ยกฟ้อง! ‘ม.112’ คดีชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ศาลอุบลฯ ชี้ ถ้อยคำไม่เข้าลักษณะหมิ่นประมาท พยานโจทก์ระบุ “รัชกาลที่ 10” อาจหมายถึงยุคสมัย

วันที่ 7 ก.พ. 2567 “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ถูกฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูป้ายกรอบรูปข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง 

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 มีการสืบพยานในคดีนี้ โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 8 ปาก และฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 3 ปาก 

ฟลุคต่อสู้คดีว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เป็นการพูดถึงห้วงเวลา ไม่ได้เจาะจงถึงบุคคลหรือหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ และคำว่า “ไม่มีจะแดก” นั้นหมายถึงตัวเขาเองที่ไม่มีจะกิน เนื่องจากช่วงนั้นเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ฟลุคต้องถูกให้ออกจากงานที่ร้านหมูกระทะ เพราะมีลูกค้าติดเชื้อโควิด ทำให้ร้านต้องปิดทำความสะอาด 

นอกจากนี้ยังอ้างอิงบทความ ขอบเขตของคำว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในประมวลกฎหมายอาญา โดย รศ.ชัชพล ไชยพร จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในตอนหนึ่งให้ความหมายของคำว่า แผ่นดิน รัชสมัย และรัชกาล ไว้ว่า หมายถึงชั่วระยะสมัยแห่งการปกครองหรือการทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ไม่ใช่หมายถึงพระมหากษัตริย์

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน: ลุ้นคำพิพากษา! คดี 112 ชูป้าย “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” “ฟลุค” ยืนยัน เจตนาสื่อว่าตนไม่มีจะกินในช่วงเวลานั้น  ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ เหตุกษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 วันนี้มีประชาชนและนักศึกษาที่สนใจเข้ามาฟังคำพิพากษาราว 15 คน  ก่อนที่เวลา 10.15 น. พงศ์ ทีปต์ธนากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุบลราชธานี จะอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความได้ว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยถือไม่ได้ปรากฎเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต หรือประสงค์ร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 

อีกทั้งประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และทรงมีฐานะเหนือการเมือง ไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารประเทศ พิจารณาตามความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า การบริหารบ้านเมืองเป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ 

ประกอบกับพยานโจทก์ปาก ชาญชัย พีระภาณุรักษ์ และปานรดา วรรณประภา เบิกความทำนองเดียวกันว่า คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” อาจหมายความถึง ระยะเวลาหรือยุคสมัย ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงที่จะสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลานั้น ๆ 

ในการที่จำเลยนำคำว่า “ไม่มีจะแดก” มารวมกับคำว่า “ในรัชกาลที่ 10” เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่สุภาพ และไม่บังควรอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เข้าลักษณะของการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง.

.

เมื่อออกจากห้องพิจารณาคดี ฟลุคร้องไห้ด้วยความดีใจ ท่ามกลางการเข้ามาสวมกอดจากคนที่มาให้กำลังใจในการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ 

แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนี้ก็ยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องการอัยการโจทก์อาจจะยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษานี้ได้อีก นอกจากนี้ ฟลุคยังเหลือคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบอุบลฯ อีก 2 คดี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ 

สำหรับคดีตามมาตรา 112 นอกจากคดีนี้ ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานียังมีคดีจากเหตุการณ์ชุมนุม เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยมีจำเลย 2 ราย คือ ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอีก 2 ราย คือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งศาลสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 1 นัด นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 23 ก.พ. 2567

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“ฟลุค” กิตติพล: “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” หมายถึงตัวเองอดอยาก ไม่มีจะกิน ตกงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในห้วงเวลานั้น

ดูฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “กิตติพล” กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอุบลฯ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”

X