วันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี อัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยเขาถูกกล่าวหาใน 2 คดี ได้แก่ คดีที่สืบเนื่องจากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด คดีนี้เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และมาตรา 358 “ทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสื่อมค่า” ก่อนที่ในวันต่อมาจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ เคยมีข้อสังเกตหลายประการต่อการเข้าจับกุมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับตัวนิว โดยที่ไม่แจ้งรายละเอียดต่อเพื่อนหรือญาติ ว่าจะนำตัวเขาไปสอบสวนตามกระบวนการที่ไหน ทำให้ไม่มีใครติดต่อเขาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำตัวไปยังสถานีตำรวจเจ้าของคดีในทันที เข้าข่ายบังคับให้สูญหายไปขณะหนึ่ง (short term disappearance), การที่ตำรวจตั้งข้อหา 112 ทั้งๆ ที่ข้อหาดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่รวมเชื้อพระวงศ์รายอื่น รวมไปถึงการเข้าตรวจค้นที่พักในยามวิกาล ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายค้นในที่แรก ต่อเมื่อตรวจค้นเสร็จแล้ว จึงได้แสดงหมายค้นด้วย
อ่านประมวลสถานการณ์การเข้าจับกุม ‘นิว’ สิริชัย >>> จนท. หลายสิบนาย บุกจับ น.ศ. ปี 1 ยามวิกาล ก่อนแจ้งข้อหา ม. 112 เหตุพ่นสีข้อความ ‘ยกเลิก 112’
อีกคดีคือคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากนักศึกษารายนี้ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์สื่อสาร โดยหลังจากสิริชัยได้รับการประกันตัวจากคดี 112 ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มกราคม 2564 ทางเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. ได้ติดตามมายังศาลจังหวัดธัญบุรี และได้แสดงหมายศาลขอเข้าถึงรหัสอุปกรณ์สื่อสาร แต่นิวปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง เนื่องจากยืนยันว่าเหตุในคดีแรกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จนเป็นเหตุทำให้เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 18 และ 27
อ่านประมวลเหตุการณ์การบุกขอรหัสเข้าเครื่องมือสารโดยเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. หลังได้ประกันตัว >>> ปอท.บุกขอรหัสเปิดโทรศัพท์ “นิว” สิริชัย กลางศาลธัญบุรี ก่อนแจ้ง พ.ร.บ.คอมฯ อีกคดี
วานนี้ (8 เมษายน 2564) สิริชัยพร้อมทนายความ เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีเพื่อฟังคำสั่งในคดี ต่อมาพบว่าอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีทั้งสองคดีของสิริชัยต่อศาลจังหวัดธัญบุรีตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนแล้ว สิริชัยจึงต้องเดินทางไปที่ศาล และทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยวางหลักประกันในคดีมาตรา 112 เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ในขณะที่คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ วางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
คำร้องประกอบเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวในทั้ง 2 คดี ระบุว่า จำเลยเคยได้รับการประกันตัวในขั้นสอบสวนและได้เดินทางมาตามนัดหมายโดยตลอด ไม่ได้กระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหาในคดี จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับยังมีภาระต้องเข้าเรียน หากถูกควบคุมตัวไว้จะไม่สามารถจัดการภาระทางการศึกษา ย่อมส่งผลเสียหายต่ออนาคตทางการศึกษาของจำเลย
หลังจากยื่นคำร้อง เจ้าหน้าที่ได้พาตัวสิริชัยไปที่บริเวณใต้ถุนศาล เพื่อรอฟังคำสั่งศาลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในห้องดังกล่าว พบว่ามีผู้ต้องหาและจำเลยคดีอื่นอีก 16 ราย และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติเข้าฟังคำสั่งด้วย
ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในทั้ง 2 คดี ทว่าในส่วนของคดีมาตรา 112 ศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อถามคำให้การทั้งในคดีมาตรา 112 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลา 9.00 น.
เปิดคำฟ้องคดีมาตรา 112: “สถาบันฯ มีอยู่มาอย่างยาวนาน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้”
ในส่วนของคำฟ้องคดีข้อหาหลักมาตรา 112 ได้เท้าความโดยระบุถึงการที่ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มา เริ่มตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนปัจจุบันที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ดังที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายอาญายังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ไว้แตกต่างจากบุคคลทั่วไป คือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าองค์พระมหากษัตริย์รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อระหว่างคืนวันที่ 9 มกราคม จนถึงหลังเที่ยงคืนเข้าวันที่ 10 มกราคม 2564 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยคือสิริชัยกับพวกอีกหนึ่งคน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการร่วมกันใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความบนรูปภาพของเชื้อพระวงศ์ฯ ในหลายจุด ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลเมืองคลองหลวง (ผู้เสียหายที่ 1) และแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวง (ผู้เสียหายที่ 2) ได้แก่
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าคลินิกแพทย์สมภพ อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งพระรูปดังกล่าวประดิษฐานอยู่บริเวณจุดสะพานลอยหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ที่ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้าตลาดประทานพร จังหวัดปทุมธานี
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งถนนพหลโยธินขาออก จังหวัดปทุมธานี
– ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” และข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนแผ่นป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งอยู่ใต้พระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ประดิษฐานอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จังหวัดปทุมธานี
การฉีดพ่นข้อความดังกล่าวของจําเลยกับพวก ได้ใส่ความแสดงต่อ พันตํารวจตรี สิรภพ บัวหลวง และประชาชนโดยทั่วไป เป็นถ้อยคําเสียดสี เจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ว่าทรงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และทําให้ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่าพระมหากษัตริย์ฯ และสถาบันกษัตริย์ อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะและไม่สมควรได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป โดยต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากประมวลกฎหมายอาญา และทําให้บุคคลที่เห็นข้อความว่า “ภาษีกู” เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ฯ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงนําเงินภาษีของจําเลยกับพวก รวมถึงภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนทั่วไปมาใช้ประโยชน์เป็นการส่วนพระองค์ หรือใช้ในการติดตั้งพระฉายาลักษณ์ พระรูป หรือป้ายที่จําเลยกับพวกฉีดพ่นสีใส่ แทนที่จะนําเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในกิจการอย่างอื่น
การฉีดพ่นสียังเป็นเหตุให้พระฉายาลักษณ์ พระรูป และป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองได้รับความเสียหาย เสื่อมค่าและไร้ประโยชน์ คิดเป็นค่าเสียหายของผู้เสียหายที่ 1 จํานวน 10,000 บาท และคิดเป็นค่าเสียหายของผู้เสียหายที่ 2 จํานวน 3,000 บาท
ในส่วนต่อมาของคำฟ้อง ได้ระบุถึงข้อหาอีกข้อหาหนึ่งที่สิริชัยถูกฟ้องเข้ามาด้วย สืบเนื่องจากการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดไปตั้งแต่ในวันที่ 13 มกราคม 2564 ในระหว่างการเข้ามาตรวจค้นห้องพักของสิริชัยในคืนจับกุม
ในส่วนท้ายสุดของคำฟ้อง อัยการยังได้ระบุว่า โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย เนื่องจากเป็นคดีที่อัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
สำหรับข้อหาที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาล ประกอบด้วยข้อหาหลักคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 358 “ทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสื่อมค่า” และ พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 242 “นำเข้าหรือส่งออกของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร”, มาตรา 246 “ซ่อนเร้นหรือจำหน่ายของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร” และกฎหมายประกอบอื่นๆ
เปิดคำฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ในส่วนของพฤติการณ์ตามคำฟ้องในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งของ พ.ต.ต.สุรโชค กังวานวาณิชย์ สารวัตรกองกำกับการกลุ่มงานสนับสนุน ของ บก.ปอท. ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่งอนุญาตของศาล ซึ่งได้ขอรหัสเปิดโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตไอแพดที่อยู่ในความครอบครองของจําเลย เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวน ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทําความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่จําเลยไม่ยินยอมเปิดเผยรหัส ทําให้ พ.ต.ต.สุรโชค ไม่สามารถตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลภายในได้ อันเป็นการเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ในคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน โจทก์ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด
ในส่วนของข้อกล่าวหา โจทก์ระบุว่าจำเลยกระทำความผิดตามข้อหาหลัก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจจากศาล” และกฎหมายประกอบอื่นๆ อันกำหนดโทษปร้บไม่เกิน 200,000 บาท