18 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “วชิระ” (สงวนนามสกุล)’ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7, 9 และ 10 กรณีทำการแฮกเข้าไปเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นเว็บเป็น ‘Kangaroo Court’ และได้ฝังคลิปวิดีโอเพลงจากยูทูป ชื่อว่า ‘Guillotine (It goes Yah)’ โดยศิลปิน Death Grips เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองของแกนนำราษฎร
เวลา 08.50 น. จำเลยและผู้รับมอบฉันทะจากทนายความเดินทางมาถึงที่หน้าห้องพิจารณาคดี 801
วชิระได้เปิดเผยความคิดเห็น ถึงคำร้องในส่วนค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเรียกเก็บจากเขาเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000,000 บาท โดยเขาได้บอกว่าตนเองได้ยอมรับในส่วนข้อกล่าวหาที่เข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ แต่เงินจำนวนนับล้านบาทดังกล่าว ซึ่งอ้างว่าเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง เขาเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเหตุใดจึงต้องเรียกเงินจำนวนมากมายขนาดนั้น
ต่อมาเวลา 09.39 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่อัยการโจทก์ฟ้อง
คำพิพากษามีใจความสำคัญสรุปได้ว่า ในคดีนี้อัยการโจทก์ ได้ฟ้องวชิระ ผู้ได้เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ สําหรับเผยแพร่เว็บไซต์ www.constitutionalcourt.or.th ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกําหนดชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username & Password) อันเป็นมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย
ทั้งนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ของจําเลยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านของผู้บริหารจัดการข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้เสียหาย เข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์สําหรับเผยแพร่เว็บไซต์ดังกล่าว ทําให้เกิดความเสียหาย และทําลาย ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำให้ระบบไม่สามารถให้บริการได้
ตลอดจน ในคดีนี้มีความผิดทั้งในส่วนแพ่งและอาญา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของวชิระเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์และศรัทธาของประชาชน โดยในส่วนอาญา ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่จำเลยรับสารภาพตามข้อกล่าวหาที่อัยการโจทก์บรรยายฟ้อง จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
ในคดีส่วนแพ่ง ศาลเห็นว่าการกระทำของวชิระเป็นการเข้าถึงระบบโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งมีค่าเสียหายจากการต้องจ้างคนเข้ามาแก้ไขระบบเป็นเงิน 848.3 บาท ต่อวัน และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 87,227 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปี
นอกจากนี้ศาลได้พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจทำลายภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของผู้เสียหาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญเพื่ออำนวยความยุติธรรมตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม จึงควรลงโทษให้หลาบจำเป็น ไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น โทษจำคุกจึงไม่ให้รอลงอาญา
ส่วนคำร้องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ยื่นขอให้วชิระชดใช้ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทนั้น ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนดังกล่าว หากผู้ร้องต้องการเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ขอให้ทำคำฟ้องแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้ยกคำร้อง
หลังฟังคำพิพากษา ศาลได้แจ้งต่อจำเลยและผู้รับมอบฉันทะว่า หากจำเลยเห็นว่าโทษสูงเกินไป สามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้
ต่อมาเวลา 17.00 น. หลังนายประกันได้ยื่นประกันตัวจำเลยในชั้นอุทธรณ์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 75,000 บาท หลังจำเลยเคยใช้หลักประกันตัวในชั้นฝากขังจำนวน 25,000 บาท รวมเป็นเงินประกันจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
สำหรับคดีนี้ มูลเหตุที่ทำให้วชิระออกมาเคลื่อนไหว และแฮกระบบเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัย กรณีการชุมนุมปราศรัย 10 ข้อเสนอต่อการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยมีใจความสำคัญว่า เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำวินิจฉัยดังกล่าว ได้ทำให้วชิระออกมาเคลื่อนไหวและแสดงออกด้วยการแฮกเว็บไซต์ดังกล่าวและเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบ จนทำให้เขาถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีแรกในชีวิต
.
อ่านสรุปคดีแฮกเกอร์เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ >>> ย้อนรอย Kangkaroo Court : ก่อนวันพิพากษา 18 สิงหา คดีแฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน