ฟ้องแล้ว! คดี ‘หนุ่มอุบลฯ’ ถูกกล่าวหาแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนชื่อเป็น “Kangaroo Court”เจ้าตัวยืนยันให้การปฏิเสธ

4 มกราคม 2565 วชิระ (สงวนนามสกุล) ชายวัย 33 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้แฮกเข้าไปเปลี่ยนหน้าเว็บของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 มีนัดรายงานตัวต่อศาลอาญา รัชดาฯ ตามสัญญาประกัน หลังได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 อัยการได้ยื่นฟ้องวชิระต่อศาลอาญาแล้ว ภายหลังวชิระเข้ารายงานตัวและรับทราบคำฟ้อง เขาให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และให้ประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีด้วยหลักทรัพย์เดิม คือเงินสดจำนวน 25,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมใดๆ

ศิวาพร เสนรุย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 วชิระได้เข้าถึงซึ่งระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ สําหรับเผยแพร่เว็บไซต์ www.constitutionalcourt.or.th  ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกําหนดชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน (Username & Password) อันเป็นมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน 

ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ของจําเลยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านของผู้บริหารจัดการข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้เสียหาย เข้าถึงระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์สําหรับเผยแพร่เว็บไซต์ดังกล่าว แล้วทําให้เสียหาย ทําลาย ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ได้แก่ รหัสผ่าน, ชุดคําสั่งและข้อมูลในไฟล์ index.php ลิงค์ให้แสดงผลไฟล์จากยูทูบในหน้าเว็บไซต์ (Web Page) และแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลชื่อเว็บไซต์ (Title) จากเดิมที่ปรากฏข้อความว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นข้อความว่า “Kangaroo Court” และแนบลิงค์ยูทูบเพลง Guillotine (It goes Yah) ของ Death Grips 

ต่อมาภายหลังจากที่ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้ดําเนินการแก้ไข ให้หน้าเว็บไซต์กลับไปปกติแล้ว วชิระได้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์อีกครั้งและแก้ไขไฟล์ index.php ให้มีลักษณะเป็นไฟล์ที่อ่านอย่างเดียว โดยไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ (Read Only) และได้ลบไฟล์ Log access (สําหรับจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์) 

อัยการระบุว่า  วชิระกระทําการดังกล่าวโดยมิชอบ เพื่อให้การทํางานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย 

ถูกขัดขวางและรบกวน จนระบบคอมพิวเตอร์สําหรับเผยแพร่เว็บไซต์ของผู้เสียหายเกิดความขัดข้องในการ 

สั่งแก้ไข และเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน ไม่สามารถทํางานตามปกติได้ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ตํารวจขอหมายค้นศาลจังหวัดอุบลราชธานี และเข้าทําการตรวจค้นบ้านที่อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี และยึดได้เครื่องคอมพิวเตอร์ จํานวน 1 ชุด (ประกอบด้วย CPU, จอคอมพิวเตอร์, คีย์บอร์ด, เมาส์), Router 1 เครื่อง และอะแด็บเตอร์ 1 อัน เป็นของกลาง  

คำฟ้องยังระบุว่า ชั้นสอบสวนวชิระให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยหากจําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 

ทั้งนี้ อัยการฟ้องว่า การกระทำของวชิระถือเป็นความผิดฐาน เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน, ทําให้เสียหาย ทําลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ และกระทําด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทํางานตามปกติได้  อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 5, 7, 9, และมาตรา 10 

นอกจากอัยการจะขอให้ลงโทษวชิระตามกฏหมายแล้งยังขอให้ศาลสั่งริบของกลางทั้งหมดด้ว

อย่างไรก็ดีในส่วนคำฟ้องที่อ้างว่า ชั้นสอบสวนวชิระให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหานั้น คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากในชั้นสอบสวนที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) วชิระให้การปฏิเสธ โดยระบุว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน และในชั้นพิจารณาหลังอัยการยื่นฟ้อง วชิระยังยืนยันที่จะให้การปฏิเสธและจะสู้คดีต่อไป

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยของอานนท์ รุ้ง ไมค์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมเสนอข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช้าวันต่อมา มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแฮกเข้าไปเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น Kangaroo Court ซึ่งเป็นศัพท์แสลงหมายถึง “ศาลเตี้ย” และฝังคลิปจากยูทูบ เพลง Guillotine (It goes Yah) ของวงดนตรี  Death Grips 

กระทั่งช่วงเย็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ปรากฏข่าวการเข้าตรวจค้นบ้านและควบคุมตัววชิระ ไปสอบปากคำที่ สภ.วารินชำราบ โดยไม่มีหมายจับ รายงานข่าวระบุว่า เขาให้การรับสารภาพว่าเข้าไปแฮกเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แต่เมื่อนักข่าวในพื้นที่และนักกิจกรรมติดตามไปที่ สภ.วารินฯ กลับไม่พบตัววชิระ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน ทราบภายหลังว่าตำรวจได้ปล่อยตัววชิระกลับบ้านหลังนำตัวไป สภ.วารินฯ เพื่อสอบปากคำพร้อมพ่อ พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต 

ก่อนที่วันต่อมา (14 พฤศจิกายน 2564) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับมาแสดงที่บ้าน และควบคุมตัววชิระไป สภ.วารินชำราบ อีกครั้ง ก่อนนำตัวขึ้นรถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปที่ บก.สอท. เพื่อดำเนินคดี โดยบอกครอบครัวเพียงว่าให้ตามไปประกันตัวในวันหลังโดยไม่ต้องมีทนายไปด้วยก็ได้ ก่อนที่ครอบครัวติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

สำหรับชีวิตส่วนตัว วชิระจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่มีความสนใจและชอบงานวาดการ์ตูน และแอนิเมชั่น หลังเรียนจบมาจึงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับงานทำแอนิเมชั่นในส่วนเรื่องการวาดภาพ “แต่งานพวกนี้ไม่ค่อยมีในไทย ทำให้นานๆ จะมีงานสักชิ้นนึง” นอกจากนี้เขายังชอบเล่นดนตรีและทำเพลงบ้าง ส่วนเรื่องการเมืองนั้นเขาติดตามดูข่าวอยู่ห่างๆ และไม่ได้แสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลเท่าไหร่นัก 

ก่อนหน้านี้หลังปรากฎข้อมูลรั่วไหลด้านประวัติการแพทย์และผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข วชิระเล็งเห็นความเสียหายดังกล่าวจึงพยายามติดต่อไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุ่มอุบลฯ ให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน – ได้ประกันตัว หลังถูกจับจากเหตุเข้าเปลี่ยนชื่อเว็บศาลรัฐธรรมนูญเป็น “Kangaroo Court”

.

X