“ถ้ามันต้องสู้อีก ก็คงต้องสู้กันต่อไป หวังมากที่สุดในทุกครั้งที่สู้ ขอให้เราได้กลับบ้าน”  คุยกับ “ใจ” จำเลยคดี 112 ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นอดีตกษัตริย์

ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก การออกมาแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ สร้างบรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด และสิทธิทางการเมืองของประชาชนในประเทศนี้ “ใจ” นักศึกษาธรรมดาคนหนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว และตั้งคำถามถกเถียงร่วมกับคนในสังคมนี้

“แรกๆ เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ ม.112 เลยค่ะ” หญิงสาวในชุดนักศึกษาตอบ เมื่อต้องอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการแสดงความเห็นทางการเมือง “ใจ” เล่าว่าภาพจำของสถาบันกษัตริย์ที่เธอเคยมีในสมัยเด็กกับปัจจุบันเริ่มแปรสภาพของความศรัทธาที่ไม่เหมือนเดิม 

“เรารู้สึกว่าโซเชียลมีเดียมันเริ่มกว้างไกลขึ้น คนเริ่มกล้าพูดถึงกษัตริย์ มีการแชร์ข่าว บทความ โพสต์ในทวิตเยอะมาก พอเราโตขึ้น ภาพที่เขาอยากให้เราเห็นเหมือตอนเด็กๆ มันเริ่มไม่ใช่แล้ว สิ่งที่เราเคยเห็นตอนนั้นกับตอนนี้มันต่างกัน”

เมื่อถามถึงว่าจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าภาพจำในวัยเด็กต่างออกไป ใจใช้เวลาคิดอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ก่อนกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงการรัฐประหารปี 2557 ที่เกิดขึ้นในช่วงการเติบโตของคนยุคเธอ และเป็นผลพวงให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาได้อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อทุกๆ คน ทำให้ประเทศและประชาชนเสียโอกาสหลายอย่างตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“หรือในเรื่องการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มีข้อสันนิษฐานมากมาย แต่ก็ไม่มีใครมาตอบได้ว่า เออแล้วใครล่ะ ใครที่เป็นคนทำ” เธอกล่าวว่าปริศนาสำคัญประเด็นหนึ่งในประเทศนี้่ 

“ในสังคมที่เทคโนโลยีมันก้าวหน้ามากขึ้น คนก็เริ่มเปิดใจกับเรื่องพวกนี้มากขึ้นเหมือนกัน เราอยากเห็นนะว่ามันเกิดอะไรขึ้นในอดีต เพราะเหตุการณ์นี้มันเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศเราเหมือนกัน ถ้าเราหาคนทำผิดได้ ก็อยากรู้นะคะว่าประเทศไทยมันจะเป็นยังไงต่อไป”

มากกว่านั้น ใจได้กล่าวถึงแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ว่า ได้เปิดโลกทางประวัติศาสตร์ให้เธอมากมาย ซึ่งมูลเหตุแห่งคดีนี้ก็เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ของราษฎร 2563 ในขณะนั้นด้วย และเมื่อถามเธอถึงความสัมพันธ์กันกับเหตุการณ์ #14ตุลา ในอดีต อย่างในช่วงปี 2516 ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ใจก็ได้ตอบว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในวันนั้น เป็นเรื่องที่หนังสือเรียนไม่เคยบอกความจริงกับเธอได้เลย

“เรารู้สึกว่าในหนังสือเรียนมันไม่บอกรายละเอียดว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำไมถึงมีการชุมนุม เรียกร้องเพราะอะไร ก่อนที่จะมี 14 ตุลา มีอะไรเกิดขึ้น” ใจกล่าวว่าในหน้าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์บนชั้นเรียนของนักเรียนไทย เล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพียงแค่ 1 หน้ากระดาษ และบอกเราว่ามันคือการชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาเท่านั้น

.

ความกลัวที่ไม่มีจุดสิ้นสุดกับมาตรา 112

ใจย้อนเล่าว่ามูลเหตุในคดีของเธอเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 และก่อนเธอถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อตอนปี 2564  ในครั้งแรกที่เธอรู้สึกว่าเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นกับตัวเองเข้าเสียแล้ว ก็ตอนที่มีหมายเรียกเพียง 1 ฉบับ ส่งมาที่หน้าบ้าน

“มันไม่มีใครบอกเลยว่าหลังจากคุณโดนสิ่งนี้แล้ว จะต้องทำยังไงต่อ มันมีคนเข้ามาแสดงความเห็นและให้กำลังใจ แต่ตอนนั้นเราก็กลัวแล้ว และมันเป็นความกลัวที่ไม่มีใครให้คำตอบเราได้”

“เราจำได้ว่าวันคือ 5 ก.พ. 2564 วันนั้นเรากลับบ้าน ทุกอย่างเหมือนเดิม เรากับพ่อแม่ก็ใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่เคย จนเขาเดินเข้ามาหาเราในห้อง แล้วยื่นซองกระดาษมาให้ที่มันเป็นหมายเรียก เราก็ไล่อ่านจนเจอคำว่าหมิ่น เรายังจำความรู้สึกได้อยู่เลยว่ามัน หะ? อะไรอะ?” 

ใจกล่าวว่าเธอพยายามสงบสติอารมณ์สับสนของตัวเอง ก่อนจะรีบติดต่อหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เธอเล่าว่าในหนึ่งวันนั้นต้องพยายามปลอบขวัญตัวเองและทำให้พ่อแม่หายกังวล โทรศัพท์คุยกับเพื่อนหาทางระบายความวิตกกังวลในใจ และเมื่อทุกอย่างจัดการได้แล้ว ในคืนนั้นก็กลายเป็นคืนที่เธอร้องไห้หนักที่สุดในชีวิต

“จนเขาเรียกเราไป วันนั้นครอบครัวเรากับทนายก็ไปด้วยกัน ถามว่ายังกลัวไหมก็กลัวนะ แต่ก็พยายามรวบรวมความสดใสที่เราพอมีเหลืออยู่ บอกกับตัวเองว่ามันไม่เป็นอะไร”

หลังจากนั้น เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้อง ใจก็ต้องเดินทางมาขึ้นศาล การเดินทางจากบ้านมาที่ศาลอาญาไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งครอบครัว จึงทำให้เธอตัดสินใจมาที่ศาลเพียงคนเดียว 

“เราไม่อยากให้พ่อกับแม่มาเพราะมันไกลจากบ้าน หรือถ้าเขามาแล้วทำให้เขารู้สึกไม่ดีไปด้วย เราคิดว่ามาสู้คนเดียวตรงนี้ดีกว่า” 

เมื่อถามถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอ หลังจากการต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยังไม่รู้จุดสิ้นสุดแบบนี้ ใจเปิดเผยว่าเธอยังคงเป็นหนึ่งคนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ต่อมาตรา 112 อุดมการณ์ของเธอเหมือนเดิม และเธอไม่อยากเห็นกฎหมายที่มันไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายควรเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมาเรียกร้องให้มันอยู่ในครรลองของตัวเอง


“เราเป็นคนหนึ่งที่ได้รับความเจ็บปวด แต่เอาจริงๆ เรายังโชคดีที่มีพ่อแม่และเพื่อนที่เข้าใจ บางครั้งความกลัวมันก็ลดลงบ้าง แต่มันไม่ได้หายไป” เธอกล่าวว่าความรู้สึกนี้ยังคงติดค้างอยู่ในใจ ไม่ต่างจากตะกอนที่หากวันไหนเจอสิ่งกระทบกระทั่งกวนให้ขุ่น ความหวาดกลัวทางคดีก็พร้อมที่จะปะทุขึ้นทำร้ายจิตใจซ้ำๆ ได้ทุกเวลา

.

การต่อสู้ในชั้นศาลกับการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย มาตรา 112 

การสืบพยานในคดีนี้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ใจเปิดเผยว่า หลังจากที่เธอได้เผชิญหน้ากับกระบวนการพิจารณามาครึ่งทางแล้ว ใจสะท้อนความรู้สึกถึงไม่ได้รับความยุติธรรม เธอเห็นว่าโพสต์ที่เป็นเหตุของคดีนี้ เกี่ยวข้องกับแฮชแท็กแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์บนโลกทวิตเตอร์ใน #14ตุลา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปี 2563 แต่มาตรา 112 ก็ไม่ได้เหมารวมทุกคนในแฮชแท็กนั้น กลายเป็นสล็อตหวยที่หมุนมาให้แจ็กพ็อตกับเธอ 

“112 เราว่ามันกว้างมากจนเกินไปที่ใครมันก็สามารถเป็นเหยื่อจากความเจ็บปวดนี้ก็ได้ แล้วดันเป็นเราที่เป็นเหยื่อคนนั้น นี่คือจุดบอดใหญ่ของกฎหมายนี้เลยที่ใครจะใช้แจ้งก็ได้” 

ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามผลักดันให้แก้กฎหมาย มาตรา 112 และพรรคการเมืองบางพรรคก็ได้ออกมาตอบสนอง แต่บางพรรคก็ไม่ได้ตอบรับ หากท้ายที่สุดแล้วประเทศนี้ไม่สามารถยกเลิก ม.112 ไปได้ ใจ ในฐานะเหยื่อของกฎหมายมาตรานี้ มีความเห็นว่าก็ควรจะสร้างความชัดเจนไปเลยว่าจะคุ้มครองใครบ้าง 

“ต้องมีคนตอบให้ได้ว่า มาตรา 112 คุ้มครองใครบ้าง ขนาดพยานโจทก์วันนี้ เขายังพูดต่างกันเลยว่าสำหรับเขามาตรานี้คุ้มครองใครบ้าง บางคนก็บอกคุ้มครองกษัตริย์ทุกพระองค์ในกษัตริย์ที่อยู่ในราชวงศ์ไทย บางคนก็บอกถึงแค่ราชวงศ์จักรี บางคนบอกคุ้มครองถึงแค่รัชกาลที่ 9 คือความคิดมันต่างกันไปหมด คือต้องมีคนตอบเราให้ได้ว่าใครจะใช้อำนาจนี้ได้ กฎหมายนี้มันไม่ใช่ใครก็ได้แบบตอนนี้”

“อีกเรื่องหนึ่ง กฎหมายนี้คือเราจะวิจารณ์มันไม่ได้เลยเหรอ ถ้าเราจะบอกว่าทุกคนอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ถ้างั้นทำไมเราถึงวิจารณ์กฎหมายนี้ไม่ได้”

เมื่อถามถึงสถานการณ์ที่มีนักกิจกรรมออกมาประท้วงอดอาหาร – น้ำ โดยเฉพาะในกรณีของตะวัน แบม และสิทธิโชค ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ร่วมกับใจแล้ว เธอกล่าวว่าการต่อสู้ของพวกเขา ทำให้เธอไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป

“สิ่งที่เขาทำ มันทำให้เราไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เราเป็นแค่คนในเงา มันไม่มีใครรู้จักเราเลย แต่พวกเขาเป็นใครสักคนที่กล้าออกมาทำอะไรแบบนี้ อย่างคุณตะวัน คุณแบมที่ออกมาถอนประกันตัวเอง เรานับถือความกล้าหาญของเขาแบบสุดๆ ”

สุดท้าย ใจได้ทิ้งทวนไว้ก่อนถึงวันฟังคำพิพากษาที่กำลังจะใกล้เข้ามาทุกทีว่าเธอยังมีความหวังและพร้อมที่จะเดินหน้าสู้ต่อไปให้ถึงที่สุด

 “เราคงคาดหวังให้ตัวเองหลุดจากเรื่องนี้แบบที่ไม่ต้องถูกจำคุก และถ้ามันต้องสู้อีก ก็คงต้องสู้กันต่อไป หวังมากที่สุดในทุกครั้งที่สู้ขอให้เราได้กลับบ้าน”

.

X