึงเริ่มต้นการเคลื่อนไหวด้วยเรื่อง “การศึกษา” 

บุ้งเริ่มต้นเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาก่อน ตั้งแต่กลางปี 2563 เพราะว่าเราเป็นติวเตอร์ด้วย เรารู้สึกว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยมันล้าหลังหลายอย่างเลย หลักสูตรการสอนที่มันไม่อัพเดตให้ทันสมัย ตีกรอบความคิดของเด็กนักเรียนให้อยู่แต่ในโอวาท ไม่ให้มีความคิดเป็นของตัวเอง

เรื่องแรกที่เราเรียกร้องตอนนั้น คือ เรื่องสิทธิการไว้ ‘ทรงผม’ ของนักเรียน LGBT+ เรามองว่าเขาเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วทำไมเขาจะไว้ทรงผมตามเพศสภาพของเขาไม่ได้ เขาควรจะมีสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวและร่างกายมากกว่านี้ แล้วบางครั้งกฎระเบียบของโรงเรียนให้อำนาจครูลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุได้ด้วย ทั้งๆ ที่มันเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก

จนมาช่วงกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นช่วงที่เด็กๆ ยังไม่ได้วัคซีนป้องกันโควิดกัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราโกงกินกันอย่างสนุกสนาน เยาวชนและเด็กในประเทศเรายังไม่ได้ฉีดกันสักเข็มเลย บุ้งก็เลยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องวัคซีนให้กับเด็กๆ 

บุ้งมีบทบาทอะไรในการเคลื่อนไหว

เราเคลื่อนไหวโดยคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลังเด็กๆ ที่เขาออกไปเคลื่อนไหว เพราะส่วนใหญ่ที่ออกมากันก็ยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่มีความพร้อมเรื่องทรัพยากร บุ้งก็จะช่วยหาเงินให้การเคลื่อนไหวของเขามันไปต่อได้ เด็กบางคนแค่ออกมาเคลื่อนไหวก็โดนพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย เพราะว่าทัศนคติแตกต่างกัน โดนลิดรอนเสรีภาพ เราไม่มีแรงอำนาจภายในที่จะปกป้องเขาได้ เราก็เลยเลือกที่จะมาทำตำแหน่งนี้

ทำไมต้องเป็น “เด็ก – เยาวชน”

ตอนเด็กๆ ช่วงก่อนตาสว่าง บุ้งได้คุยกับทิชา ณ นคร เขาถามเราว่า ‘เคยไปที่บ้านกาญจนาไหม’ เขาบอกว่า ‘ที่นั่นจะไม่มีรั้วกั้นเลยนะ เด็กสามารถเดินออกมาได้เลย แต่ก็ไม่เคยมีใครเดินออกมาสักคน’ ทิชาอธิบายให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว ‘เด็กเป็นผ้าขาว’ อะไรที่เขาทำผิดพลาดไปมันเกิดมาจากการที่สังคมบีบให้เขาต้องทำแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงแค่ไหนก็ตาม 

ตอนนั้นทิชายกตัวอย่างว่า ไม่ว่าเป็นคดีฆาตกรรมหรือเป็นคดีทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดล้วนมาจากสังคมที่ทำให้เด็กต้องเป็นแบบนั้น หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับทิชา บุ้งเลยค่อนข้างเชื่อในพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เลยตัดสินใจเข้ามาสนับสนุนเยาวชนมากกว่า

จุดเริ่มต้นการทำ “โพล” ตั้งคำถามของทะลุวัง

ช่วงพฤศจิกายน 2563 บุ้งได้ทำม็อบกับกลุ่มนักเรียนเลว แล้วมีโอกาสได้เวิร์คช็อปกับทนายอานนท์ นำภา พี่อานนท์บอกว่า ‘การตั้งคำถามจะเป็นอะไรที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ผิดมาตรา 112’ มันก็เลยติดอยู่ในใจบุ้งมาตลอดว่า บุ้งอยากเคลื่อนไหวด้วยการตั้งคำถามที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคม

บวกกับตอนนั้นที่เคยจัดม็อบของนักเรียน นักเรียนเขาทำโพลเกี่ยวกับผ้าอนามัยในม็อบ บุ้งก็เลยคิดมาตลอดว่าอยากจะทำโพล จนกระทั่งได้มาทำกับทะลุวัง

‘ทะลุวัง’ คนที่ก่อตั้งมี 3 คน คือ ใบปอ สายน้ำ และตะวัน แต่ตอนหลังตะวันกับสายน้ำก็ออกไป แล้วก็มีเมนู กับ พลอยเข้ามา ซึ่งไอเดียการทำโพล ก็ได้มาจากบุ้งนี่แหละ แต่ตอนนั้นบุ้งยังคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลังอยู่ ยังไม่ได้เรียกตัวเองเต็มปากว่าเป็น ‘บุ้ง ทะลุวัง’ หรืออะไร

ก่อนจะออกมาเคลื่อนไหวได้ประเมินไหมว่าจะต้องเจออะไรบ้าง 

ตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสถาบัน เราก็ประเมินไว้ว่าอาจจะหนักสุดถึงขั้น ‘ตาย’ ก็ได้ แต่ว่าในวันนั้นบุ้งไม่ได้เป็นคนที่อยู่ข้างหน้า บุ้งก็ไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะโดน 112 ด้วย จนต้องเข้าเรือนจำอยู่ตอนนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าการออกมาเคลื่อนไหวอะไรแบบนี้ พวกเราจะต้องเสียอะไรไปเยอะมากแน่ๆ แต่วันนั้นที่เราไปทำโพลขบวนเสด็จ เราไปดูแลน้อง แต่เราก็ไม่คิดเลยว่าจะโดน 112

วันนี้ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 คิดว่า “ได้” หรือ “เสีย” อะไรบ้าง

รู้สึกดีใจที่โพลมันแมส มันสำเร็จในขั้นหนึ่งที่เราต้องการจะเห็น ก็คือการดึงความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาว่าต้องสามารถตั้งคำถามได้ เพราะว่าประเทศไทย ทั้งระบบในครอบครัว ในโรงเรียน มันสอนให้เชื่อง ให้เชื่อฟัง ไม่ได้สอนให้คนตั้งคำถาม ซึ่งการตั้งคำถาม การวิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น มันเป็นพื้นฐานขั้นต้นของระบอบประชาธิปไตยเลยนะ

ขณะเดียวกันถามว่าเสียอะไรไปบ้างไหม ก็สูญเสียคล้ายๆ ใบปอเลย คือเสียเพื่อนร่วมงาน เสียเงิน เสียอิสรภาพ เสียทรัพยากรที่ไม่ควรจะเสีย เสียอะไรหลายหลายอย่างในใจไปเยอะเหมือนกัน แล้วก็รู้สึกว่า ‘สูญเสียตัวตน’ ไปด้วย ซึ่งข้างหลังนี้มันก็ยากที่จะเอากลับคืนมา

สูญเสียตัวตนยังไง

การที่บุ้งมาทำตรงนี้ทำให้บุ้งโฟกัสอยู่แต่กับการเคลื่อนไหว จนลืมไปแล้วว่าตัวตนของเราที่ถ้าไม่ได้ทำตรงนี้ เราจะเป็นคนยังไง เราจะมีความชอบอะไร เราจะใช้ชีวิตแบบไหน อยากมีลูกไหม อยากแต่งงานไหมหรือเปล่า

กลายเป็นว่าความเคลื่อนไหวทำให้เราตัดหมดเลย ลืมไปหมดแล้วว่าตัวตนของเราจริงๆ คืออะไร นึกไม่ออกว่าเวลาว่างถ้าจะทำงานอดิเรก จะทำอะไร 

โดยเฉพาะ “การถูกขังในคุก” ทำให้สูญเสียอะไรบ้าง

บุ้งสนับสนุนเยาวชนก็จริง แต่ส่วนหนึ่งที่บุ้งมาทำก็เพราะเกิดจากการทำผิดอย่างใหญ่หลวงต่อคนเสื้อแดง บุ้งทำให้การฆ่าคนเสื้อแดงตอนนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ เป็นเรื่องที่ถูก 

ถ้าถามว่าการถูกขังทำให้เสียไหม คำตอบคือ “ไม่” บุ้งคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องชดใช้อยู่แล้ว บุ้งไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะขอคำอภัยจากคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ เพราะว่าสิ่งที่เขาสูญเสียไปเทียบไม่ได้เลยกับการที่บุ้งติดคุก

ทำไมถึงรู้สึกผิดและรู้สึกต้องรับผิดชอบต่อคนเสื้อแดงขนาดนั้น 

หนึ่งเสียงที่สนับสนุนเผด็จการให้เกิดขึ้นในประเทศ มันก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้วค่ะ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย และหนึ่งในเสียงนั้น ต่อให้เป็นเสียงของบุ้งแค่คนเดียว ไม่ได้ใหญ่เท่าแกนนำ แต่สนับสนุนให้เขาสามารถทำเรื่องที่ผิดขนาดนั้นได้ เป็นหนึ่งเสียงที่สนับสนุนให้ฆ่าคน และเมื่อเราออกมาเคลื่อนไหวก็ไม่ใช่ใครที่ไหนที่ออกมาเคียงข้างเราก็คือ ‘คนเสื้อแดง’ 

หลังจากติดคุกมา 1 เดือนกว่า มองภาพ “อนาคต” ของตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

เปลี่ยนค่ะ, เพราะว่าก่อนหน้านี้บุ้งวางบริบทของตัวเองไว้ว่าจะอยู่ข้างหลัง คอยซัพพอร์ตน้องๆ สัญญากับตัวเองไว้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่ทิ้งน้องไปไหน 

แต่ตอนนี้บุ้งเหมือนรู้สึกถูกผลักให้ออกมาอยู่ข้างหน้า ถูกทำให้ติดคุก บุ้งจะไม่เรียกตัวเองว่าแกนนำ แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะเห็นว่าบุ้งเป็นแกนนำไหม แล้วมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ระหว่างการเป็นคนที่อยู่ข้างหลังกับการอยู่ข้างหน้า อาจจะต้องวางบทบาทของตัวเองใหม่ แต่ยังไงบุ้งก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ก็คือซัพพอร์ตคนรุ่นใหม่

ทำไมถึงเลือก “อดอาหาร”

เรายื่นประกันไปหลายรอบแล้ว จนกระทั่งเพื่อนๆ เราก็ได้ออกไปแล้ว แล้วในสิ่งที่บุ้งทำ บุ้งไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนบุ้งถูกถอนประกัน เพราะบุ้งแค่ไปยืนอยู่ตรงนั้นเฉยๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมต่อตัวเอง พอศาลไม่ให้ประกันครั้งที่ 4 อยู่ๆ ใบปอก็พูดกับบุ้งว่า ‘หนูจะอดข้าวแล้ว’ บุ้งเลยโอเค ถ้าน้องจะอดบุ้งก็จะอดไปกับน้อง 

คิดยังไงที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารของเรา

ก่อนที่บุ้งจะเข้ามาบุ้งก็ได้ยินตลอด เพราะตะวันเข้ามาก่อนบุ้งประมาณ 2 อาทิตย์ เราก็จะได้ยินมาตลอดว่า ถ้าได้เข้าไปในเรือนจำ ไปบอกน้องด้วยนะว่า ‘ให้เลิกอดอาหาร’

บุ้งก็ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า บุ้งไม่ห้ามเจตจำนงของใคร ขณะเดียวกันสิ่งที่บุ้งทำได้ คือ เคารพการตัดสินใจของน้องว่าน้องอดอาหาร แล้วก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้น้องได้ออกมา 

มันไม่ใช่ความผิดของคนที่ประกาศอดอาหาร แต่มันเป็นความผิดของกระบวนการยุติธรรมที่บีบให้เขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกและนี่เป็นทางเลือกสุดท้ายของเขาที่จะต่อต้านความไม่เป็นธรรม

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลสั่งถอนประกัน “ใบปอ – เนติพร” ผู้ต้องหา ม.112 คดีทำโพลขบวนเสด็จ ชี้สร้างความวุ่นวายกับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ผิดเงื่อนไขประกัน

‘บุ้ง – ใบปอ’ อดอาหารเข้าวันที่ 5 หลังศาลไม่ให้ประกันตัว อยากให้รู้ว่ายังสู้อยู่ในนี้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอดอาหาร

จากไผ่ถึงตะวัน: ทบทวนปฏิบัติการ 18 ราษฎร “อดอาหาร” เพื่อประท้วง-เรียกร้อง-ต่อต้าน ให้รัฐและตุลาการมอบความยุติธรรมกลับคืน

วางชีวิตเป็นเดิมพัน: พลังของการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ผลลัพธ์และการตอบสนองจากรัฐ

กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์: เมื่อถูกรัฐกักขัง การทรมานร่างกายด้วยการ “อดอาหาร” จึงเป็นอาวุธอย่างสุดท้ายของประชาชน

X