ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ฟลุค” คดี  ‘112’ ชูป้าย “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ชี้จำเลยใช้เสรีภาพแสดงความเห็นประชดประชันสังคม ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

วันที่ 13 ก.พ. 2568 “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 22 ปี เดินทางไปศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ฟลุคถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการชูกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่สวนสาธารณะห้วยม่วง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ววันที่ 7 ก.พ. 2567 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” อาจหมายถึงระยะเวลาหรือยุคสมัย ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการบริหารบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมา อัยการได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 และฝ่ายจำเลยโดยฟลุคและทนายความ อานนท์ นำภา ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น ให้เหตุผลว่าการกระทำของฟลุค  ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือใส่ความรัชกาลที่ 10 เป็นเพียงการกล่าวกระทบกระเทียบ แสดงความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องความยากลำบากในการดำรงชีพของตนเอง  

ทั้งการเข้าร่วมชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ในการขับไล่รัฐบาล ก็อยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ต้องการเรียกร้องความสนใจถึงสภาวะส่วนตัวที่ไม่มีจะกิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของรัชกาลที่ 10

_____________________________________

เวลา 09.45 น. ในห้องพิจารณาคดีที่ 13  สุปภาดา ชำนาญกิจ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 สรุปใจความสำคัญได้ว่า

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในเบื้องต้นการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกล่าวกระทบกระเทียบ แดกดัน เหน็บแนม ประชดประชัน ถากถางสังคม หรือแสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจในเรื่องของตัวเองให้สังคมรับรู้ความยากลำบากในการดำรงชีพว่าไม่มีจะกินในช่วงที่อยู่อาศัยในรัชกาลที่ 10 มากกว่าจะเป็นการแสดงกิริยาวาจาดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นหรือพระมหากษัตริย์ หรือใส่ความรัชกาลที่ 10 หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดต่อบุคคลอื่น หรือเป็นการแสดงข้อเท็จจริงหรือยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ดีของรัชกาลที่ 10 หรือผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย จึงไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และไม่มีลักษณะเป็นการดูถูกเหยียดหยามพระเกียรติยศ หรือเสียดสีพระมหากษัตริย์ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการพยาบาทมุ่งจะทำร้าย หรือขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยา วาจา ว่าจะทำให้เสียหายในทางใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม ทั้งในขณะนั้นหรืออนาคต จึงไม่ใช่การแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีค่าเท่ากับตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไว้ไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ การที่จำเลยนำป้ายมีข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจว่าการปกครองบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกินขนาดขาดแคลนและอดอยาก ซึ่งเป็นความเท็จนั้น 

เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” วรรคสอง “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้” 

หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณาภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” 

เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ไปทางหนึ่งทางใดมิได้ 

แต่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่งคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” 

การที่จำเลยจัดทำป้ายข้อความตามฟ้องไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งเดินไปมาบริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วงที่จัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล ไม่ได้ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่งคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน 

แต่เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำ หยาบคายในข้อความป้ายที่ถือเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่พบเห็น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่สถานที่ โอกาส และเวลาอันสมควรเท่านั้น 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ หมวดทั่วไป มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ประชาชนทั่วไปย่อมทราบดีว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง แต่รัฐบาลเป็นผู้บริหารประเทศ เศรษฐกิจของประเทศชาติจะดีหรือไม่ดี ประชาชนจะอยู่ดีกินดีหรืออดอยากจึงเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ได้เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการเหยียดหยาม หรือล่วงละเมิดพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสีย 

ทั้งไม่อาจสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าการปกครองบ้านเมืองของรัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลนและอดอยาก 

ประกอบกับกิจกรรมชุมนุม อุบลคาร์ม็อบ 4 จัดขึ้นที่บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วงเพื่อชุมนุมขับไล่รัฐบาล ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยถือป้ายข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงออกและเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่พบเห็นว่าจำเลยไม่มีจะกินในช่วงเกิดเหตุ ไม่ได้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนอดอยากไม่มีจะกิน พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น 

พิพากษายืน

ประสงค์ จรูญรัตนา, เกรียงศักดิ์ ดำรงศักดิ์ศิริ และอัคเดช มัชฌิมา ลงชื่อท้ายคำพิพากษา

.

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ฟลุคกล่าวว่า ตนตั้งใจว่าจะทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและดูแลยายต่อไป ซึ่งจะต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างอุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร เป็นประจำ ทั้งนี้ ฟลุคยังเหลือคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบอุบลฯ อีก 2 คดี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ 

สำหรับคดีตามมาตรา 112  ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานียังมีคดีจากเหตุการณ์ชุมนุม เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ศาลได้สั่งให้แยกการพิจารณาคดีออกเป็น 3 คดี โดยคดีของ ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร ซึ่งถูกฟ้องเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเริ่มสืบพยานอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 และคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 จะเริ่มสืบพยานอีกในช่วงเดือนมิถุนายน 2568 ส่วนอีกคดีเป็นคดีมาตรา 112 ของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ศาลสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“ฟลุค” กิตติพล: “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” หมายถึงตัวเองอดอยาก ไม่มีจะกิน ตกงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในห้วงเวลานั้น 

แจ้ง ‘112’ กราฟิกดีไซเนอร์ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ตร.อุบลฯ อ้าง สื่อว่า ร.10 ปกครองไม่ดี

ดูฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “กิตติพล” กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอุบลฯ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”

X