นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี “คนอยากเลือกตั้ง” พัทยา หลังเลื่อนจากเหตุโควิด

สืบเนื่องจากศาลแขวงพัทยาได้มีคำพิพากษาในคดีของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” พัทยา (หรือคดี PTY12) ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ลงโทษจำเลย 3 คน ได้แก่ “นิว” สิรวิชญ์​ เสรีธิวัฒน์, วันเฉลิม กุนเสน​, และศศวัชร์ คมนียวนิช ในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 ปรับคนละ 4,000 บาท แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือปรับคนละ 3,000 บาท ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 9 คน แม้จะร่วมชูป้ายหรือถ่ายภาพ แต่ไม่ถือว่าเป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุม จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

การดำเนินคดีจำเลยทั้ง 12 คน เกิดขึ้นหลังกลุ่ม START UP PEOPLE จัดกิจกรรม “ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง” ที่ชายหาดพัทยา เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยตำรวจแจ้งข้อหา ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ต่อมา อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมเพียงข้อหาเดียว เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ทว่าต่อมา วันที่ 27 กันยายน 2562 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพัทยาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยืนยันว่าจำเลยคนอื่น ๆ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องไปนั้น ได้กระทำความผิดร่วมกับจำเลยอีกสามคนด้วยในฐานะ “ผู้ประสงค์จัดการชุมนุม” ไม่ใช่ “ผู้ชุมนุม” เนื่องจากมีลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการถือป้ายที่มีข้อความที่มีความหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสนับสนุนการปราศรัยให้ดูเหมือนว่ามีคนสนใจมาฟังมาก จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำร่วม ซึ่งทนายจำเลยได้ทำหนังสือโต้แย้งข้อเท็จจริงในอุทธรณ์ของอัยการกลับไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ชี้ว่า การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินไม่ฟ้องจำเลยที่เหลือถือได้ว่าชอบแล้ว เนื่องจากในการนำสืบของพยานโจทก์ ไม่มีพยานปากใดเลยที่สามารถยืนยันอย่างชัดเจนได้ว่า จำเลยที่ถูกยกฟ้องไปแล้วนั้นมีส่วนร่วมประชุมวางแผนเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำ หรือรู้เห็น นัดหมาย และมีพฤติการณ์ตามนิยามของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ อีกทั้งไม่ได้มีพฤติการณ์เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม หรือมีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ถูกยกฟ้องเป็นผู้จัดการชุมนุม โจทก์มีเพียงแค่พยานหลักฐานจากพฤติการณ์ในวันเกิดเหตุ ไม่มีพยานปากใดยืนยันได้ว่าในวันนั้น จำเลยมีการนัดหมายหรือแบ่งหน้าที่กันอย่างไร อีกทั้งจำเลยที่ 1 (สิรวิชญ์​) ก็เบิกความชัดเจนว่าตนเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มีการวางแผนแต่อย่างใด

และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 จำเลย 2 รายที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ได้แก่ วันเฉลิม กุนเสน และ ศศวัชร์ คมนียวนิช ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแขวงพัทยาเช่นกัน ยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะร่วมกับสิรวิชญ์

3 เดือนหลังการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลแขวงพัทยาได้มีหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับตัวเมืองพัทยามีการล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางของจำเลยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ มีความไม่สะดวก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทนายจำเลยจึงได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลแขวงพัทยาขอเลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไป ศาลจึงได้กำหนดนัดใหม่เป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2563

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 คือ นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” หลังจากที่จำเลยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563

ความสำคัญของคดี: เมื่อนิยามของ “ผู้ชุมนุม” กับ “ผู้ประสงค์จัดการชุมนุม” ถูกทำให้คลุมเครือ

คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา นับเป็นอีกคดีที่มีการต่อสู้ในเรื่องนิยามและหน้าที่ของผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งตามมาตรา 10 ระบุให้ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมเท่านั้น มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม แต่คดีนี้กลับมีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมชุมนุม 11 คน ในฐานะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมด้วย และอัยการยังอุทธรณ์ว่าผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมดเป็นตัวการร่วมจัดการชุมนุม จึงเป็นที่น่าสนใจและติดตามว่า ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยองค์ประกอบของสถานะ “ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ” ตามที่โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไร

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ตร.ออกหมายเรียกเพิ่ม 5 ราย คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา

ตำรวจส่งตัว “คนอยากเลือกตั้งพัทยา” ให้อัยการ ด้านผู้ต้องหายื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด

ตร.แจ้งข้อหา 2 ข้อหา “นิว” และ2 ผู้ชุมนุม กรณีกิจกรรม ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง พัทยา

 

 

X