เปิดคำเบิกความ “แกนนำ” คดีคนอยากเลือกตั้ง Army57 ยืนยันใช้สิทธิเรียกร้องเลือกตั้งตาม รธน. ก่อนศาลมีคำพิพาษา 16 ก.ย. นี้

วันที่ 31 พ.ค., 19, 21 ก.ค., 2 ส.ค. และ 2 ก.ย. 2565 ศาลอาญารัชดา มีนัดสืบพยานจำเลยในคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 ซึ่งเป็นคดีเหตุจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 โดยมีการปราศรัยและเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังหน้ากองทัพบก เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และให้ คสช. ยุติการสืบทอดอำนาจ คดีมีนักกิจกรรมถูกฟ้องทั้งหมด 10 คน โดยมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

>>สั่งฟ้องคนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก 9 คน ศาลนัดตรวจพยาน 13 พ.ค. 62


ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลย ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
.

ระหว่างการสืบพยานดังกล่าว ซึ่งนักกิจกรรมทั้งสิบเดินทางมาศาล รวมทั้ง เอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์เล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ถูกเบิกตัวมาร่วมฟังการพิจารณาคดี เอกชัยเดินทางมาด้วยชุดผู้ต้องขังชายสีน้ำตาล กางเกงขาสั้นและถูกใส่กุญแจมือ ร่างกายของเขาซูบผอมลงไปพอสมควร โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเดินทางมาพบและกำลังใจเอกชัย

ทนายจำเลยนำจำเลยเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียง 4 ราย ได้แก่ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, รังสิมันต์ โรม, อานนท์ นำภา และ “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ พร้อมทั้งยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ทั้งสี่ยืนยันว่า เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง และการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมี “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้แจ้งการชุมนุมในการชุมนุมที่เป็นเหตุในคดี และชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยอีกด้วย โดยชลธิชายืนยันว่า การชุมนุมในคดีนี้เป็นไปโดยสงบ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ด้านชำนาญยืนยันว่า คสช.ออกประกาศ คำสั่ง จำนวนมาก ริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชนและเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง ทั้งยังเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง 


ทั้งนี้ นัดดังกล่าวเป็นนัดที่เลื่อนการสืบพยานมาจากวันที่ 19-20 ตุลาคม และ 26-29 ตุลาคม 2564 เนื่องจากอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีไว้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2564  อ้างเหตุเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รุนแรงและมีการระบาดในวงกว้างในกรุงเทพมหานคร 

ก่อนหน้านี้มีการสืบพยานโจทก์ไปจำนวน 6 ปาก ระหว่างวันที่ 9-12, 16 และ 19 มี.ค. 64 แม้อัยการจะยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบจำนวนทั้งหมด 51 ปาก แต่ตลอด 6 นัดของการสืบพยานโจทก์ อัยการสืบพยานได้ทั้งสิ้น 6 ปากเท่านั้น และอ้างว่าเนื่องจากพยานที่เหลือติดต่อไม่ได้ อัยการโจทก์จึงไม่ติดใจจะสืบพยานที่เหลือต่อไป 

>> เปิดคำเบิกความพยานโจทก์คดีแกนนำ ARMY57 ก่อนเริ่มสืบพยานจำเลยต่อ

.
ณัฏฐา มหัทธนา: การชุมนุมไม่มีความรุนแรง มีการดันกันเล็กน้อยเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวาง

คำให้การของณัฏฐาระบุว่า ตนได้ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ได้ร่วมฟังการปราศรัยที่มีการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นพูด ตนได้ขึ้นพูดปราศรัย ถึงการบริหารงานที่ล้มเหลว ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วและให้ คสช.หยุดใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลั่นแกล้งประชาชนที่มีความคิดเห็นต่าง  

ต่อมาเวลา 17.00 น. ตนขึ้นรถขยายเสียงและขึ้นพูดปราศรัย ใจความสำคัญคือ คสช.ใช้อำนาจมิชอบในการตั้งข้อหาปิดปากประชาชน หากอยากให้พวกตนหยุดทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทนฝ่ายค้าน ก็ขอให้มีการจัดการเลือกตั้งหาผู้แทนเข้ามานั่งในสภา หลังจากเริ่มเคลื่อนขบวน กลุ่มผู้ชุมนุมถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปิดบริเวณประตูทางออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ต้องเสียเวลาเจรจา ยิ่งไปกว่านั้น รถปราศรัยได้ถูกดึงกุญแจออกไปทำให้ขบวนสะดุดลง ต้องหายานพาหนะมาเปลี่ยน 

ตนต้องเดินลงจากรถเพื่อเดินเท้าไปยังกองทัพบก ต่อมาผู้ชุมนุมได้พยายามเคลื่อนขบวนต่อโดยใช้พื้นที่บนฟุตบาท และลงมาบนถนนเพียง 1 เลน ซึ่งการจราจรช่วงเย็นวันเสาร์ถนนราชดำเนินมีการจราจรไม่หนาแน่น รถสามารถวิ่งได้ตลอดเส้นทาง ไม่มีการจราจรติดขัดแต่อย่างใด ลักษณะขบวนคล้ายพาเหรดกีฬาสีขบวนเล็กๆ หากไม่มีการขัดขวางเป็นระยะ ผู้ชมนุมคงเดินถึงที่หมายในเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมงตามกำหนดการ

ในการขัดขวางของเจ้าหน้าที่ได้ปฎิบัติต่อมวลชนโดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงนอกจากการผลักดัน มวลชนก็ได้ทำสิ่งเดียวกันคือการดันเพื่อเดินต่อจึงไม่มีการบาดเจ็บรุนแรงทั้งสองฝ่าย ตนอยู่แถวหน้าที่เป็นจุดที่ถูกดัน จากทั้งสองทาง จึงได้ร้บบาดเจ็บที่นิ้วเท้าเล็กน้อย

เมื่อเดินถึงหน้ากองทัพบกมีกิจกรรมปราศรัย จุดเทียน และพับกระดาษปาไปในกองทัพบก ตนมีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยของผู้ชุมนุม และเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ผู้ชุมนุมปราศรัยได้อย่างราบรื่นเพื่อให้จบกิจกรรมได้โดยเร็ว การชุมนุมจบลงเวลา 20.30 น. ยุติการปราศรัย และผู้ชุมนุมทั้งหมดแยกย้ายกันกลับบ้านเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 21.00 น. 

.


คสช.จงใจดำเนินคดีคนอยากเลือกตั้งเพื่อลดพลังผู้ชุมนุม

ณัฏฐาเบิกความว่า ตนมีคำพิพากษาของคดีที่มีลักษณะคล้ายกันที่ศาลอาญาได้ยกฟ้องไปแล้วมาแสดงและอ้างส่งต่อศาล นอกจากนี้ยังมีเอกสารซึ่งผู้แทนของ คสช.ยื่นเป็นพยานหลักฐานในคดีชุมนุมอีกคดีที่ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งในฐานะ “คนอยากเลือกตั้ง” โดยระบุว่า หากดำเนินคดีกับแกนนำจะส่งผลให้แกนนำเกิดความกดดัน การดำเนินคดีทำไปเพื่อลดพลังของผู้ชุมนุม โดยเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการให้เหตุผลทางกฎหมายแต่เป็นเหตุผลทางการเมือง เอกสารยังระบุว่า การดำเนินคดีควรกระทำไปพร้อมกับปฎิบัติการ io เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ แต่มีความเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง นอกจากนี้ยังมีท่าทีของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน

ณัฏฐายังเบิกความด้วยว่า ในคดีนี้ตนถูกนำตัวมาขอศาลฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีมีโทษหนักเกิน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ภายหลังการไต่สวนฝากขัง ศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังเนื่องจากพวกตนไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ใช่บุคคลอันตราย ไม่ได้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ในวันเกิดเหตุ การชุมนุมหน้ากองทัพบกดำเนินไปไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ตนได้ช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ผู้ชุมนุมได้ปราศรัยอย่างราบรื่นเนื่องจากเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเสียงรบกวนการปราศรัย

ณัฏฐาได้ตอบโจทก์ถามค้านว่า โดยปกติการชุมนุมมีการเชิญชวนกันทางเฟซบุ๊ก แต่เหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 24 มี.ค. 2561 นั้น ตนจำไม่ได้ว่ามีการเชิญชวนกันทางใดบ้าง โดยโจทก์ได้นำเอกสารภาพเฟซบุ๊กของณัฏฐา รวมถึงภาพของแกนนำบางคนซึ่งมีการโพสต์เชิญชวนคนไปร่วมชุมนุมมาให้ยืนยัน แต่ณัฏฐาตอบว่าสำหรับภาพเฟซบุ๊กคนอื่นตนไม่แน่ใจว่าจะใช่เฟซบุ๊กของเขาหรือไม่ 

สำหรับหนังสือแจ้งการชุมนุม ตนทราบว่าชลธิชาได้เป็นผู้แจ้งการชุมนุมแต่ตนเพิ่งจะเคยเห็นหนังสือแจ้งการชุมนุมในศาลวันนี้ โดยการจะทำหนังสือแจ้งการชุมนุมไม่ได้เป็นการประชุมแบ่งงานกันแต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมาร่วมกิจกรรม โดยตนไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ แต่คาดว่าน่าจะมี

นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ผู้ที่ควบคุมแถวขณะเดินไปหน้ากองทัพบกคือตำรวจและตัวผู้ชุมนุมเอง เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้มีจำนวนมาก สามารถเดินบนฟุตบาทได้ บางจุดถึงล้นฟุตบาทก็ไม่เกิน 1 เลนถนน ในวันนั้นการจราจรไม่ได้ติดขัด

.

อานนท์-สิรวิชญ์-รังสิมันต์ ให้การตรงกัน ร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ คสช.จัดการเลือกตั้ง 

อานนท์, สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ให้การเป็นหนังสือสอดคล้องกันว่า ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 พวกตนได้เข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้ คสช.จัดการเลือกตั้ง ไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้ง ซึ่ง คสช.มีการเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว การชุมนุมมีชลธิชา แจ้งเร็ว เป็นผู้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จุดประสงค์ของการชุมนุมดังที่ได้กล่าวไปนี้ล้วนเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพโดยชอบของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

โดยกิจกรรมการชุมนุมในวันดังกล่าวที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนถึงบริเวณหน้ากองทัพบก เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. เป็นการชุมนุมเพื่อทวงคืนประชาธิปไตยที่ คสช. ซึ่งนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปล้นไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 การรัฐประหารครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศจนยากจะเยียวยา นำพาประเทศถอยหลังเข้าคลองแห่งการใช้อำนาจเผด็จการ เป็นการเข้ามาใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดกับหลักประชาธิปไตย อีกทั้ง คสช. ยังมีพฤติกรรมสืบทอดอำนาจอีกด้วย

2. การรัฐประหารครั้งนั้น คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ บังคับสภาที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทยให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ลง ส่งคดีพลเรือนให้ต้องขึ้นศาลทหาร รวมทั้งออกประกาศ คำสั่ง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แต่งตั้งพวกพ้องเข้าสู่อำนาจบริหารโดยไม่ได้มาจากประชาชน แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเลือกคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และตรารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ให้อำนาจ คสช.โดยสมบูรณ์

3. การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยมีวัตถุประสงค์ อันได้แก่ ให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561, ยุติบทบาทของ คสช. และตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น 

.


ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง พวกตนจึงออกมาชุมนุมเรียกร้อง

การที่ คสช.ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วและมีการเลื่อนเลือกตั้งเป็นจำนวนกว่า 5 ครั้งนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มีสำนักข่าวหลายสำนัก เช่น สำนักข่าว The Standard ได้สรุปเหตุการณ์ไว้ดังนี้


ครั้งแรกในวันที่ 9 ก.พ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงข่าวการหารือร่วมกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ได้มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยนายบวรศักดิ์ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังถึงสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญของตนไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะว่า คสช.ต้องการอยู่ยาว 

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมกับองค์กรสหประชาชาติครั้งที่ 70 ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.- 1 ต.ค. 2558 พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวต่อนายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายในช่วงกลางปี 2560 แต่ปรากฏว่าการเลือกตั้งในห้วงเวลาดังกล่าวไม่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการที่มี 

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กำหนดให้ต้องมีการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับภายในระยะเวลา 8 เดือนจึงทำให้การเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเพราะปัญหาการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 แต่ปรากฏว่าด้วยเหตุแห่งความล่าช้าในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ล่วงเลยไปในวันที่ 6 เม.ย. 2560 จึงส่งผลให้กำหนดการเลือกตั้งต้องขยับออกไปถึงปลายปี 2561

ครั้งที่ 4 เป็นการเลื่อนการเลือกตั้งอันก่อให้เกิดการชุมนุมของประชาชนในช่วงต้นปี 2561 โดย

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากร่างเดิมที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แก้ไขให้มีผลบังคับใช้ภายหลัง 90 วันนับแต่ได้มีการประกาศใน

ราชกิจจานุเบกษา จึงทำให้กรอบระยะเวลาการเลือกตั้งขยายออกไปเป็นช่วงเดือนมิถุนายน 2561

การแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก และมีความแตกต่างจากการร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งอื่น ซึ่งทำให้เห็นว่าการแก้ไขขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการเลื่อนเลือกตั้งออกไปโดยตรง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้โรดแมปการจัดการเลือกตั้งขยับออกไปไกลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562  

และสำหรับการจะเลื่อนการเลือกตั้งครั้งที่ 5 รัฐบาลได้อ้างเหตุอันเนื่องจากพิธีพระบรมราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยพลเอกประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า “การเลือกตั้งจะมีขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

.


การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

อานนท์, สิรวิชญ์ และรังสิมันต์ ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องของการชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. 2561 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา  268 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) 4 ฉบับ ได้แก่ 1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ 4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลใช้บังคับแล้ว 

และมาตรา 267 บัญญัติถึงระยะเวลาที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำ พ.ร.ป.ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อนับระยะเวลาหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เวลาที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จจะอยู่ภายในช่วงเดือนธันวาคม 2560

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกสภา พ.ศ. 2561 กลับประกาศใช้ในวันที่ 12 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ล่วงเลยตามกำหนดระยะเวลา 240 วัน นอกจากนั้นกลับมีการกำหนดในมาตรา 171 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขยายระยะเวลาการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปออกไปอีก 90 วัน จึงส่งผลให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปช้ากว่ากำหนดการเดิม

ข้อเรียกร้องของตนและผู้ชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการจัดการเลือกตั้งภายในกำหนดระยะเวลาในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเมื่อรัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนก็สามารถดำเนินการเลือกบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตนไว้วางใจเข้าไปทำหน้าที่ผ่านกลไกรัฐสภา ส่งผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และทำให้สถานะของ คสช.ต้องยุติไป
.

การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

คำให้การของทั้งสามยังระบุอีกว่า ในการชุมนุมไม่ปรากฏว่าพวกตนได้เรียกร้องให้บุคคลที่มาร่วมชุมนุมใช้อาวุธหรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายชีวิตทรัพย์สินของบุคคลอื่น เจ้าหน้าที่ หรือทำลายทรัพย์สินของราชการจนทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อบีบบังคับให้ คสช.หรือรัฐบาลยินยอมทำตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด

ในทางข้อเท็จจริงปรากฏว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ พวกตนและผู้ชุมนุมอื่นๆ ก็ไม่ได้มีการพกพาอาวุธเข้ามาใช้ในการชุมนุมแต่อย่างใด รวมถึงการชุมนุมดังกล่าวก็ได้มีการแจ้งการชุมนุมโดยปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทุกประการ การชุมนุมที่เกิดขึ้นจึงเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

จากนั้นอานนท์ ได้เบิกความว่า ปัจจุบันคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 2 คดี โดยศาลพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 คดี ส่วนเหตุการณ์การชุมนุมในคดีนี้ มีการฟ้องกลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลแขวงดุสิตด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ ตนเข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่ได้รับค่าจ้าง

ต่อมา สิรวิชญ์ได้เบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุได้ยุติลงในเวลาประมาณ 20.30 น. โดยในวันดังกล่าว ตนได้เดินเท้าร่วมกับผุ้ชุมนุมคนอื่นๆ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นตนได้นั่งรถยนต์ไปต่อถึงกองทัพบก โดยมีผู้ชุมนุมประมาณ 200-300 คน การเคลื่อนขบวนกินพื้นที่สัญจรบนถนนเพียงเลนซ้ายเลนเดียวเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อการจราจรของประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้งทางเท้ายังคงมีประชาชนเดินไปมาอยู่ ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวมีการขออนุญาตเพื่อใช้เครื่องขยายเสียงที่ใช้บนรถยนต์ที่ตนนั่งมาขณะเคลื่อนขบวนด้วยหรือไม่ 

ก่อนที่จะเบิกความใหม่ตอบทนายจำเลยถามติงว่า ชลธิชาได้แจ้งการชุมนุมต่อ สน.ชนะสงคราม โดยหนังสือแจ้งการชุมนุมได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จำนวน 1 ตัว” ทั้งยังเบิกความเพิ่มเติมว่า การสัญจรด้วยยานพาหนะของประชาชนทั่วไปในวันเกิดเหตุไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด เนื่องจากในวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ แม้ตนและพวกจะใช้ถนน 1 เลนในการเคลื่อนขบวน แต่ยังคงเหลือถนนอีก 3 เลนที่ประชาชนยังคงสามารถใช้งานตามปกติ

ส่วนเหตุผลที่ยุติการชุมนุมล่าช้าไปประมาณ 30 นาที จากกำหนดเวลา 20.00 น. ที่ระบุในหนังสือแจ้งการชุมนุม เป็น 20.30 น. นั้น เป็นเพราะมีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ตนและผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ขัดขวางตลอดเส้นทางที่เคลื่อนขบวนไปจนถึงหน้ากองทัพบกอีกด้วย

ด้านรังสิมันต์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้มีรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้อยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวรับรองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนั้นยังบัญญัติว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างน้อย 2 ปี

จากนั้นรังสิมันต์ได้ตอบคำถามค้านของอัยการว่า การชุมนุมวันที่ 24 มี.ค. 2561 ตนทราบว่า ชลธิชาได้แจ้งการชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าแจ้งไว้ในเวลากี่โมง และไม่ทราบว่าตำรวจจะได้ทำหนังสือตอบกลับชลธิชาหรือไม่ โดยตนทราบว่า มีการชุมนุมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินไปกองทัพบก และรับว่าตนเป็นหนึ่งในคนที่ขึ้นปราศรัยแต่จะเรียกว่าแกนนำได้หรือไม่ ตนไม่ทราบ และในวันดังกล่าวมีการใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง แต่ตนจำไม่ได้ว่าได้มีการขออนุญาตหรือไม่

วันเกิดเหตุน่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 500 คน โดยได้เดินผ่านถนนราชดำเนิน แต่การเดินถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นทำให้เดินได้ไม่สะดวก

.

ชลธิชา แจ้งเร็ว: การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าแล้ว 5 วัน

ชลธิชาได้ยื่นคำให้การระบุว่า ก่อนการชุมนุมในคดีนี้ตนได้ไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2561 โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นวันที่ 24 มี.ค. 2561 มีการนัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จากนั้นในเวลา 17.00 น. จะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่หน้ากองบัญชากองทัพบกเพื่อเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้ง เนื่องจากตั้งแต่มีการทำรัฐประหารมาก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง และพลเอกประยุทธ์เคยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งแต่ก็เลื่อนมาโดยตลอด

ตนแจ้งการชุมนุมในนามกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนให้มาชุมนุม โดยต่างคนต่างมา คนที่มาร่วมชุมนุมเป็นผู้สูงอายุ นักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป 

ตนได้แจ้งเส้นทางการเดินขบวนจากประตูหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลา 17.00 น. ไปที่สนามหลวง จากนั้นเดินไปที่ถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก ไปยังหน้ากองทัพบก และได้แจ้งแล้วว่าจะมีการใช้รถติดเครื่องขยายเสียง 1 คัน ขอให้ตำรวจมาอำนวยความสะดวกการจราจรและความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสาระสำคัญของการชุมนุมส่งกลับมา โดยไม่ได้ห้ามการเดินขบวนออกนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไปยังกองทัพบกแต่อย่างใด และยังระบุให้ตนกับพวกไปชุมนุมบนฟุตบาทหน้ากองทัพบก

.

ตำรวจไม่ได้โต้แย้งเส้นทางเดินขบวน แต่กลับมีการปิดกั้นไม่ให้เดินในหลายจุด ทำให้การชุมนุมล่าช้าออกไป

ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมเริ่มแถลงข่าวในเวลา 16.00 น. จากนั้นเริ่มตั้งขบวนในเวลา 17.00 น. เพื่อจะออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังออกไม่ได้ เนื่องจากตำรวจขัดขวางไม่ให้นำรถเครื่องเสียงออกไป และมีตำรวจยืนขวางกั้นหน้าประตูด้านหอประชุมใหญ่ ตนได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลานานเพื่อขอนำรถเครื่องขยายเสียงออก เพราะจำเป็นต้องใช้ในการควบคุมผู้ชุมนุมซึ่งมีหลายร้อยคน อีกทั้งตนได้แจ้งการชุมนุมแล้วว่าจะใช้รถเครื่องขยายเสียงและจะใช้ 1 ช่องทางจราจร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม บอกตนว่า มีคำสั่งจากเจ้านาย แต่ไม่ได้บอกรายละเอียด

หลังจากเจรจากับตำรวจประมาณครึ่งชั่วโมง ตนและผู้ชุมนุมจึงได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่สามารถเดินไปตามเส้นทางที่ตั้งใจและแจ้งการชุมนุมไว้ คือ ข้ามสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก เนื่องจากตำรวจบีบให้ตนและผู้ชุมนุมเดินเลี้ยวซ้ายออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทางเจดีย์ขาว โดยหากตนกับผู้ชุมนุมได้เดินข้ามสนามหลวงตามแผนการที่แจ้งการชุมนุมก็จะไม่กระทบต่อประชาชนมากนัก เพราะมีทางม้าลายให้ข้าม และเมื่อตนแจ้งการชุมนุมตำรวจก็ไม่ได้โต้แย้งเส้นทางนี้แต่แรก

ตนและผู้ชุมนุมเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลี้ยวซ้ายผ่านอนุสาวรีย์ทหารอาสาผ่านหน้ากองสลากเก่า โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนเดินบนฟุตบาท บางส่วนเดินบนพื้นผิวถนน ส่วนตนเดินบนผิวถนนช่องซ้ายสุด มีตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบเดินประกบไปด้วยกัน มีผู้กำกับการ สน.ชนะสงครามเดินคู่ไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

ตนใช้โทรโข่งหรือเครื่องขยายเสียงเล็กพูดประชาสัมพันธ์บอกทิศทางเดินให้ผู้ชุมนุมทราบ ให้ผู้ชุมนุมเดินตั้งแถวหน้ากระดาน 3 คน ซึ่งจะยังอยู่ใน 1 ช่องทางจราจรตามที่ตนได้แจ้งการชุมนุมไว้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจร แต่ตำรวจได้สกัดกั้นผู้ชุมนุมครั้งที่ 2 ที่หน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลาง โดยตำรวจหลายร้อยนายยืนขวางปิดกั้นถนน 2 ช่องทาง ผู้ชุมนุมจึงต้องใช้เวลาประมาณ 10 นาที กว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้

ตำรวจตั้งด่านในลักษณะนี้อีกครั้งที่บริเวณก่อนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมจึงเสียเวลาไปอีกประมาณ 15 นาที จึงเดินต่อไปได้ เมื่อถึงบริเวณแยก จ.ป.ร. ก็มีตำรวจยืนปิดกั้นรถบริเวณเกาะกลางถนนและช่องทางคู่ขนาน เพื่อไม่ให้พวกตนเดินไปถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทำให้ตนและผู้ชุมนุมเสียเวลาอีกประมาณ 15 นาที โดยถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อเวลา 18.30 น. หากตำรวจไม่มาปิดกั้นตนก็สามารถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในเวลา 17.00 น. และไปถึงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกประมาณ 17.30 น. 

เมื่อไปถึงหน้ากองทัพบก ผู้ชุมนุมได้ยืนปราศรัยจนถึงเวลา 20.30 น. โดยในระหว่างปราศรัยตำรวจก็ขัดขวางโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียงพูดรบกวนการชุมนุม ตนและผู้ชุมนุมทำกิจกรรมอยู่ที่หน้ากองทัพบกเท่านั้น ไม่มีใครแยกออกไปทำอะไรที่อื่น 

.
พวกตนคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพียงต้องการสื่อสารกับ คสช.ให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว 

เมื่อตนกับผู้ชุมนุมเดินเลยแยก จ.ป.ร. มาแล้ว ตำรวจบอกให้ตนและผู้ชุมนุมไปชุมนุมที่หน้าสนามมวยราชดำเนิน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกองทัพบกแทน แต่ตนไม่ไปเพราะแจ้งการชุมนุมไว้ที่หน้ากองทัพบกและไม่คุ้นชินกับบริเวณนั้น ไม่ทราบว่ามีขนาดพื้นที่ใหญ่พอหรือไม่ ตนเลือกที่หน้ากองทัพบกเพราะเป็นเชิงสัญลักษณ์ และคุ้นชินบริเวณนี้ และทีมงานของตนก็ดูแลความปลอดภัยให้ในบริเวณนี้

กองทัพบกเป็นที่ทำการของ คสช. ตนต้องการไปบอกให้ คสช. รีบจัดการเลือกตั้ง ส่วนการเดินขบวนก็เพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าพวกตนคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เหตุที่ชุมนุมทางการเมืองเพราะมีสิทธิทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองก็ระบุว่า รัฐภาคีต้องเคารพสิทธิการชุมนุม การชุมนุมของตนกับพวกจึงเป็นสิทธิชอบธรรมอันทำได้ 

ตนจึงไม่ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตนได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 5 วัน และขอให้ตำรวจมาดูแลเรื่องการจราจรและความปลอดภัยด้วย หลังจากนั้นตนและผู้ชุมนุมก็เลิกการชุมนุมโดยไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นและยังช่วยกันทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว

.
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง กลับคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต จากเหตุชุมนุมครั้งเดียวกันนี้ 

ชลธิชาได้เบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า การชุมนุมครั้งดังกล่าวทำให้ตนถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงดุสิต โดยศาลได้พิพากษายกฟ้องจำเลยรายอื่นในคดีทั้งหมด แต่ได้พิพากษาลงโทษเอาผิดกับตนเพียงผู้เดียว ฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม ลงโทษปรับ 1,000 บาท แต่เมื่อคดีดังกล่าวไปถึงศาลอุทธรณ์ ศาลได้กลับคำพิพากษาเป็นยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การไม่สามารถยุติการชุมนุมได้ตามเวลาที่แจ้งการชุมนุม เป็นเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางการชุมนุม การเดินขบวนกินพื้นที่ถนนเพียงเลนเดียว ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร เป็นการชุมนุมโดยสงบเรียบร้อย หลังเลิกการชุมนุม ประชาชนก็เดินทางกลับบ้าน ไม่มีทรัพย์สินสาธารณะหรือทรัพย์สินของเอกชนได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ชลธิชายังตอบอัยการถามค้าน ว่าตนเป็นสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG แต่ในการชุมนุมวันดังกล่าวตนไม่ทราบว่ามีกลุ่มใดเข้าร่วมบ้าง เพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจากหลากหลายกลุ่มด้วยกัน และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นแกนนำบ้าง

ตามหนังสือแจ้งการชุมนุม ตนได้ลงนามชื่อในหนังสือว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม DRG แต่จะจัดการชุมนุมในนามกลุ่ม ประชาชนคนอยากเลือกตั้ง ไม่ได้จัดการชุมนุมของกลุ่ม DRG แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนไม่ได้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่ เนื่องจากแจ้งการชุมนุมกับสถานีตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบแล้ว    


พยานผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญ จันทร์เรือง: คสช.ออกคำสั่งมากมายริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชน-เอื้อประโยชน์ให้ตนเอง ทั้งเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง

ชำนาญเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตนเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครอง ทั้งเคยดำรงตำแหน่งประธานแอมเนสตี้ประเทศไทย ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร โดยประกาศและคำสั่งที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของ คสช. มีหลายรูปแบบ เช่น คำสั่งเรียกรายงานตัว คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป หรือแม้แต่การให้หัวหน้า คสช. ได้รับการยกเว้นการกระทำทุกรูปแบบ ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แทรกแซงการออกกฎหมาย แทรกแซงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หรือใช้เพื่อย้ายอัยการสูงสุด สั่งปลดนักการเมืองท้องถิ่นและแต่งตั้งข้าราชการไปทำงานแทน ภายหลังล้มเหลวในการบริหารจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ก็หน่วงเวลามาจนถึงปี 2563  

คสช.ยังใช้อำนาจในขณะนั้น ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกกฎหมายหลายฉบับที่ขัดหลักนิติรัฐและนิติธรรม มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกร่างโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถูกโหวตคว่ำไป จากนั้นมีการตั้งสภาปฎิรูปแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ผ่านการทำประชามติในปี 2559 และประกาศใช้ในปี 2560 

ตลอดช่วงปี 2557-2560 พลเอกประยุทธ์พูดหลายครั้งว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่เป็นจริง ยืดระยะเวลาไปเรื่อยๆ เลื่อนระยะเวลาไปประมาณ 5 ครั้ง ปี 2558 เลื่อนเพราะร่างรัฐธรรมนูญถูกโหวตคว่ำ, ปี 2559 มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปอีก 90 วัน ทำให้เลือกตั้งไม่ได้, ปี 2561 พลเอกประยุทธ์ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะจัดการเลือกตั้ง เดือน พ.ย. 2561 แต่ก็ไม่เป็นจริง ท้ายที่สุดมีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ก่อนจะเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค. 2562 

ทั้งนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ คสช.ยังคงออกคำสั่ง คสช.เพื่อกำหนดเขตเลือกตั้งตามอำเภอใจ โดยปกติ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะเป็นผู้เสนอวิธีการแบ่งเขตขึ้นไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลาง แต่ด้วยคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งจากส่วนกลางเป็นผู้กำหนดวิธีการแบ่งเขตทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 5 ปี หรือ 2 วาระ โดย ส.ว.ทั้ง 250 คน ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. นอกจากนี้ยังกำหนดให้การออกกฎหมายใดใดที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปประเทศ ส.ส.และ ส.ว. ต้องประชุมพิจารณาร่วมกันและสามารถผ่านกฎหมายดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว

รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังบัญญัติเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ ซึ่งมีผลผูกพันกับรัฐบาลในอนาคต หากไม่ปฎิบัติตามก็อาจจะถูกร้องเรียนและเป็นคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

.

จนถึงปัจจุบัน คดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2561 สิ้นสุดไปแล้ว 8 คดีจาก 11 คดี โดยส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ได้แก่คดี คนอยากเลือกตั้ง MBK39 (แกนนำ), คนอยากเลือกตั้ง MBK39 (ผู้ชุมนุม), คนอยากเลือกตั้ง RDN50 (แกนนำ), คนอยากเลือกตั้ง RDN50 (ผู้ชุมนุม) , คนอยากเลือกตั้ง Army57 (ผู้ชุมนุม), คนอยากเลือกตั้ง CMU06 เชียงใหม่, คนอยากเลือกตั้งพัทยา

คงเหลือคดีคนอยากเลือกตั้งเหตุการณ์สุดท้ายที่กำลังสืบพยานอยู่ในชั้นศาล ทั้งศาลอาญาและศาลแขวงดุสิตเพียง 2 คดี คือคดีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง UN62 ทั้งในส่วนแกนนำและผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมในช่วง 21-22 พ.ค. 2561 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN)


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ‘ลูกเกด’ คดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง Army57 หลังเลื่อนฟังคำพิพากษามา 7 ครั้ง

เลื่อนสืบพยานแกนนำ ARMY57 ไป พ.ค. 65 – อานนท์เขียนคำร้องขอประกันตนเอง ขอให้ศาลชี้เหตุที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง แต่ศาลยกคำร้อง

ศาลยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 ชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอ แต่ปรับ 1 พันบาท “ลูกเกด” ในฐานะผู้จัดชุมนุม

X