31 ก.ค. 2562 ศาลแขวงพัทยานัดฟังคำพิพากษาคดีคนอยากเลือกตั้ง 12 คน ชุมนุมที่ริมหาดพัทยาตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
คดีนี้ นับเป็นการต่อสู้เรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในเรื่องนิยามและหน้าที่ของผู้ประสงค์จัดการชุมนุม ซึ่งตามมาตรา 10 ระบุให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม แต่คดีนี้กลับมีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมชุมนุมในฐานะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมด้วย รวมถึงปัญหาความไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ที่ทำให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ตามกฎหมาย
วันนี้ ศาลแขวงพัทยาพิพากษาว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 เอาผิดเฉพาะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมหรือแกนนำเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นต้องพิเคราะห์ว่าใครบ้างที่เป็นแกนนำในการชุมนุม พิเคราะห์พฤติการณ์แล้วเห็นว่า สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’, วันเฉลิม กุนเสน, และศศวัชร์ คมนียวนิชที่เดินทางมาด้วยกัน ช่วยกันลากเครื่องขยายเสียงมีพฤติกรรมสนับสนุนร่วมกันจัดการชุมนุม ส่วนจำเลยอื่นแม้จะร่วมชูป้ายหรือถ่ายภาพก็ยังไม่ถือว่าเป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุม
ส่วนประเด็นว่าจำเลยมีเจตนาไม่แจ้งการชุมนุมหรือไม่ สิรวิชญ์อ้างว่าได้แจ้งการชุมนุมทางโทรศัพท์ต่อ ผกก.สภ.เมืองพัทยา แล้ว ศาลเห็นว่ากฎหมายได้ระบุวิธีแจ้งการชุมนุมไว้ โดยต้องแจ้งรายละเอียดการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สามารถสั่งแก้ไขได้ นอกจากนี้ จำเลยควรเดินทางแจ้งการชุมนุมด้วยตนเองที่ สภ.เมืองพัทยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำหรืออำนวยความสะดวกในการชุมนุม การที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมหลังโทรศัพท์ติดต่อกับ ผกก.สภ.เมืองพัทยา ถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุม
ศาลลงโทษปรับสิรวิชญ์, วันเฉลิม, และศศวัชร์คนละ 4,000 บาท แต่คำให้การและทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษปรับเหลือคนละ 3,000 บาท จำเลยอื่นยกฟ้อง
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
เหตุการณ์ในคดีเกิดเมื่อ 4 มี.ค. 2561 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่ม START UP PEOPLE จัดกิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR : ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดพัทยา หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กิจกรรมดังกล่าวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดเลื่อนการเลือกตั้งและหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.ระหว่างกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหนังสือของ สภ.เมืองพัทยา ให้เลิกการชุมนุมในเวลา 18.30 น. โดยระบุว่า อาจเข้าลักษณะการกระทำที่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558
ต่อมา มีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหารวม 12 ราย ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายวันเฉลิม กุนเสน, น.ส.จิดาภา ธนหัตถชัย, นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์, นายวีรชัย (สงวนนามสกุล), น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, น.ส.อารีย์ (สงวนนามสกุล), น.ส.วลี ญาณะหงษา, น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก, นางประนอม พูลทวี, นายฉัตรมงคล วัลลีย์, และนายศศวัชร์ คมนียวนิช เป็นจำเลยที่ 1-12
ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12
วันที่ 24 ม.ค. 2562 พนักงานอัยการแขวงพัทยาได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพัทยา ในความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า จำเลยทั้ง 12 คน ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กํากับการ สภ.เมืองพัทยา ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ อัยการไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป หลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.หลายฉบับ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ด้วย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี
เริ่มสืบพยานโจทก์
การสืบพยานเริ่มขึ้นวันที่ 11 มิ.ย. 2562 ก่อนเริ่มการสืบพยานผู้พิพากษาแนะนำให้จำเลยทั้งหมดรับสารภาพ เพราะคดีมีเพียงโทษปรับ และสถานการณ์การเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่จำเลยทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมชุมนุม ไม่ใช้ผู้จัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
อัยการนำ พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพ็ชร ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองพัทยา เข้าเบิกความต่อศาลในฐานะผู้กล่าวหา
พ.ต.อ.อภิชัย ให้การว่า ก่อนวันที่ 4 มี.ค. 2561 สืบทราบว่ามีสื่อออนไลน์นัดหมายชุมนุมสาธารณะ จึงสั่งให้ชุดสืบสวนติดตามสื่อสังคมออนไลน์ และตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุจนถึงวันที่เกิดเหตุ คือ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช
การชุมนุมในวันที่ 4 มี.ค. 2561 เริ่มเวลาประมาณ 17.00 น. สถานที่ชุมนุมอยู่ห่างจาก สภ.เมืองพัทยา ประมาณ 100 เมตร จึงเดินทางไปสังเกตการณ์ด้วยตนเอง พบผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน โดยมีสิรวิชญ์ปราศรัยอยู่บนเวทีผ่านเครื่องขยายเสียงบนพื้นที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต้องขออนุญาตหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่จัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งกรณีนี้คือ สภ.เมืองพัทยา
พยานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุมดังกล่าว รวมถึงไม่มีการขอผ่อนผันกับทางกองบังคับการตำรวจภูธร จ.ชลบุรี จึงทำหนังสือแจ้งให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากไม่มีการขออนุญาตชุมนุม ผู้ชุมนุมชุมนุมต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงจึงเลิกการชุมนุม
หลังจากนั้น พ.ต.อ.อภิชัย สั่งให้เจ้าหน้าที่ชึดสืบสวนนำบันทึกภาพและเสียงการชุมนุมมาตรวจสอบว่ามีบุคคลใดร่วมชุมนุมบ้าง ทราบชื่อคือจำเลยทั้ง 12 คน จึงเข้ากล่าวโทษและให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม อดีต ผกก.สภ.เมืองพัทยา ตอบคำถามค้านทนายความว่า จำ URL เว็บไซต์ และบัญชีอีเมล์ของ สภ.เมืองพัทยา ไม่ได้ ขณะที่การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังเมืองพัทยาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.ชลบุรี อยู่ห่างจาก สภ.เมืองพัทยา ออกไปประมาณ 40 กิโลเมตร นอกจากนี้ พยานยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุม และขณะแจ้งให้ยุติการชุมนุม มีสิรวิชญ์เข้ามาเจรจาเพียงคนเดียว
จากนั้น รักษาการผู้อำนาวยการส่วนผังเมือง สำนักการช่าง เมืองพัทยา เข้าเบิกความยืนยันว่าพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่สาธารณะ มีไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน จากการตรวจสอบพื้นที่ไม่พบว่ามีสิ่งใดเสียหาย
อัยการแขวงพัทยานำ พ.ต.ต.สุวิทย์ อดีต สว.สภ.เมืองพัทยา ผู้ดูแลงานธุรการและหนังสือโต้ตอบของ สภ.เมืองพัทยา เข้าให้การเป็นพยานปากที่ 3
พ.ต.ต.สุวิทย์ ให้การว่า พ.ต.อ.อภิชัย ผกก.สภ.เมืองพัทยา สั่งการให้พยานไปตรวจสอบหนังสือว่ามีการขออนุญาตชุมนุมหรือไม่ ทั้งทางโทรสารและอีเมล์ พบว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2561 ไม่ได้แจ้งการชุมนุมไว้ทั้งก่อนและหลังการชุมนุม อย่างไรก็ตาม พ.ต.ต.สุวิทย์ ตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่า ในบัญชีพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เมืองพัทยา และบุคคลที่อาศัยในเมืองพัทยา ไม่มีใครทราบบัญชีอีเมล์ของ สภ.เมืองพัทยา
จากนั้น อัยการนำ พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ อดีต สว.สส.สภ.เมืองพัทยา เข้าให้การว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้สอดส่องติดตามเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีผู้มาชุมนุม พบการประกาศเชิญชวนทางสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มที่มีสิรวิชญ์เป็นแกนนำ
จากการติดตามของ พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ พบว่า สิรวิชญ์เข้ามาในพื้นที่วันที่ 4 มี.ค. 2561 เวลาประมาณ 11.00 น. พร้อมพวกรวม 3 คน และนำเครื่องขยายเสียงติดตัวมาด้วย วันนั้นพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ ประมาณ 17.00 น. สิรวิชญ์ใช้เครื่องขยายเสียงยืนพูดบนที่นั่งเล่นริมชายหาด เนื้อหาการปราศรัยคือไม่ให้รัฐบาลเลื่อนจัดการเลือกตั้ง โดยจำเลยคนอื่นไม่ได้ร่วมพูดด้วย เพียงแต่ชูป้ายและร่วมถ่ายภาพเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนตอบคำถามค้านทนายความว่า ไม่ทราบว่าเฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนเป็นของใคร เพราะไม่ได้ตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีชื่อตรงกับจำเลยในคดีนี้ ในคดีคนอยากเลือกตั้งอื่นๆ จำเลยบางส่วนถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ชุมนุม จำเลยสวมเสื้อแตกต่างกัน ไม่มีสัญลักษณ์ใดเหมือนกันเป็นพิเศษ รวมถึงเดินมาต่างเวลา ส่วน น.ส.อารีย์ พยานรู้จักมาก่อน และเป็นผู้ให้จำเลยไปถามผู้ชุมนุมว่าหลังเลิกการชุมนุมจะไปรับประทานอาหารที่ไหนต่อ ระหว่างการชุมนุม ไม่มีโฆษกปราศรัยเชิญชวนให้คนเข้ามาร่วมการชุมนุม สิรวิชญ์ปราศรัยเพียงคนเดียวเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดปรึกษาใคร
นอกจากนี้ พยานยังยอมรับว่าในการชุมนุมมีทั้งแกนนำและมวลชนผู้เข้าร่วม โดยพฤติกรรมของแกนนำมักจะปรากฏตัวบนเวที ขณะที่มวลชนจะชูป้าย ปรบมือ หรือชู 3 นิ้ว เป็นต้น
วันที่ 12 มิ.ย. 2562 ศาลแขวงพัทยาสืบพยานต่อเป็นวันที่สอง อัยการนำ พ.ต.ท.ออมสิน พนักงานสอบสวนในคดีเข้าให้การ
พ.ต.ท.ออมสิน ให้การว่า รับแจ้งความจาก พ.ต.อ.อภิชัย ในข้อหาชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากนั้นจึงสอบสวนพยานในคดีนี้และไปตรวจสถานที่เกิดเหตุว่าเป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ จากนั้นจึงออกหมายเรียกจำเลยมาสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาในฐานะผู้ต้องหา โดยอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ให้การเพิ่มเติมภายหลังว่าไม่ได้มาร่วมชุมนุมแต่มาพักผ่อนที่เกาะล้าน ภายหลังรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสิบสองฐานชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12
พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านทนายความว่า บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ระบุพฤติกรรมว่าจำเลยทั้งสิบสองแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร การตรวจที่เกิดเหตุไม่พบความเสียหาย พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุม เมื่อทราบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสิบสอง พยานไม่ได้ตรวจสอบต่อว่าจำเลยติดต่อกันมาก่อนหรือไม่
เกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุม พ.ต.ท.ออมสิน ตอบคำถามของทนายความจำเลยว่า สภ.เมืองพัทยา มีแต่บัญชีเฟซบุ๊กแต่ไม่มีเว็บไซต์ สามารถแจ้งการชุมนุมได้ทางโทรสาร อีเมล์ หรือมาแจ้งด้วยตนเอง ตัวพยานเองก็ไม่ทราบอีเมล์ที่ใช้ติดต่อ สภ.เมืองพัทยา และผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 10 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต้องเป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ทาง สภ.เมืองพัทยา ทราบล่วงหน้าก่อนแล้วว่าจะมีการชุมนุม และได้จัดการอำนวยความสะดวกตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
คำให้การจำเลย
คดีนี้พยานจำเลยเข้าเบิกความเพียง 2 ปากเท่านั้น คือ สิรวิชญ์และอนุรักษ์ โดยสิรวิชญ์ให้การก่อนในวันที่ 12 มิ.ย. 2562
สิรวิชญ์ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี่ เขาเคยชุมนุมมาแล้ว 4 ครั้ง เพื่อเรียกร้องไม่ให้เลื่อนจัดการเลือกตั้ง และแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมาโดยตลอด กระทั่งวันที่ 3 มี.ค. 2561 ได้ค้นหาช่องทางติดต่อ สภ.เมืองพัทยา เพื่อแจ้งการชุมนุม เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องติดต่อ ผกก. โดยตรง และได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้
เมื่อติดต่อ ผกก.สภ.เมืองพัทยา เพื่อขออีเมล์สำหรับแจ้งการชุมนุม ผกก. แจ้งว่าจำไม่ได้และให้จำเลยเดินทางมาแจ้งการชุมนุมด้วยตนเอง จำเลยพยายามค้นหาช่องทางแจ้งการชุมนุมของ สภ.เมืองพัทยา ต่อแต่ไม่พบ จึงถือว่าได้แจ้งทางวาจาต่อ ผกก. ไว้แล้ว ส่วนช่องทางโทรสาร ที่บ้านของจำเลไม่มีอุปกรณ์ส่ง และปัจจุบันหาร้านส่งได้ยาก ส่วนที่ไม่ได้ขอผ่อนผันการแจ้งการชุมนุม
ในวันเกิดเหตุ สิรวิชญ์เดินทางมาพร้อมศศวัชร์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย เพราะต้องการให้เพื่อนติดตามมาด้วยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ไม่ได้นัดหมายกับใครและเป็นผู้ปราศรัยเพียงคนเดียว เมื่อได้รับแจ้งให้ยุติการชุมนุม ก็เลิกการชุมนุมหลังจากนั้นไม่นาน
สิรวิชญ์ตอบคำถามค้านของอัยการว่า ไม่ได้เดินทางมาจากจำเลยคนอื่นนอกจากศศวัชร์ ส่วนที่ภาพกับวันเฉลิม เป็นการพบกันในห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญ และรู้จักกันผ่านสื่อ เฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของกลุ่มที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของจำเลย
ก่อนมาชุมนุม จำเลยไม่ทราบว่า สภ.เมืองพัทยา อยู่ที่ใด และหากแจ้งการชุมนุมได้โดยสะดวกก็จะแจ้งทุกครั้ง ก่อนหน้านี้เคยโทรศัพท์แจ้งการชุมนุมต่อ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา และได้รับอนุญาตให้ชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2561 โดย ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา แจ้งว่าแม้การแจ้งการชุมนุมจะไม่สมบูรณ์แต่สามารถอนุโลมให้ได้ และไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนจำเลยคนอื่นๆ บางคนเคยไปร่วมชุมนุมแต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีในฐานะแกนนำ
ต่อมา 13 มิ.ย. 2562 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ เข้าให้การต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุตั้งใจพาภรรยาไปพักผ่อนที่เกาะล้าน โดยจองที่พักตั้งแต่ 16 ก.พ. 2561 ก่อนทราบว่าจะมีการชุมนุม และเดินทางด้วยรถประจำทางลงที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช เห็นประชาชนชุมนุมห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จึงเดินเข้าไปถ่ายรูปและถ่ายทอดสดการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กประมาณ 10 นาที จากนั้นจึงเดินทางไปที่ท่าเรือแหลมบาลีฮายก่อนที่การชุมนุมจะยุติ
อนุรักษ์ตอบคำถามค้านของอัยการว่า ระหว่างชุมนุมไม่มีการเชิญชวนคนให้เข้าร่วม หรือแจกจ่ายสิ่งของ มีเพียงการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กเท่านั้น เขาไม่ทราบว่าเฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนเป็นของใคร ส่วนภรรยามาด้วยกันและยืนอยู่ใกล้จำเลยแต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วย และเขายังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งอีกหลายคดี แต่อยู่ในฐานะผู้ชุมนุม ไม่ใช่แกนนำผู้จัดการชุมนุม
ส่วนจำเลยอื่นๆ ไม่ติดใจสืบพยาน การสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 13 มิ.ย. 2562 ศาลแขวงพัทยาจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 ก.ค. 2562 ข้างต้น