หนุ่มอุบลฯ ให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน – ได้ประกันตัว หลังถูกจับจากเหตุเข้าเปลี่ยนชื่อเว็บศาลรัฐธรรมนูญเป็น “Kangaroo Court”

หลังจากมีข่าวเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 ว่า ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) บุกเข้าค้นบ้านวชิระ (สงวนนามสกุล) ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากต้องสงสัยว่า แฮกเข้าไปเปลี่ยนหน้าเว็บของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา และควบคุมตัวไปสอบปากคำ 

เช้าวันที่ 14 พ.ย. 2564 ตำรวจหลายหน่วยเพิ่งนำหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 13 พ.ย. 2564 เข้าจับกุมวชิระ ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นำตัวไป สภ.วารินชำราบ ก่อนส่งตัวมาดำเนินคดีที่ บก.สอท.1 อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นนทบุรี โดยหลังจากสอบปากคำในช่วงกลางดึก ตำรวจได้นำตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง และยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาวานนี้ (15 พ.ย. 2564) ก่อนศาลให้ประกันในวงเงินประกัน 25,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม นัดรายงานตัว 4 ม.ค. 2565

.

เข้าค้น-นำตัวไปสอบปากคำโดยไม่มีทนาย ก่อนขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 

หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยของอานนท์ รุ้ง ไมค์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมเสนอข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช้าวันต่อมา มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแฮกเข้าไปเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น Kangaroo Court ซึ่งเป็นศัพท์แสลงหมายถึง “ศาลเตี้ย” และฝังคลิปจากยูทูบ เพลง Guillotine (It goes Yah) ของ Death Grips 

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ไปแล้ว เนื่องจากเว็บไซต์ถูกเปลี่ยนพาสเวิร์ดแล้ว การกู้คืนอาจทำได้ยาก แต่ไม่ได้มีความเสียหายด้านข้อมูลเพราะไม่ได้ถูกเจาะในระบบฐานข้อมูล เป็นเพียงแฮกเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์เท่านั้น และเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสืบสวนโดยเร่งด่วน 

ช่วงเย็นวันที่ 13 พ.ย. 2564 ปรากฏข่าวการเข้าตรวจค้นบ้านและควบคุมตัววชิระ อายุ 33 ปี ไปสอบปากคำที่ สภ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยรายงานข่าวระบุว่า วชิระให้การรับสารภาพว่าได้เข้าไปแฮกเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 06.30 น. อย่างไรก็ตาม เมื่อนักข่าวในพื้นที่และนักกิจกรรมติดตามไปที่ สภ.วารินฯ กลับไม่พบตัววชิระ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน

วันต่อมา (14 พ.ย. 2564) หลังการพยายามติดตามหาครอบครัวของวชิระ นักกิจกรรมใน จ.อุบลฯ ได้ทราบจากแม่ของวชิระว่า ตำรวจนำตัววชิระไปสอบปากคำพร้อมพ่อ พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ตำรวจจึงปล่อยตัวกลับบ้าน จากนั้นเช้าวันนี้  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาอีกครั้ง ครั้งนี้นำหมายจับมาแสดง ก่อนควบคุมตัววชิระไป สภ.วารินชำราบ เมื่อพ่อและแม่ตามไป พบเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขัง ตำรวจแจ้งว่า จะต้องนำตัวไปดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ให้พ่อแม่นำหลักทรัพย์ 100,000 บาท ตามไปประกันตัวในวันที่สะดวก แม่ได้สอบถามว่าควรให้ทนายไปด้วยไหม แต่ตำรวจตอบว่าไม่ต้อง

ต่อมา ครอบครัวได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากนั้นทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายฯ ได้เดินทางไปรอเข้าร่วมการสอบปากคำ หลังประสานกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทราบว่า เจ้าหน้าที่ชุดที่ควบคุมตัววชิระเดินทางด้วยรถยนต์น่าจะถึง บก.สอท.1 ในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม และจะสอบปากคำในคืนนั้นเลย

.

หลังพบทนายความ วชิระให้การปฏิเสธ ตำรวจส่งขัง สน.ทุ่งสองห้อง แทนการให้นอนในห้องแอร์

การสอบสวนเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 23.00 น. โดย พ.ต.ท.สรรพิชญ์ ศิริสุนทร พนักงานสอบสวน บก.สอท.1 ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับของศาลอาญา ระบุว่า การเข้าไปเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 เป็นการกระทําผิดฐาน “เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน, ทําให้เสียหาย ทําลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ และกระทําด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทํางานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทํางานตามปกติได้” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 5, 7, 9 และ 10 

ทั้งนี้ ในชั้นจับกุม บันทึกการจับกุมซึ่งทำที่ สภ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ระบุว่า วชิระให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวน วชิระยืนยันให้การปฏิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

ทนายความให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกที่ไปถึง บก.สอท.ได้สอบถามพนักงานสอบสวนว่า จะให้ประกันวชิระในชั้นสอบสวนหรือไม่ ตำรวจตอบเพียงว่า เตรียมที่นอนให้วชิระนอนในห้องแอร์แล้ว แต่หลังจากวชิระให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แม้นายตำรวจระดับรองผู้บังคับการได้เข้าหว่านล้อมขอความร่วมมือ ซึ่งทนายความก็ได้ยืนยันว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างไรก็ได้ ทำให้ภายหลังสอบปากคำเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 00.30 น. เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า จะส่งตัววชิระไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อรอส่งฝากขังศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ มีโทรศัพท์ภายนอกเข้ามาสอบถามด้วยว่า ทนายความมีใบแต่งตั้งจากผู้ต้องหาหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ชี้แจงว่า ในชั้นสอบสวนทนายสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องมีใบแต่งตั้ง

.

พนักงานสอบสวนไม่ค้าน – ศาลให้ประกันไม่มีเงื่อนไข 

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 พ.ย. 2564) ตำรวจได้ควบคุมวชิระจาก สน.ทุ่งสองห้อง กลับมาที่ บก.สอท.1 อีกครั้ง เพื่อขอฝากขังต่อศาลอาญาโดยวิธีคอนเฟอเรนซ์ ระบุเหตุผลว่าต้องสอบพยานอีก 7 ปาก อย่างไรก็ตาม คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนระบุว่า วชิระให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน อีกทั้งพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว 

ขณะที่ทนายความก็ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนที่ศาลอาญา ชี้ว่า ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือในการจับกุม จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดแล้ว 

กระทั่งประมาณ 16.15 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 25,000 บาท ตามที่ยื่นคำร้อง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งนี้ ศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเพิ่มเติมใดๆ และนัดให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 4 ม.ค. 2565  

ข้อกล่าวหาในคดีนี้ซึ่งเป็นถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 5, 7, 9 และ 10 นั้น พบว่า มาตรา 5 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ, มาตรา 7 มีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนมาตรา 9 และ 10  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

.

รู้สึกไม่ดีที่ทำให้พ่อแม่กังวล”

ด้านวชิระ หลังได้รับการปล่อยตัวจาก บก.สอท.1 ได้เดินทางกลับอุบลฯ ในช่วงค่ำทันที ด้วยรถโดยสารประจำทาง ซึ่งวิ่งไปถึง อ.วารินชำราบ ในตอนเช้าตรู่ 

วชิระเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกไปที่บ้าน ตลอดจนถึงการถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีว่า ตลอดช่วง 3 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายปฏิบัติต่อเขาและครอบครัวเป็นอย่างดีจนน่าแปลกใจ ระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ถูกใส่กุญแจมือ ทำให้เขาไม่ค่อยวิตกกังวลเท่าไหร่นัก จะมีบ้างก็ตอนถูกขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ซึ่งคืนนั้นเขาเครียดจนนอนไม่หลับทั้งคืน มาถึงตอนนี้เขายังกังวลแค่กระบวนการของศาล เนื่องจากไม่เคยมีความรู้เรื่องกฎหมาย และไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน อีกทั้งกรุงเทพฯ ก็ไกลจากบ้านมาก “สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีอย่างหนึ่งก็คือการที่ผมทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลเยอะ ผมเองไม่ได้เป็นห่วงไม่ได้อะไรกับตัวเองมาก แต่ทั้งพ่อแม่ญาติพี่น้องเพื่อนๆ เป็นห่วงเรา กังวลมากกว่าผมเยอะเลย”

วชิระจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่มีความสนใจและชอบงานวาดการ์ตูน และแอนิเมชั่น หลังเรียนจบมาจึงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับงานทำแอนิเมชั่นในส่วนเรื่องการวาดภาพ “แต่งานพวกนี้ไม่ค่อยมีในไทย ทำให้นานๆ จะมีงานสักชิ้นนึง” นอกจากนี้เขายังชอบเล่นดนตรีและทำเพลงบ้าง ส่วนเรื่องการเมืองนั้นเขาติดตามดูข่าวอยู่ห่างๆ และไม่ได้แสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลเท่าไหร่นัก

.

X