1 เม.ย. 64 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือคดี #ARMY57 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง และยุติการสืบทอดอำนาจ
ในวันนี้ผู้แทนทนายความและ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งเป็นจำเลยที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดี เดินทางมาศาล จนเวลา 10.20 น. ผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตได้แจ้งว่าศาลอุทธรณ์ยังจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้ไม่แล้วเสร็จ ให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 19 พ.ค. 64 เวลา 9.00 น.
การเลื่อนอ่านคำพิพากษาในวันนี้ นับเป็นการเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่สอง หลังจากชลธิชาได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 โดยวันดังกล่าว ศาลก็เลื่อนฟังคำพิพากษาออกมาเช่นกัน เนื่องจากยังพิจารณาจัดทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ
ชลธิชาระบุถึงภาระในการต่อสู้คดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่เธอถูกกล่าวหา ว่ามีต้นทุนจำนวนมาก ทั้งต้นทุนทางเวลา เมื่อต้องรอคอยกระบวนการต่างๆ ในแต่ละคดีเป็นระยะเวลานาน โอกาสที่เสียไปในการงานและชีวิต โดยเธอไม่กล้ารับงานต่างๆ ซึ่งอาจตรงกับวันนัดในคดีรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทางมาตามวันนัดในแต่ละครั้ง
สำหรับคดี ARMY57 ในส่วนของผู้ชุมนุม ศาลชั้นต้นเคยอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2), (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท
ชลธิชาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คดี เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่การชุมนุมล่าช้าไปกว่าที่แจ้งไว้ เกิดจากการพยายามขัดขวางและแทรกแซงการเดินขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ขณะเดียวกันในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ชุมนุมและประชาชน
อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้ชุมนุม ARMY57