อัยการยื่นอุทธรณ์คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา ยันจำเลยรายอื่นเป็นตัวการร่วมจัดชุมนุม

จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 62 ศาลแขวงพัทยาได้พิพากษาคดีคนอยากเลือกตั้ง 12 คน ชุมนุมที่ริมหาดพัทยาตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช (หรือคดี PTY12) ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยให้มีความผิดเฉพาะ​ผู้ประสงค์​จัดการ​ชุมนุม​หรือแกนนำเท่านั้น​

ศาลพิเคราะห์​เห็นว่า​ สิรวิชญ์​ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’, วันเฉลิม​ กุนเสน และศศวัชร์ คมนียวนิช ที่เดินทางมาด้วยกัน ช่วยกันลากเครื่อง​ขยาย​เสียง มีพฤติกรรม​สนับสนุนร่วมกันจัดการชุมนุม พิพากษาปรับทั้งสามคน คนละ 4,000 บาท แต่คำให้การและทางนำสืบเป็นประโยชน์​ต่อการพิจารณา​ จึงลดโทษปรับเหลือคนละ​ 3,000​ บาท​ ส่วนจำเลยรายอื่นๆ แม้จะร่วมชูป้ายหรือถ่ายภาพ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุม จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

อ่าน สรุปประมวลการสืบพยานในคดีนี้ และสรุปคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

.

อัยการยื่นอุทธรณ์ ชี้จำเลยรายอื่นๆ เป็นตัวการร่วมจัดการชุมนุม

ต่อมา วันที่ 27 ก.ย. 62 ทางอัยการคดีศาลแขวงพัทยาได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาล ฝ่ายอัยการอุทธรณ์เพียงสั้นๆ ว่าจำเลยคนอื่นๆ ที่ถูกศาลชั้นต้นยกฟ้องไปนั้น ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยอีกสามคนด้วย โดยมีการถือป้ายซึ่งจัดเตรียมมาโดยลักษณะป้ายและความหมายของป้ายเป็นอย่างเดียวกัน และเหมือนๆ กัน เพื่อสนับสนุนการปราศรัยของนายสิรวิชญ์ เป็นการกระทำในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมและการปราศรัย มีคนสนใจชุมนุมและฟังมาก ถือเป็นตัวการร่วมกับจำเลยสามราย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งหมดด้วย

ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์ของอัยการคดีศาลแขวงพัทยา ยังมีสำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 รับรองการอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว

 

สองจำเลยอุทธรณ์คดี ยืนยันไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมกับ “จ่านิว”

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 62 ทางจำเลยที่ 2 และที่ 12 ได้แก่ นายวันเฉลิม กุนเสน และนายศศวัชร์ คมนียวนิช จำเลยสองรายที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดร่วมกับนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์เช่นเดียวกัน

จำเลยทั้งสองยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยอุทธรณ์โต้แย้งว่าจากการนำสืบทั้งหมดของฝ่ายโจทก์ ไม่ได้มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันชัดเจนได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมวางแผนรู้เห็นและมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ หรือประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงไม่ได้เป็นผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะ

ทางฝ่ายโจทก์ได้มีพยานปาก พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ สีแสง ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวนสภ.เมืองพัทยา ซึ่งเบิกความกับศาลว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สอดส่องและติดตามผู้เข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่ จึงได้เฝ้าติดตามและถ่ายภาพเป็นระยะๆ  โดยจากการติดตามได้พบว่านายศศวัชร์ได้นั่งรถมายังลานจอดรถห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาบีช พร้อมกับนายสิรวิชญ์ จำเลยที่ 1 และทั้งสองคนได้พบกับนายวันเฉลิม และได้เดินไปยังจุดที่ชุมนุมด้วยกัน โดยนายศศวัชร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมและถือป้ายสนับสนุนการชุมนุมด้วย  ส่วนนายวันเฉลิมได้ช่วยนายสิรวิชญ์ทำการขนเครื่องขยายเสียง และมีพฤติการณ์สนิทสนมกันเหมือนเพื่อนสนิทระหว่างทั้งสามคน  จากปากคำพยานโจทก์ดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงเชื่อว่าทั้งสองคน มีส่วนรู้เห็นกับนายสิรวิชญ์ในการจัดการชุมนุมด้วยกัน

แต่นายวันเฉลิม ได้โต้แย้งในคำอุทธรณ์คดีว่าลำพังพฤติการณ์ที่ไปช่วยเหลือนายสิรวิชญ์ในการขนย้ายลำโพงไปยังจุดชุมนุมนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทั้งสองคนมีความสนิทสนมกันเหมือนเพื่อนสนิท อีกทั้งภาพถ่ายหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงภาพถ่ายขณะนายวันเฉลิมขนย้ายลำโพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาพถ่ายที่ชี้ถึงความสัมพันธ์หรือความสนิทสนมแต่อย่างใด และไม่ใช่ภาพถ่ายถึงพฤติการณ์การประชุมวางแผนแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำแต่อย่างใด

พยานโจทก์ปากพ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ยังเบิกความกับศาลไว้ว่าจำเลยทั้งสามคน ไม่ได้ใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์เดียวกัน และไม่มีการใส่สัญลักษณ์อื่นใดเหมือนกัน และก่อนการปราศรัย ก็ไม่ได้พบว่าจำเลยทั้งสิบสองคนได้นัดประชุมเป็นทางการ หรือได้นั่งประชุมร่วมกัน

ภาพกิจกรรมคนอยากเลือกตั้งที่ลานตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 61

 

จากคำเบิกความของนายสิรวิชญ์ จำเลยที่ 1 เอง ก็บอกเพียงว่าในการเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังพัทยา สิรวิชญ์ได้ชวนนายศศวัชร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เดินทางมาด้วย สาเหตุเนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ก่อนที่สิรวิชญ์จะเดินทางไปทำกิจกรรมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ได้เคยถูกกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหลายคนเข้ามาจับตัว มีการทำร้ายร่างกาย ปิดตา และข่มขู่ไม่ให้ไปทำกิจกรรม ซึ่งปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป การเดินทางไปทำกิจกรรมในครั้งถัดจากนั้น สิรวิชญ์จึงชวนเพื่อนไปด้วยเสมอเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางและการทำกิจกรรม ส่วนการพบกับนายวันเฉลิมก่อนการชุมนุม ก็เป็นเพียงการพบกันโดยบังเอิญ ไม่ได้เดินทางมาด้วยกัน นายวันเฉลิมเพียงแต่รู้จักสิรวิชญ์จากสื่อ แล้วได้เข้ามาทักทาย

สิรวิชญ์ยังเบิกความยืนยันว่าการจัดการชุมนุมในคดีนี้ ตนเป็นแกนนำในการจัดเพียงคนเดียว ทำการปราศรัยเพียงคนเดียว ไม่ได้มีบุคคลอื่นร่วมปราศรัย และไม่ได้ร่วมวางแผนการชุมนุมกับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแต่อย่างใด

คำร้องอุทธรณ์ยืนยันว่าทั้งนายศศวัชร์และนายวันเฉลิมไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในวันเกิดเหตุแต่อย่างใด และศาลชั้นต้นเองก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยรายอื่นๆ แม้ได้เข้าร่วมถือป้ายสนับสนุนการปราศรัยของนายสิรวิชญ์ แต่ก็ไม่ได้ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยแต่อย่างใด โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่จะแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยรายอื่นๆ เป็นผู้ร่วมจัดให้มีการชุมนุม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเหล่านั้นเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม

ผู้ยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองคนจึงเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหมด ยังไม่มั่นคงเพียงพอหรือมีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าทั้งสองคนเป็นผู้กระทำความผิด มีพฤติการณ์เป็น “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นยกฟ้องจำเลยทั้งสองคนให้พ้นข้อหาไป

 

คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยานี้ นับเป็นอีกคดีหนึ่งที่มีการต่อสู้ในเรื่องนิยามและหน้าที่ของผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งตามมาตรา 10 ระบุให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมเท่านั้น มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม  แต่คดีนี้กลับมีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมชุมนุมกว่า 11 คน ในฐานะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมด้วย และทางอัยการยังอุทธรณ์ว่าผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมดเป็นตัวการร่วมจัดการชุมนุม จึงต้องติดตามการวินิจฉัยองค์ประกอบของสถานะ “ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ” โดยศาลในชั้นที่สูงขึ้นไปต่อไป

 

X