ในวันที่ 21 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ใจ” (นามสมติ) อดีตนักศึกษา วัย 24 ปี กรณีทวีตรูปและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความแสดงความเห็น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เธอถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
คดีนี้มี อารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา ไว้ที่ บก.ปอท. “ใจ” ถูกอัยการสั่งฟ้องจากการเขียนข้อความ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
ใจยืนยันต่อสู้คดี โดยยืนยันองค์ประกอบของมาตรา 112 ที่คุ้มครองกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้คุ้มครองกษัตริย์ในอดีต แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่า แม้พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และะทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนใจจะได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์โดยใช้หลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เพิ่มจากที่เดิมวางไว้ในชั้นพิจารณาอีก 10,000 บาท
.
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ตีความกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดตามหลักการกฎหมาย มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น
ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดีในประเด็นตามมาตรา 112 มีใจความสรุปว่าในขณะที่เกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยไม่ได้โพสต์ภาพหรือข้อความที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่ได้เป็นการโพสต์ภาพและข้อความที่อยู่ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ซึ่งไม่มีข้อความใดที่สามารถเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 ได้ ทั้งจำเลยไม่ได้ทำความผิดตามมาตรา 112 ตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าองค์ประกอบของข้อหานี้
จำเลยยืนยันว่า การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในช่วงเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29
การตีความกฎหมายอาญา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฉะนั้น คำว่า “พระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะเกิดเหตุเท่านั้น
จำเลยขอศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนทุกคนในการใช้อำนาจตุลาการเพื่อผดุงระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะต้องวางหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐในการปกครองประเทศให้ได้อย่างมั่นคงบนพื้นฐานของวิชานิติศาสตร์ เพราะหากศาลไม่ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ และตีความขยายมาตรา 112 ออกไป เพื่อเอาผิดจำเลยในทางอาญา ก็เท่ากับว่าศาลย่อมกลายมาเป็นผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจเสียเอง ว่าจะกำหนดองค์ประกอบความผิดและขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรก็ได้
เหตุผลที่ศาลอาญาได้พิพากษาจำเลยไว้ ได้แสดงถึงการตีความขยายองค์ประกอบความผิดและขอบเขตการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างชัดเจน ซึ่งขัดแย้งกับหลักกฎหมายและการตีความกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด เพราะศาลอาญาได้ตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ให้ขยายรวมไปถึงพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ได้ครองราชย์อยู่ในขณะกระทำผิดไปด้วย การตีความองค์ประกอบและขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายอาญาเช่นนี้ผิดต่อหลักวิชานิติศาสตร์อย่างชัดแจ้ง และทำให้หาขอบเขตการใช้มาตรา 112 ไม่ได้ว่าจะคุ้มครองใครบ้าง
ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จำเลยได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน และไม่ได้หนีคดีไปไหน ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จำเลยเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ หากศาลให้จำคุก จำเลยจะสูญเสียโอกาสดี ๆ ของชีวิต ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงานปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อสมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่
ก่อนหน้านี้ ใจได้เคยให้สัมภาษณ์โดยเปิดเผยความรู้สึกเกี่ยวกับการต่อสู้คดีมาตรา 112 ในศาลชั้นต้นไว้ว่า “ต้องมีคนตอบให้ได้ว่า มาตรา 112 คุ้มครองใครบ้าง ขนาดพยานโจทก์วันนี้ เขายังพูดต่างกันเลยว่าสำหรับเขามาตรานี้คุ้มครองใครบ้าง บางคนก็บอกคุ้มครองกษัตริย์ทุกพระองค์ในกษัตริย์ที่อยู่ในราชวงศ์ไทย บางคนก็บอกถึงแค่ราชวงศ์จักรี บางคนบอกคุ้มครองถึงแค่รัชกาลที่ 9 คือความคิดมันต่างกันไปหมด คือต้องมีคนตอบเราให้ได้ว่าใครจะใช้อำนาจนี้ได้ กฎหมายนี้มันไม่ใช่ใครก็ได้แบบตอนนี้”
“เราคงคาดหวังให้ตัวเองหลุดจากเรื่องนี้แบบที่ไม่ต้องถูกจำคุก และถ้ามันต้องสู้อีก ก็คงต้องสู้กันต่อไป หวังมากที่สุดในทุกครั้งที่สู้ขอให้เราได้กลับบ้าน”
.
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ “ถ้ามันต้องสู้อีก ก็คงต้องสู้กันต่อไป หวังมากที่สุดในทุกครั้งที่สู้ ขอให้เราได้กลับบ้าน” คุยกับ “ใจ” จำเลยคดี 112 ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นอดีตกษัตริย์
ย้อนอ่านประมวลการสืบพยานคดีนี้ เปิดแฟ้มคดี ม.112 ของ “ใจ” นักศึกษาถูกฟ้องทวีตข้อความหมิ่นอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9