ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับ 2 นศ.คนละ 10,000 คดีชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ที่อุบลฯ ระบุ ดูถูกเหยียดหยามประยุทธ์ ล่วงสิทธิผู้อื่น-ละเมิด กม.

15 ส.ค. 2566 ‘ไบค์’ หัสวรรษ (สงวนนามสกุล) และ ‘ภูมิ’ กัมพล (สงวนนามสกุล) เดินทางไปศาลแขวงอุบลราชธานี ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีที่ทั้งสองถูกฟ้องข้อหา ‘ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา’ จากการชูป้าย ‘I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร’ ในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 โดยขณะที่ถูกดำเนินคดีทั้งไบค์และภูมิ ยังเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หลังการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลแขวงอุบลราชธานี มีคำพิพากษายกฟ้อง วินิจฉัยโดยสรุปว่า คำว่า “I HERE ตู่” แปลความหมายได้หลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ จินตนาการของแต่ละบุคคล อีกทั้งคำว่า “I HERE” กับ “ไอ้เหี้ย” ไม่ใช่คำพ้องเสียง ส่วนข้อความว่า “รัฐบาลฆาตกร” ไม่ได้มุ่งร้ายบุคคลใดในรัฐบาลเป็นการเฉพาะ จึงไม่ใช่การดูหมิ่นด้วยการโฆษณาตามฟ้อง ประกอบกับนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมมีโอกาสถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งจากประชาชน เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

แต่โจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 ภายหลังอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีศาลสูงภาค 3 ลงนามรับรอง เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษน้อยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง 

.

โจทก์อุทธรณ์ นอกจากชูป้าย “I HERE ตู่” จำเลยยังตะโกนเป็นคำด่าในภาษาไทย สาธารณชนย่อมเข้าใจว่ามุ่งหมายถึงนายกฯ  

อนุชา ช้างสาร พนักงานอัยการ ศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เรียบเรียงอุทธรณ์ ได้โต้แย้งคําพิพากษาของศาลแขวงอุบลฯ ในประเด็นต่อไปนี้

โจทก์เห็นว่า นอกจากจะพิจารณาถ้อยคําที่เขียนไว้ในแผ่นผ้าแล้วต้องพิจารณาถึง พฤติการณ์การกระทําของจําเลยทั้งสองด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเพียงถ้อยคําบนแผ่นป้ายผ้าอย่างเดียวนั้นโดยมิได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของจําเลยมาประกอบด้วยยังมิชอบ 

โดยพยานโจทก์ 3 ปาก เบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์ของจําเลยในสาระสําคัญทํานองเดียวกันว่า ขณะนั้นนายกฯ จะเดินทางกลับขึ้นรถ จําเลยทั้งสองยกป้ายผ้าสีขาว โดยถือคนละมุม มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า I HERE แล้วต่อท้ายด้วยคําว่า ตู่ และมีข้อความว่า รัฐบาลฆาตกร อยู่ด้านล่าง นอกจากนั้นจําเลยทั้งสองยังตะโกนด้วยเสียงดังว่า รัฐบาลฆาตกร ออกไป ออกไป สลับกับข้อความว่า ไอ้เหี้ยตู่ ออกไป ออกไป ประชาชนที่มารอส่งนายกฯ ได้ยินแล้วหันมามอง รวมถึงสื่อมวลชนก็สนใจ

แม้จําเลยจะให้การปฏิเสธโดยนําพยานปากเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ มาเบิกความว่า คําว่า I HERE กับคําว่า ไอ้เหี้ย ไม่พ้องเสียงกันก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของจําเลยทั้งสองที่ยืนชูป้ายที่มีข้อความดังกล่าวพร้อมตะโกน โดยหันหน้าไปทิศทางที่นายกฯ อยู่ ทุกคนที่ได้เห็นและได้ยินย่อมแปลความหมายได้ว่า เป็นคําด่าที่ทุกคนเข้าใจได้ว่า คนที่ถูกด่าเป็นคนไม่ดี การที่จําเลยทั้งสองเขียนข้อความว่า I HERE ตู่ นั้นก็เป็นเพียงวิธีการเขียนเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเขียนคําว่า ไอ้เหี้ย เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย อันเป็นเจตนาที่แท้จริงของจําเลยทั้งสอง 

ส่วนคําว่า รัฐบาลฆาตกร ออกไป นั้น สาธารณชนย่อมเข้าใจว่าเป็นรัฐบาลชุดนี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้ารัฐบาล คําว่า รัฐบาลฆาตกร ย่อมมุ่งหมายไปที่นายกฯ แม้จะไม่ได้ระบุตัวบุคคลก็ตามก็เป็นการมุ่งเจาะจงโดยเฉพาะถึงนายกฯ ที่มาตรวจราชการในพื้นที่นั่นเอง คําพูดและคําเขียนดังกล่าวจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าโดยการโฆษณาแล้ว

โจทก์ได้นําพยานบุคคลและพยานเอกสารเข้าสืบให้ศาลรับฟังโดยปราศจากความสงสัยว่า จําเลยได้กระทําความผิดตามฟ้องแล้ว จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์ด้วย

.

จำเลยแย้ง โจทก์ไม่มีพยานอื่นนอกจาก ตร. “I HERE ตู่” เป็นเพียงวาทกรรมวิจารณ์บุคคลสาธารณะ มิใช่การดูหมิ่น

ต่อมา ภูมิและไบค์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังต่อไปนี้

จำเลยทั้งสองเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า ข้อความในป้ายผ้าสีขาว มิใช่เป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาตามฟ้องของโจทก์ 

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาเพียงบนแผ่นป้ายอย่างเดียวโดยไม่ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมาประกอบด้วยนั้น จำเลยทั้งสองเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องจำเลยทั้งสองเฉพาะเรื่องการชูป้ายผ้าที่มีข้อความตามฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตะโกนหรือไม่ตะโกน หรือพูดจาว่ากล่าวขณะชูป้ายผ้าเป็นประการใด 

ส่วนที่โจทก์บรรยายว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองชูป้ายผ้าแล้วตะโกนด่าว่า ไอ้เหี้ยตู่ออกไป รัฐบาลฆาตกรออกไป มีประชาชนและสื่อมวลชนได้ยินได้ฟังอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่ได้นำพยานที่เป็นสื่อมวลชนหรือประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์มาเบิกความยืนยันต่อศาล มีเพียงแต่พยานที่เป็นตำรวจซึ่งย่อมเบิกความเอาผิดจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว

อีกทั้งคดีนี้ จำเลยทั้งสองเป็นประชาชนคนธรรมดา แต่ผู้เสียหายเป็นบุคคลสาธารณะมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายไม่มีประเด็นเกลียดชัง หรือมีสาเหตุโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว มูลเหตุแห่งคดีเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 จึงให้ความคุ้มครองจำเลยทั้งสอง หนักนิดเบาหน่อยก็เป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียนก็เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วย Freedom of speech อันเป็นหลักสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ทั่วโลกรับรองกัน 

อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะมาสนใจเอาผิดเอาคดีกับจำเลยทั้งสอง  แม้พยานโจทก์จะอ้างว่านายกรัฐมนตรีให้ฟ้องร้องเอาผิดกับจำเลยทั้งสอง ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเอกสารมายืนยันกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ส่วนที่โจทท์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองเขียนข้อความว่า I HERE ตู่ เป็นเพียงวิธีการเขียนเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเขียนคำว่า “ไอ้เหี้ย” เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย อันเป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นการตีความคิดเห็นและจินตนาการของโจทก์มาผูกโยงให้เป็นความผิดแก่จำเลยทั้งสองให้ได้ ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงมีอยู่เพียงใดก็ย่อมมีอยู่เพียงนั้น 

และการตีความข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดจำเลยทั้งสองย่อมต้องพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนหาไม่จะเป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ และหากจะกล่าวไปแล้วสังคมไทยในอดีตก็มีนิทานที่ราษฎรประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ต่อว่า ด่าทอผู้มีอำนาจ เช่นเรื่องศรีธนญชัย สังคมไทยนอกจากจะไม่เอาผิดเอาโทษแล้วกลับชื่นชมหรือฟังให้เป็นเรื่องชวนหัว เป็นอารมณ์ขัน เป็นศิลปะ เป็นการระบายความรู้สึกกดดันของประชาชนคนธรรมดาที่มีต่อผู้มีอำนาจในบ้านในเมือง 

“I HERE ตู่” จึงเป็นเพียงวาทกรรมของราษฎรของประชาชนต่อผู้มีอำนาจในทางการเมืองต่อคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีค่าตอบแทนจากภาษีอากรของประชาชน จึงมิใช่ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาดังโจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว และขอศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นด้วย

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องอุทธรณ์ของโจทก์ พิพากษากลับให้ภูมิ-ไบค์ ผิด ชี้ล่วงสิทธิผู้อื่น-ละเมิดกฎหมาย 

ราว 09.45 น. ในห้องพิจารณาคดีที่ 2 รัชนีย์ สุขนิรันดร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงอุบลราชธานี อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ที่วีรศักดิ์ ขจีจิตต์, อัจฉรา นาถะภักดี และนพดล บุญไพศาลบันดาล ร่วมกันวินิจฉัยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จําเลยทั้งสองร่วมกันกระทําความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หรือไม่ 

โจทก์มี พ.ต.ท.ครองชัย ตาลประดิษฐ์ รองผู้กํากับการสอบสวน สภ.วารินชําราบ, พ.ต.อ.วรการ ป้องกัน ผู้กํากับการ สภ.วารินชําราบ และ พ.ต.อ.สุรวิทย์ โยนจอหอ ผู้กํากับการ สภ.เขื่องใน เป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุ ขณะที่ผู้เสียหายกําลังจะเดินทางกลับ จําเลยทั้งสองซึ่งยืนอยู่บริเวณใกล้เคียงเส้นทางที่ผู้เสียหายจะเดินทางกลับ ได้ตะโกนด้วยเสียงดังว่า “ไอ้เหี้ยตู่ออกไป” ซ้ำอยู่หลายครั้ง และชูป้ายผ้าสีขาวมีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” ประชาชนที่มารอส่งผู้เสียหายได้ยินแล้วหันไปมอง รวมถึงสื่อมวลชนให้ความสนใจในเหตุการณ์นี้ พยานทั้งสามกับพวกเข้าห้ามปรามจําเลยทั้งสองและยึดป้ายผ้าไว้เป็นของกลาง 

เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ซึ่งล้วนแต่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่เกิดเหตุต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันมีเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังมีการบันทึกคลิปเหตุการณ์ไว้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จําเลยทั้งสองถือป้ายที่มีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” และพูดหรือตะโกนคําว่า “ไอ้เหี้ยตู่ออกไป” ในขณะที่ผู้เสียหายกําลังจะเดินทางกลับ และมีประชาชนมารอต้อนรับผู้เสียหายและมีสื่อมวลชนมาทำข่าว

ปัญหาว่าป้ายสีขาวที่มีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” ที่จำเลยทั้งสองถือแสดงอยู่นั้นเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ 

เห็นว่า คำว่า “ดูหมิ่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ไม่ได้นิยามคำศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เป็นที่รังเกียจของประชาชน การวินิจฉัยว่าข้อความดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่า ข้อความที่แสดงเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ 

โจทก์มีรัชนีกร โสภาพรม ครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นพยานเบิกความว่า คำว่า “I HERE” นั้น ไม่สมบูรณ์ตามหลักไวยากรณ์เนื่องจากขาดคำกิริยา ส่วนคำว่า  “I HERE ตู่” นั้น ไม่สามารถแปลให้ได้ความหมาย จำเลยทั้งสองมี เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกภาษาศาสตร์ เป็นพยานเบิกความว่า คำว่า “I HERE” กับคำว่า “ไอ้เหี้ย” ไม่ใช่คำพ้องเสียงกัน 

จึงฟังได้ว่าคำว่า “I HERE” เป็นคำในภาษาอังกฤษที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดคำกิริยา ซึ่งหากแปลตรงตัวในแต่ละคำแล้วคงได้ความเพียงว่า ฉัน ที่นี่ และไม่ใช่คำพ้องเสียงกับ “ไอ้เหี้ย” แต่ในพฤติกรรมที่จำเลยทั้งสองได้กระทำหรือแสดงออกมานั้น นอกจากจะถือป้ายผ้าสีขาวที่มีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” แล้ว จำเลยทั้งสองยังได้พูดตะโกนคำว่า “ไอ้เหี้ยตู่ ออกไป ออกไป” และ “รัฐบาลฆาตกร ออกไป ออกไป” สลับกันไป จึงต้องพิจารณาในบริบทถึงกลุ่มคำ หรือข้อความที่นำมาใช้ขยายความหมาย หรือสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง 

ย่อมเห็นได้ว่า คำว่า “I HERE” เป็นเพียงวิธีการเขียนในรูปภาษาอังกฤษ เพื่อใช้แทนคำว่า “ไอ้เหี้ย” ในภาษาไทย เพื่อปิดบังเจตนาในการนำภาษามาแทนถ้อยคำ ในทำนองนำสำนวนวาจามาเล่นคำ เล่นความหมาย เพื่อให้ได้ตามความประสงค์แห่งตน ซึ่งคำว่า “เหี้ย” นอกจากจะเป็นคำด่าหรือเป็นคำหยาบแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า ส่วนคำว่า “ตู่” โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่าเป็นชื่อเล่นของผู้เสียหาย 

และคำว่า “รัฐบาลฆาตกร” นั้น แม้รัฐบาลไม่มีฐานะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่รัฐบาลก็เป็นคณะบุคคลซึ่งในบางบริบทของการพูดหรือการแสดงข้อความ หรือจากการกระทำอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ยืนยันได้อย่างแน่ชัดขึ้นว่า หมายถึงบุคคลใดที่มุ่งกล่าวถึง เมื่อผู้เสียหายเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาตรวจราชการ คำว่า “รัฐบาลฆาตกร” ที่ปรากฏอยู่ในป้ายผ้าสีขาวที่จำเลยทั้งสองถืออยู่ประกอบพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองพูดหรือตะโกน คำว่า “รัฐบาลฆาตกร” พร้อมไปด้วยกันนั้น แม้จะไม่ระบุตัวบุคคล แต่ก็เห็นได้ว่ามุ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีที่มาตรวจราชการนั้นเอง 

ดังนี้ ป้ายผ้าสีขาวที่มีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” ประกอบพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง วิญญูชนเห็นแล้วก็เข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวเองว่า ผู้เสียหายเป็นคนไม่ดี เป็นการทำลายความงดงามที่มีอยู่ในตัวตน ทำให้ขาดความยำเกรง จึงเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เป็นที่น่ารังเกียจของประชาชน และการที่มีประชาชนจำนวนมากรอต้อนรับผู้เสียหาย อีกทั้งยังมีสื่อสารมวลชนมาทำข่าว จึงเป็นการทำให้ข้อความที่ดูถูกเหยียดหยามนั้นทราบถึงบุคคลอื่น ๆ และกระจายออกไปสู่การรับรู้ในวงกว้าง 

ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับการทำงานของผู้เสียหายและรัฐบาลจึงมาแสดงความคิดเห็นในเชิงสัญลักษณ์นั้น แม้การแสดงความคิดเห็นจะเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ก็ต้องตระหนักว่าตนมีหน้าที่ควบคู่ไปกับสิทธิ โดยเฉพาะหน้าที่ที่ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นและกฎหมาย เมื่อสิทธิเป็นอำนาจที่กฎหมายรองรับให้แก่บุคคล ส่วนเสรีภาพเป็นอำนาจของบุคคลในอันจะกำหนดตนเอง การใช้สิทธิเสรีภาพของตนจึงต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่นและอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการล่วงสิทธิของผู้อื่นและละเมิดต่อกฎหมาย 

ดังนี้ ป้ายผ้าสีขาวที่มีข้อความว่า “I HERE ตู่ รัฐบาลฆาตกร” ประกอบพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ป้ายผ้าสีขาวเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393  ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

.

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทั้งไบค์และภูมิต้องเข้าไปอยู่ในห้องควบคุมตัวบริเวณด้านหลังศาลตั้งแต่เวลา 10.00 น. เนื่องจากไม่ได้เตรียมเงินมาชำระค่าปรับพอกับจำนวนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษา ก่อนที่ทนายความจะยื่นคำร้องขอเลื่อนชำระค่าปรับออกไป 30 วัน ทั้ง 2 คน ต้องรอจนกระทั่ง 13.50 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนการชำระค่าปรับ และปล่อยตัวออกจากห้องควบคุมตัว 

เนื่องจากข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณา มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งไบค์และภูมิต่างกล่าวว่า รู้สึกผิดคาดกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ลงโทษปรับสูงสุด นั่นเป็นสิ่งที่สร้างความยุ่งยากให้กับพวกเขาอย่างมากในการจะหาเงินมาชำระค่าปรับ และยุ่งยากเสียเวลารอศาลอนุญาตให้เลื่อนชำระค่าปรับ 

ทั้งสองยังเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมมีโอกาสถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะกระทบกระทั่งจากประชาชน เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาพิพากษากลับว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการล่วงสิทธิของผู้อื่นและละเมิดต่อกฎหมายนั้น เหมือนศาลรับรองกลายๆ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทั้งที่มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ไบค์และภูมิตัดสินใจที่จะสู้คดีต่อไปในชั้นศาลฎีกา

X