ตร.อุบลฯ ป่วนนักกิจกรรม-นักวิชาการ! เป็นเงาตามตัว แม้ขณะร่วมยินดีคนใกล้ตัวรับปริญญา เกรงแสดงออกต่อหน้าขบวนเสด็จ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2563 นอกจากบรรยากาศชื่นมื่นแสดงความยินดีต่อการจบการศึกษาของเหล่าบัณฑิตแล้ว ในอีกฟากหนึ่งยังมีนักกิจกรรม นักวิชาการ นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เคยแสดงออกทางการเมืองถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคาม กระทั่งเค้นข้อมูลว่าในวันดังกล่าว พวกเขาและเธอจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร มีกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองหรือไม่  

แม้ทั้งหมดยืนยันว่าจะไม่มีการทำกิจกรรมทางการเมืองในวันดังกล่าว แต่ท่าทีการติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งวันก่อนหน้า และระหว่างวันรับปริญญา ทำให้หลายคนรู้สึกถูกคุกคาม โดยเฉพาะ 2 นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกอย่าง ฉัตรชัย แก้วคำปอด หรือ “แชมป์” และ “ออฟ” วิศรุต สวัสดิ์วร ซึ่งต่างก็เผชิญช่วงเวลาที่ถูกรบกวนอย่างมาก 

ทั้งสองต่างเตรียมไปแสดงความยินดีกับคนรักที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งแชมป์และออฟถูกตำรวจคอยโทรเช็คพิกัด และตามถ่ายภาพอยู่ตลอด  เพราะเกรงว่าไปก่อความวุ่นวายขณะมีขบวนเสด็จ หนำซ้ำยังถ่ายภาพคู่ของนักกิจกรรมกับบัณฑิตเพื่อส่งไปรายงานผู้บังคับบัญชา ไม่เพียงแค่นั้นตอนจะกลับบ้านยังโทรตามด้วยว่าถึงจุดหมายหมายปลายทางหรือไม่ ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ไหนกันต่ออีกใช่มั้ย

มันไม่ปกติที่จะมีชายหัวเกรียนๆ มาเดินตามในงานรับปริญญา

“แชมป์” ทนายความและนักกิจกรรมเล่าถึงเหตุการณ์ตำรวจติดตามครั้งนี้ว่า เมื่อช่วงสายวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ตำรวจจาก สภ.เดชอุดม โทรมาสอบถามว่าอยู่ที่บ้านหรือไม่เนื่องจากจะเข้ามาหา แชมป์อยู่ระหว่างไปทำธุระที่ สภ.เมืองอุบลฯ กระทั่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งเข้ามาขอถ่ายภาพอ้างว่าจะเอาไปส่งผู้บังคับบัญชาและชวนไปนั่งร้านกาแฟใน สภ. เพื่อสอบถามข้อมูล โดยพยายามเค้นถามว่า วันที่ 15 ธันวาคม 2564 จะไปไหนหรือไม่ 

แชมป์กล่าวอีกว่าตำรวจทั้งจาก สภ.เดชอุดม และ สภ.เมืองอุบลฯ จะคอยถามว่าวันที่ 15 ธันวาคม จะไปหรือไม่ มีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วมีใครจะไปด้วยมั้ย  โดยแชมป์กล่าวว่าก็คงไปงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ เพราะแฟนจะเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 

หลังจากนั้นตำรวจก็โทรถามความเคลื่อนไหวตลอดกระทั่งวันรับปริญญา ตำรวจ สภ.เดชอุดม โทรหาแชมป์ตั้งแต่เวลา 06.00 น. สอบถามว่าอยู่ที่ไหนแล้ว จะไปที่มหาวิทยาลัยกี่โมง แชมป์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเนื่องจากติดธุระพาลูกไปฉีดวัคซีน ก่อนตำรวจจะไปตามหาแชมป์ที่ร้านกิจการของพ่อแม่ในช่วง 09.00 น.  พร้อมถามย้ำว่าแชมป์ออกไปหรือยัง และไปกับใครบ้าง 

แชมป์เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ ในช่วง 12.00 น. โดยแวะไปร้านกาแฟเพื่อพบออฟก่อน จึงเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย อยู่ในร้านกาแฟ และถ่ายภาพพวกเขา และเมื่อแชมป์ไปที่ล็อบบี้โรงแรมในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีประชาชนทั่วไปรอบัณฑิตออกจากห้องประชุมอยู่บริเวณนั้นด้วย ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ จาก สภ.เมืองอุบลฯ และ สภ.เดชอุดม รวม 7 นายติดตามมาด้วย  

เมื่อใกล้จะเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแชมป์จึงเดินออกไปหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อซื้อดอกไม้นำไปแสดงความยินดีกับแฟน แต่ตำรวจตามมาบอกกับแชมป์ว่าให้รีบกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย เพราะขบวนเสด็จกำลังจะผ่าน ตำรวจไม่อยากให้แชมป์อยู่ในจุดนั้น และขอให้ไปรอรับแฟนอยู่ข้างในรั้วมหาวิทยาลัย แชมป์เลยแกล้งบอกให้ตำรวจซื้อดอกไม้ให้เป็นการแลกเปลี่ยน ตำรวจจึงรีบซื้อดอกไม้ให้ ก่อนเดินล้อมหน้าล้อมหลังคุมให้เขากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย และให้อยู่ในจุดรอบัณฑิตบริเวณหลังหอประชุม

กระบวนการเสร็จสิ้นราวๆ 17.00 น. หลังบัณฑิตออกจากห้องประชุม แชมป์เข้าไปมอบดอกไม้ให้แฟนพร้อมกับถ่ายภาพ มีตำรวจถ่ายภาพให้ โดยใช้ทั้งโทรศัพท์มือถือของแชมป์และของตำรวจ ก่อนตำรวจแยกกลับไป กระทั่งช่วง 18.00 น. ตำรวจยังโทรมาสอบถามอีกครั้งว่าแชมป์อยู่ที่บ้านที่อำเภอเดชอุดมแล้วหรือไม่

แฟนของแชมป์ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในระหว่างพิธีในหอประชุมมีตำรวจในเครื่องแบบเดินเข้ามาหา และสอบถามถึงแชมป์ว่าจะมาทำกิจกรรมหรือไม่ ซึ่งแชมป์รู้สึกว่านี่เป็นการถามแบบคุกคาม โดยแฟนบอกประชดตำรวจไปว่า แชมป์น่าจะโดนจับไปแล้ว และรู้สึกไม่สบายใจ เพราะอยู่ในพิธีของสำนักพระราชวังแท้ๆ ยังมีเจ้าหน้าที่มาสอบถาม 

แชมป์กล่าวถึงการถูกติดตามจับตาตลอดวันรับปริญญานี้ว่า “รู้สึกว่าไม่ชินเพราะไปรับปริญญาเฉยๆ ยังมีคนมาคอยจับตามอง มันไม่สะดวกในการใช้ชีวิต รู้สึกว่าสายตาคนรอบข้างก็น่าจะมองเห็นว่ามันไม่ปกติที่จะมีชายหัวเกรียนๆ มาเดินตามในงานรับปริญญา” 

ถูกติดตามราวกับเป็นผู้ต้องหา ไร้ความเป็นส่วนตัว

ทางด้าน “ออฟ” วิศรุต เดินทางที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งแต่ 05.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาเขาที่บ้านในช่วงสายๆ เมื่อไม่เจอตัวจึงตามเข้าไปที่มหาวิทยาลัยในเวลา 10.00 น. และเข้าถ่ายรูปออฟไปรายงานผู้บังคับบัญชา ออฟจึงชูสามนิ้วเมื่อถูกถ่ายรูป แต่ต่อมาตำรวจขอถ่ายรูปอีกครั้ง อ้างว่านายโทรมาขอว่าไม่ให้ชูสามนิ้วได้หรือไม่ ออฟยืนยันว่าถ่ายใหม่เขาก็ชูสามนิ้วเหมือนเดิม ระหว่างนั้นเขาสังเกตเห็นตำรวจนอกเครื่องแบบอีกราว 7-8 นาย อยู่บริเวณรอบๆ คณะศิลปศาสตร์ 

จากนั้นช่วง 13.00 น. ออฟเดินออกไปที่หน้ามหาวิทยาลัยเพื่อจะไปร้านกาแฟ เมื่อตำรวจไม่เจอว่าออฟอยู่จุดเดิม จึงโทรตามให้ออฟไปที่ล็อบบี้โรงแรมบริเวณจุดที่ญาติรอบัณฑิต แต่ออฟยืนกรานไม่ไปเพราะไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายมาบังคับเขา ตำรวจเลยขอร้องให้ออฟออกจากบริเวณดังกล่าว โดยชี้แจงว่าเนื่องจากขบวนเสด็จกำลังจะผ่านมาบริเวณนั้น ทั้งอ้างว่านายเชิญให้เข้าไปคุยด้วย เมื่อออฟยังยืนกรานไม่ไป ตำรวจราว 10 กว่านาย จึงเดินเข้ามาใกล้เขาและอ้างคำพูดขอความร่วมมือ ออฟจึงยอมกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยเนื่องจากรู้สึกรำคาญ 

หลังบัณฑิตออกจากหอประชุม และออฟได้ไปแสดงความยินดีกับแฟน ตำรวจจึงกลับไปในช่วง 17.00 น. ก่อนที่ 18.00 น.ตำรวจก็โทรมาถามออฟอีกว่า ออกจากมหาวิทยาลัยหรือยัง หรือว่าไปไหนต่อ 

ขณะที่แฟนของออฟก็ไม่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สำหรับออฟเขากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

“เพราะวันนี้เป็นวันที่ควรจะได้แสดงความยินดีต่อการสำเร็จการศึกษาของแฟนอย่างเต็มที่ แต่กลับต้องมาวุ่นวายกับการติดตามของเจ้าหน้าที่ และรู้สึกว่าภาพลักษณ์เราดูเหมือนเป็นผู้ต้องหา ทั้งที่ก็ไปมือเปล่า คนอื่นๆ เขาอยู่รับเสด็จได้ โดยทั่วไปเราก็ไม่คิดจะทำกิจกรรมอยู่แล้ว”

ผู้ต้องหาคดีแสดงออกทางการเมืองต่างถูกจับตา ไม่เว้น “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวชทำลายรูป ตร.นำตัวไปสอบถามนอกรอบตลอดวัน 

วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่าสัปดาห์ก่อนที่จะมีงานรับปริญญา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อเพื่อสอบถามหาเบอร์โทรศัพท์ผู้ต้องหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ทนายความแจ้งตำรวจไปว่าคงไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะถือเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม นอกจากแชมป์และออฟ ยังมีผู้ต้องหาจากคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบอุบลราชธานี อย่าง  เชษฐวิทย์ ณรงค์ดิษย์ และปรีดี พันทิวา ต่างถูกตำรวจติดตามถามหาความเคลื่อนไหว โดยขณะนั้นทั้งสองไม่ได้อยู่ที่บ้าน นอกจากนี้เค้ก (นามสมมติ) จำเลยคดีเทอาหารหมา-ด่าคฝ. ยังให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 มีตำรวจ 2 นาย มาถ่ายรูปหน้าบ้านที่อำเภอสว่างวีระวงศ์ และถามหาเค้กว่าได้อยู่บ้านบ้างหรือไม่ แม่ของเค้กบอกเพียงว่าเค้กไปทำงานในตัวเมือง ในวันเดียวกันหลังทราบจากแม่ว่ามีตำรวจไปที่บ้านเค้กสังเกตเห็นว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบมาด้อมๆ มองๆ บริเวณร้านที่เธอทำงานอยู่ โดยเหตุการณ์ตำรวจไปบ้านลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 จนถึง 15 ธันวาคม 2564 

ช่วงสายวันรับปริญญา มีข้อมูลด้วยว่า ตำรวจจาก สภ.โคกจาน อำเภอตระการพืชผล เดินทางไปรับแต้ม (นามสมมติ) ผู้ต้องหาคดีทำลายซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ จากที่บ้าน นำตัวไป สภ.ตระการพืชผล ทั้งที่ไม่ได้มีนัดหมายอะไรเกี่ยวกับคดี และไม่ได้มีทนายความไปด้วย 

เมื่อไปถึง สภ.ตระการพืชผล ตำรวจให้แต้มรออยู่ด้านนอกจนถึง 11.00 น. จึงเรียกแต้มและแม่เข้าไปสอบถามถึงอาการทางจิตเวชของแต้ม และถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ทำลายซุ้มฯ ในคดี ในลักษณะสอบปากคำ โดยให้ตอบคำถามซ้ำๆ มีบางช่วงที่ตำรวจให้แต้มพัก ออกไปจากห้องสอบสวน ก่อนจะเรียกเข้ามาสอบถามเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของแต้มอีก คล้ายถ่วงเวลาให้แต้มอยู่ที่ สภ.ตระการพืชผล จนถึงช่วง 16.00 น. จึงนำตัวแต้มกลับไปส่งที่บ้าน โดยที่แต้มและแม่ผู้ติดตามไปด้วยยังไม่ทราบสาเหตุว่าเรียกตัวแต้มไปที่ สภ.ตระการพืชผล ด้วยเหตุผลใด ทั้งที่คดีของแต้มมีนัดรายงานตัวที่ สภ.อีกครั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 

“กลัวพวกผมไป ‘ยืน-หยุด-ขัง’ เหรอ” 

วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ที่อยู่ห่างออกไปจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีราว 2 กิโลเมตร ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาที่ร้าน ทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบแต่ไม่ได้ระบุสังกัด ก่อนสอบถามบ้านเลขที่ และถามหาวิทยากร เมื่อเขายืนยันตัว ตำรวจนายนั้นจึงขอคุยด้วย วิทยากรขอถ่ายภาพชายคนดังกล่าวก่อน ก่อนที่เขาจะกล่าวเข้าเรื่องว่า มาเรื่องงานรับปริญญาวันพรุ่งนี้ 

วิทยากรที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘ยืน-หยุด-ขัง’ หน้ามหาวิทยาลัยอุบลฯ อย่างสม่ำเสมอ กล่าวว่า “กลัวพวกผมไป ‘ยืน-หยุด-ขัง’ เหรอ พี่ไม่ต้องห่วงหรอก ผมว่าไม่มีการจัดกิจกรรมอะไรหรอก และโดยจิตใจและข้อเรียกร้องที่ผ่านมาพวกเราก็ไม่เคยคิดปองร้ายใคร” ก่อนที่ตำรวจจะกลับไปได้พูดทิ้งท้ายว่า วันหน้าขอมาอ่านหนังสือที่ร้าน วิทยากรตอบรับว่า “ยินดีมาก แต่ต้องรู้นะว่า ร้านผมเป็นร้านหนังสือฝ่ายประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับทุกข้อเรียกร้อง”

นอกจากนี้ ต้าร์ (นามสมมติ) นักศึกษาปี 1 ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม ‘ยืน-หยุด-ขัง’ ให้ข้อมูลว่า วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ตำรวจไปตามหาตัวเขาที่บ้านก่อนจะพบย่า และสอบถามว่าต้าร์อยู่ที่ไหน วันที่ 15 ธันวา จะไปทำกิจกรรมที่ไหนหรือไม่ โดยย่าแจ้งกับตำรวจว่าต้าร์เรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย และย่าไม่ทราบเรื่องกิจกรรมอะไรที่ต้าร์ทำ ตำรวจจึงขอเบอร์โทรศัพท์ของต้าร์จากย่า ก่อนจะโทรไปหาต้าร์ โดยที่ต้าร์ก็บอกกับตำรวจไปว่าคงไม่ได้ออกไปไหนในช่วงรับปริญญา ตำรวจยังพยายามสอบถามถึงที่อยู่ปัจจุบันของต้าร์ แต่เจ้าตัวยืนยันที่จะไม่บอก สำหรับต้าร์นี่เป็นครั้งแรกที่เขาพบเผชิญเหตุการณ์ติดตามตัวจากเจ้าหน้าที่

“ไม่มีอะไร ผมยังต้องคุมแถวบัณฑิตไปรับปริญญา”

ปฐวี โชติอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงสายวันก่อนวันรับปริญญา มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินถือเอกสารมาที่ตึกคณะรัฐศาสตร์ สอบถามหานักวิชาการ 3 คน ได้แก่ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช, ปฐวี โชติอนันต์ และ ผศ.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ ซึ่งมีเพียงตนที่อยู่เนื่องจากอาจารย์อีก 2 คนติดภารกิจ 

ภาพจากเฟซบุ๊ก ปฐวี โชติอนันต์

ตำรวจสอบถามว่า งานพระราชทานปริญญาจะไม่มีปัญหาอะไรใช่หรือไม่ ปฐวีกล่าวไปว่า “ไม่มีอะไร ผมยังต้องคุมแถวบัณฑิตไปรับปริญญา พร้อมให้ความร่วมมืออย่างดีครับ” ระหว่างพูดคุย ปฐวียังสังเกตเห็นว่า เอกสารที่ตำรวจถือมาด้วย นอกจากมีรายชื่อ 3 อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ตามที่นอกเครื่องแบบเอ่ยถามแล้ว ยังพบเห็นรายชื่อนักวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลฯ อีกอย่างน้อย 5 ราย ปรากฏในเอกสารดังกล่าว

สำหรับปีนี้ กรณีติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรม นักวิชาการในจังหวัดอุบลราชธานีเคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ ครั้งนั้นนอกจากกระแสต่อต้านจากกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจนต้องออกไปแสดงจุดยืนประท้วงไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีแล้ว หลังเหตุชุมนุมวันดังกล่าวจบลงมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมต่อต้านครั้งนั้นด้วยกัน  4 ราย อันสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อการแสดงออกขัดขืนและต่อต้านจากผู้เห็นต่าง ที่รัฐบาลพยายามจัดการด้วยวิธีทั้งในทางกฎหมายและนอกกฎหมาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

X