จำคุก 3 ปี นศ.วัย 23 ปี ศาลอาญาชี้ ม.112 ไม่ได้บัญญัติว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น – จำเลยทวีตละเมิด ร.9 แม้สวรรคตแล้ว แต่ทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย 

14 มี.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษาคดี “ใจ” (นามสมมติ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ วัย 23 ปี กรณีทวีตรูปและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความแสดงความเห็น ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

คดีนี้ ใจถูกอัยการสั่งฟ้องจากการเขียนข้อความ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และมีการสืบพยานระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 2566 โดยเป็นพยานโจทก์ 8 ปาก และส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 1 ปาก

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้มีการโพสต์ภาพหรือข้อความที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่มีข้อความใดที่สามารถเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 ได้ ทั้งจำเลยไม่ได้ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 ตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าองค์ประกอบ

อ่านประมวลคดี >> เปิดแฟ้มคดี ม.112 ของ “ใจ” นักศึกษาถูกฟ้องทวีตข้อความหมิ่นอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9


ศาลชี้แม้ ร.9 จะสวรรคตไปแล้ว จำเลยก็ยังมีความผิดตาม ม.112 เหตุส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

ผู้พิพากษาอุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค เจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้ว ตามที่พยานโจทก์นำสืบว่า บัญชีทวิตเตอร์ของจำเลยมีความเชื่อมโยงกับบัญชีโซเชียลมีเดียอื่น และมีโปรไฟล์ใบหน้าเดียวกันทั้ง 3 บัญชี พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ และเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีทวิเตอร์ที่มีการโพสต์รูปและข้อความตามฟ้อง ที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ใช่ผู้นำเข้าข้อมูล จึงรับฟังไม่ได้

ทั้งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และเมื่อการนำเข้าข้อมูลดังกล่าว มีพยานโจทก์ประชาชนเข้าเบิกความสอดคล้องกันว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อความได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร อันเป็นการละเมิดต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน

ที่พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นประกันตัวใจระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เพิ่มจากที่เดิมวางไว้ในชั้นพิจารณาอีก 10,000 บาท 

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตามที่ยื่นคำร้อง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ 

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลอาญาไม่ได้ระบุอัตราโทษจำคุกที่ลงก่อนลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3 แต่เมื่อพิจารณาจากโทษจำคุกที่ลดโทษให้แล้ว จึงทราบได้ว่า ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลด 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

นับเป็นอีกคดีที่ศาลตีความมาตรา 112 ครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ โดยวินิจฉัยว่า การกระทำส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปในประเด็นนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ถ้ามันต้องสู้อีก ก็คงต้องสู้กันต่อไป หวังมากที่สุดในทุกครั้งที่สู้ ขอให้เราได้กลับบ้าน”  คุยกับ “ใจ” จำเลยคดี 112 ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นอดีตกษัตริย์

X