ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ‘ลูกเกด’ คดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง Army57 หลังเลื่อนฟังคำพิพากษามา 7 ครั้ง

5 พ.ค. 2565 ที่ศาลแขวงดุสิต ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 หรือคดี #ARMY57 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง และยุติการสืบทอดอำนาจ โดยคดีนี้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 ก่อนหน้านี้มีการนัดหมายและเลื่อนการอ่านมาแล้ว 7 ครั้ง 

คดีนี้มีประชาชนจำนวน 47 คน ถูกอัยการฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ 1. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 2. ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน, เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลัง 18.00 น., ไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 16 และ 3. เดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยได้เสียชีวิต 1 คน ทำให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี เหลือจำเลยในคดีทั้งสิ้น 46 คน) 

โดยมีนักกิจกรรม 3 ราย คือ ชลธิชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์ และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ถูกฟ้องในฐานความผิด ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่ดูแลผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควร และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในการดูแลชอบการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 15

การสืบพยานนัดแรกเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2562 ก่อนศาลชั้นต้นคือศาลแขวงดุสิตจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ยกฟ้องจำเลย 45 คน แต่พิพากษาลงโทษชลธิชา ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 15(2),(4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท


>>ศาลยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 ชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอ แต่ปรับ 1 พันบาท “ลูกเกด” ในฐานะผู้จัดชุมนุม

เวลา 10.00 น. ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา โดยพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 2 ประเด็น ประกอบด้วย

1. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558


ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าแม้โจทก์จะฟ้องร้องดําเนินคดีแก่จําเลยทั้งสี่สิบสี่ไปเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561  ซึ่งถือว่าโจทก์มีอํานาจฟ้องก็ตาม แต่เมื่อต่อมามีคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2561 ข้อ 1 (2) ให้ยกเลิกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เฉพาะในข้อ 12 เช่นนี้ จึงถือว่าจําเลยทั้งสี่สิบสี่พ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิดแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง 

ที่ศาลชั้นต้นนําประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 มาใช้บังคับจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจําเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 2 ในความผิดข้อหาฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ที่ 3/2558 และเมื่อเป็นเหตุที่ในส่วนลักษณะคดี แม้จําเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 ที่ 23 ถึงที่ 44 จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอํานาจพิพากษาตลอดไปถึงจําเลยดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง 

2. จำเลยที่ 2 (ชลธิชา) ไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จําเลยที่ 2 กระทําความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนไม่ดูแลรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และฐานไม่ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานในการดังกล่าวหรือไม่ 

เห็นว่า จําเลยที่ 2 เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะครั้งนี้และได้แจ้งการชุมนุม ขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุม ต้องด้วยความหมายของผู้จัดการชุมนุมตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จําเลยที่ 2 จึงเป็นผู้จัดการชุมนุม 

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการชุมนุมสาธารณะ ครั้งนี้มี ผู้ชุมนุมประมาณ 350 คน แม้มีผู้ชุมนุมบางส่วนลงไปเดินบนพื้นผิวถนนสาธารณะในช่องทางเดินรถก็ตาม แต่ถนนสาธารณะที่เกิดเหตุจะมีช่องทางจราจรหลายช่องทาง ซึ่งโดยธรรมชาติของการชุมนุมสาธารณะหรือการรวมตัวกันทํากิจกรรมของกลุ่มคนจํานวนมากนั้นอาจก่อความไม่สะดวกซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อประชาชนผู้ใช้ทางสาธารณะบ้างตามสมควรเป็นธรรมดา 

เมื่อไม่ปรากฏว่าการชุมนุมครั้งนี้ มีการปิดถนนสาธารณะอันส่งผลกระทบกระเทือนต่อการจราจรหรือประชาชนเกินสมควรหรือเกินกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ ซึ่งก็ได้ความจากพันตํารวจเอกจักรกริศน์ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า วันเกิดเหตุตรงกับวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การจราจรบนถนนราชดําเนินคล่องตัวไม่ติดขัดและการชุมนุมไม่ถึงขนาดทําให้การจราจรติดขัด 

ส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมหลังเวลา 18.00 น. และไม่เลิกชุมนุมภายในเวลา 20.00 น. ตามที่แจ้งไว้นั้นได้ความจากอุทธรณ์ของจําเลยที่ 2 ว่า เจ้าพนักงานตํารวจมีการตั้งแถวปิดกั้นหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเจรจากันหลายครั้งให้ปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางใหม่ ทําให้จําเลยที่ 2 ต้องใช้เวลาแจ้งผู้ชุมนุมเนิ่นนานออกไป ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตํารวจตั้งด่านสกัดเป็นระยะ ๆ ถึง 3 จุด ซึ่งมีผลทําให้การชุมนุมล่าช้ากว่าเวลาที่แจ้งเลิกการชุมนุม นอกจากนี้ยังได้ความว่าการกระทํากิจกรรมดังกล่าวเลิกชุมนุมเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ โดยไม่มีเหตุร้ายหรือการก่อความรุนแรง 

เช่นนี้แสดงให้เห็นได้ว่า จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้แจ้งและจัดการชุมนุม ได้ดูแลรับผิดชอบการชุมนุมและให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะอย่างเต็มความสามารถตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อหานี้ให้เป็นคุณแก่จําเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยที่ 2 กระทําความผิดมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยที่ 2 ฟังขึ้น 

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558  และยกฟ้องจําเลยที่ 2 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น 

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ปชาบดี คําปาน, สุรพล โตศักดิ์ และสุรฤทธิ์ ธีระศักดิ์ 


ทั้งนี้ อุทธรณ์ของชลธิชาที่ยื่นคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ระบุเหตุผล 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ12 ถูกยกเลิกแล้ว ไม่อาจนำมาวินิจฉัยพิพากษาได้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 2561 สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในฐานความผิดดังกล่าวย่อมระงับไป และศาลชั้นต้นไม่สามารถนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 มาวินิจฉัยพิจารณาพิพากษาเพื่อลงโทษในคดีนี้ได้ 

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาทำนองว่า เมื่อการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวัน 24 มี.ค. 2561 การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการดำเนินคดีแก่จำเลยตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่กระทำความผิด คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ที่ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีนี้ เป็นการตีความกฎหมายในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างยิ่ง ไม่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของกฎหมายอาญาที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” และไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า “…ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด”


การชุมนุมชอบด้วยกฎหมาย มีกรอบเวลาชัดเจน ไร้ความรุนแรง ไม่กีดขวางทางจราจร

คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า การชุมนุมมีลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจรตามมาตรา 16(1) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ นั้นไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งยังเป็นไปโดยชอบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ทุกประการ 

กล่าวคือ การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เรียกร้องการเลือกตั้งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย มีกรอบระยะเวลาการชุมนุมที่ชัดเจน ไม่มีความรุนแรง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือทรัพย์สินราชการได้รับความเสียหาย อาจจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่สาธารณะบ้าง อันเป็นธรรมชาติของการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก แต่ผู้ชุมนุมเดินขบวนบน 1 ช่องทางการจราจรด้านซ้ายมือสุด อีก 3 ช่องทาง รถยังสามารถสัญจรได้ตามปกติไม่ติดขัด จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันสมควร 

นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าถึง 5 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีเวลาประชุมเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้การชุมนุมเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด อันเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 และ 20 โดยหลังแจ้งการชุมนุม ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ไม่ได้สั่งให้แก้ไขเส้นทางการเดิน หรือกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการเดินขบวนตามที่แจ้งการชุมนุมไว้ไม่ได้จะไปก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควรหรือเกินกว่าที่จะพึงคาดหมายได้


จำเลยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดูแลการชุมนุมอย่างเต็มความสามารถ


ผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาเดินขบวนหลังเวลา 18.00 น. รวมถึงเลิกชุมนุมหลังเวลา 20.00 น.เกินจากระยะเวลาที่แจ้งการชุมนุม แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากมีการขัดขวางและปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการสั่งให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินขบวนแบบกะทันหัน ทำให้การชุมนุมเกิดความล่าช้า 

เมื่อการชุมนุมสาธารณะครั้งนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ไม่ได้มีเจตนาเดินขบวนหลัง 18.00 น. และไม่ได้มีเจตนาเลิกชุมนุมหลังเวลา 20.00 น. ตามที่แจ้งการชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16(1),(8) และมาตรา 18 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ดูแลรับผิดชอบหรือให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16(1),(8) จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 15(2),(4)  

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ  มาตรา 15(2),(4) กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หากผู้จัดการชุมนุมได้ดูแลรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วก็ถือว่าไม่มีความผิดตามกฎหมาย 

เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์พันตำรวจโทประจักษ์ พงษ์ปรีชา พนักงานสอบสวนและเป็นประจักษ์พยานในคดีนี้ซึ่งเบิกความไว้ว่า “ข้าฯ เห็นจำเลยที่ 2 เดินประกบคู่ประสานงานกับพันตำรวจเอกจักรกริศน์ ตำรวจบอกจำเลยที่ 2 ให้ช่วยบอกผู้ชุมนุมให้ขึ้นไปเดินบนฟุตบาท จำเลยที่ 2 ก็ประกาศบอกผู้ชุมนุมให้ขึ้นไปเดินบนฟุตบาท….” แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้วในการดูแลการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชน และดูแลผู้ชุมนุมให้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนจำเลยที่ 2 ก็ได้ให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานในการดูแลการชุมนุมสาธารณะอย่างเต็มที่แล้ว  

ประกอบกับคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยอื่นๆ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16(1),(8) และมาตรา 18 จึงไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการชุมนุมมีความผิดฐานมิได้ดูแลรับผิดชอบให้ความร่วมมือแก่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา 16(1),(8)

X