เลื่อนฟังคำพิพากษา คดี “หนุ่มอุบลฯ” กรณีแฮกเว็บไซต์ศาล รธน. หลังจำเลยประสงค์สู้ต่อในคดีส่วนแพ่ง เหตุโดนเรียกค่าเสียหาย 10 ล้าน

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ศาลอาญารัชดา มีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “วชิระ” (สงวนนามสกุล)  ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้แฮกเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

ก่อนการเข้าห้องพิจารณา วชิระได้เปิดเผยว่ามีความกังวลต่อการพิจารณาคดีในวันนี้ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกพิพากษาให้จำคุก อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความรู้สึก เขาได้ฝากบอกกับสังคมว่าตนเองเคยเป็นหนึ่งในคนที่ไม่คิดสนใจปัญหาการเมือง เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาเสมอ จนกระทั่งเมื่อได้อ่านเรื่องราวและติดตามข่าวของนักกิจกรรมที่ถูกละเมิดสิทธิและได้รับการดำเนินคดีอย่างไม่ยุติธรรม เขาจึงอยากที่จะออกมาแสดงความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ 

วชิระได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเพื่อให้เสียงของตัวเองได้ยิน หรือลุกขึ้นมาปกป้องเสียงของคนอื่น สักวันอาจจะไม่เหลือใครที่จะลุกขึ้นมาเพื่อคุณเลย”

เวลา 09.00 น. นายประกันและจำเลยมารอพร้อมอยู่ที่หน้าห้องพิจารณาคดี และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินทางมาในห้องพิจารณาด้วย 

ต่อมา ในเวลา 09.30 น. นายประกันได้แจ้งต่อศาลว่าทนายความของจำเลยติดเชื้อโควิด – 19 จึงไม่สามารถเดินทางมาในวันนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ศาลได้แถลงรายงานการตรวจสอบความประพฤติจากเจ้าพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยรับทราบ ซึ่งจำเลยไม่ได้แถลงค้านหรือปฏิเสธรายงาน

ในวันนี้ ศาลยังได้แถลงต่อนายประกันและจำเลยว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 4 เม.ย. 2565 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมในกรณีที่ทำให้ระบบเว็บไซต์เกิดความเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งศาลได้วินิจฉัยให้สิทธิจำเลยสามารถสู้ในส่วนแพ่งจากกรณีดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม จำเลยได้แถลงต่อศาลขอปรึกษากับทนายความ เนื่องจากเพิ่งทราบคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคดีส่วนแพ่งในวันนี้  ก่อนจะเแถลงความประสงค์ขอสู้ต่อในส่วนคดีแพ่งดังกล่าว โดยศาลได้อนุญาต จึงให้มีการเลื่อนฟังคำพิพากษาในส่วนคดีอาญาออกไปจนกว่าจำเลยจะยื่นคำให้การแก้คดีในส่วนแพ่ง ภายใน 15 วัน รวมถึงนัดสืบพยานผู้เสียหาย ตลอดจนให้รอพิจารณาคดีในส่วนอาญาและแพ่งพร้อมกัน ในวันที่ 10 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

เวลา 09.45 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยยืนยันถึงความประสงค์ของจำเลยที่จะสู้ต่อคดีในส่วนแพ่ง  และหากไม่ยื่นคำให้การแก้คดีในส่วนแพ่งภายใน 15 วัน จะถือว่าไม่ติดใจในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบ และจะดำเนินการพิจารณาคดีในส่วนอาญาตามวันเวลาดังกล่าว

สำหรับข้อมูลทั่วไปของ “วชิระ” เปิดเผยว่าตนเองไม่ได้มีความสนใจในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน การกระทำโดยการแฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกที่เขาได้แสดงออก หลังจากที่ได้เริ่มติดตามเรื่องราวของนักกิจกรรมทางการเมือง จนได้เข้าใจถึงความไม่ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และได้ตระหนักรู้ว่าการเมืองและสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัวของประชาชนคนธรรมดา

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า การปราศรัยของ 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ รุ้ง และไมค์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมเสนอข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช้าวันต่อมา มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกแฮกเข้าไปเปลี่ยนชื่อเว็บเป็น “Kangaroo Court” ซึ่งเป็นศัพท์แสลงหมายถึง “ศาลเตี้ย” และฝังคลิปจากยูทูบ เพลง Guillotine (It goes Yah) ของวงดนตรี  Death Grips 

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องแล้ว! คดี ‘หนุ่มอุบลฯ’ ถูกกล่าวหาแฮกเว็บศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนชื่อเป็น “Kangaroo Court”เจ้าตัวยืนยันให้การปฏิเสธ

หนุ่มอุบลฯ ให้การปฏิเสธชั้นสอบสวน – ได้ประกันตัว หลังถูกจับจากเหตุเข้าเปลี่ยนชื่อเว็บศาลรัฐธรรมนูญเป็น “Kangaroo Court”

X