เลื่อนอีก! ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้ชุมนุม ARMY57 ครั้งที่ 3

19 พ.ค. 64 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือคดี #ARMY57 เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง และยุติการสืบทอดอำนาจ

ในวันนี้ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งเป็นจำเลยที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดี และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาศาล เนื่องจากทนายและผู้แทนทนายความติดภารกิจ จึงมีเพียงจำเลยและผู้สังเกตการณ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษา 

อย่างไรก็ตาม เวลา 09.15 น. ผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์ยังจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้ไม่แล้วเสร็จ ให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 10 มิ.ย. 64 เวลา 09.00 น. พร้อมกับแสดงหนังสือจากศาลอุทธรณ์ถึงศาลแขวงดุสิต

นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษา หลังชลธิชาได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 และครั้งที่สองในวันที่ 1 เม.ย. 64 โดยศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาทั้งสองครั้ง เหตุจากการยังจัดทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นเคยอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (2), (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ชลธิชาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คดี เนื่องจากศาลไม่ได้นำประเด็นที่จำเลยใช้ต่อสู้คดีมาพิจารณา เช่น กรณีการชุมนุมล่าช้าไปกว่าที่แจ้งไว้ เกิดจากการพยายามขัดขวางและแทรกแซงการเดินขบวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง แม้ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ชุมนุมและประชาชน

นอกจากนี้ ชลธิชาต้องการยืนยันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และสร้างบรรทัดฐานให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการดูแลการชุมนุม ในเมื่อวันเกิดเหตุ เธอได้ปฏิบัติตามกฎหมายพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อย่างเต็มที่ แต่กลับพบกับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้การชุมนุมนั้นล่าช้า

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 

การต่อสู้คดีอันยาวนานตั้งแต่ปี 2561 รวมเวลา 3 ปี สร้างภาระทางคดีให้กับชลธิชาไม่น้อย เธอชี้ว่า การเลื่อนนัดในวันนี้เผยให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมักเผชิญ คือ กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้กลั่นแกล้ง สร้างภาระทางคดี เช่น จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลตามนัดหลายนัด สูญเสียเวลา โอกาสในหน้าที่การงาน เธอยกตัวอย่างว่า เธอต้องยกเลิกงานที่รับไว้ และต้องใช้เวลามาต่อสู้คดีแทน

ชลธิชาคาดหวังว่า ศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันนี้ และต้องการทราบว่า คำพิพากษานี้จะสร้างบรรทัดฐานให้กับเสรีภาพของการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ แต่เมื่อศาลเลื่อนนัดเป็นครั้งที่ 3 ทำให้เธอรู้สึกผิดหวัง เพราะการเดินทางมาศาลในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับจำเลย และเจ้าหน้าที่ศาล อย่างไรก็ตาม การที่ผู้พิพากษาแจ้งว่าศาลอุทธรณ์เพิ่งส่งหนังสือเลื่อนนัดให้กับศาลแขวงดุสิตวานนี้ เป็นเหตุที่เข้าใจได้ แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้ามีความจำเป็นต้องเลื่อนนัด สามารถโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าได้ เพื่อป้องกันสุขภาพทั้งศาลและจำเลย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ชลธิชาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะเป็นนักศึกษา ในยุคคสช. ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เธอถูกกล่าวหาในคดีจากการแสดงออกการเมืองไปแล้วทั้งหมด 26 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 6 คดี เนื่องจากมีโทษปรับหรือคำสั่งคณะรัฐประหารถูกยกเลิก

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น>> ศาลยกฟ้องคดีผู้ชุมนุม ARMY57 ชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอ แต่ปรับ 1 พันบาท “ลูกเกด” ในฐานะผู้จัดชุมนุม

เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีผู้ชุมนุม ARMY57 เป็นครั้งที่สอง 

X