4 ก.ย. 2567 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีที่ “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชวัย 34 ปี ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564
คดีนี้แต้มให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่า ตนได้ทำลายทรัพย์สินตามฟ้องจริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เพราะขณะกระทำการตนไม่รู้สึกตัว ได้ยินเป็นเสียงจากสวรรค์สั่งให้ทำ อันมีสาเหตุจากอาการป่วยทางจิต
โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของแต้มไม่ได้แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า แม้แต้มจะเป็นโรคจิตเภท ที่มีอาการเรื้อรังมา 10 ปี แต่ขณะก่อเหตุแต้มไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ลงโทษสถานเบาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
- ดูฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “แต้ม” อดีตทหารเกณฑ์ป่วยจิตเวช ทำลายรูป ร.10 ที่อุบลฯ
ต่อมา วันที่ 12 ม.ค. 2567 อนุชา ช้างสาร พนักงานอัยการศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยสถานหนักในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ด้วย โดยอ้างว่า จำเลยรู้สำนึกในการกระทำ ไม่ได้มีจิตฟั่นเฟือน และพระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล การกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์จึงเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ทนายจำเลยจึงยื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ ยืนยันว่า ขณะกระทำการจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถรู้สำนึกและควบคุมการกระทำของตนเองได้ อีกทั้งพระบรมฉายาลักษณ์มิได้เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์ หากตีความดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมจะเป็นการขยายความตัวบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจนเกินขอบเขต
ก่อนฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าจะยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือจะพิพากษากลับลงโทษแต้มสถานหนักตามที่โจทก์อุทธรณ์ ชวนอ่านเหตุผลโต้แย้งของโจทก์และทนายจำเลยที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3
.
โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษตาม ม.112 – ลงโทษสถานหนัก อ้างจำเลยพูดคุย-ขี่รถ-ทุบป้ายได้ ไม่ได้ฟั่นเฟือน ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์
โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้รอการลงโทษในความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ และยกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
1. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกี่ยวกับในความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ว่าขณะเกิดเหตุจําเลยมีอาการโรคจิตเภทยังไม่รุนแรงจนถึงขนาดไม่สามารถบังคับตนเองได้โดยสิ้นเชิง การกระทําของจําเลยกระทําไปในขณะมีจิตฟั่นเฟือนแต่ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยโจทก์เห็นว่า จําเลยรู้สํานึกในการกระทําของตน ไม่ได้มีจิตฟั่นเฟือนแต่อย่างใด
โดยโจทก์มีพยานปากไพโรจน์ วรรณฉัตร และชินกาญ อินทรปัญญา เบิกความถึงพฤติการณ์ของจําเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จําเลยสามารถขับขี่รถจักรยานยนต์ไปมาได้ในระยะที่ไกลพอสมควร จําเลยรู้ถึงวิธีการขับขี่ไปมา การหยุด การจอด และการที่จําเลยเขย่าพระบรมฉายาลักษณ์ประมาณ 5 นาที นําไม้ไผ่มาตีอีก 5 นาที จนพระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาด แสดงให้เห็นว่าจําเลยรู้ว่าการเขย่าของตนนั้นไม่ได้ผล จึงได้คิดไตร่ตรองหาวิธีการใหม่ ทําให้น่าเชื่อว่าขณะกระทําความผิดจําเลยรู้สึกผิดชอบ
นอกจากนี้ จําเลยยังได้ขี่รถจักรยานยนต์ไปทําลายพระบรมฉายาลักษณ์อีกที่หนึ่งโดยใช้เหล็กเสียบเสาธงเสียบพระบรมฉายาลักษณ์และใช้มือดึงจนพระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาดลง ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าจําเลยมีวิธีการที่จะทําให้พระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย จําเลยจึงไม่ได้ฟั่นเฟือนในขณะทําความผิด
และจากคําเบิกความของมารดาของจําเลย ทํานองว่า ในวันเกิดเหตุ จําเลยบอกว่าจะไปสมัครงาน พยานบอกไม่ให้ไป แต่จําเลยยืนยันว่าจะไป จึงเห็นได้ว่าจําเลยก็มีสติ พูดคุยกับมารดาของจําเลยได้ตามปกติของคนทั่วไป ไม่มีลักษณะคนมีสติฟั่นเฟือนแต่อย่างใด
แม้จะมีแพทย์มายืนยันว่าจําเลยเป็นโรคจิตเภทก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจําเลยมีสติฟั่นเฟือนตลอดเวลา และในชั้นพิจารณาจําเลยให้การปฏิเสธ จําเลยก็ไม่ได้มีอาการว่าจะมีสติฟั่นเฟือนแต่อย่างใด มีลักษณะเหมือนคนปกติทั่วไป
อีกทั้งแพทย์ยังเบิกความจากประวัติการรักษาของจําเลยว่า ในช่วงเกิดเหตุจําเลยเริ่มขาดการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมดื่มสุราซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้อาการของโรคจิตเภทรุนแรงยิ่งขึ้น จึงเป็นการกระทําของจําเลยที่ไม่ทานยาตามกําหนดและยังได้ดื่มสุราอีกด้วย จําเลยจะยกเป็นข้อแก้ตัวว่าสติฟั่นเฟือน เพื่อให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 มิได้
2. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สําหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พยานโจทก์นําสืบมาฟังได้แต่เพียงว่า จําเลยทําลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์โดยใช้ไม้ไผ่ฟาด ใช้เหล็กขว้างใส่ แต่ไม่ปรากฏ ว่าจําเลยแสดงกริยาท่าทางใดที่เป็นเชิงดูถูก หรือมีพฤติการณ์อื่นที่มาประกอบการกระทําของจําเลยที่บ่งชี้ถึงเจตนาภายในใจว่าจําเลยกระทําไปโดยผูกใจเจ็บและอยากแก้แค้นหรือปองร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งพันตํารวจโทพีรพลกับพวกค้นภายในที่พักของจําเลยแล้ว ไม่พบเอกสารหรือข้อความและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสื่อให้เห็นว่าจําเลยอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมิ่น เหยียดหยาม เกลียดชังพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจที่บ่งชี้ว่าจําเลยกระทําการไปด้วยเจตนาร้าย จําเลยจึงไม่มีความผิด นั้น
โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยโจทก์เห็นว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
และในทรรศนะของสังคมไทยเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ ไม่ควรแสดงเสรีภาพหรือมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาในการแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งต้องการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
พฤติการณ์ของจำเลยนอกจากใช้ไม้ฟาดและใช้เหล็กขว้างใส่พระบรมฉายาลักษณ์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แล้วจําเลยยังได้ใช้เท้ากระทืบซุ้มประตู และมีการฉุดกระชาก ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาดลงมาพังเสียหายกองที่พื้นอีกด้วย เป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกโดยมีเจตนาโดยตรงมุ่งกระทําต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนพระองค์ และเป็นการแสดงออกว่าจะทําให้เสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ จึงนับว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นการด้อยค่า และเป็นการไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว
แม้ภายหลังจับจําเลยเจ้าพนักงานตํารวจได้ตรวจค้นที่พักของจําเลย ไม่พบเอกสารหรือข้อความและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสื่อให้เห็นว่าจําเลยมีการอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมิ่น เหยียดหยาม เกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่การกระทําของจําเลยแสดงโดยแจ้งชัดถึงเจตนาของจําเลยแล้ว
การกระทําของจําเลยที่กระทําต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นั้น เป็นการกระทําความผิดร้ายแรงกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยที่พบเห็นหรือทราบข่าว การที่ศาลชั้นต้นกําหนดโทษและรอการลงโทษจําเลยไว้ในความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์นั้น จึงเป็นการกําหนดโทษจําเลยสถานเบาเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และรูปคดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โจทก์เห็นว่า จําเลยได้กระทําความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจริง ขอศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และทําให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 358 และลงโทษจําเลยสถานหนักด้วย
.
ทนายจำเลยยื่นแก้อุทธรณ์ยืนยัน ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่สามารถรู้สำนึกและควบคุมการกระทำของตนเองได้ ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์
คำแก้อุทธรณ์ที่ทนายจำเลยยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
จำเลยเห็นพ้องด้วยว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องตามหลักการตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัดแล้ว ทั้งเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้มีข้อวินิจฉัยโดยใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานอย่างถี่ถ้วน และคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมต่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทอันเป็นโรคเรื้อรังอย่างเหมาะสมแล้ว เนื่องจากจำเลยมิได้มีเจตนาฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่การกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ด้วยความบกพร่องทางจิต
โจทก์อุทธรณ์ให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนักในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิ้น จึงขอแก้อุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขอถือเอาเหตุผลตามข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ประกอบกับเหตุผลในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า
1. จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophenic Disorder) ซึ่งเป็นโรคจิตมีลักษณะเรื้อรังมาประมาณ 12 ปี ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ โดยนายแพทย์เจ้าของไข้ของจำเลยได้จัดทำรายงานการตรวจวินิจฉัยระบุว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทแต่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุได้รับการรักษาแล้ว และยังได้เบิกความต่อศาลว่า “…จึงอาจอนุมานได้ว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยมีอาการจิตเภท” แม้จำเลยเห็นว่าตัวจำเลยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ในขณะกระทำการ แต่ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานแล้วปรับเข้ากับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสองนั้น พอเหมาะสมแก่พฤติการณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ด้วยเหตุนี้ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า “..โจทก์เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำของตน ไม่ได้มีจิตฟั่นเฟือนแต่อย่างใด..” นั้น จำเลยจึงไม่อาจเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเอง พยานที่โจทก์อ้าง คือ ไพโรจน์และชินกาญ ก็ยังเบิกความถึงขณะที่เห็นเหตุการณ์ว่า ในลักษณะว่า จำเลยน่าจะบ้าหรือป่วยทางจิตเวช แสดงให้เห็นว่าวิญญูชนผู้มีใจเป็นธรรมก็ยังสังเกตได้ว่าจำเลยมีอาการไม่ปกติ
จึงควรรับฟังเข้าใจได้ว่า จำเลยไม่ได้รู้สึกผิดชอบพอที่จะมีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพียงแต่ทำลายป้ายของผู้อื่นเท่านั้น ด้วยอาการที่เห็นชัดแจ้งว่าไม่ปกติ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการคาดเดาอย่างเลื่อนลอย โดยขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี ไม่สมควรรับฟัง
โดยพฤติการณ์ของจำเลยประกอบกับเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน สถานที่เกิดเหตุก็เป็นที่สาธารณะอยู่ใกล้ สภ.ตระการพืชผล หากจำเลยรู้สำนึกเหมือนคนปกติย่อมไม่กล้ากระทำการ และจำเลยก็ยังมิได้หลบหนีไปจากบริเวณที่เกิดเหตุอีกด้วย โดย พ.ต.ท.พีรพล บุญศรัทธา ผู้จับกุมจำเลย ซึ่งได้พบจำเลยขณะอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารตระการพืชผล เบิกความไว้โดยสรุปว่า จำเลยรับตั้งแต่แรกว่าเป็นผู้ก่อเหตุและให้เหตุผลว่า “สวรรค์สั่งให้ทำ” ซึ่งย่อมมิใช่เหตุผลหรือข้ออ้างของผู้มีจิตใจปกติ ทั้งจำเลยก็ยังไม่มีทนายความ ย่อมน่าเชื่อว่าให้การตามความรับรู้ของตัวจำเลยซึ่งมีอาการโรคจิตกำเริบในขณะนั้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างคำเบิกความของมารดาจำเลยว่า มีการพูดคุยกับจำเลย เชื่อว่าจำเลยมีสติ เพราะสามารถขับขี่รถจักรยานยนต์และเขย่าป้ายได้ ทำให้น่าเชื่อว่าขณะกระทำความผิดจำเลยรู้สึกผิดชอบ ทั้งโจทก์ยังอ้างว่าในชั้นพิจารณาจำเลยมีลักษณะเหมือนคนปกติทั่วไปนั้น
จำเลยเห็นว่า ไม่เพียงแต่โจทก์ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการโรคจิต โจทก์ยังอาศัยเพียงการคาดเดาอย่างขาดความสมเหตุสมผลถึงสภาพจิตใจและเจตนาของจำเลย ทั้งยังขาดความเห็นอกเห็นใจ มุ่งหวังผลทางคดีให้จำเลยต้องรับโทษสถานหนัก โดยโจทก์ไม่นำสืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคของจำเลยซึ่งมีอยู่ในสำนวนของโจทก์อยู่แล้ว กลับต้องให้จำเลยมีภาระนำสืบในประเด็นนี้เอง ซึ่งจำเลยก็ได้นำสืบจนเป็นที่ประจักษ์ต่อศาลแล้วว่า จำเลยมีสติฟั่นเฟือนขณะกระทำการ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงมีข้อสงสัยว่าเป็นการปกปิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยมุ่งหวังจะให้ศาลเข้าใจผิดในพฤติการณ์แห่งการกระทำเพื่อลงโทษจำเลย ไม่สมควรรับฟัง
ทั้งนี้ จิตแพทย์ได้เบิกความให้ความรู้ต่อศาลด้วยว่า โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องโดยการรับประทานยา จึงจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ จึงสมควรรับฟังว่า ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จำเลยสามารถพูดคุยให้การเป็นปกติได้ก็เพราะได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจิตเภทสามารถพูดคุยได้ปกติเมื่ออาการไม่ได้กำเริบ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทราบได้ว่าอาการจะกำเริบเมื่อใด มิใช่ดังที่โจทก์อ้างว่า จำเลยพูดคุยรู้เรื่องจึงไม่ได้สติฟั่นเฟือน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากจิตแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันนี้ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า “…จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ไม่ทานยาตามกำหนดและยังได้ดื่มสุราอีกด้วย ทำให้มีส่วนกระตุ้นให้โรคจิตเภทของจำเลยกำเริบขึ้น จำเลยจะยกเป็นข้อแก้ตัวว่าสติฟั่นเฟือน เพื่อให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 หามิได้” นั้นจึงเป็นการที่โจทก์มิได้แยกแยะเหตุผลทางกฎหมายที่บุคคลจะขาดสติหรือมึนเมาเพราะเสพสุราหรือสิ่งเมาอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 มาเป็นข้ออ้าง ซึ่งแตกต่างจากกรณีสติฟั่นเฟือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 เนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดสติฟั่นเฟือนของจำเลยนั้นมีสาเหตุหลักมาจากโรคติดตัวเรื้อรัง มิใช่เกิดจากความมึนเมาเนื่องจากการเสพสุราแต่อย่างใด ซึ่งจิตแพทย์ก็ได้เบิกความไว้อย่างชัดเจนแล้ว
และการที่จำเลยขาดยาก็มีสาเหตุมาจากที่ช่วงเวลาดังกล่าวยารักษาโรคถูกส่งไปยังภูมิลำเนาทหารเดิมของจำเลย ไม่ใช่ความผิดของจำเลย ซึ่งแท้จริงแล้วโรคจิตเภทมีผลโดยตรงกับการแสดงออกหรือการกระทำของจำเลย เป็นความทุกข์ทรมานที่ปรากฏอยู่จริงโดยที่จำเลยมิได้ประสงค์จะใช้เป็นข้ออ้างดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด
2. การที่โจทก์กล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 และกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่ากับตัวบุคคล การกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการแสดงออกว่าจะทำให้เสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ จึงเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายและดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์นั้น จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการที่โจทก์ตีความขยายความบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ครอบคลุมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งมิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบกับโจทก์ก็มิได้นำสืบในชั้นพิจารณาว่า พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าบุคคล จึงไม่ชอบที่จะรับฟังอุทธรณ์โจทก์ในข้อนี้
โดยจำเลยเห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจมีค่าเทียบเท่ากับพระบรมฉายาลักษณ์ได้ ไม่สมเหตุสมผลและไม่อาจเป็นจริงได้เลย เพราะหากตีความเช่นนั้นย่อมเป็นการตีความที่จะไปลดทอนคุณค่าขององค์พระมหากษัตริย์ให้มาเทียบเท่ากับป้ายภาพซึ่งเป็นเพียงสิ่งของ ทั้งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ดังเช่นในธนบัตรหรือเหรียญก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่ แต่ก็มิได้มีคุณค่าหรือเป็นสิ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์ มิใช่เรื่องปกติทั่วไปที่คนในสังคมจะกราบไหว้ธนบัตรหรือเงินตราเพียงเพราะมีพระบรมฉายาลักษณ์ การกล่าวอ้างของโจทก์จึงไม่มีสาระ ไม่สมควรรับฟัง
ส่วนการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์จะเป็นความผิดฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายและดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาเจตนาของผู้กระทำด้วย ซึ่งประเด็นนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้อย่างเคร่งครัดโดยชอบด้วยหลักกฎหมายอาญาแล้ว
การที่โจทก์บรรยายอุทธรณ์ทำนองว่า การทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ประการใดว่าจำเลยมีเจตนาล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยสรุปเพียงว่า “..แต่การกระทำของจำเลยแสดงโดยแจ้งชัดถึงเจตนาของจำเลยแล้ว” จึงเป็นการที่โจทก์เข้าไปล่วงรู้ภายในจิตใจของจำเลยโดยการคาดเดาอย่างขาดความสมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยเป็นเพียงผู้ป่วยจิตเภท มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างโดยอำเภอใจ
การที่โจทก์บรรยายอุทธรณ์โดยมุ่งหวังให้ศาลตีความไปในทันทีว่าการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากจะเป็นการตีความขยายความให้เกินขอบเขตจากบทบัญญัติอาญาซึ่งเป็นการตีความที่ไม่เคร่งครัดตามหลักการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว เนื่องจากความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ และยากต่อการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ ของประชาชนอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุต่าง ๆ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่อย่างธนบัตรและเหรียญเงิน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏด้วย
จำเลยเห็นพ้องด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ว่าเป็นการที่ศาลชั้นต้นตีความบทบัญญัติความผิดปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญาและบทบัญญัติที่คุ้มครองผู้วิกลจริตที่ขาดเจตนามีความรับรู้บกพร่องโดยชอบแล้ว เพื่อมิให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตที่แน่นอนโดยไม่เป็นธรรม
การตีความบังคับใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไม่มีขอบเขตดังที่โจทก์อุทธรณ์มาย่อมส่งผลเสียหายต่อองค์พระมหากษัตริย์ร้ายแรงยิ่งกว่า ชอบที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 จะได้มีข้อวินิจฉัยตีความด้วยเหตุผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นประกอบกับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผลแล้วในการมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และลงโทษจำเลยสถานเบาตามความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย และสั่งให้คุมประพฤติจำเลยโดยกำหนดให้จำเลยเข้ารับการรักษาอาการโรคจิตของจำเลยอย่างต่อเนื่องในความดูแลของแพทย์ ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอย่างเคร่งครัดแล้ว โดยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เทศบาลตำบลตระการพืชผลแล้ว และเข้ารักษาตัวกับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องตามที่ศาลมีคำสั่ง
ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา จำเลยขอศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืน โดยพิพากษายกฟ้องจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย
.
อ่านเรื่องของแต้มเพิ่มเติม:
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท