ในมุมหนึ่งของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตรงข้ามคือ ‘วชิระ’ หรือ ‘ขวัญ’ ชายวัย 36 ปี นั่งอยู่ท่ามกลางตัวอักษรและความคิด เขาคือผู้ที่โลกดิจิทัลรู้จักในฐานะผู้แฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญในวันหนึ่งที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอาจไม่มีวันลืม
จากเส้นทางอันสดใสของอดีตนักเรียนทันตแพทย์ผู้สนใจในการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ ศาสตร์แห่งฟิสิกส์ และภาพยนตร์อนิเมชั่น ชีวิตของเขาพลิกผันในชั่วข้ามคืน เหตุเพราะวันที่ 10 พ.ย. 2564 หลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อแกนนำชุมนุมม็อบราษฎร ซึ่งระบุว่า การชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนวันถัดมาคำว่า ‘Kangaroo Court’ ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ของสถาบันที่จัดทำคำวินิจฉัยดังกล่าว พร้อมเสียงเพลง ‘Guillotine (It goes Yah)’ ของวง Death Grips ที่บรรเลงความท้าทายต่ออำนาจรัฐ เหตุการณ์นี้กลายเป็นกระแสติดเทรนด์ยอดนิยมบนทวิตเตอร์
ไม่กี่วันจากนั้นวชิระถูกจับกุมที่บ้าน ก่อนภายหลังถูกฟ้องด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ทำให้เสียหาย และดัดแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ซึ่งเขาก็รับว่าทำจริง ๆ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุก 3 ปี แต่ด้วยการรับสารภาพ โทษจึงลดลงกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน พร้อมให้ชำระค่าเสียหายทางแพ่งอีก 87,227 บาท
หลังได้รับการประกันตัว ปัจจุบันคดีของวชิระอยู่ระหว่างชั้นฎีกา ในห้วงเวลาแห่งการรอคอยที่ทอดยาวออกไป เป็นอีกครั้งที่เขาตัดสินใจให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางชีวิต ว่าด้วยชีวิตนักศึกษาทันตแพทย์ที่ลาออกก่อนเรียนจบ บทเพลงที่ไม่เคยได้บรรเลงต่อ อนิเมชั่นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และคดีทางการเมืองที่พบเผชิญ
วชิระ ยังคงรอวันพิพากษาฎีกาที่อาจทำให้เขาต้องถูกจองจำ แม้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘แฮ็กเกอร์’ คนนี้ จะมองตัวเองว่าเป็นเพียงปุถุชนธรรมดาที่อดรนทนไม่ได้ต่อความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย
.
เด็กฟิสิกส์ที่รักการเขียนโค้ด
“ตอนเด็ก ผมเป็นตัวแทนตอบปัญหาโรงเรียนครับ” วชิระเริ่มต้นเล่าย้อนไปในวัยเยาว์ “พอมัธยมปลายก็ทำกิจกรรมเยอะ พวกแข่งเขียนโปรแกรม แข่งฟิสิกส์อะไรประมาณนี้”
ฟิสิกส์คือวิชาที่เขาหลงรัก น้ำเสียงกระตือรือร้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “วิชานี้มันทำให้เรามองโลกไปอีกแบบหนึ่งเลย แล้วพออ่านพวกฟิสิกส์ระดับสูงขึ้นไป มันก็ยิ่งดูแปลกประหลาดมากขึ้น น่าสนใจ”
วชิระเคยผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ (สอวน.) และได้เหรียญเงินระดับประเทศ “พอได้เหรียญเงิน ก็คือเราจะได้สิทธิ์เข้าไปอีกรอบหนึ่ง รอบที่แข่งเพื่อคัดตัวแทนไปแข่งต่างประเทศ แต่ผมไม่ได้ไป ทั้งที่มีสิทธิ์ เพราะว่าตอนนั้นครอบครัวไม่อยากให้เดินทางคนเดียว”

นอกจากฟิสิกส์ เขายังชอบการเขียนโปรแกรมอย่างมาก “ที่จริงก็สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์มาตลอด” เขาเล่าถึงการได้คอมพิวเตอร์เครื่องแรกในชีวิตตอนมัธยม 2 “เปิดไฟล์ในเครื่องดู มันก็จะมีพวกไฟล์เฮชทีเอ็มแอล(HTML) เราก็แกะอ่าน ๆ แล้วก็ลองทำตาม”
จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดขึ้นในห้องสมุดโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช “สักพักก็เปิดเจอหนังสือเล่มหนึ่งในห้องสมุดโรงเรียน หนังสือภาษาซี ก็เลยเรียนเขียนซีมาตั้งแต่ตอนนั้น” แววตาเป็นประกายเมื่อพูดถึงการเขียนโปรแกรมครั้งแรกในชีวิต
“ส่วนใหญ่เราแค่ทำเกมเลียนแบบคนอื่น แบบเกมงู เกมปลูกผัก” เขาพูดด้วยรอยยิ้มถ่อมตัว “ผมไม่ใช่แบบดีไซเนอร์เก่ง ๆ เท่าไหร่ ชอบเขียนไปทางเทคนิคมากกว่า เป็นพวกเชิงระบบ”
.
ประสบการณ์แสนทรมาน ชีวิตในคณะทันตแพทย์ฯ
ชีวิตมหาวิทยาลัยของวชิระไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง แม้ช่วงมัธยมปลายเขาผ่านเข้าค่ายวิชาการระดับประเทศเป็นผลให้มีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เกือบทุกภาควิชา แต่ด้วยความคาดหวังจากครอบครัว เขาเลือกเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการสอบโควต้าภูมิภาคแทน
“เรียกว่าฐานะไม่ค่อยดีด้วย พ่อแม่ก็หวังเนาะว่าจะให้ลูกมีอาชีพมั่นคง” น้ำเสียงของเขาเศร้าลง “แต่ผมก็บอกพวกเขาไว้ว่า ถ้าผมไม่ชอบ ผมก็ไม่เรียนต่อ”
วชิระเล่าถึงประสบการณ์อันแสนทรมานในคณะทันตแพทยศาสตร์ “มันเป็นโลกที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง มันคือการท่องจำล้วน ๆ ไม่มีความสนุกเลย ปีแรกก็ยังพอทนได้ เพราะยังเป็นวิชาพื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แต่พอปี 2 ผมก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่”
เขาใช้เวลาถึง 9-10 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย กับการเรียนทันตแพทย์ที่ไม่ใช่ตัวตนของเขา “นักเรียนทันตแพทย์ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เก่งวิชาการ ก็จะเก่งงานแล็ป เก่งงานหัตถการ แต่ผมไม่ได้ทั้งสองอย่างเลย” เขาหัวเราะขื่น ๆ
ในปีที่ 4 วชิระตกอยู่ในภาวะวิกฤต “ต้องเริ่มรักษาคนไข้จริง ๆ ต้องนัดคนไข้ ต้องคุย ต้องบังคับให้คนไข้ดูแลสุขภาพ ทั้งเขียนรายงาน มันเหนื่อยมาก มากจริง ๆ ผมคิดว่าผมเริ่มป่วยทางจิตใจตอนนั้นแหละ แต่ยังไม่ได้ไปตรวจ”
ก่อนย้อนภาพกลับไปถึงเส้นทางที่ประสบมา “คนที่เรียนทันตแพทย์แล้วไม่จบภายใน 6 ปี มีตลอด รุ่นผมก็มี 2-3 คนจาก 80 กว่าคนที่เข้าคณะ แต่จบวิทยาศาสตร์บัณฑิตแทน มันเป็นเรื่องธรรมดาของคณะที่เด็กจะเรียนไม่จบกัน”
เขาเล่าย้ำถึงความพยายามในชั้นปีที่ 4 ด้วยน้ำเสียงที่แฝงความเหนื่อยล้า “ตอนนั้นเป็นชั้นคลินิกแล้ว ส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติงานหมดเลย มี lecture แค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง นอกนั้นก็อุดฟัน ถอนฟัน ผมทำเกือบทุกอย่าง แต่เก็บเคสไม่หมด บางคนก็หาเคสไม่ได้ ผมก็มีปัญหาหาเคสไม่ได้”
แต่แม้จะต้องเดินออกจากเส้นทางทันตแพทย์ วชิระยังเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ เมื่อพูดถึงทักษะที่ยังคงติดตัวเขามา
“ทักษะเรื่องการมองกับใช้มือ ที่เรียกว่า eye-contact coordination คืองานที่ต้องใช้รายละเอียด ระบบวาดรูปเราก็ทำได้ มันช่วยเราอยู่” ความเชื่อมโยงระหว่างสองเส้นทางที่ดูเหมือนจะต่างกัน กลับมีจุดร่วมที่น่าประหลาดใจ เส้นทางหนึ่งอาจสิ้นสุดลง แต่มันได้หล่อหลอมให้อีกเส้นทางเริ่มต้นขึ้น
.
ศิลปะและเทคโนโลยี โลกที่แท้จริงของวชิระ
ถึงแม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความหม่นหมองระหว่างเรียน แต่วชิระไม่เคยละทิ้งความหลงใหลในงานศิลปะและเทคโนโลยี “ผมหันไปหาละครเวทีและดนตรีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ มันเป็นช่วงเวลาที่สนุก เป็นที่เดียวที่ผมรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตอยู่”
วชิระเล่าถึงความรักในดนตรีที่มีมาตั้งแต่สมัยมัธยม “ขอพ่อเข้าวงโยธวาทิต พ่อก็ไม่ให้ ขอซื้อกีตาร์ พ่อก็ไม่ให้ซื้อ” แต่เขาไม่ยอมแพ้ “สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นก็คือทำเพลงในคอมฯ ก็เลยสนใจทำเพลงในคอมฯ มาเรื่อย ทำบีทฮิปฮอปให้เพื่อน เริ่มศึกษาทฤษฎีดนตรี”
เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาได้มีโอกาสจับเครื่องดนตรีจริง ๆ “ตอนมหาลัย แต่ละปีเขาให้ฟอร์มวงได้ ผมก็ไปเล่นกับเพื่อน ปี 1 ผมเล่นกลอง ปี 2 เล่นเบส ปี 3 เล่นคีย์บอร์ด” โดยมีเพลงจากศิลปินป๊อปยุคนั้นอย่างสครับและแทตทู คัลเลอร์ เป็นแบบอย่างแนวทางดนตรี
นอกจากดนตรีที่ได้กลับมาทำช่วงสั้น ๆ ตอนกลับมาอยู่บ้าน ก่อนต้องหยุดพักไป วชิระยังรักในการทำอนิเมชั่น ซึ่งเป็นการรวมศาสตร์ทางศิลปะเข้ากับเทคโนโลยีตามที่เขาสนใจ “ผมฝึกทำอนิเมชั่นมาตลอด” เขาเล่าด้วยความกระตือรือร้น “ตอนนั้นแผนหลังออกจากขอนแก่นคือจะกลับมาอยู่อุบลฯ เรียนภาษาญี่ปุ่นให้เสร็จ สอบทุกอย่างให้เรียบร้อย แล้วสมัครไปทำงานที่ญี่ปุ่นเลย ญี่ปุ่นเป็นเมกกะของวงการอนิเมะ”
เมื่อกลับมาอยู่บ้านเกิด เขาได้รับโอกาสทำงานอนิเมชั่นกับไลน์ทีวี “ตอนแรกสนุกดี แต่พอทำไปสักพัก มันเครียดมาก เลยกลับมาคิดว่าจริง ๆ เราอยากทำงานนี้จริงหรือเปล่า”
วชิระเล่าถึงงานไว้อีกตอนว่า “งานวาดภาพเคลื่อนไหวเคยได้เดือนละ 20,000 บาท ผมรับงานเป็น In-between animator ก็คือ สมมติว่ามันมีภาพ 2 ภาพยกมือ Key animator เขาจะวาดมาสองภาพ คือภาพยกมือขนาดนี้กับยกมือขนาดนี้ ผมก็จะวาดภาพยกมือตรงกลางให้มันต่อเนื่องกัน”
.
เมื่อความอยากรู้นำไปสู่คดีทางการเมือง
“ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 สุขภาพจิตผมแย่มาก แมวที่รักมากตายไป งานดี ๆ ก็หายไป เราก็เลยสงสัยว่าเราทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า” สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางจิตเวชได้ “โรงพยาบาลเขาก็ไม่ให้เราเข้า เขาส่งยามาทางไปรษณีย์ แทนที่จะได้บำบัดคุยกับหมอ เราก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรเลย”
ในช่วงเวลาแห่งความว่างเปล่านั้น วชิระเริ่มใช้เวลากับการอ่านข่าวออนไลน์ “เราไม่มีอะไรทำ ก็เลยไปอ่านข่าวเรื่องการแฮ็ก มีข่าวว่ามีคนเอาข้อมูลไปขาย เราก็สงสัยว่ามันแฮ็กง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ เราก็เลยไปดู มันก็ง่ายจริง”
วชิระมองย้อนไปในห้วงความทรงจำ “ตอนสมัยอยู่โรงเรียน ผมทำเว็บมาก่อน ทำเว็บให้โรงเรียนด้วย ระบบอื่น ๆ ก็เลยรู้ว่าการทำเว็บมันเป็นยังไง มีอะไรที่จะสามารถผิดพลาดได้บ้าง ช่วง ม.5-ม.6 เนี่ยแหละ ผมก็เลยไปเจอเว็บแฮ็ก” เขาเล่าถึงการค้นพบเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนเกมให้ผู้เล่นฝึกแฮ็ก วชิระเล่นจนผ่านทุกด่านและได้อันดับหนึ่ง ความสนใจในการแฮ็กของเขาเริ่มจากจุดนั้น
“ตอนนั้นแบบว่า ‘โอ้โห ระบบมันห่วยแบบนี้ได้ไง’” วชิระพูดด้วยน้ำเสียงที่แฝงความตกใจ หลังพบว่าเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชนนั้นสามารถแฮ็กเข้าไปได้ง่าย “ผมไม่ได้แฮ็กเพื่ออยากได้อะไร ผมแค่อยากให้เขาแก้ไขระบบให้มันดีขึ้น เพราะว่าข้อมูลต่าง ๆ มันเป็นส่วนตัวของประชาชน มันไม่ใช่แบบว่าไปเก็บมั่ว ๆ แบบนั้น”

ในเหตุแห่งคดีวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เขาไม่ได้ตั้งใจฟังด้วยซ้ำ แต่ได้ยินจากคนอื่น เมื่อเข้าไปดูเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนคนอื่น ๆ สมองของเขาก็ทำงานโดยอัตโนมัติ มองหาช่องโหว่ที่อาจมีอยู่
“ทีแรกก็กะเข้าไปดูเฉย ๆ เราก็เจอช่องโหว่ อืม ช่องโหว่ก็ง่าย ๆ เหมือนเดิมแหละ ไม่ได้มีอะไรยากมากมาย ทีแรกก็ไม่คิดอะไร ก็ไปนอน ตื่นขึ้นมา เราก็กลับมาดูต่อ”
เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาตัดสินใจแฮ็กเว็บศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พอใจที่พบว่าสามารถเข้าถึงระบบได้ง่ายเกินไป
“เราเห็นตอนนั้นคือเราเข้าไปปุ๊บ ไปเจอแอดมินเขียนพาสเวิร์ดไว้ แอดมินเขียนชื่อผู้ใช้ไว้ ก็เลยเข้าไปดู เห็นหมดเลย” ท่าทีของเขาบ่งบอกความไม่อยากเชื่อสิ่งที่พบเห็น “กลายเป็นแบบ เราเกิดคำถามว่า ‘ทำแบบนี้ทำไม’ ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่านี่แหละความไม่ใส่ใจของของรัฐในการปกป้องระบบต่าง ๆ”
ความไม่พอใจสะสมทับถมจนกลายเป็นแรงผลักให้เขาตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง “ก็เลยแบบลองอย่างไงละ ต้องส่งเสียงให้คนเห็น ตอนนั้นเราก็เลยเลือกเว็บไซต์รัฐธรรมนูญ เหมือนกับไม่พอใจกับคำวินิจฉัยศาลด้วย”
เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกเพลงของวง Death Grips วชิระตอบด้วยน้ำเสียงที่เรียบง่าย “ผมว่ามันเชื่อมโยงกับปฏิวัติฝรั่งเศสใช่ไหม ด้วยเนื้อหาด้วยเอ็มวีมันไม่ซีเรียสเกินไป ก็เลยเอาอย่างนั้นแหละใส่ลงไป บังเอิญเป็นเพลงที่ฟังอยู่ด้วย ไม่ได้แบบคิดอะไรมากเท่าไหร่”
.
การเมืองไทยในสายตา – ชีวิตที่ติดอยู่ในความไม่แน่นอน
“ผมเริ่มสนใจการเมืองตอนที่มีชุมนุมพันธมิตรฯ นะ เพราะช่วงพันธมิตรฯ มันก็เริ่มมีการโจมตีกัน แล้วก็แฉลบไปหาสถาบันบ้างใช่ไหม เราก็อยากรู้ตอนนั้น” เขาเล่าถึงการค้นพบหนังสือที่อธิบายการเมืองไทยบางเล่ม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการมองเห็นความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ของการเมืองภายนอก กับความเป็นจริงภายในของสถาบันทางอำนาจต่าง ๆ
วชิระดูมีความคับข้องใจ เมื่อพูดถึงการเมืองไทย โดยเฉพาะบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ “ที่ตอนนั้นยุบไทยรักไทย ยุบพลังประชาชน ต่อมาหยุดโครงการรถไฟความเร็วสูง” น้ำเสียงของเขาแข็งขึ้น “เราคิดว่าทำไมคนไม่กี่คนถึงมากำหนดชะตาชีวิตของคนอื่นได้”
เขาอธิบายถึงหลักการแบ่งอำนาจสามฝ่าย ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ในความเห็นของเขา ตุลาการกลับมีอำนาจเหนือกว่าอีกสองฝ่ายที่มาจากประชาชนโดยตรง “นิติบัญญัติก็คือเลือกจากประชาชน บริหารก็คือเลือกจากประชาชน โดยมอบอีกทีหนึ่ง แต่ว่าทำไมประชาชนไม่สามารถตัดสินอะไรได้เลย ต้องให้คนไม่กี่คนที่เราก็รู้ว่าพวกนี้มันอยู่ในฝั่งการเมืองด้านไหน”
แต่วชิระยังมีความหวังและความเชื่อในการเปลี่ยนแปลง เขาดูมีความหวังขึ้น เมื่อพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ “ช่วงม็อบเยาวชนปลดแอก ผมเห็นด้วยกับเขานะ รู้สึกดีที่เด็กสมัยนี้กล้าแสดงออกขนาดนี้ รุ่นผมไม่มีหรอก อาจารย์มาด่าทักษิณให้ฟังทุกวัน เรายังไม่กล้าพูดอะไร” น้ำเสียงของเขามีความภูมิใจในคนรุ่นถัดจากตัวเอง

แววตาของเขาฉายความหวังอีกครั้งเมื่อพูดถึงอนาคตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป “ผมคิดว่าเขาก็คงคิดว่าอยากให้มันจบในรุ่นเขา เพื่อให้รุ่นต่อไปอยู่สบายขึ้น เป็นความคิดที่ selfless คือไม่ได้คิดถึงตัวเองมากเกินไป แต่คิดถึงประโยชน์ของคนรุ่นต่อไปด้วย ผมชื่นชมมาก”
เมื่อพูดถึงชีวิตหลังถูกดำเนินคดี น้ำเสียงของวชิระเปลี่ยนไป “ผมทำงานเป็นอนิเมเตอร์อยู่ แต่หลังจากถูกตั้งข้อหา ผมไม่ได้รับงานเลย” น้ำเสียงของเขาเจือความเศร้า “เราไม่รู้ว่าศาลจะเรียกตัวเมื่อไหร่ จะมีอะไรเกิดขึ้นตอนไหน วางแผนชีวิตไม่ได้เลย”
ก่อนระบายความรู้สึกต่อเนื่อง “ช่วงหลังโควิดลงมา ประมาณปี 2565 ที่ญี่ปุ่นเริ่มรับอนิเมเตอร์ต่างชาติเยอะขึ้น ทำงานแบบระยะไกลได้ด้วย มีโปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นที่เป็นเหมือนล่ามให้ เราไม่จำเป็นต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้” วชิระบอกเล่าถึงความฝันที่เคยมี “บางทีเรานั่งอยู่บ้าน รับงานจากโน่นมา ตอนนี้ในญี่ปุ่น มีอนิเมเตอร์ต่างชาติเยอะมาก ผมอยากไปอยู่จุดนั้น แต่เราไม่สามารถวางแผนได้ เพราะมีคดีติดตัว”
ก่อนบทสนทนามาถึงเรื่องครอบครัว น้ำเสียงของวชิระอ่อนลง “เขาก็คงเป็นห่วง แต่ส่วนใหญ่เขาพยายามไม่คุยเรื่องละเอียดอ่อนกับผมเท่าไหร่ คือความเป็นโรคซึมเศร้าด้วย ผมว่าเขาเป็นห่วงมาก” ความรักและความห่วงใยที่ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ แต่สัมผัสได้ผ่านความเงียบและการไม่รบกวน
ปัญหาของเขาหากต้องถูกคุมขัง เรื่องหลักไม่ใช่เรื่องการอาหารการกิน หรือความเป็นอยู่ แต่เป็นรื่องความรู้สึกอึดอัดจากการอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายโดยไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเสียมากกว่า “เรื่องยา การกินไม่เท่าไหร่ แต่การนอน มันนอนรวมกันหลายคน ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบอยู่กับคนเยอะด้วย ตรงนี้น่าจะยากที่สุด”
ส่วนในฐานะผู้ที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมมา วชิระมีมุมมองต่อคดีความทางการเมืองอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย น้ำเสียงของเขาแฝงความเศร้าและผิดหวัง
“เรื่องป้าอัญชัญ ผู้ต้องขังคดี 112 ผมติดตามตลอด เทียบหลายครั้งระหว่างป้าอัญชันกับ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ที่ฆ่าคนตายแล้วศาลชั้นต้นสั่งประหาร แต่ลดโทษมาเรื่อย ๆ เหลือแค่ 7 ปี ขณะที่ป้าอัญชัญติดคุกมาแล้ว 8 ปี แค่การแชร์คลิปเฉย ๆ ทำไมต้องหนักขนาดนั้น”
เขาพูดถึงคดีของบัสบาส อีกหนึ่งคดีมาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกยาวนาน “54 ปี มันขนาดนี้เลยเหรอ ผมเข้าใจว่าเขาพยายามเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อให้คนกลัว แต่สักวันมันจะ backfire ทำให้เขาเสียหายไปเอง”
ก่อนจากกันวชิระแสดงความเห็นถึงทนายอานนท์ นำภา ด้วยเสียงแผ่วเบาลง ราวกับเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ค่อนข้างยาก “ผมอ่านบันทึกสืบพยานคดี เหมือนทนายอานนท์พยายาม เขารู้ว่ากฎหมายจริง ๆ เจตนารมณ์จริง ๆ มันควรจะอยู่ตรงไหน แต่ศาลเองกลับไม่ได้ใส่ใจกระบวนการแบบนี้ เหมือนศาลตั้งธงไว้แล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเลย สนใจแค่ต้องการลงโทษ”
“ส่วนของผม เหลือเวลาอีกไม่มากที่จะได้ใช้ชีวิตอิสระก่อนจะรู้ผลคดี” เขากล่าวอย่างสงบระหว่างยังรอคอยคำพิพากษาในศาลสุดท้ายในคดีของตัวเอง ที่ยังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง