ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน “วชิระ” จำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีแฮ็กเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเป็น ‘Kangaroo Court’ ก่อนได้ประกันในชั้นฎีกา

21 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ วชิระ (สงวนนามสกุล)  ชาวอุบลราชธานีวัย 36 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7, 9 และ 10 กรณีแฮกเข้าไปเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นเว็บเป็น ‘Kangaroo Court’ และได้ฝังคลิปวิดีโอเพลงจากยูทูป ชื่อว่า ‘Guillotine (It goes Yah)’ โดยศิลปิน Death Grips เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองของแกนนำราษฎร

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพตามข้อกล่าวหา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และในคดีส่วนแพ่ง ให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท แต่พิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่มากกว่าร้อยละ 5

.

สำหรับคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 บนหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น ‘Kangaroo Court’ และได้ฝังคลิปวิดีโอเพลงจากยูทูป ชื่อว่า ‘Guillotine (It goes Yah)’  โดยศิลปิน Death Grips จนกลายเป็นกระแสติดเทรนด์ยอดนิยมบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์

เพียงสองวันหลังเกิดเหตุ วันที่ 13 พ.ย. 2564 ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) ได้บุกเข้าค้นบ้านของวชิระในจังหวัดอุบลราชธานี และได้นำตัวไปสอบปากคำโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย ซึ่งเขาได้รับสารภาพว่าได้เข้าไปแฮกเว็บไซต์จริง อย่างไรก็ตาม เมื่อนักข่าวในพื้นที่และนักกิจกรรมติดตามไปที่ สภ.วารินชำราบ กลับไม่พบตัววชิระ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน

ต่อมาในเช้าวันที่ 14 พ.ย. 2564 ตำรวจหลายหน่วยงานได้นำหมายจับจากศาลอาญา เข้าจับกุมวชิระอีกครั้ง ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนจะนำตัวเขาไปที่ สภ.วารินชำราบ โดยมีครอบครัวติดตามไปด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมขังวชิระไว้ที่สถานีดังกล่าว และแจ้งว่าจะต้องนำตัวเขาไปดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ 

การสอบสวนเริ่มขึ้นในช่วงกลางดึกของวันดังกล่าว หลังจากวชิระได้พบกับทนายความและปรึกษากฎหมายร่วมกันแล้ว เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน จากนั้นเขาถูกส่งตัวไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อรอส่งฝากขังที่ศาลอาญาในวันต่อมา ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 25,000 บาท

ต่อมาในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 มีคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7, 9 และ 10 ต่อมาในนัดตรวจพยานหลักฐาน เขาตัดสินใจรับสารภาพตามฟ้อง

แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมในกรณีที่ทำให้ระบบเว็บไซต์เกิดความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งศาลได้ให้สิทธิจำเลยสามารถสู้ในส่วนแพ่งจากกรณีดังกล่าวได้ วชิระจึงประสงค์จะสู้คดีในส่วนแพ่งต่อ จึงมีการสืบพยานฝ่ายผู้ร้อง 1 นัด ในวันที่ 8 ก.ค. 2565 

จากนั้น ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ส.ค. 2565 เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย ทำให้ระบบไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของวชิระเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชน  ในส่วนอาญา ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และในคดีส่วนแพ่ง เห็นว่ามีค่าเสียหายจากการต้องจ้างคนเข้ามาแก้ไขระบบเป็นเงิน 848.3 บาท ต่อวัน และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปี 

แต่อย่างไรก็ตามวชิระได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ และได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 จนในช่วงต้นปี 2568 ได้มีหมายนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาถึง

.

วันนี้ (21 ม.ค.) จำเลยเดินทางมาเพียงคนเดียว พร้อมกับเสมียนทนายจำเลย นายประกัน และผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง (ศาลรัฐธรรมนูญ) มายังห้องพิจารณาคดีที่ 609 ตามนัดหมาย อย่างไรก็ตามที่ห้องพิจารณาคดีดังกล่าว มีนัดหมายฟังคำพิพากษาในคดีอื่นหลายคดี รวมทั้งในคดีมาตรา 112 ของ “ใจ” ก็มีการนัดอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีนี้เช่นกัน

ต่อมาในเวลาประมาณ 10.57 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และประเด็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยอุทธรณ์ให้ลงโทษสถานเบา และให้ลดค่าสินไหมทดแทน

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า หลังจากจำเลยเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องต้องให้ผู้ดูแลภายนอกแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งใช้ระยะเวลาจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้อีก ผู้ร้องจึงปิดเว็บไซต์เป็นเวลา 104 วัน เพื่อไม่ให้จำเลยเข้าถึงได้ ซึ่งในระหว่างนั้นมีการเปิดเว็บไซต์สำรอง ผู้ร้องเสียค่าใช้จ่ายในการให้บุคคลภายนอกมาแก้ไขปรับปรุงเว็บไซต์ มีค่าเสียหายจากการต้องจ้างคนเข้ามาแก้ไขระบบเป็นเงิน 848.3 บาท ต่อวัน และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท  ซึ่งหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

ในประเด็นของอัตราดอกเบี้ยเงินปรับอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นควรให้แก้ไขให้เรียบร้อย จึงให้แก้อัตราดอกเบี้ยของเงินต้นเป็นลดหรือเพิ่มได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่มากกว่าร้อยละ 5 นอกจากนี้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

สรุปแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และในคดีส่วนแพ่ง ให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท แต่พิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่มากกว่าร้อยละ 5

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้เสร็จสิ้น วชิระถูกใส่กุญแจข้อมือและนำตัวลงไปคุมขังที่ใต้ถุนศาลระหว่างรอผลการประกันตัวในชั้นฎีกา หลังจากนั้นศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ใจ” ต่อ

ต่อมาในเวลา 16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัววชิระในระหว่างฎีกา โดยใช้หลักทรัพย์ 1 แสนบาท เท่ากับหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเพิ่มเติม

.

‘วชิระ’ ประชาชนคนหนึ่งที่ลุกออกมาต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม

“วชิระ” พื้นเพเป็นคน อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขามีความสนใจและชอบงานวาดการ์ตูน และแอนิเมชั่น หลังเรียนจบมาจึงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับงานทำแอนิเมชั่นในส่วนเรื่องการวาดภาพ เดิมเขาไม่ได้มีความสนใจในด้านการเมืองมากนัก 

แต่แล้วในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยกรณีการชุมนุมปราศรัย 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ของ อานนท์ นำภา, ไมค์ ภานุพงศ์ และ รุ้ง ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยมีใจความสำคัญเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นทำให้วชิระตัดสินใจทำอะไรบางอย่างในวันที่ 11 พ.ย. 2564 บนหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น ‘Kangaroo Court’  ซึ่งมีความหมายว่า “ศาลเตี้ย” และได้ฝังคลิปวิดีโอเพลง ‘Guillotine (It goes Yah)’ จากยูทูป  โดยศิลปิน Death Grips จนกลายเป็นกระแสติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ และเกิดการตั้งคำถามจากสังคม ตลอดจนการตามหาตัวแฮกเกอร์คนนี้บนโลกอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม วชิระได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในส่วนของคำว่า Kangaroo Court ดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่านั้นสำหรับเขา 

“ในความคิดเห็นผม ความหมายแฝงอีกอย่างคือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกกำหนดผลมาตั้งแต่ต้น” วชิระกล่าวต่อ

ตอนหนึ่ง เขาฝากบอกกับสังคมว่าตนเองเคยเป็นหนึ่งในคนที่ไม่คิดสนใจปัญหาการเมือง เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาเสมอ จนกระทั่งเมื่อได้อ่านเรื่องราวและติดตามข่าวของนักกิจกรรมที่ถูกละเมิดสิทธิและได้รับการดำเนินคดีอย่างไม่ยุติธรรม เขาจึงอยากที่จะออกมาแสดงความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ 

“ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเพื่อให้เสียงของตัวเองถูกได้ยิน หรือลุกขึ้นมาปกป้องเสียงของคนอื่น สักวันอาจจะไม่เหลือใครที่จะลุกขึ้นมาเพื่อคุณเลย” วชิระกล่าว

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ย้อนรอย Kangkaroo Court : ก่อนวันพิพากษา 18 สิงหา คดีแฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน

X