ในวันที่ 13 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีที่ “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 22 ปี ถูกฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ วันที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง
ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 หลังต่อสู้คดีมาตั้งแต่ปี 2565 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง สรุปใจความได้ว่า ข้อความที่จำเลยถือไม่ได้ปรากฎเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต หรือประสงค์ร้ายต่อพระมหากษัตริย์ อีกทั้งประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการบริหารบ้านเมืองเป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” อาจหมายความถึง ระยะเวลาหรือยุคสมัย ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงที่จะสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลานั้น ๆ
หลังมีคำพิพากษาดังกล่าว อัยการศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานีได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2567 จากนั้นฟลุคและ อานนท์ นำภา ทนายจำเลยได้แก้ไขอุทธรณ์ของโจทก์ ลงวันที่ 25 ก.ย. 2567 จนนำมาสู่การนัดหมายฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ครั้งนี้
.
อัยการโต้แย้งศาลชั้นต้น ชูป้าย ‘ไม่มีจะแดก’ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ทำให้เข้าใจว่า ร.10 ปกครองไม่ดี เป็นความเท็จ เหยียดหยามพระเกียรติ เหตุพระบรมฉายาลักษณ์เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์
วีระชัย มะลิวัลย์ อัยการศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยระบุว่า ตามที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้นั้น โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยโจทก์เห็นว่า คำว่าดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้ายตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้นั้น ยังมีความหมายอื่น โดย ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย โดยจะต้องระบุตัวบุคคลหรือสื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ ส่วนการอาฆาตมาดร้ายนั้น หมายถึงการขู่เข็ญที่แสดงออกด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางที่แสดงถึงความมุ่งร้ายว่าจะทำให้เสียหาย จะทำอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินในขณะนั้นหรือในอนาคต ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่
โจทก์เห็นว่าในทรรศนะของสังคมไทยเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่ากับตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ ไม่ควรแสดงเสรีภาพหรือมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์
พฤติการณ์ของจำเลยที่ได้จัดทำกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” แล้วนำไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ ทรงอยู่เหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
โจทก์ระบุอีกว่า เป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิดและเจตนามุ่งตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนพระองค์ เพื่อทำให้ผู้อื่นเกิดความเกลียดชัง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเป็นการแสดงออกว่าจะทำให้เสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ นับว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นการด้อยค่าและไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามความหมายของคำว่า ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โจทก์จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ จึงมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยที่พบเห็นหรือทราบข่าว โจทก์จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก
.
จำเลยยืนยัน “ไม่มีจะแดก” เป็นถ้อยคำประชดประชันไม่ใช่การหมิ่นฯ
อานนท์ นำภา ในฐานะทนายจำเลย พร้อมทั้งฟลุคได้โต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยอย่างละเอียดรอบคอบทั้งในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ดังนี้
ประการแรก ในประเด็นข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยสอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัดว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นเพียงการแสดงออกเชิงประชดประชันเท่านั้น โดยไม่ปรากฏถ้อยคำที่แสดงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด อีกทั้งคำว่า “ในรัชกาลที่ 10” ก็มีความหมายถึงช่วงระยะเวลาหรือยุคสมัยการปกครอง มิได้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาษาไทยที่ยืนยันความเป็นไปได้ของการตีความในลักษณะดังกล่าว
ประการที่สอง ศาลชั้นต้นได้รับฟังพยานหลักฐานอย่างรอบด้านและมีเหตุผล โดยเฉพาะในประเด็นเจตนาของจำเลย ซึ่งปรากฏจากคำเบิกความของพยานโจทก์เองคือ ด.ต.เอกลักษณ์ ชาติศักดิ์ ที่ยืนยันว่าจำเลยเพียงเดินถือป้ายไปตามขบวนผู้ชุมนุม มิได้จงใจยืนอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด แม้การใช้ถ้อยคำของจำเลยจะไม่สุภาพ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดตามฟ้อง
ประการที่สาม อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากโจทก์เพียงยืนยันตามคำฟ้องโดยไม่มีพยานหลักฐานใหม่มาสนับสนุน อีกทั้งการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 6 ก็ไม่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบความผิดทางอาญาที่เป็นประเด็นแห่งคดี นอกจากนี้ โจทก์ยังกล่าวอ้างข้อเท็จจริงนอกสำนวนที่ไม่ได้มีการนำสืบในชั้นพิจารณา เช่น การอ้างว่าในทัศนะของสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงในสำนวนคดี
ประการที่สี่ กระบวนการสอบสวนของโจทก์มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะการ ที่พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ไชยสัตย์ ผู้กล่าวหา ไม่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 อีกทั้งยังมีความขัดแย้งในเอกสารการสอบสวนและคำให้การของพยาน เช่น การระบุวันที่ในบันทึกคำให้การที่ขัดแย้งกับลำดับเหตุการณ์จริง รวมถึงรายงานการสืบสวนที่ระบุว่ามีการพยายามยึดป้ายจากจำเลย ซึ่งไม่มีพยานปากใดยืนยัน จึงน่าเชื่อว่าเป็นการจัดทำเอกสารโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง
ประการสุดท้าย จำเลยขอเรียนว่า เป็นผู้ประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อน การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยเป็นไปด้วยอุดมการณ์และเจตนาดีต่อบ้านเมือง มิได้มีเจตนากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
คำแก้อุทธรณ์ท้าย ๆ ยังระบุว่าการที่ฟลุคถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ จึงอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามประชาชนผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ดูฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “กิตติพล” กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอุบลฯ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”